ไหนว่าอะไรๆก็บังคับไม่ได้ เเต่ทำไมเราสั่งให้ยกเเขนได้ล่ะ

 
ณัฐวุฒิ
วันที่  31 ต.ค. 2554
หมายเลข  19945
อ่าน  1,439

เมื่อวันนี้ได้มีโอกาสสนทนากับเพื่อนๆ เพื่อนได้คัดค้านว่า เค้าเข้าใจว่า จิต มีทั้งบังคับได้ หรือบังคับไม่ได้ ที่บังคับได้ เช่น ถ้าสั่งให้จิตไปรู้ที่นิ้วก้อย ก็ทำได้นะ เขาว่าอย่างนี้ ผมก็พยายามอธิบาย ว่า แล้วทำไมต้องให้ไปที่นิ้วก้อยล่ะ นิ้วอื่นก็มี หรือที่อื่น เยอะแยะไป เพื่อที่จะแสดงให้เห็นความอนัตตา ของสภาพธรรมะ แต่เพื่อนก็ยังถามว่า แล้วที่ยกแขนล่ะ เราสั่งให้ยกได้ ผมก็ตอบอย่างเดิมว่า ทำไมเป็นแขนล่ะ ที่ยกแขน เพราะมีปัจจัย หรือมีเราไปสั่ง............ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่เพื่อนมากขึ้น เพราะเขามีความสนใจธรรมะ

จึงอยากให้วิทยากรและผู้รู้ทั้งหลาย แบ่งปัน ตัวอย่าง หรือ อรรถาธิบาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลายๆ ลักษณะ เพื่อเกื้อกูลต่อไปครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

คำว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ในที่นี้หมายถึง เกิดจากเหตุปัจจัยประการต่างๆ ถึงพร้อม จึงเกิดขึ้น เหตุปัจจัยในที่นี้คือ สภาพธรรมแต่ละอย่างที่ประชุมรวมกันและถึงพร้อมให้เกิดสภาพธรรมนั้น จิต เจตสิกและรูปต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น คือ อาศัยสภาพธรรมจึงเกิดขึ้น ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่าสภาพธรรมคือ จิต เจตสิกและรูปใช่เราหรือไม่ หรือ เป็นเพียงสภาพธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราจิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นไม่ใช่เราก็อาศัยสภาพธรรมที่ไม่ใช่เราเกิดขึ้น จึงไม่มีเราที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมแต่เป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิด ดังนั้นจึงไม่มีเราบังคับบัญชาให้สภาพธรรมเกิด แต่สภาพธรรมของเขาเกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัยจึงไม่มีเราสั่ง ให้สภาพธรรมเกิด นั่นเป็นความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นว่า มีเรา ที่สั่ง แต่ในความเป็นจริง เป็น จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นครับ

การยกแขน ก็ต้องเข้าใจพื้นฐานอีกครั้งว่า ความจริง มี จิต เจตสิกและรูป แขนในความเป็นจริง ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นรูป ประชุมรวมกัน จึงบัญญัติว่าเป็นแขน ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นรูป แขนก็มีไม่ได้ แขนเคลื่อนไหวได้ หรือ รูปไหวไป ก็เพราะอาศัยสภาพธรรมต่างๆ ให้เป็นไป ใช้คำว่าสภาพธรรม ไม่มีเรา ไม่มีเราสั่ง แต่เป็นจิตที่ความต้องการเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้ ธาตุลม วาโยธาตุ เกิดขึ้นทำให้มีการไหวไปของแขนได้ จะเห็นได้ว่า เพราะอาศัยสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น และเป็นปัจจัยให้ธาตุลม ซึ่งก็ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นไหวไป เป็นปัจจัยให้เกิดการเคลื่อนไหว ไม่ว่าเดิน ยกแขน เคลื่อนไหวไปได้ครับ และเพราะอาศัยรูปอื่นๆ ที่ประชุมรวมกันได้ ที่ควรแก่การงานทำให้ยกแขนได้ จึงไม่มีเราสั่ง แต่เป็นการทำงาน กิจหน้าที่ของจิตเจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นแต่ละขณะครับ หากว่าสภาพธรรม ไม่ถึงพร้อม ก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างคนเป็นอัมพาต ไม่ว่าจะมีจิตที่มีความต้องการจะยกแขน แต่เพราะรูปไม่ควรแก่การงาน แขนนั้นก็ยกไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่มีเราสั่ง ไม่มีจิตสั่งเพราะเป็นแต่ธรรมและบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัยคือสภาพธรรมที่ประชุมกันเกิดขึ้นครับ

คำว่าบังคับบัญชาไม่ได้ จึงหมายถึง ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการจึงเกิดขึ้นได้ ขาดเหตุใด เหตุหนึ่งก็ไม่เกิด และเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็เป็นธรรมทั้งสิ้น ซึ่งธรรมก็ไม่ใช่เราด้วยครับ จึงไม่มีเราที่สั่งและจิตสั่ง แต่เพราะอาศัยสภาพธรรม ที่ไม่ใช่เราเกิดขึ้น ถึงพร้อมจึงเกิดการกระทำ มีการยกแขนได้ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 พ.ย. 2554

สาธุ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนา ด้วยครับ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัส นั้น เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง พระองค์ทรงแสดงธรรม ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ก็เป็นจริงอย่างนั้น ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นการตรัสรู้ด้วยปัญญาของพระองค์

สำหรับความหมายของคำว่า อนัตตา นั้น ในอรรถกถาทั้งหลายก็ได้แสดงไว้ ๔ นัย ด้วยกัน คือ โดยความเป็นของสูญ คือ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนสัตว์บุคคล ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑

ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ารูปกายนี้ ปราศจากจิต ไม่มีจิตเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ไม่สามารถกระทำกรรม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้ แต่ที่ยังมีการเคลื่อนไหวได้ มีการกระทำสิ่งต่างๆ ได้ เพราะมีนามธรรม กล่าว คือ จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั่นเอง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ครบ นั้น มีทั้งนามธรรม และ รูปธรรม ที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งไม่เคยปราศจากธรรมเหล่านี้เลย แม้แต่ขณะเดียว ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นเหตุเป็นผล แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ จิตไม่ได้สั่งรูป และ รูปไม่ได้รับคำสั่งจากจิต แต่อย่างใด แต่ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
lnwcat
วันที่ 1 พ.ย. 2554

สัจจกนิครนถ์ จึงยืนยันว่า ข้าพเจ้ากล่าวว่า ขันธ์ ๕ เป็นตนของข้าพเจ้า.

ตรัสถามว่า กษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก มีอำนาจต่างๆ ในแว่นแคว้นของพระองค์ เช่น การฆ่า การริบทรัพย์ การเนรเทศใช่หรือไม่
ทูลรับว่า ใช่.

ตรัสถามว่า ท่านกล่าวว่า รูป (ส่วนหนึ่งใน ๕ ส่วนของขันธ์ ๕) เป็นตัวตนของท่าน ท่านจะมีอำนาจในรูปนั้นว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลยได้หรือไม่.

สัจจกนิครนถ์นิ่ง ตรัสถามย้ำถึง ๓ ครั้งก็นิ่ง ในที่สุดก็ยอมรับว่าไม่มีอำนาจให้รูปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้. จึงตรัสถามไปทีละข้อจนถึงวิญญาณ ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ยอมรับว่าไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เช่นเดียวกันทุกข้อ.

ตรัสถามว่า ขันธ์ ๕ เที่ยงหรือไม่เที่ยง.

ตอบว่า ไม่เที่ยง.

ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุข.

ตอบว่า เป็นทุกข์.

ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาควรหรือที่จะตามเห็นว่า นั้นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา

ตอบว่า ไม่ควร.

ตรัสถามว่า ผู้ใดติดทุกข์ ยึดทุกข์ ตามเห็นว่า ทุกข์นั้นเป็นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา ผู้นั้นจะกำหนดรู้ทุกข์ หรือทุกข์ให้สิ้นไปหรือไม่.

ตอบว่า ไม่ได้.

ตรัสถามว่า ท่านติดทุกข์ ยึดทุกข์ ตามเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของเรา เป็นตนใช่หรือไม่

สัจจกนิครนถ์ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น.

จูฬสัจจกสูตร สูตรว่าด้วยสัจจกนิครนถ์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ณัฐวุฒิ
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณมากครับ เป็นประโยชน์อย่างมาก จากวิทยากรทั้งสองท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ปุ้ม
วันที่ 2 พ.ย. 2554

การไม่เข้าใจ ตลอดสายแห่งจิต เจตสิก รูป ย่อมยังให้เห็นผิด ว่าเราสั่งยกแขน ก็ไม่ผิดสะที่เดียวปุถุชนย่อมเห็น เช่นนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 22 ส.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ