ธรรมะคือธรรมชาติ กับ ธรรมะ เหนือธรรมชาติ หมายความว่ายังไง

 
vier
วันที่  1 พ.ย. 2554
หมายเลข  19947
อ่าน  6,570

1. ธรรมะคือธรรมชาติ

2. ธรรมะเหนือธรรมชาติ เพราะธรรมชาติคือ วัฎฎะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ธรรมะ คือ ธรรมชาติ

พระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดง ละเอียด ลึกซึ้งครับ แม้แต่คำว่าธรรม คำว่า ธรรมชาติ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ไม่ได้มีกล่าวไว้ว่า ธรรม คือ ธรรมชาติ พระองค์แสดง คำว่า ธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด และ คำว่าธรรมยังมีความ หมายกว้าง แม้สิ่งที่ไม่มีจริง ที่เป็นบัญญัติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา ก็เป็นธรรมที่เป็นบัญญัติ ธรรม ดังนั้น คำว่า ธรรมจึงมีหลายความหมายและกว้าง รวมทั้งสภาพธรรมที่มีจริง ที่ เป็น จิต เจตสิก รูปและสิ่งที่ไม่มีจริงด้วยครับ แต่โดยความมุ่งหมาย เมื่อเรากล่าวถึง คำว่า ธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง ก็มุ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงนั่นเองครับ ส่วนคำว่า ธรรมชาติ ตามที่ชาวโลกเข้าใจกัน ก็คือ ต้นไม้ ภูเขา ทุกๆ สิ่งๆ แต่ชาวโลกไม่ได้รู้สัจจะ ความจริงว่า มีสิ่งที่มีจริงที่เป็น นามธรรมและรูปธรรมด้วย จึงสำคัญว่าทุกสิ่งเป็น ธรรมชาติก็คือบัญญัติต่างๆ ที่เป็นเรื่องราว เช่น บ้าน คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา ดังนั้น เมื่อ ได้ยินใครกล่าวว่า ธรรม คือ ธรรมชาติ นั่นก็ไม่ตรง ไม่ถูกต้องเพราะ ธรรมหมายถึงสิ่งที่มี จริงที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพานเด้วย ไม่ใช่ ธรรมคือ ธรรมชาติที่เป็น ต้นไม้ ภูเขา สัตว์ สิ่งของที่เป็นบัญญัติเท่านั้นครับ

ปุถุชนผู้ไม่ได้รู้ความจริงเพราะปุถุชน ย่อมสำคัญ เข้าใจว่า ธรรม ก็คือ ธรรมชาติ อัน เป็นสิ่งที่เห็น ที่ปรากฎในโลกนี้ เป็นเพียงสิ่งที่เห็น แล้วคิดนึก ได้ยินแล้วคิด จึงปรากฏ เป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นสิ่งต่างๆ จึงสำคัญผิดว่าสิ่งเหล่านี้แหละที่รู้ได้ทาง ตา หลังจาก คิดนึกแล้ว เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม เป็นธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ น้ำตก คน สัตว์ นั่นก็เท่า กับว่า เข้าใจผิด คิดว่าสิ่งที่ไม่มีจริง ไม่มีลักษณะเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมนั่นเอง เพราะ ฉะนั้น ธรรมชาติไม่ใช่ธรรมทั้งหมด เพราะธรรม ครอบคลุมสภาพธรรมทุกอย่างทั้งที่มี จริงและไม่มีจริงด้วยครับ ดังนั้น คำว่า ธรรมและธรรมชาติ จะต้องเข้าใจให้ตรงกัน และ ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ให้ตรงกัน แม้แต่คำว่า ธรรมและธรรมชาติ ครับ

ธรรม ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูปและพระนิพพาน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ธรรมะเหนือธรรมชาติ เพราะธรรมชาติคือ วัฎฎะ

เมื่อกล่าวว่า ธรรมชาติคือ วัฏฏะ ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า วัฏฏะ คือ สภาพธรรมที่ เกิดขึ้นและดับไป วนเวียนไปไม่สิ้นสุด ชื่อว่า วัฏฏะ ดังนั้น สภาพธรรมที่เป็น วัฏฏะ คือ จิต เจตสิกและรูปที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ธรรมที่เหนือธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เหนือวัฏฏะ คือ ธรรมที่เหนือ พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป หรือ อาจกล่าวได้ว่า ธรรมที่พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ธรรมที่พ้นจาก จิต เจตสิกและรูป ธรรมนั้นมีอยู่ ในทางธรรม เรียกว่า โลกุตตรธรรม คือ ธรรมที่พ้นจาก โลก โลก คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นจิต เจตสิกและรูป ธรรมที่ พ้นจากการเกิดดับ พ้นจากวัฏฏะ พ้นจากจิต เจตสิกและรูป เรียกว่า โลกุตตรธรรม คือ พระนิพพานนั่นเองครับ พระนิพพาน จึงเป็นสภาพธรรมที่พ้นจากโลก พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นธรรมที่เหนือวัฏฏะ หรือ พ้นจากวัฏฏะนั่นเองครับ

เมื่อกล่าว คำว่า ธรรม จึงครอบคลุมสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพานครับ แต่ในคำว่า ธรรม ก็สามารถแบ่ง เป็น 2 อย่างคือ โลกียธรรม และโลกุตตรธรรม ซึ่งโลกียธรรม ก็คือ สภาพธรรมที่ยังอยู่ในโลก คือ ยังเกิดขึ้นและดับ ไป คือ จิต เจตสิกและรูป ส่วน โลกุตตรธรรม คือ สภาพธรรมที่เหนือโลก พ้นจากโลก พ้นจากสภาพธรรมที้เกิดดับ คือ พระนิพพานครับ

พระนิพพาน จึงเป็นสภาพธรรมที่เหนือ หรือ พ้นจากวัฏฏะ พ้นจาสภาพธรรมที่เกิดดับ ครับ ตามคำถามที่ 2 ได้ถามไว้ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนา ด้วยครับ

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีความละเอียด ลึกซึ้ง เพราะแสดงถึงความจริงทั้งหมด ความจริงทั้งหมดนั้น ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม กล่าวคือ จิตทั้งหมดทุกประเภท, เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต, รูปทั้งหมด และ พระนิพพาน เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ได้ทรงเปลี่ยนธรรม แต่ทรงตรัสรู้ธรรมและทรงแสดงธรรมไปตามความเป็นจริง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้ได้เข้าใจตามความเป็นจริง

ชื่อว่า ธรรม แล้ว ย่อมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด๔๕ พรรษา เพื่อให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนถึงแม้ว่าจะมีการใช้คำว่า ธรรมชาติ (ความเกิดขึ้นเป็นไปของสิ่งที่มีจริง) สำหรับผู้ที่เข้าใจแล้ว ย่อมไม่เข้าใจผิด ส่วนธรรมที่พ้นจากการวัฏฏะ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายของกิเลส ก็ได้แก่มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และ พระนิพพาน ถึงแม้ว่ามรรคจิต กับ ผลจิต จะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นธรรมที่เกิดดับ ก็จริง แต่เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อดับกิเลส และเป็นผลของการดับกิเลส จึงเป็นโลกุตตรธรรม

สำหรับโลกุตตรธรรมอีกประการหนึ่ง นั้น คือ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์ พ้นจากทุกข์ พ้นจากวัฏฏะ อย่างสิ้นเิชิง เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก รูป และ พระนิพพาน ก็เป็นธรรมที่มีจริง ทั้งหมด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
vier
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 พ.ย. 2554

สาธุ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ