แม้คนผู้เกียจคร้านนี้ ก็อยู่เป็นทุกข์ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ.

 
pirmsombat
วันที่  1 พ.ย. 2554
หมายเลข  19950
อ่าน  3,638

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 202

บทว่า โย กุสีโต โส ทุกขํ วิหรติ ความว่า แม้คนผู้เกียจคร้านนี้ ก็อยู่เป็นทุกข์ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ.

ถามว่า อยู่เป็นทุกข์อย่างไร.

ตอบว่า บุคคลใด จำเดิมแต่บวชมา

ไม่มีการใส่ใจโดยแยบคาย

ไม่เรียนพระพุทธวจนะ ไม่กระทำอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตร

ไม่กระทำวัตร (คือการปัดกวาด) ลานพระเจดีย์และลานโพธิ์.

บริโภคศรัทธาไทย (ของที่เขาให้ด้วยศรัทธา) ของมหาชนด้วยการไม่พิจารณา ประกอบเนืองๆ ซึ่งความสบายในการนอนตลอดวัน

ในเวลาตื่นขึ้นมาก็ตรึกด้วยวิตก ๓ ประการ (คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก) บุคคลนั้นย่อมเคลื่อนจากภิกษุภาวะความเป็นภิกษุ โดย ๒-๓ วันเท่านั้น. ชื่อว่าอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน ด้วยประการอย่างนี้.

และก็เพราะบวชแล้ว ไม่กระทำสมณธรรมโดยชอบ

กุโส ยถา ทุคคหิโต หตฺถเมวานุกนฺตติ สามญฺญํ ทุปปรามฏฐํ นิรยายูปกฑฺฒตีติ.

แปลความว่า

คุณเครื่องเป็นสมณะ (พรหมจรรย์) ที่บุคคลจับต้องไม่ดี ย่อมคร่าไปนรก เหมือนหญ้าคาที่บุคคลจับไม่แน่น (แล้วดึงมา) ย่อมบาดมือนั่นแหละ ฉะนั้น.

เขาย่อมถือปฏิสนธิในอบายทีเดียว ชื่อว่าย่อมอยู่เป็นทุกข์ในสัมปรายภพ ด้วยประการอย่างนี้.

บทว่า โย กุสีโต โส สุขํ วิหรติ ความว่า บุคคลกระทำการประพฤติตบะอะไรๆ ในการประพฤติตบะซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วตามเวลา นุ่งผ้าขาว ทัดทรงดอกไม้และลูบไล้ของหอม บริโภคโภชนะที่อร่อย นอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มตามเวลา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและสัมปรายภพ. ก็เพราะเขาไม่ยึดมั่นการประพฤติตบะนั้น จึงไม่เสวยทุกข์ในนรกมากยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอยู่เป็นสุขในสัมปรายภพ.

บทว่า โย อารทฺธวีริโย โส สุขํ วิหรติ ความว่า บุคคลปรารภความเพียร จำเดิมแต่กาลที่ได้บวชมา ย่อมกระทำให้บริบูรณ์ในวัตรทั้งหลาย เรียนเอาพระพุทธพจน์ การทำกรรมในโยนิโสมนสิการ ครั้นเมื่อเขานึกถึงการบำเพ็ญวัตร การเล่าเรียนพระพุทธพจน์ และการทำสมณกรรม จิตย่อมเลื่อมใส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ด้วยประการฉะนี้. แต่เมื่อไม่อาจบรรลุพระอรหัตในปัจจุบัน ย่อมจะเป็นผู้ตรัสรู้เร็วในภพที่เกิด เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอยู่เป็นสุข แม้ในสัมปรายภพ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำหรับอรรถกถาที่อธิบายที่คุณหมอยกมานั้น เป็นการอธิบายข้อความโดยตรงดังนี้ครับ

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 193

[๑๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

[๒๐๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว.

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

[๒๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ความเพียร หรือ วิริยเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกประเภทดังนั้น ความเพียรที่เป็นวิริยเจตสิก จึงเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ ดังนั้น ความเพียรที่เป็นไปในทางที่ผิดก็มี ความเพียรที่เป็นไปในทางที่ถูกก็มีครับ ดังนั้นพระองค์จึงตรัสไว้ว่า ผู้ที่เพียรในธรรมที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ คือ ทุกข์ในโลกนี้ (ทุกข์ในปัจจุบัน) และ ทุกข์ในโลกหน้า (สัมปรายภพ) ด้วย เช่น อย่างหยาบ เช่น ลัทธิที่สั่งสอนผิด มี การทรมานตน เป็นต้น ก็ทำให้ผู้กระทำปรารภความเพียรในทางที่ผิดนี้ ก็ได้รับทุกข์จากการทรมานตนในปัจจุบัน และ ก็ต้องได้รับทุกข์ในอนาคตในโลกหน้า (สัมปรายภพ) คือ ต้องไปเกิดในอบายภูมิ เพราะเกิดจากความเห็นผิดนั่นเองครับ นี่คือ การอธิบายผู้ที่ปรารภความเพียรในธรรมที่ไม่ดี ย่อมอยู่เป็นทุกข์ครับ

ผู้ที่เกียจคร้านธรรมที่กล่าวไว้ดีแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ในอรรถกถาที่คุณหมอได้ยกมาก็ได้อธิบายไว้ว่า พระภิกษุที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา คือ ในธรรมที่ดีแต่ไม่ปรารภความเพียร คือ ศึกษาพระธรรม ทำวัตรปฏิบัติที่สมควรกับพระภิกษุ เมื่อไม่ทำกิจเหล่านี้ ไม่ปรารภความเพียรในสิ่งที่ควรทำ อกุศลต่างๆ ก็ครอบงำ ก็ย่อมประพฤติผิดในสิกขาบททั้งหลาย เคลื่อนจากความเป็นพระภิกษุ จึงเป็นทุกข์ในปัจจุบัน และเพราะความประพฤติปฏิบัติผิดในพระธรรมวินัย ก็ย่อมเป็นทุกข์ในสัมปรายภพ คือ ภพหน้า นั่นคือ ไปเกิดอบายภูมิครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2554

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.


บุคคลไม่ประพฤติตามข้อวัตร หรือ คำสอนที่ผิด และเมื่อเป็นพระภิกษุก็ไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดี และเป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่ฟังธรรมที่ผิดและปฏิบัติตามคำสอนที่ผิด ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและอนาคตด้วยครับ

[๒๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว.


พระภิกษุที่บวชแล้วในพระศาสนานี้ ที่เป็นธรรมวินัยอันดี แล้วประพฤติปฏิบัติตามวัตร ปฏิบัตร มีการกวาดลานพระเจดีย์ ปรารภความเพียร คือ ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมเกิดจิตเลื่อมใส มีความสุข จึงเสวยความสุข ปิติ ปราโมทย์ในปัจจุบันและในสัมปรายภพในโลกหน้า ก็ย่อมถึงความสุข คือ เกิดในสุคติและสามารถบรรลุธรรมในอนาคต จึงชื่อว่า เป็นสุขในอนาคตด้วยครับ ส่วนคฤหัสถ์ก็เป็นผู้ปรารภความเพียร คือ ฟังพระธรรม เจริญกุศลทุกๆ ประการ ก็ย่อมนำความสุขมาให้ในปัจจุบัน และ ทำให้ในอนาคต ในโลกหน้า สัมปรายภพ ก็เกิดในภพภูมิที่ดี มีสวรรค์ เป็นต้นและได้บรรลุธรรมในอนาคตครับ ก็ได้ความสุขในสัมปรายภพ คือ โลกหน้าด้วยประการฉะนี้

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกท่านครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ

พระสูตรนี้เป็นเครื่องเตือนสติได้ดีเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้บวชซึ่งหากไม่กระทำสมณธรรมแล้วย่อมมีโทษมาก แต่สำหรับปุถุชนทั่วไป พึงระลึกถึงความเกียจคร้านและความเพียรอย่างไรจึงจะถูกต้องไม่เป็นการจับหญ้าคาไม่แน่นแล้วดึง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2554

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

ตามที่กล่าวแล้วในความเห็นข้างต้นครับ สำหรับความเพียรที่เป็นวิริยเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุ ศลก็ได้ อกุศลก็ได้ ดังนั้น พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า เราไม่กล่าวว่า ควรปรารภความเพียรทั้งหมด เพราะ การปรารภความเพียรใดแล้วทำให้อกุศลเจริญขึ้น ความเพียรนั้นไม่ควรทำ และจากข้อความในพระไตรปิฎกในความเห็นที่ 1 ในเรื่องความเกียจคร้านที่ว่า หากเกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี อันนี้นำมาซึ่งความทุกข์ แต่ถ้าเกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี ย่อมนำมาซึ่งความสุข

สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ที่ยังเป็นปุถุชน โดยปกติก็มีอกุศลมากเป็นปกติ เกิดบ่อย ซึ่งขณะนั้นก็มีความเพียรที่เป็นวิริยเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้นอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่า คฤหัสถ์ ผู้ที่เป็นปุถุชน แต่ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทะเจ้า เมื่อเข้าใจธรรมขึ้น ก็เห็นประโยชน์ของการฟังพระ ธรรมที่ถูกต้อง ดังนั้น คฤหัสถ์จึงเป็นผู้ที่สำเหนียกด้วยปัญญาว่า จะฟัง ศึกษา ในสิ่งที่ถูกต้อง คือ ฟังในธรรมที่กล่าวไว้ถูก ไม่ฟัง ไม่เสพคุ้นในธรรมที่กล่าวผิดที่มีในปัจจุบันครับ เพราะ ผู้ที่ปรารภความเพียรในธรรมที่ถูก คือ ฟังสิ่งที่ถูก ย่อมนำความสุขมาให้ในโลกนี้และโลกหน้า เพราะทำให้เกิดปัญญาและบรรลุธรรมในอนาคต และคฤหัสถ์ที่ดี ก็ควรงดเว้นจากการฟัง เสพคุ้นในธรรมที่กล่าวผิด เพราะผู้ที่ปรารภความเพียรในธรรมที่ไม่ดี กล่าวไว้ไม่ดี ก็ย่อมทำให้เกิดทุกข์ในปัจจุบันและโลกหน้าด้วย คือ ทำให้เกิดความเห็นผิดในปัจจุบัน และทำให้ต้องไปอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น ในโลกหน้าครับ

คฤหัสถ์ผู้ที่เป็นปุถุชน จึงควรเห็นประโยชน์ของการปรารภความเพียร โดยที่ไม่ต้องมีตัวตนที่จะเพียร เพราะความเพียร วิริยเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เมื่อขณะที่ฟังพระธรรมอยู่และเข้าใจ ก็เป็นการปรารภความเพียรในหนทางที่ถูกแล้ว โดยเสพคุ้นกับธรรมที่ถูก ปรารภความเพียรในหนทางที่ถูกนั่นเอง และหลีกเลี่ยงที่จะเสพคุ้นกับธรรมทีผิด เกียจคร้านธรรมที่ผิด ก็จะทำให้ไม่เสพคุ้น ไม่ทำให้เจริญในความเห็นผิด และเมื่อเสพคุ้นในหนทางที่ถูก ก็นำมาซึ่งปัญญาและความสุขในในโลกนี้และโลกหน้าครับ

เมื่อไหร่เสพคุ้นกับความเห็นผิด จนความเห็นผิดเจริญ ก็เหมือนการจับหญ้าคาไม่ดี ก็บาดมือผู้จับนั่นเองครับ นี่คือ วัตรปฏิบัติของคฤหัสถ์ที่ดี ในเมื่อยังเป็นปุถุชนครับ ที่จะจับหญ้าคาไม่ตึงไม่หย่อน ไม่บาดมือ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pirmsombat
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและอนุโมทนา

คุณผเดิม คุณคำปั่น คุณผู้ร่วมเดินทาง และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยครับ พระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนให้เป็นคนเกียจคร้านในพระธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว แต่สอนให้เป็นผู้มีความเพียรในพระธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว เพราะบุคคลผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะโลภะ เป็นทุกข์เพราะโทสะ เป็นทุกข์เพราะโมหะ เป็นทุกข์เพราะริษยา เป็นทุกข์เพราะอกุศลธรรมนานาประการทีเดียว ไม่มีทางที่กุศลธรรมจะเจริญขึ้นได้ เพราะไม่มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นๆ ไม่มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จึงไม่มีทางที่จะทำให้เป็นผู้เบาและคลายจากความทุกข์ไปได้

ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่มีความเพียร ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สามารถนำออกจากทุกข์ได้จริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น เพียรในที่นี้ คือ เพียรละอกุศล และเพียรเจริญกุศล ตามความเป็นจริงแล้วแต่ละบุคคลล้วนเป็นผู้มาก และหนักไปด้วยอกุศลด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลและเห็นประโย ชน์ของการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ย่อมมีทางที่จะทำให้เป็นผู้อยู่เป็นสุข อันเนื่องมาจากเป็นผู้มีกิเลสที่เบาบางลงจนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้ในที่สุด ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น จึงควรทราบตามความเป็นจริงว่า มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะพ้นจากความทุกข์ได้ นั่นก็คือ เพราะปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น นั่นเองครับ.

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นมากครับ

ดูเหมือนว่า มีความจำเป็นมากๆ ที่จะต้องแยกแยะระหว่างธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี และ ธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี หากยังไม่สามารถแยกแยะได้ การไปทำความเพียร ย่อมเสี่ยงที่จะเข้าไปหาทุกข์ ท้ังในปัจจุบันและสัมปรายภพ อย่างแน่นอนนะครับ ดังนั้น ควรพิจารณาธรรมวินัยอย่างไร จึงจะทราบได้ว่า กล่าวไว้ดี หรือกล่าวไว้ไม่ดี โดยเฉพาะธรรมวินัยที่มีการกล่าวทั่วไปในปัจจุบันตามสื่อต่างๆ ทั้งทีวี วิทยุ หนังสือ อินเตอร์เน็ต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

สำหรับการแยกแยะระหว่างธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี และ ธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญาของผู้ฟัง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ครับว่า พระธรรมใด เป็นคำสอนของพระองค์และถูกต้อง และ ธรรมใดที่ไม่ใช่คำสอนของพระองค์และไม่ถูกต้อง พระองค์ได้แสดงไว้ว่า ธรรมใดที่แสดงเพื่อเป็นไป เพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อหลุดพ้นและเพื่อขัดเกลากิเลส ธรรมนั้นเป็นพระธรรมที่ถูกต้อง ตามที่พระองค์ได้แสดงไว้ ส่วนธรรมใดที่เป็นไปเพื่อไม่เบื่อหน่าย คือ ติดข้อง ไม่คลายกำหนัด ไม่หลุดพ้น และไม่ขัดเกลากิเลส นั่นไม่ใช่ธรรมวินัยนี้ครับ ไม่ใช่ธรรมที่ถูกต้อง จากที่กล่าวมาก็ดูเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่า ธรรมใดที่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย หรือไม่เบื่อหน่าย คลายกำหนัด หรือ ไม่คลายกำหนัด ซึ่งก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญาอีกนั่นเองที่จะรู้ได้ ซึ่งก็ขออธิบายรายละเอียดที่ลึกลงไปว่า ธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีเป็นอย่างไร และธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดีเป็นอย่างไร

ธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ก็ต้องเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ก็คือคลายกิเลส ความไม่รู้ ธรรมใดที่แสดงให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โดยไม่ใช่การจะทำด้วยอัตตา ตัวตนที่เป็นโลภะ แต่อบรมเหตุคือการฟังพรธรรม ศึกษาพระธรรม ธรรมนั้นเป็นธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี เพราะแสดงถึงความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ครับ

ธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี คือ คำสอนที่ไม่ไ่ด้แสดงให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ แต่สอนให้ต้องการ ติดข้อง สอนให้ทำโดยไม่เข้าใจเหตุที่ถูกต้อง โดยไม่ได้เริ่มจากการศึกษาให้เข้าใจ ไม่เริ่มจากการฟัง และไม่ได้ให้เข้าใจความจริงที่มีอยู่ นั่นไม่ใช่คำสอน และเป็นธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดีครับ

ปัญญาเท่านั้นจึงเป็นเครื่องแยกแยะ ความเห็นถูก ความเห็นผิด สิ่งที่ถูกและผิด ซึ่งสัตว์โลก ก็โอนอ่อนกันไปตามการสะสมมาของความเห็นถูกและเห็นผิดครับ พุทธศาสนิกชน จึงควรเป็นผู้สำเหนียก ที่จะต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากการฟังพระธรรมมากขึ้น ก็จะค่อยๆ แยกแยะ ความเห็นถูกและเห็นผิด เพราะเมื่อใดความเห็นถูกเกิดขึ้น ย่อมรู้จักความเห็นผิดตามความเป็นจริงครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ได้หลักในการพิจารณาที่ดีแล้วครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผิน
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 พ.ย. 2554

สาธุ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
jaturong
วันที่ 3 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ