สำรอกอวิชชา - ส่วนแห่งวิชชาธรรม

 
lnwcat
วันที่  5 พ.ย. 2554
หมายเลข  19974
อ่าน  2,348

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้นหรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่า เจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้จึงชื่อว่า ปัญญาวิมุติ ฯ

ที่มา พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระธรรมเป็นเรืองละเอียด ลึกซึ้ง หากอ่านสูตรนี้ แต่ไม่แยบคาย ก็อาจจะเข้าใจว่า เมื่อเห็นคำว่า สมถะ ที่อบรมเจริญแล้ว ก็จะต้องทำ สมถะ เพื่อที่จะได้บรรลุธรรม ซึ่งอาจเข้าใจผิดว่า สมถะ คือ การเจริญฌานเท่านั้น จึงต้องไปนั่งสมาธิ ทำฌานก่อนเพื่ออบรมสมถะ นั่นก็ไม่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยครับ ขออธิบายประเด็นคำว่า สมถะครับ

โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญวิปัสสนา จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรบให้ได้ฌานจึงจะเจริญวิปัสสนาได้ ดังนั้นเรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน สมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส ส่วนสมถภาวนาหมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น คำถามจึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนาและวิปัสสนานั้นเป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌานแต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือไม่ แต่ท่านฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไมใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ดังนั้น ประเด็นคือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือวิปัสสนานั่นเองครับ คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลังคือ สัมมาวาจา...สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนา

ฌานดับกิเลสไม่ได้ มรรคมีองค์ 8 ดับกิเลสได้ [มหาโควินทสูตร]

ฌานไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส [สัลเลขสูตร]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

แยกแยะได้ชัดเจนและทำให้เข้าใจได้มากขึ้นทีเดียวครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนา ก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก การอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นเรืองของความเข้าใจที่ถูกต้องเห็นความต่างระหว่างกุศล กับ อกุศล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเป็นผู้เจริญสมถภาวนา จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และประการที่สำคัญ ไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปเจริญ แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรม นั่นเอง

สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตเพื่อให้สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต จนจิตสงบเข้าถึงความสงบแนบแน่น เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่เจริญสมถถาวนา จิตย่อมไม่มีอกุศลเลย แต่ข้อที่น่าพิจารณา คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาที่ไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ความเข้าใจ เจริญไม่ถูก จิตย่อมไม่สงบจากอกุศล แต่เป็นอกุศล เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่า การอบรมเจริญสมถภาวนา
เมื่อเจริญถูกต้อง ผลของสมถภาวนา ย่อมทำให้เกิดในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌาน ยังเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ เพราะสมถภาวนา ละกิเลสไม่ได้เลย เพียงแค่ข่มกิเลสไว้เท่านั้น

ส่วนวิปัสสนาภาวนา เป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทั้งที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม เป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลสได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว จึงควรอย่างยิ่ง ที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ธรรมตามเป็นจริง เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมสำรอกราคะ ดับอวิชชา และดับกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
lnwcat
วันที่ 6 พ.ย. 2554

สาูธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 7 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ