สเหตุกกุศลวิบาก

 
วิริยะ
วันที่  6 พ.ย. 2554
หมายเลข  19979
อ่าน  4,108

เรียนถาม

สเหตุกกุศลวิบาก อีกชื่อหนึ่งคือ มหาวิบาก 8 ใช่หรือไม่ เป็นวิบากจิตที่เป็นโสภณ เพราะมีกุศลเจตสิกคือ อโลภะ อโทสะ และ อโมหะ เกิดร่วมด้วย ใช่หรือไม่

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ก่อนอื่นก็เข้าใจคำว่า สเหตุกะ ก่อนครับ สเหตุกะ หมายถึงธรรมที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สเหตุกจิต ๗๑ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งสเหตุกจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุเกิดร่วมด้วย เหตุในที่นี้ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ที่เป็นเจตสิก 6 ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก จิตใดที่มีเหตุ ประการใด ประการหนึ่ง ในเหตุ 6 ประการที่กล่าวมา ชื่อว่า สเหตุกะจิตครับ ส่วน คำว่า มหาวิบาก หมายถึง วิบากจิตซึ่งเป็นผลของมหากุศลจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต เป็นทวิเหตุกะ (เหตุ ๒) และติเหตุกะ (เหตุ ๓) อย่างละ ๔ ดวง เป็นมหาวิบาก 8 ซึ่งสเหตุกกุศลวิบากนั้น กว้างกว่า มหาวิบาก 8 ดวงครับ

สเหตุกวิบาก คือ วิบากจิตที่มีเหตุประกอบ หมายถึง วิบากจิต ๒๑ ดวง ที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้แก่

-มหาวิบากจิต ๘ ดวง ญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวง มีเหตุ ๒ คือ อโลภะ อโทสะ ญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

-รูปวจรวิบากจิต ๕ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

-อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

-โลกุตรวิบากจิต ๔ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

จะเห็นนะครับว่า สเหตุกวิบาก มีทั้ง มหาวิบาก 8 และรวมถึง รูปวจรวิบากจิต ๕ ดวง อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง โลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง สเหตุกวิบาก จึงกว้างกว่า มหาวิบาก 8 ดวง จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่า สเหตุกวิบาก ก็คือ มหาวิบาก 8 ครับ เพราะสเหตุกวิบาก กว้างกว่าครับ ตามที่กล่าวมา แต่ถ้าจะเรียกให้ถูก ก็ต้องกล่าวว่า มหาวิบาก 8 ดวงก็คือ กามาวจรสเหตุกวิบากจิต ซึ่งมหาวิบากจิต 8 ดวง เป็นโสภณจิต เพราะมีเหตุที่ดี เกิดร่วมด้วยครับ จึงเรียกอีกอย่างว่า กามโสภณวิบากจิต

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 6 พ.ย. 2554

เรียนถาม

ขอบคุณที่กรุณาอธิบายค่ะ ดิฉันอ่านและศึกษาเกี่ยวกับ อเหตุกจิต และ สเหตุกจิต มาหลายรอบ หลายครั้งเต็มที และทุกครั้ง ก็ต้องกลับมาศึกษาใหม่ แรกๆ ดูเหมือนจะเข้าใจดีนะคะ เมื่อเวลาผ่านไป และมีโอกาสได้อ่านเจออีก ดิฉันก็ต้องย้อนกลับมาศึกษาใหม่ เช่นนี้ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีความเข้าใจจริงๆ ต้องการเรียนถามต่อว่า ในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วๆ ไป ส่วนมากเป็น มีวิบากจิตที่เป็น อเหตุกุศลวิบาก ใช่หรือไม่ อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมีวิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือ ภวังคจิต ภวังคจิต ของบุคคลผู้เกิดเป็นมนุษย์ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดนั้น เป็นวิบากจิต ที่ประกอบด้วยเหตุ คือ เป็นสเหตุกกุศลวิบาก เพราะอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ อโลภะ กับ อโทสะ ถ้าเป็นผู้ปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๓ ก็มี ปัญญา (อโมหะ) เกิดร่วมด้วย และนอกจากจะมีกุศลวิบาก ในชีวิตประจำวัน แล้ว อกุศลวิบาก ก็มีเช่นกัน ซึ่งเป็นวิบากจิต ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ยกตัวอย่างเช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีใครทำให้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ด้วยครับ ในความคิดเห็นที่ ๒

ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจ อเหตุกจิต กับ สเหตุกจิต ให้เข้าใจถ่องแท้ก็จะไม่งงครับ คือ อเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ สเหตุกจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ดังนั้น ก็ต้องตั้งต้นครับว่า เหตุในที่นี้คืออะไร เหตุในที่นี้คือ เหตุ 6 ประการที่เป็นเจตสิก 6 ประเภท คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก จิตใดก็ตามครับ ที่ไม่มี เจตสิก 6 ประการ ประการใดประการหนึ่ง ชื่อว่าเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ส่วน จิตใดที่มีเจตสิก 6 ประการ ดวงใดดวงหนึ่ง ชื่อว่าเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ เรียกว่า สเหตุกจิตครับ ซึ่ง ในชีวิตประจำวัน ก็มีกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุอย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น คือ อโลภเจตสิก และอโทสเจตสิก ดังนั้นกุศลจิตเป็น สเหตุกจิต และ อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีเหตุเจตสิก อย่างน้อย 1 เจตสิก คือ โมหเจตสิก เพราะฉะนั้น อกุศลจิตก็เป็น จิตที่ประกอบด้วยเหตุ เรียกว่า สเหตุกจิตครับ ส่วนวิบากในชีวิตประจำวัน คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้กระทบสัมผัส เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ 6 ประการตามที่กล่าวแล้วเลยครับ คือ ไม่มีเจตสิก 6 ดวงใด ดวงหนึ่งเกิดขึ้นครับ ทวิปัญจวิญญาณจิต 10 ดวง ที่เป็นวิบากที่เกิดในชีวิตประจำวัน จึงเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ อเหตุกจิตครับ

ขอให้ยึดหลักว่า ถ้าจิตใดไม่มีเหตุ 6 ประการเกิดร่วมด้วย เป็น อเหตุกจิต แต่ถ้ามีเหตุ 6 ประการ ดวงใดดวงหนึ่ง เป็น สเหตุกจิตครับ ส่วนวิบากที่เกิดในชีวิตประจำวันอีกอย่างคือ ภวังคจิต ก็แล้วแต่ครับว่า ภวังคจิตจะเป็นแบบอเหตุกจิตก็ได้ หรือ สเหตุกจิตก็ได้ ขึ้นอยู่กับปฏิสนธิเกิดเป็นอะไร ภวังคจิตนั้นก็ต้องเป็นเช่นเดียวกับปฏิสนธิจิตครับ เช่น หากเกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิด้วย มหาวิบาก ภวังคจิตก็ต้องเป็นมหาวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ เป็นสเหตุกจิต แต่ถ้าเกิดในสัตว์อบายภูมิ ปฏิสนธิเป็นอเหตุกจิต ภวังคจิตก็เป็นอเหตุกจิตด้วยครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 6 พ.ย. 2554

เรียนถาม

มหาวิบากจิต 8 นั้น คือปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต เท่านั้นใช่หรือไม่ คือเป็นผลของกรรมดี ที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการ และภวังคจิต ก็ดำรงความเป็นบุคคลผู้นั้น ไปจนกว่าจะตาย ส่วนในชีวิตประจำวัน ก็มีจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส และจิตรู้กระทบสัมผัส ซึ่งเป็นได้ทั้ง กุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิต ถ้าเป็นกุศลวิบากจิต ก็ได้รับอารมณ์ที่ดี ถ้าเป็นอกุศลวิบากจิต ก็ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี วิบากจิตที่ได้กล่าวไปนั้น ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ส่วนวิบากจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยที่เรียกว่ามหาวิบาก 8 นั้น ก็เป็นไปอย่างที่ถามข้างต้น ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่อย่างไร ขออภัยที่ต้องถามวกวน ในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับพระธรรม ดิฉันเรียนรู้ช้ามากค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๖ ครับ คำถามที่คุณวิริยะถามนั้น ไม่ได้วกวน ครับ ควรที่จะได้พิจารณาถึงจิต ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต ทั้ง ๓ ประเภทนี้ เรียกตามกิจของจิต เพราะจิตที่เกิดขึ้น นั้น ต้องทำกิจหน้าที่ของตนๆ จิตที่ทำกิจ ดังกล่าวนี้ มีทั้งหมด ๑๙ ดวง ดังนี้ มหาวิบาก ๘ (ดวงหนึ่งดวงใด ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ สำหรับผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด และผู้ที่เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ ) , อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ที่พิการตั้งแต่กำเนิด และ เกิดเป็นเทวดาชั้นต้น) , อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ สำหรับผู้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ) , รูปาวจรวิบาก ๕ (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และ ทำกิจจุติ สำหรับผู้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล) , อรูปาวจรวิบาก ๔ (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และ ทำกิจจุติ สำหรับผู้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล) สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดนั้น มหาวิบาก ๘ ซึ่งเป็นผลของกรรมดี (ดวงหนึ่งดวงใดซึ่งเป็นวิบากจิตที่ประกอบด้วยเหตุ) ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ ในภพนี้ชาติ นี้ เมื่อจิตดวงใด ทำกิจปฏิสนธิ จิตนั้นก็ทำกิจภวังค์และทำกิจจุติ ในภพนี้ชาตินี้ ด้วย ดังนั้น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต ของผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ก็คือ มหาวิบาก ๘ ดวงหนึ่งดวงใดนั่นเอง ส่วนวิบากจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่กล่าวถึง ภวังคจิต แล้ว ก็เป็นอย่างที่คุณวิริยะได้กล่าวถึง คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส และจิตรู้กระทบสัมผัส ซึ่งเป็นกุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก ตามสมควรแก่กรรม ถ้าเป็นกุศลวิบากก็ได้รับอารมณ์ทีดี ถ้าเป็นอกุศลวิบาก ก็ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี วิบากจิตเหล่านี้ ไม่มี-เหตุเกิดร่วมด้วย ...ขออนุโมทนาในความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยครับ....

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 6 พ.ย. 2554

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 4 ที่กล่าวว่า อกุศลจิตต้องมีเหตุเจตสิกอย่างน้อย 1 เจตสิก คือโมหเจตสิกนั้น คือเป็นอย่างไร ขอความกรุณาขยายความด้วยค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

อกุศลจิตที่มีอย่างน้อย 1 เหตุที่เกิดร่วมด้วย อธิบายดังนี้ครับ อกุศลจิต มี 12 ครับ คือ โลภมูลจิต 8 ดวง โทสมูลจิต 2 ดวง และโมหมูลจิต 2 ดวง โลภมูลจิต มีเหตุเกิดร่วมด้วย 2 เหตุ คือ โลภเจตสิกและโมหเจตสิก โทสมูลจิต มีเหตุเกิดร่วมด้วย 2 ดวง คือ โทสเจตสิกและโมหเจตสิก ส่วนโมหมูลจิต มีเหตุเกิดร่วมด้วย 1 เหตุเท่านั้น คือ โมหเจตสิกนั่นเองครับ ดังนั้น อกุศลจิต จะต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย อย่างน้อย 1 เหตุ คือ โมหเจตสิกนั่นเองครับ ซึ่งขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ พิมพ์ผิด จริงๆ จะต้องเป็นโมหเจตสิก ไม่ใช่ อโมหเจตสิกครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 6 พ.ย. 2554

เรียนถาม

สิ่งที่จะเรียนถามอาจจะเกี่ยว หรือไม่เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องนะคะ ในการศึกษาพระธรรม ทำไมจึงต้องศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ต้องศึกษาใหม่เหมือนเริ่มใหม่ทุกที เช่นนี้ทางธรรม เรียกว่าอะไร บางขณะเกิดความหงุดหงิด แต่บางขณะ ก็ปล่อยไปเลย ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ เอาไว้วันหลังศึกษาใหม่ เป็นเช่นนี้บ่อยๆ เนืองๆ ค่ะ ในทางโลกมักจะเรียกว่าหัวช้า ไม่ค่อยฉลาด แต่ในทางธรรมนั้น จะเรียกอย่างไรและเป็นเพราะเหตุใด

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

ต้องไม่ลืมครับว่า สะสมความไม่รู้ คือ อวิชชาไว้มาก ความไม่รู้ในอะไร ความไม่รู้ในอริยสัจ 4 นั่นก็คือ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เมื่อสะสมความไม่รู้มามาก เพียงเพิ่งเริ่มฟังได้ไม่นาน ปัญญาก็เจริญน้อย ก็ยังทำให้ไม่เข้าใจในประเด็นนั้นอย่างแจ่มแจ้ง เพราะปัญญายังน้อยอยู่ครับ ในทางธรรม หากมีความสงสัยในสภาพธรรม ขณะนั้น เรียกว่า วิจิกิจฉา ซึ่งเป็นธรรมดาเหลือเกิน สำหรับปุถุชน ทุกคนต้องมีอยู่ และมีอยู่มากด้วยครับ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ที่ท่านดับ ความลังเลสงสัยในสภาพธรรมได้หมดแล้วครับ

หนทางที่ถูกต้องก็คือฟังต่อไป สงสัย ไม่เข้าใจก็ถาม อย่างนี้ถูกต้องแล้วครับ เพราะเหตุให้เกิด ปัญญา ก็มีทั้งการฟังพระธรรม และ การสอบถามเมื่อสงสัยด้วยครับ ยังเรียนรู้ช้า ถูกต้องแล้วครับ เป็นปกติกันอย่างนี้ทั้งนั้น เพราะสะสมความไม่รู้ไว้มาก แต่ค่อยๆ รู้ได้ แต่ทีละนิด เหมือนการจับด้ามมีด ค่อยๆ สึก กว่าจะสึกก็ต้องใช้เวลานานมากครับ ฟังและสนทนาธรรมกันต่อไปครับ สะสมเหตุไป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 7 พ.ย. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวิริยะ อาจารย์ผเดิม และอาจารย์คำปั่นมากครับ ผมได้รับประโยชน์จากคำถามและคำอธิบายหลายแง่มุม คุณวิริยะนอกจากจะวิริยะสมชื่อแล้วยังมีขันติอีกด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วิริยะ
วันที่ 7 พ.ย. 2554

ขอขอบคุณต่ออาจารย์ทั้งสองท่าน และขออนุโมทนาในกุศลจิตของผู้ร่วมสนทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
orawan.c
วันที่ 7 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 18 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Paisal_Sophonchaiporn
วันที่ 19 พ.ค. 2563

ได้เข้ามาอ่านแล้วทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ขอบพระคุณมาก ทั้งผู้กรุณาถามและผู้กรุณาตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ภาคภูมิอรุณศรี
วันที่ 5 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณและอนุโมทนา อ. ทั้งสองท่านและผู้ร่วมสนทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ