การเสียทรัพย์ และ ความทุกข์ใจ

 
worrawat
วันที่  9 พ.ย. 2554
หมายเลข  19991
อ่าน  3,669

มีการสนทนาในประเด็นภัยธรรมชาติกับเพื่อน แล้วมีคำถามว่า ทำไมบางคนเสีย

ทรัพย์จากน้ำท่วมและบางคนไม่เสีย ทำไมบางคนทุกข์ใจกะภัยธรรมชาติครั้งนี้แต่

บางคนไม่ ทำไมบางคนทุกข์ใจเพราะเสียทรัพย์แต่บางคนไม่

ขอเชิญร่วมสนทนากันด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ความจริงที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ น้ำท่วม และ สัตว์ บุคคล ตัวเรา เพื่อนเรา

บุคคลอื่นๆ ต่างเป็นสิ่งสมมติจากความจริงที่มีอยู่ คือ จิต เจตสิกและรูป ภัยธรรมชาติ มี

น้ำท่วม เป็นต้น จะมีไม่ได้เลย ถ้าปราศจากรูป เช่น ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมรวมกัน

สัตว์บุคคล เพื่อน บุคคลต่างๆ ก็คือ จิต เจตสิกและรูป ประชุมรวมกัน เป็นสภาพธรรมที่

ประชุมรวมกัน และที่สำคัญ การคิดว่ามีน้ำท่วม คิดว่าตอนนี้เป็นภัยธรรมชาติ หากไม่มีจิต

ไม่มีเจตสิก ไม่มีการคิดนึกที่เป็นจิตแล้ว ก็ไม่มีภัยธรรมชาติ เพราะเกิดจากจิตที่คิดนึก

เท่านั้นเองว่ามีภัยธรรมชาติครับ

ดังนั้นสิ่งต่างๆ มีได้ เพราะมีสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิกและรูป จึงย้อนกลับมา

ประเด็นที่ถามว่า ทำไมบางคนเสียทรัพย์ ทำไมบางคนไม่เสียทรัพย์ ทำไมบางคนทุกข์ใจ

ทำไมบางคนไม่ทุกข์ใจในเรื่องภัยธรรมชาติ คงต้องแยกเป็นประเด็นไปนะครับ ซึ่งตามที่

กระผมได้กล่าวในข้างต้นที่ว่า ความจริงก็คือ มีแแค่ จิต เจตสิกและรูปเท่านั้น คน หรือ

สัตว์ บุคคลก็คือการประชุมรวมกันของจิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้น จิตมีจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ย. 2554

จิตมี 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ดังนั้น วิบากจิต การ

ได้รับผลของกรรมมีจริง ซึ่งขณะที่เสียทรัพย์ โดยนัยพระสูตรแล้ว ก็คือ การได้รับวิบากที่

ไม่ดี หรือ ผลของอกุศลกรรมที่ไม่ดีให้ผล จึงทำให้เสียทรัพย์ อันเกิดจากการกระทำ

อกุศลกรรมในอดีต มี การลักขโมย เพราะวิบาก คือ ผลของกรรมอย่างเบา จึงทำให้สูญ

เสียทรัพย์สิน ไม่มากก็น้อย ตามกำลังของอกุศลกรรมที่ได้ทำมา จะเห็นนะครับว่าการเสีย

ทรัพย์ ก็คือ เป็นผลของกรรมที่ไม่ดีให้ผลซึ่งแต่ละคนก็ทำกรรมแตกต่างกันไป แม้ว่าน้ำ

จะท่วม เกิดภัยธรรมชาติ กับหลายๆ คน แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องเสียทรัพย์ ความ

แตกต่างของแต่ละคนที่เสียทรัพย์ ไม่เสียทรพัย์ จึงเกิดจากกรรมที่เป็นอกุศลกรรม มี การ

ลักขโมย ให้ผล ทำให้บุคคลนั้นเสียทรัพย์ แต่บุคคลใด แม้ประสบภัยธรรมชาติเช่นกัน แต่

กรรม คือ อกุศลกรรมที่เป็นการลักขโมย เป็นต้น ไม่มี ก็ไม่ให้ผล ก็ไม่ทำให้เสียทรัพย์

ความแตกต่างจึงขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำมา หรือ ไม่ได้ทำมาที่เป็นอกุศลกรรมครับ

ซึ่งตัวอย่างเรื่องฝนตก เกิดภัยในพระไตรปิฎกก็มีอธิบายในประเด็นนี้ไว้เป็นอย่างดีครับ

ซึ่งเรื่องราวมีอยู่ว่า พระราชา และบริวารพระราชา ทำกรรมไม่ดี ประทุษร้าย ผู้มีศีล คือ

ฤาษี เทวดาโกรธ จึงบันดาลให้เกิดฝนต่างๆ และฝนที่เป็นอาวุธ ผู้คนส่วนมากตาย เพราะ

ได้ทำกรรมไม่ดีเอาไว้ กรรมไม่ดีให้ผล ส่วนในอรรถกถาอธิบายเพิ่มว่า แต่บางคนปลอดภัย

ไม่เป็นอะไร เพราะไม่ได้ทำกรรมไม่ดีร่วมกับบุคคลอื่น กรรมไม่ดีนั้นจึงไม่ให้ผล ทำให้

บุคคลเหล่านั้นปลอดภัยครับ นี่แสดงให้เห็นถึง การจะได้รับสิ่งที่ดีหรือไม่ดี สำคัญที่กรรม

เป็นสำคัญครับ และแต่ละคนก็ทำกรรมมาแตกต่างกันไปก็มี จึงทำให้บางคนเสียทรัพย์

หรือ เสียชีวิตเพราะภัยธรรมชาติ แต่บางคนไม่เป็นครับ เพราะกรรมไม่ดี ที่ไม่ได้ทำไม่

ให้ผลนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ย. 2554

ส่วนประเด็น เรื่ิองที่ว่า เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ หรือ ทำให้เสียทรัพย์ ทำไมบางคนทุกขใจ

ทำไมบางคนไม่ทุกข์ใจ ก่อนอื่นต้องเข้าใจครับว่าทุกข์ใจคืออะไร ทุกข์ใจ คือ จิต เจตสิก

ที่เกิดขึ้น อันเป็นอกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดี เป็นโทสมูลจิต ที่มีความรู้สึกที่เป็นเวทนาที่เป็น

โทมนัสเวทนา จึงทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ ดังนั้นเพราะมีกิเลส คือ โทสะอยู่ จึงเป็น

เหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจจึงไม่ใช่ผลของกรรม ที่เป็นขณะทีเห็น ได้ยิน

ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส แต่ความทุกข์ใจ เป็นอกุศลจิตที่เป็นกิเลส ที่เกิดได้ สำหรับ

ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ผู้ที่จะไม่ทุกข์ใจ คือ พระอนาคามี เพราะท่านดับโทสะหมดแล้วครับ จึง

ไม่เป็นเหตุปัจจัยให้ทุกข์ใจเลยครับ ดังนั้น สำหรบปุถุชน ผุ้ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา

พบกับความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก อันเกิดจากภัยธรรมชาติ ที่จะไม่ทุกข์ใจ คงเป็นไป

ไม่ได้ครับ เพียงแต่ว่าจะทุกข์ใจมาก หรือ น้อยในเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น ทุกข์ใจไม่จำเป็นจะ

ต้องถึงกับร้องไห้เศร้าโศก เพียงความไม่ชอบใจ ไม่สบายใจเพียงเล็กน้อยก็ทุกข์ใจแล้ว

แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกิเลส หากไม่มีปัญญาก็จะไม่รู้เลยครับว่ากิเลสเกิดขึ้น

แล้ว ส่วนบางคนทุกข์ใจมาก ทุกข์ใจน้อย ก็แตกต่างกันได้ ตามการสะสมความคิดของ

แต่ละบุคคล ผู้ที่เข้าใจความจริงของโลก ความเป็นไปธรรมดา ก็ย่อมทุกข์ใจน้อยกว่า ผู้ที่

ไม่เข้าใจ ไม่มีปัญญา เพราะผู้ที่มีปัญญาย่อมคิดถูกต้อง ถึงความไม่เที่ยง และเป็นธรรมดา

ที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้นครับ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าใจ และติดข้องมากๆ ในสิ่งต่างๆ ก็เป็นเหตุปัจจัย

ให้เกิดโทสะ ความไม่สบายใจ ทุกข์ใจมากด้วยครับ

เพราะฉะนั้นแต่ละบุคคลจึงแตกต่างกันไปในความคิดนึกที่สะสมมา ที่สะสมความเข้าใจ

ถูก หรือ สะสมความเข้าใจผิดมานั่นเอง การได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจพระธรรม ปัญญา

นั่นเองเป็นที่พึ่ง ให้พ้นภัยธรรมชาติ ภัยที่แท้จริงนั่นคือ ภัย คือ กิเลสที่ท่วมใจสัตว์โลก

ไม่ให้รู้ความจริงและก็เป็นทุกข์กับสิ่งที่เกิดแล้ว เพราะไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

ดังนั้นจะพ้นภัยคือกิเลสและภัยต่างๆ แม้ภัยธรรมชาติได้ก็ด้วยการไม่เกิดอีก นั่นคือ ดับ

เหตุคือกิเลส ด้วยการอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรมครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยครับ สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน กระทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมชั่ว หรือ กรรมดี ก็ตาม ก็ย่อมจะได้รับผลของกรรมนั้น ถ้าถึงคราวที่กรรมนั้นๆ ให้ผล แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเราเอง ไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้ว ไม่มีใครทำให้เลย ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น โดยไม่ปะปนกันเลย เพราะเหตุว่า กุศลกรรมให้ผลที่ดี ให้ผลที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนอกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์ ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา คนส่วนใหญ่เมื่อตนเองประสบภัยประการต่างๆ ถ้าไม่เข้าใจในเหตุในผล ไม่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม ก็อาจจะไปโทษในสิ่งต่างๆ บางคนอาจจะถึงกับบ่นเพ้อว่า ทำไมเหตุการณ์อันเลวร้ายอย่างนี้จึงเกิดขึ้นกับเรา แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จะเข้าใจว่า เพราะต้องเป็นเรา เพราะเป็นอกุศลกรรมที่เราได้เคยกระทำไว้ ถึงคราวให้ผล ผลที่ไม่น่าปรารถนาจึงเกิดขึ้นกับเรา แต่ไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นผลของอกุศลกรรมประเภทใด เพราะกรรมเป็นธรรมชาติที่ปกปิด เราไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้ว่า กรรมใด จะให้ผลเมื่อใด, ผลทุกอย่างที่ได้เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ก็เพราะเหตุที่ได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น

อีกนัยหนึ่งของพระธรรมเทศนา คือ อกุศลกรรมทั้งหมด ไม่ใช่ของตน กุศลกรรมเป็นของตน ดังข้อความจาก อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ตอนหนึ่งว่า พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้า ๕๔๓

กุศลกรรมทั้งหมดไม่ใช่ของตน กุศลกรรมชื่อว่า เป็นของตน เพราะเหตุไร?

เพราะกุศลกรรม หักประโยชน์ และไม่ให้เกิดประโยชน์ ส่วน กุศลกรรมชื่อว่า เป็นของตน เพราะไม่หักประโยชน์ และเพราะให้เกิดประโยชน์

--------------------------------------------- ข้อความดังกล่าว เป็นอีกนัยหนึ่งของพระธรรมเทศนา ที่แสดงให้เห็นว่า กุศลกรรมไม่ใช่ของตน เพราะหักประโยชน์ และเพราะไม่ให้เกิดประโยชน์ อกุศลกรรม ทำลายทุกอย่าง ไม่นำมาซึ่งประโยชน์แก่ตนเลย แม้เพียงเล็กน้อย ทรัพย์สมบัติทุกอย่างที่เป็นของตน เวลาที่กุศลกรรมให้ผลก็ทำให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่างนั้นพินาศสูญเสีย ไม่เป็นของตนอีกต่อไป กล่าวได้ว่า อกุศลกรรม หักประโยชน์ทั้งในขณะที่เกิดขึ้น และในขณะที่ให้ผล แต่ในทางตรงกันข้าม กุศลกรรม นำมาซึ่งประโยชน์แก่ตนโดยส่วนเดียว ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ความเสียหายใดๆ เลย เป็นประโยชน์ทั้งในขณะที่เกิดขึ้น และในขณะที่ให้ผล ทำให้ตนเองได้รับแต่สิ่งที่ดีน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เท่านั้น และที่ควรจะได้พิจารณา คือ เราไม่สามารถหลีกหนีการให้ผลของกรรมไปได้ ถ้าอกุศลกรรมได้โอกาสเมื่อใด วิบากจิตก็เกิดขึ้นรับอารมณ์ที่ไม่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความเข้าใจหรือความเข้าใจยังน้อยความหวั่นไหว ความทุกข์ใจ ความเศร้าใจย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนผู้ที่มีกำลังใจที่เข้มแข็งด้วยกำลังแห่งปัญญา ความหวั่นไหวความทุกข์ใจก็น้อยลง ไม่ว่าจะอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง และความเข้าใจจะเกิดมีได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ต่อไป ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 9 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 9 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
worrawat
วันที่ 9 พ.ย. 2554

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียด ต้องค่อยๆ ศึกษา ตั้งใจฟัง จะผิวเผินมิไ้ด้เลย จริงๆ ครับ

ขอขอบคุณ และอนุโมทนาในกุศลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 9 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
tookta
วันที่ 9 พ.ย. 2554

คนเราถ้ารู้จักคำว่าพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวก็คงจะไม่มีความทุกข์

มากมาย เพราะความไม่พอเพียง จึงพยายามสรรหาสิ่งต่างๆ มากมายให้มาเป็นสมบัติจึง

ทำให้เกิดความโลภ เมื่อมีทรัพย์สมบัติมากก็จะเกิดความห่วงสมบัติจึงทำให้เกิดความทุกข์

ดูอย่างผู้ที่ร่ำรวยมากมายกลับมีความทุกข์มากกว่าคนจรจัดเสียอีก แล้วถ้าคนเราอยู่กับ

ธรรมชาติโดยไม่ไปฝืนธรรมชาติ ระบบนิเวศน์มันก็คงจะดีกว่านี้มากเลย เราก็คงจะได้

อยู่กับธรรมชาติที่ดีเช่นได้สูดอากาศดีๆ ได้พบกับสิ่งที่เป็นสีเขียวของธรรมชาติ เพราะฉะ

นั้นคิดว่าความทุกข์ทั้งหมดก็คงจะ เกิดจากตัวเราเองนั้นแหละที่ไม่รู้จักพอ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pamali
วันที่ 15 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
jaturong
วันที่ 16 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Thanapolb
วันที่ 13 ก.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พึ่งมาได้อ่าน แต่ก็ดีมาก ไพเราะครับอาจารย์คำปั่น... เป็นกระทู้ถามตอบที่น่าอ่าน... ช่วงนี้หลายท่านก็อาจกำลังประสบภัยจากน้ำท่วมบ้างในบางท้องถื่น...ถ้าได้อ่านก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในความจริงได้ตามกำลังของตน... "...ทรัพย์สมบัติทุกอย่างที่เป็นของตน เวลาที่อกุศลกรรมให้ผลก็ทำให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่างนั้นพินาศสูญเสีย ไม่เป็นของตนอีกต่อไป กล่าวได้ว่า อกุศลกรรม หักประโยชน์ทั้งในขณะที่เกิดขึ้น และในขณะที่ให้ผล..." ไพเราะครับอาจารย์คำปั่น ขออนุญาติส่ง ลิงค์ให้มิตรสหายที่กำลังเดือนร้อนเรื่องน้ำท่วมได้อ่าน... ขออนุโมทนากับอาจารย์คำปั่น อาจารย์เผดิม ในการตอบกระทู้นี้

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ