บุคคลผู้ควรแก่การบรรลุมรรคผล เป็นไฉน?

 
pirmsombat
วันที่  9 พ.ย. 2554
หมายเลข  19996
อ่าน  3,304

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓- หน้าที่ 206

…...............................

[๒๘] อภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล เป็นไฉน?

บุคคลที่ประกอบด้วย กัมมาวรณ์ ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ประกอบ

ด้วยวิปากาวรณ์ ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นผู้ไม่

ควรหยั่งลงสู่นิยามอันถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า

อภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล.

[๒๙] ภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ควรแก่การบรรลุมรรคผล เป็นไฉน?

บุคคลที่ไม่ประกอบด้วยกัมมาวรณ์ ไม่ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ไม่

ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา ไม่โง่เขลา เป็น

ผู้ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยามอันถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า

ภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ควรแก่การบรรลุมรรคผล.

อรรถกถาอภัพพคมนบุคคล และ ภัพพาคมนบุคคล

วินิจฉัยในนิเทศแห่ง อภัพพาคมนบุคคล. ผู้ใดไม่ควรเพื่อจะ

บรรลุสัมมัตตนิยาม เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า อภัพพาคมนบุคคล. บทว่า

"กมฺมาวรเณน" แปลว่า ด้วยกรรมอันเป็นเครื่องกั้น ได้แก่ อนันตริยกรรม

๕ อย่าง. บทว่า "กิเลสาวรเณน" แปลว่า ด้วยกิเลสเป็นเครื่องกั้น ได้แก่

นิยตมิจฉาทิฏฐิ. บทว่า "วิปากาวรเณน" แปลว่า ด้วยวิบากเป็นเครื่องกั้น

ได้แก่ปฏิสนธิด้วยอเหตุกะและทวิเหตุกจิต. บทว่า "อสทฺธา" แปลว่า ผู้ไม่มี

ศรัทธา ได้แก่ เป็นผู้เว้นจากความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. บทว่า

"อจฺฉนฺทิกา" แปลว่า ผู้ไม่มีฉันทะ ได้แก่ ผู้เว้นจากความพอใจ ในกัตตุ-

กัมยตากุศล. เว้นชาวชมพูทวีปเสียแล้ว บุคคลเหล่านั้น พึงทราบว่าผู้อยู่ใน

ทวีปทั้ง ๓ นอกจากนี้ ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น มนุษย์ทั้งหลายชื่อว่า เข้าถึง

ความเป็นผู้ไม่มีฉันทะ. บทว่า "ทุปฺปญฺญา" แปลว่า มีปัญญาทราม ได้แก่

เว้นจากภวังคปัญญา. บทว่า "อภพฺพา" แปลว่า ผู้ไม่ควร ได้แก่ ไม่ได้

อุปนิสัยแห่งมรรคและผล. บทว่า "นิยามํ" ได้แก่ มรรคนิยาม. บทว่า

"โอกฺกมิตุํ" ความว่า ไม่ควรเพื่อจะก้าวล่วง คือก้าวลงไปสู่นิยาม กล่าวคือ

สัมมัตตะในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลเพื่อจะตั้งมั่นในมรรคผลนั้นได้.

นิเทศแห่ง ภัพพาคมนบุคคล บัณฑิตพึงทราบโดยปฏิปักษ์นัยจากคำ

ที่กล่าวแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในทุกะนี้ อย่างนี้ว่า

บุคคลใด กระทำปัญจานันตริยกรรม ๑ เป็นผู้นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๑

ผู้ถือปฏิสนธิมาด้วยอเหตุกะและทวิเหตุกจิต ๑ ผู้ไม่เชื่อพระรัตนตรัยมีพระพุทธ-

เจ้าเป็นต้น ๑ ความพอใจเพื่อจะทำกุศลของผู้ใดไม่มี ๑ ผู้มีภวังคปัญญาไม่

บริบูรณ์ ๑ อุปนิสัยมรรคผลของผู้ใดไม่มี ๑ บุคคลเหล่านั้น แม้ทั้งหมดเป็น

ผู้มีภัพพวิปริตไม่พึงก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามธรรม คือ มรรคผลและนิพพาน"

ดังนี้.

จบอรรถกถาอภัพพาคมนบุคคล และภัพพคมนบุคคล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในประเด็น เรื่อง ภัพพสัตว์ และ อภัพพสัตว์

ภัพพสัตว์ หมายถึง เหล่าสัตว์ที่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น ส่วน อภัพพสัตว์ คือ

เหล่าสัตว์ที่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น ดังนั้นจากข้อความที่คุณหมอยกมาที่ว่า

[๒๘] อภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล เป็นไฉน?

บุคคลที่ประกอบด้วย กัมมาวรณ์ ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ประกอบ

ด้วยวิปากาวรณ์ ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นผู้ไม่

ควรหยั่งลงสู่นิยามอันถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า

อภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล.

บุคคลที่ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ ในชาตินั้นเพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องกั้น ธรรมที่เป็น

เครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผล มี ดังนี้

1.กรรม

2.กิเลส

3.วิบาก

4.ไม่มีศรัทธา

5.ไม่มีฉันทะ

6.มีปัญญาทราม คือ ไม่มีปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ย. 2554

กรรม เป็นเครื่องกั้น ต่อการบรรลุมรรคผลในชาตินั้น เป็น อภัพพสัตว์ คือ การกระทำกรรม

ทำอนันตริยกรรม 5 ประการ มีการฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น เพราะการทำอันนตริย

กรรม อันเป็นกรรมที่กั้นการบรรลุมรรคผลในชาตินั้น แม้จะฟังมาก อบรมปัญญา

เท่าไหร่ก็ไม่สามารถบรรลุ มรรคผลได้

กิเสส คือ ความเป็นผุ้มีความเห็นผิดที่ดิ่ง เช่น ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม เป็นต้น

มีความเห็นผิดที่มีกำลังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความเห็นผิดที่เป็นกิเลสนี้เองที่เป็นเครื่องกั้น

การบรรลุ มรรคผล ไม่สามารถบรรลุได้ จึงเป็นอภัพพสัตว์ เพราะด้วยอำนาจกิเลส คือ ความ

เห็นผิดครับ

วิบาก หมายถึง วิบาก คือ ปฏิสนธิจิต คือ การเกิด บุคคลทีเกิดมาด้วยปฏิสนธิจิตที่ไม่

ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ในชาตินั้นครับ

ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ ไม่มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ไม่มี

ศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะไมได้อบรม สะสมมาในอดีตชาติ จึงทำให้ไม่สามารถ

บรรลุมรรคผลได้ จึงเป็นพวก อภัพพสัตว์ครับ

ความเป็นผุ้ไม่มีฉันทะ หมายถึ งไม่มีฉันทะ ความพอใจ ใคร่ที่จะฟังพระธรรม อบรม

ปัญญา ไม่มีฉันทะในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลายในอดีต จึงไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้

ความเป็นผู้มีปัญญาทราม คือ ไม่มีปัญญา เพราะไมได้สะสมปัญญามาในอดีต จากพระ

พุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อไม่ได้สะสมปัญญามา ก็ย่อมทำให้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จึงจัด

เป็นพวกอภัพพสัตว์ครับ

ส่วนสัตว์พวก ภัพพสัตว์ก็ตรงกันข้าม คือ สามารถบรรลุ มรรคผลได้ เพราะไม่มีธรรม 6

ประการตามที่กล่าวมาเป็นเครื่องกั้น เพราะไม่มีการทำอนันตริยกรรม ไม่มีความเห็นผิดที่

ดิ่ง และเกิดด้วยวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัยและกุศลธรรม

ทั้งหลาย เป็นผู้มีฉันทะในการอบรมปัญญา และมีปัญญาที่สะสม ก็สามารถบรรลุธรรมได้

เป็นภัพพสัตว์ครับ

ดังนั้นหน้าที่ของเรา คือ อบรมเหตุคือการฟังพระธรรมต่อไป เมื่อสะสมเหตุไปเรื่อยๆ

ก็สามารถถึงการบรรลุธรรม เป็นภัพพสัตว์ในอนาคตได้ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... อภัพพสัตว์ - ภัพพสัตว์

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขออนุญาตร่วมสนทนา ด้วยครับ สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นในยุคใดสมัยใดก็ตาม ก็เพราะเป็นผู้ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง, ในชาตินี้ ก็คงจะไม่ได้กระทำอนันตริยธรรม ไม่ได้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ และไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการบ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด เป็นต้น ในชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้ว แต่เราไม่สามารถทราบได้ว่า เราปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือ เหตุ๓ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ล่วงเลยไป ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมปัญญาต่อไป ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ได้เจริญขึ้นในทันทีทันใด ต้องอาศัยความอดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรมต่อไป เมื่อยังไม่เข้าใจ ก็จะต้องฟังต่อไป ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เพราะการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่เราก็สามารถสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ได้ ครับ. ...ขอบพระคุณและขอออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 10 พ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม และทุกท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สมศรี
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตคุณหมอ อาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่นและทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิต คุณหมอ อาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น

และทุกๆ ท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ