อินเดีย ... ที่พักใจ 7 กุรุ

 
kanchana.c
วันที่  9 พ.ย. 2554
หมายเลข  19998
อ่าน  2,847

กุรุ


ไปอินเดียครั้งนี้ได้ลงที่สนามบินอินทิรา คานธี ที่นิวเดลี เหมือนเมื่อไปครั้งแรกในปี ๒๕๓๐ คราวนั้นก็ว่าสนามบินนี้ใหญ่มากแล้ว แต่คราวนี้รู้สึกตื่นตาตื่นใจเพราะสนามบินสวยงาม ใหญ่โตกว่าเดิมมาก พวกเราได้อยู่เก็บภาพสนามบินนานเพราะมีกระเป๋าหาย ๑ ใบ แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่สายการบินก็หาพบ พวกเราขอบคุณและปรบมือให้ เจ้าหน้าที่สาวบอกว่า กลุ่มเราใจดีที่สุดที่ไม่ต่อว่าอะไรเลย แถมยังขอบคุณราวกับเขาให้กระเป๋าเรา นึกในใจว่า ก็พวกเรามาจาริกแสวงบุญ จึงเจริญกุศลทุกสถานการณ์

ออกจากสนามบินไปชมสถานที่สำคัญที่ปรากฏในพระสูตร คือ กุรุ สถานที่แสดงมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อปี ๓๐ นั้น กุรุเป็นเพียงกลุ่มหินก้อนใหญ่ ๒ – ๓ ก้อน มีรั้วล้อมรอบแล้วมีป้ายบอกว่า เป็นกุรุ แต่ปัจจุบันมีบริเวณกว้างใหญ่ รั้วรอบขอบชิด ปลูกต้นไม้ใหญ่ดูร่มรื่นกว่าเก่ามาก มีชื่อว่า วัดสติปัฏฐาน ได้พบพุทธบริษัทจากศรีลังกาในชุดขาวอีกตามเคย ไปพุทธสถานที่ใดในอินเดียจะพบชาวศรีลังกาเสมอ กุรุสำคัญอย่างไรนั้น ได้ค้นจากข้อความบางตอนในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียว ก็เพราะชนชาวแคว้นกุรุสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งได้. เล่ากันว่า ชาวแคว้นกุรุ ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี และอุบาสก อุบาสิกามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเสพปัจจัย คือ ฤดูเป็นที่สบาย เพราะแคว้นนั้นสมบูรณ์ด้วยสัปปายะ มีอุตุสัปปายะเป็นต้น. ชาวกุรุนั้นมีกำลังปัญญาอันร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุนแล้ว จึงสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งนี้ได้. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้สามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งอันนี้ จึงทรงยกกัมมัฏฐาน ๒๑ ฐานะ ใส่ลงในพระอรหัตตรัสมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถอันลึกซึ้งนี้แก่ชาวกุรุเหล่านั้น. เปรียบเสมือนบุรุษได้ผอบทองแล้ว พึงบรรจงใส่ดอกไม้นานาชนิดลงในผอบทองนั้น หรือว่าบุรุษได้หีบทองแล้ว พึงใส่รัตนะ ๗ ลงฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น ทรงได้บริษัทชาวกุรุแล้ว จึงทรงวางเทศนาที่ลึกซึ้งด้วยเหตุนั้นแล อนึ่ง บริษัท ๔ ในแคว้นกุรุนั้นต่างประกอบเนืองๆ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่โดยปกติ โดยที่สุดคนรับใช้และคนงานทั้งหลาย ก็พูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวด้วยสติปัฏฐานกันทั้งนั้น แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้ายเป็นต้น ก็ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย. ถ้าสตรีบางท่านถูกถามว่า คุณแม่จ๊ะ คุณแม่ใส่ใจสติปัฎฐานข้อไหน นางจะไม่ตอบว่าอะไร ชาวกุรุจะติเตียนเขาว่า น่าตำหนิชีวิตของเจ้าจริงๆ เจ้าถึงเป็นอยู่ก็เหมือนตายแล้ว ต่อนั้นก็จะสอนเขาว่า อย่าทำอย่างนี้อีกต่อไปนะ แล้วให้เขาเรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง. แต่สตรีผู้ใดพูดว่า ดิฉันใส่ใจสติปัฏฐานข้อโน้นเจ้าค่ะ ชาวกุรุก็จะกล่าวรับรองว่า สาธุ สาธุ แก่นาง สรรเสริญด้วยถ้อยคำต่างๆ เป็นต้นว่า ชีวิตของเจ้าเป็นชีวิตดีสมกับที่เจ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าแท้ๆ

(ภาพถ่ายที่กุรุ บันทึกภาพโดยคุณวีรยุทธ์ สันตยานนท์)

แม้ว่ากุรุจะได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียให้เป็นสถานที่สำคัญ แต่ชาวกุรุในปัจจุบันไม่สามารถเข้าใจคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ที่นี่จึงเป็นเพียงสถานที่ในประวัติศาสตร์เท่านั้น สถานที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเครื่องให้ระลึกว่า ที่แห่งนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร แต่สถานที่ไม่สำคัญเท่าความเข้าใจพระธรรม เพราะแม้เราจะอยู่กรุงเทพฯ ประเทศไทย แต่ก็มีมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา สถานที่เล็กๆ ในจักรวาลที่เผยแพร่ความเห็นถูก มีท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นกัลยาณมิตร นำมหาสติปัฏฐานสูตรมาอธิบายให้พวกเราฟังบ่อยๆ เนืองๆ โดยนัยต่างๆ จนพอเข้าใจได้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และธรรมคือเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งพวกเราก็ฟังและสนทนากันบ่อยๆ แม้ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งเช่นชาวกุรุในครั้งนั้น แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องที่จะนำไปสู่หนทางเดียวกันกับท่านเหล่านั้น ชีวิตของพวกเราจะดีสมกับเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังไม่เสื่อมสูญไป ถ้าเราเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ทรงแสดงไว้ พระพุทธเจ้าก็จะทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่พวกเราเช่นเดียวกับชาวกุรุเหมือนกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 9 พ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์กาญจนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Lamphun
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนา ด้วยครับ ที่นำเรื่องราวดีๆ มาให้ผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน ได้อ่าน เป็นประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
worrawat
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ผมได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับคณะของคุณขาว และได้รู้จักกับท่านอาจารย์สงบและอาจารย์กาญจนา และสหายธรรมท่านอื่นๆ ตลอดการเดินทางท่านทั้งสองก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ที่กำลังจะไป พร้อมเรื่องราวของพระสูตร

แม้ว่าอินเดียจะไม่ใช่เมืองที่หลายๆ คนอยากจะท่องเที่ยวนักและน้อยคนที่ไปซ้ำอีก แต่ถ้าเรามีศรัทธาในพระธรรม การไปอินเดียจะทำให้เราซาบซึ้งและมั่นคงในการเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้น

กลับมาจากอินเดียผมก็ตามอ่านข้อความในกระดานสนทนาเกี่ยวกับ "อินเดีย"ในครั้งเก่าก่อนที่อาจารย์กาญจนาได้เขียนไว้ ซึ่งน่าติดตามมาก และทำให้ผมอยากไปอินเดียอีกครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
worrawat
วันที่ 10 พ.ย. 2554

สะดุดตากับห้องน้ำที่สนามบิน สวยงามและสะอาดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนา ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สมศรี
วันที่ 11 พ.ย. 2554

เป็นการสรุปเหตุการณ์ในการเดินทางได้ดีน่าสนใจติดตาม ทำให้เข้าใจสภาพธรรมของชาวกุรุในสมัยนั้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นข้อพิสูจน์ความจริงในพระสัจจธรรมที่ชาวพุทธพึงเจริญรอยตาม ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pamali
วันที่ 12 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Boonyavee
วันที่ 15 พ.ย. 2554

หลายปีมาแล้วที่ดิฉันได้เห็นภาพสมาชิกบ้านธัมมะเชียงใหม่ต่างเตรียมตัวไปประเทศอินเดียด้วยความปลื้มปิติ ยินดีที่จะได้ไปแดนพุทธภูมินี้และร่วมสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ สุจินต์อย่างใจจดใจจ่อ ดิฉันจึงรู้สึกดีใจมากที่ตัวเองได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศอินเดียครั้งนี้เป็นครั้งแรกพร้อมกับคณะสหายธรรมของคุณขาว ความซาบซึ้งถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญเพียรมา เพื่อให้เราสาธุชนคนรุ่นหลังได้น้อมรำลึกถึงพระธรรมที่ทรงได้ตรัสรู้และพระเมตตาที่โปรดสอนธรรมะเพื่อความหลุดพ้นแห่งสังสารวัฏฏ์ความเวียนว่ายตายเกิด คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ได้เมตตาบรรยายให้เรารู้ถึงสภาพธรรมะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงและที่ดิฉันลืมไม่ได้คืออบุคคลผู้มีพระคุณอีกสองท่าน ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติของสถานที่ทุกแห่งที่ดิฉันได้ไปเยือน ว่านี้ไม่ใช่เพียงซากก้อนอิฐปรักหักพัง แต่ภาพเบื้องหน้าคือสถานที่อันศักดิ์ศิทธิ์ในสมัยพุทธกาล ตลอดการเดินทางบนรถที่แสนยาวนานกลับกลายมีมนต์ขลังด้วยเรื่องเล่าของท่านทั้งสอง คือ อาจารย์สงบและอาจารย์แดง ซึ่งในวันสุดท้ายของการเดินทาง ท่านทั้งสองก็ได้เรียกดิฉันว่าลูกสาว ต้องกราบขอบพระคุณในความเมตตาของท่านทั้งสองเป็นอย่างสูงค่ะ ดิฉันจึงได้ขออนุญาตนำรูปที่ถ่ายระหว่างการเดินทางประกอบการบรรยายของคุณแม่แดงนะค่ะ ขอกราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
ING
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Witt
วันที่ 15 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ