อินเดีย ... ที่พักใจ 8 เมืองสาวัตถี
เมืองสาวัตถี
เมื่อออกจากกุรุแล้ว รถก็พาวนดูรอบๆ เมืองเดลี มีสถานที่ราชการ ใหญ่โตหลายแห่ง แต่เอกลักษณ์ของอินเดียก็ยังปรากฏชัดเจนเหมือนกันทุกแห่ง คือ ความสกปรกรกรุงรังด้วยขยะ แม้แต่ข้างๆ ทางเข้ากุรุ ก็เป็นที่ทิ้งขยะกองใหญ่ จะสะอาดอยู่เพียงในบริเวณสนามบินเท่านั้น วนดูรอบเมืองแล้วก็กลับมาสนามบินอีก ครั้ง เพื่อขึ้นเครื่องจากนิวเดลีไปลัคเนาว์ สนามบินภายในประเทศใหญ่โตสวยงาม กว่าของไทยมาก มีชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวอินเดียมากมาย รวมทั้งมหาราชามหา ราณีตัวจริง (ไม่ใช่แบบเรา) ที่มารอขึ้นเครื่องพร้อมกัน เมืองลัคเนาว์เป็นเมืองใหญ่ เราพักอยู่กลางเมืองที่โรงแรมทิวลิป เป็นอย่างไรบ้าง ก็จำไม่ได้แล้ว เพราะเหตุการณ์ น้ำท่วมน่าตื่นเต้นกว่าจึงลบความจำเก่าๆ ไปหมด นี่เป็นผลจากการไม่จดบันทึก แต่ เรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่สำคัญอะไรเท่ากับการได้เข้าใจพระธรรมจริงๆ แม้ประโยคเดียวว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม”
ออกเดินทางจากลัคเนาว์แต่เช้า ระหว่างทาง คุณขาวเห็นป้ายบอกทางไปเมือง อโยธยา จึงบอกให้รถเลี้ยวไปดูเมืองสวยงามของพระรามในรามเกียรติ์ คราวก่อนก็ ผ่านเมืองนี้ในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวฮินดู มีผู้คนนับแสนพากัน เดินทางมาอาบน้ำล้างบาปที่ท่าน้ำเมืองอโยธยา ซึ่งมีแม่น้ำสายสำคัญ ๑ ใน ๓ สาย ของชาวฮินดูไหลผ่าน (ดูเกซ ไกด์ท้องถิ่นบอกชื่อแล้ว ก็จำไม่ได้) ในวันนี้ไม่ใช่วัน สำคัญ เมืองอโยธยาจึงเงียบสงบ เห็นสถาปัตยกรรมอินเดียที่สวยงามรถจอดกลาง สะพานให้พวกเราลงไปถ่ายภาพ (คราวนี้เห็นประโยชน์ของการจราจรแบบอินเดีย ถ้า เป็นประเทศอื่น รถคงต้องจอดห่างไกลและให้พวกเราเดินไปหาสถานที่เหมาะสมในการ ถ่ายภาพเอง) ภาพสวยๆ เหล่านี้ น้องเบน (บุญยวีร์ รัชนี ลูกศิษย์อาจารย์ฉัตรชัยจาก เชียงใหม่ เธอสนใจฟังและถามธรรมมาก จนรู้สึกเอ็นดูเหมือนเป็นลูกสาวที่อยากมี) และ น้องอั้น (วรวัฒน์ พรหมเด่น หนุ่มน้อยวิทยาศาสตร์บัณฑิต จุฬา ที่มาไกลจากบุรีรัมย์เธอ สนใจฟังธรรมจากท่านอาจารย์ด้วยตนเอง ไม่มีใครชักชวนและเข้าใจธรรมมากจนน่า ทึ่ง) คงอนุเคราะห์ใส่ภาพประกอบให้ด้วยนะคะ
ไปถึงสาวัตถีตอนบ่าย จำได้ว่ามาครั้งก่อนผ่านเมืองสาวัตถีตอนกลางคืน เห็นแสง ไฟสว่างอยู่ท่ามกลางความมืดมิด นึกว่าอยากจะมานอนในเมืองสาวัตถีบ้าง ไม่ใช่ไป นอนโรงแรมใกล้ๆ พระวิหารเชตวัน ซึ่งห่างจากตัวเมืองไปมาก และอยู่ท่ามกลางความ มืดมิด ยกเว้นโรงแรมที่เปิดไฟสว่างไสว รถจอดที่ตึกแถวเก่าๆ ริมถนน ซึ่งเป็นตลาด ขายผัก ผลไม้ มีร้านขายของต่างๆ มากมาย แต่อย่าหวังว่าจะน่าดู น่าชม น่าซื้ออย่าง ในเมืองไทยนะ เพราะทุกแห่งมีแต่ขยะกับฝุ่นละออง พวกเรางงว่ารถจอดทำไม คิดว่า จอดรถเพื่อซื้อมะขามป้อมสดๆ สีเขียวอ่อน ซึ่งลูกใหญ่มาก ไกด์ท้องถิ่นจึงบอกว่า นี่ แหละโรงแรม Pathik ที่ต้องมาอยู่โรงแรมนี้ เพราะโรงแรมอื่นๆ ที่อยู่ใกล้พระวิหารเชต วันนั้นถูกจองเต็มหมดแล้ว เลยได้อยู่โรงแรมในบรรยากาศของอินเดียแท้ๆ สมใจนึก โรงแรมเก่ามาก คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับพระวิหารเชตวัน (อดพูดส่อเสียดไม่ได้ รู้ จากการฟังว่าเป็นอกุศลค่ะ แต่ยังไม่รู้ขณะจิตที่กำลังเป็นอกุศลนั้น จึงยังพูดต่อไป เพราะสะสมมาที่รู้สึกสนุกที่ได้พูดอย่างนี้) แถมกำลังต่อเติมซ่อมแซมด้วย จึงมีฝุ่น ฟุ้งมากมาย นึกในใจว่า นี่แหละความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้จริงๆ คง เคยทำอกุศลกรรมมา จึงต้องได้รับอกุศลวิบากอย่างนี้ (ปลอบใจตัวเองด้วยธรรม เสมอ แต่ไม่เคยรู้จริงๆ เลยว่า อกุศลวิบากนั้นเป็นจิตที่เกิดเพียงชั่วขณะเดียวที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัสกาย แล้วก็ดับไป หลังจากนั้นก็เป็น ความคิดนึกเป็นกุศล อกุศลมากมาย แต่เพราะไม่รู้จึงได้จดจำมาเล่าเป็นเรื่องราว ถ้าได้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็คงจะรู้ว่าไม่ว่าจะอยู่โรงแรม ๕ ดาว หรือโรงแรมไม่มี ดาว ก็สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าลิ้มรส สักแต่ว่าถูก ต้องกระทบสัมผัสเท่านั้น ไม่มีสาระอะไรเลย แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ต้องเล่าตาม ความเป็นจริงอย่างนี้)
เมื่อทำใจกับโรงแรมได้แล้ว ก็พากันไปทำบุญทอดผ้าป่าที่วัดไทยเชตวันที่กำลัง ระดมทุนก่อสร้าง ขอไปดูห้องพักของวัด ซึ่งดูสะอาดน่าอยู่กว่าโรงแรม Pathik มาก แต่ เมื่อทราบจากพระคุณเจ้าว่า มีงูชุกชุม เลยขออยู่ที่เก่าดีกว่า ได้ไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงสาวัตถี เช่น บ้านท่านอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี บ้านท่านปุโรหิตบิดาของท่านองคุลีมาล เนินป่ามะม่วงคัณฑัมพะ สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ และอื่นๆ (รายละเอียดหาอ่านได้จาก อินเดีย ... อีกแล้ว เขียนเล่าไว้เองค่ะ ต้องประชาสัมพันธ์ตัวเองหน่อย) หลังจากนั้นเข้าชม พระวิหารเชตวัน พบสหายธรรมกลุ่มคุณเล็กคุณอ้อที่มาก่อน และมาคอยสมทบ กับคณะของท่านอาจารย์ เพื่อสนทนาธรรมในเย็นวันนี้เหมือนกัน
ระหว่างการรอคอย ได้เวียนเทียนประทักษิณรอบพระคันธกุฎี รอบต้นโพธิ์พระ อานนท์ และช่วยกันวางเทียนไปรอบๆ พระวิหาร เพื่อจุดในเวลาพลบค่ำ เพื่อให้พระ วิหารสว่างไสวด้วยแสงเทียน เหมือนอย่างที่เคยเห็นพุทธบริษัทชาวศรีลังกาทำเมื่อ ครั้งก่อน แต่ปีนี้ทุกคนใจตรงกัน ชาวศรีลังกาก็วางเทียนไปรอบๆ แล้ว คณะ คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งก็วางอีกเหมือนกัน ของพวกเราอีก พระเชตวันจึงสวยงาม สว่างไสวไปทั่วจริงๆ
มองดูแสงเทียนที่สวยงามสว่างไสวในความมืดแล้ว อดคิดเปรียบเทียบถึงแสงสว่างของพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง มอบให้พุทธบริษัทได้เห็นหนทางเดินที่ถูกต้อง แม้จะสว่างไสวจนเห็นทางชัดเจน อย่างไร ถ้าเราไม่เดินตามทางนั้น แสงสว่างนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย เห็น แต่แสงเทียน ไม่เห็นแสงธรรม คือ ไม่เห็นว่าแต่ละขณะเป็นธรรมที่เกิดดับสืบต่อ แล้วไม่กลับมาอีกเลย
เกือบสองทุ่มแล้ว จึงได้พบสหายธรรมที่มากับกลุ่มท่านอาจารย์บางคน แต่ท่าน อาจารย์ไม่ได้มาด้วย พวกเราจึงกลับที่พัก เพราะพรุ่งนี้ต้องเดินทางแต่เช้า พากันปลอบ ใจว่า ไม่ได้สนทนากับท่านอาจารย์ที่พระเชตวันก็ไม่เป็นไร ฟังเสียงบรรยายธรรมของ ท่านไปในรถขณะเดินทางก็ได้
ระหว่างทางจากพระเชตวันกลับโรงแรม รถต้องหยุดรอให้ขบวนรถไฟผ่านไปก่อน รถบัสของคณะเราจอดรอเป็นคันแรก จึงเห็นเรื่องแปลกประหลาดมากสำหรับเรา คือเมื่อ ที่กั้นรถไฟปิดห้ามรถผ่านแล้ว ชาวอินเดียทั้งหญิงและชาย เด็ก ผู้ใหญ่จำนวนมากก็รอด ที่กั้นนั้นไปอย่างไม่กลัวอันตรายใดๆ ทั้งเดิน ทั้งจูงรถจักรยาน มอเตอร์ไซค์ และเมื่อ รถไฟมาใกล้ๆ แบบเฉียดจมูก รถทุกประเภทก็หยุดรอโดยดาหน้าเต็มถนนทั้ง ๒ ข้าง เหมือนพร้อมจะประจัญบานกันเมื่อรถไฟผ่านไป และเมื่อรถไฟแล่นผ่านไปแล้ว รถทั้งสองฝั่งก็บีบแตรขอทางกันสนั่น พยายามดันกันไปดันกันมาจนวิ่งไปได้ น่า แปลกใจการจราจรของอินเดียจริงๆ ยังสงสัยว่า อินเดียมีตำรวจจราจรหรือไม่ เพราะเห็นแต่ชาวบ้านมาช่วยกันจัดการจราจรตามท้องถนน เด็กประจำรถบัสจึงเป็นคน สำคัญคนหนึ่งที่แก้ปัญหารถติดให้พวกเราได้
Indira Gandhi International Airport Immigration T3 - Delhi ก็สวยงามมากครับ
Tulip Inn ก็นับว่าเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดใน Trip นี้ครับ (พี่ๆ เค้าให้ความเห็นกัน)
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่แดงครับ ผมมีโอกาสตามไปภายหลังได้เห็นพระวิหาร เต็มไปด้วยแสงเทียนดูงดงามตระการตามาก ทำให้รับรู้ถึงกำลังศรัทธาของคณะพี่แดง และชาวศรีลังกาที่ถ่ายทอดออกมาจากการบูชาพระรัตนตรัยดังกล่าวได้ดียิ่งครับ ส่วน เรื่องการใช้รถใช้ถนนของชาวอินเดียนั้น เห็นด้วยกับพี่แดงมากครับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ ไม่มีใครชาติไหนทำได้เลย ทุกคนเข้าใจกันและกันมาก แม้จะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ก็ไม่มีใครลงมาตีหัวไล่ยิงกันเหมือนบ้านเราเลยครับ ขนาดรถบัสที่ผมนั่งไปด้วยนั้น ได้ข่าวว่าชนคน แต่ก็ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย นอกจากรถจอดอยู่พักใหญ่ ผมว่า การจราจรของอินเดียอธิบายทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) ได้เป็นอย่างดีนะครับ เพราะขับรถมั่วไปมาเริ่มจากคนเดียว แล้วทั้งประเทศก็ปั่นปวนไปเหมือนๆ กันเลยครับ
หลังจากออกจากกุรุ เพื่อมุ่งหน้าสู่สนามบินภายในประเทศ ระหว่างทางได้เก็บบรรยากาศข้างทางค่ะ ที่เห็นคือร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ที่อยู่ติดๆ กันหลายร้านค่ะ รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถประจำทาง และรถตุ๊กตุ๊กแบบอินเดียซึ่งแต่ละเมืองก็จะมีสีต่างกันไปค่ะที่จอดเรียงรายแถวข้างทาง ผ่าน National Heart Institute และธนาคารค่ะ
เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภายในประเทศจะพบว่ามีทหารที่ตรวจตราบริเวณสนามบินทั้งภายในและภายนอกอาคารเป็นจำนวนมาก สนามบินที่นี้กว้างขวางมาก หลังจากการตรวจ tag กระเป๋าถือก่อนขึ้นเครื่องแล้ว จึงมุ่งหน้าสู่สนามบินลัคเนาว์ ซึ่งภายในมีแมลงค่อนข้างมากและใช้เพียงพัดลมติดเพดาน จึงเป็นสนามบินที่ดูแปลกตาดีค่ะ
การเดินทางครั้งนี้ต้องขอบคุณหัวหน้าไกด์คือ คุณขาว ซึ่งให้ความสะดวกหลายประการ รวมถึงอาหารไทยที่มีมาให้คณะสหายธรรมทุกมื้อค่ะ
หลังจากเก็บภาพบรรยากาศหน้าโรงแรม จึงเดินทางออกจากเมืองลัคเนาว์ มุ่งหน้าสู่สาวัตถี ทางคุณขาวได้เตรียมทั้งโคมประทีบ และเครื่องสักการะไว้ให้คณะสหายธรรมค่ะซึ่งตลอดการเดินทางในครั้งนี้ อาจารย์สงบและอาจารย์แดง ท่านได้เมตตาเล่าเรื่องพุทธประวัติ และสนทนาธรรมร่วมกับคณะสหายธรรมด้วยค่ะ
ระหว่างเดินทางได้ผ่านสถานที่แปลกตาหลายที่ รวมถึงได้เห็นการหาเสียงของนักการเมืองชาวอินเดียด้วยค่ะ
เมื่อมาถึงโรงแรม Pathik ก็ตื่นเต้นกับลูกมะขามป้อมที่ผลใหญ่มากเมื่อเทียบกับเหรียญ 10 บาทบ้านเราค่ะ ตัดกับมะนาวสีส้มแปลกตา ถึงแม้ห้องพักจะไม่ค่อยสะอาด แต่รสชาติต้มยำ แบบไทยๆ ถือว่าอร่อยที่สุดในทริปนี้เลยค่ะ
โรงแรมนั้นใกล้กับทางรถไฟมาก พอขบวนรถไฟผ่านไปทั้งรถทั้งคนอินเดียต่างรีบเดินทางกันอย่างขวักไขว่ จากนั้นคณะสหายธรรมมุ่งหน้าสู่วัดไทยเชตวัน ในภาพสหายธรรมต่างร่วมบริจาคเงินและที่ดินให้แก่วัดค่ะ ขอกราบอนุโมทนาค่ะ
แวะที่แสดงยมกปาฏิหารย์ ในภาพคือ ราเกซ ไกด์ชาวอินเดียกำลันำขนมของคณะสหายธรรมแจกเด็กๆ ค่ะ
แวะชมบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและท่านปุโรหิต ในภาพมีเด็กขอทานรอที่รถบัสเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างก็ได้รับอานิสงค์จากคณะสหายธรรมเช่นเคยค่ะ
เมื่อไปถึงพระวิหารเชตุวันก็พบกับพุทธศาสนิกชนชาวศรีลังกามากมาย ที่เข้ามาสักการะ และวางเทียนรอบวิหารไว้บางส่วน ทางคณะสหายธรรมจึงได้ร่วมวางเทียน และเดินเวียนเทียนประทักษิณรอบพระคันธกุฏี แล้วจึงเดินทางกลับที่พักค่ะ