เนื่องในวันปรินิพพาน ของท่านพระสารีบุตรเถระ

 
ธุลีพุทธบาท
วันที่  10 พ.ย. 2554
หมายเลข  20005
อ่าน  6,468

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)

น้อมบูชา ... เนื่องในวันปรินิพพาน ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ

ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ อัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เลิศประเสริฐสูงสุด ผู้เป็นภิกษุตราชูมาตรฐาน เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้วยปัญญา เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ในหมู่พระสาวกทั้งปวง ท่านเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะมีบารมีอันอบรมแล้ว นานถึง ๑ อสงไขย แสนกัปป์ นับแต่ได้รับพยากรณ์แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสี

(โดยสหายธรรม ... คุณธรรมนิติ)

" ... ก็พระเถระใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะฝ่ายผู้มีปัญญามาก ทรงอุปมาด้วยความเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ผู้หมุนพระธรรมจักรตามที่พระตถาคตได้ประกาศไว้ดีแล้ว ผู้ยังมนุษย์และเทวดาพันโกฏิให้ถึงอริยผลด้วยธรรมเทศนาอันมีนัยลึกซึ้ง ผู้มีปัญญามาก ประหนึ่งว่าสามารถนับจำนวนหยดเม็ดฝนที่ตกสู่พื้นดินได้ ... "

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระเถระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้าฯ

" ... ก็พระเถระใด เป็นที่รักที่ชอบใจของเหล่าเพื่อนพรหมจารี เป็นผู้เคารพและกตัญญูในพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอัสสชิ และพุทธบริษัท จนที่สุด แม้ในคุณของข้าว ๑ ทัพพี ของราธพราหมณ์ และในการตักเตือนของสามเณรอายุ ๗ ขวบ เป็นผู้ไม่กำเริบด้วยมานะ อุปมาตนเองด้วยโคเขาขาด และผ้าเช็ดธุลี ผู้ทดแทนค่าเลี้ยงดูของนางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดาด้วยอริยทรัพย์คือโสดาปัตติผล ... "

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระเถระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้าฯ

" ... ก็พระเถระใด เป็นผู้มีอานุภาพมาก มั่นคงแน่วแน่เหมือนแผ่นหิน ไม่สะเทือนแม้ด้วยกำลังประหัตประหารของนันทยักษ์ผู้มีใจบาป ผู้แสดงธรรมโปรดเทวดาในหมื่นจักรวาล ผู้แสดงฤทธิ์หลายสิบหลายร้อยอย่างท่ามกลางภิกษุบริษัท ผู้เมื่อทูลลาปรินิพพานแล้ว มหาปฐพีไม่อาจทรงไว้ได้ ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน ผู้ใดซึ่งท้าวจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช ท้าวมหาพรหมปรนนิบัติแล้ว ในเวลาใกล้ปรินิพพาน ... "

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระเถระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้าฯ

ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระมหาสาวกที่ยิ่งใหญ่ เลิศประเสริฐสุดด้วยปัญญา เห็นปานนี้ ก็ยังไม่พ้นจากมัจจุ คือ ความตาย ได้ปรินิพพานแล้ว ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สังขารทั้งหลายมีปกติไม่เที่ยงอย่างนี้ จึงไม่ควรประมาทในการศึกษาพระธรรม เพื่ออบรมปัญญา อันเป็นเหตุให้น้อมประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส ด้วยความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง เพราะการได้พบรัตนะอันมีค่า ๓ ประการนั้น พบได้แสนยาก รัตนะ ๓ ประการ ได้แก่ พุทธรัตนะ๑ ธรรมรัตนะ๑ และสังฆรัตนะ๑ อันบุคคล เมื่อเข้าไปถึงเป็นสรณะ ด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
aditap
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผิน
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
captpok
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
lnwcat
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ประวัติพระสารีบุตร

พระอัครสาวกผู้เป็นเลิศในทางปัญญา

ประวัติ

พระสารีบุตร มีชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นบุตรพราหมณ์ผู้บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวาร ชื่อวังคันตะ และนางสารี เกิดในตำบลบ้านชื่อนาลกะหรือนาลันทะ ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์

อุปติสสมาณพเป็นเพื่อนสนิทกับโกลิตมาณพ หรือพระมหาโมคคัลลานะ ทั้งสองคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เบื่อชีวิตการครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสอนหมู่ศิษย์ต่อไป ทั้งสองมาณพยังไม่พอใจในคำสอนของสัญชัยปริพาชก เพราะไม่ใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงตกลงกันที่จะแสวงหาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะแนวทางที่ดีกว่านี้ หากใครได้โมกขธรรม ก็ขอให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

พบพระอัสสชิ

ในวันหนึ่งอุปติสสมาณพได้เข้าไปในกรุงราชคฤห์ได้พบพระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ กำลังบิณฑบาต อุปติสสมาณพเห็นพระอัสสชิ มีอาการน่าเลื่อมใส มีความประทับใจ จึงเข้าไปถามพระอัสสชิว่า ผู้ใดเป็นศาสดาของท่าน พระอัสสชิตอบว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสศากยราช เป็นศาสดา อุปติสสมาณพจึงขอให้พระอัสสชิแสดงธรรม พระอัสสชิได้ออกตัวว่าพึ่งบวชได้ไม่นาน ไม่อาจแสดงธรรมโดยกว้างขวาง อุปติสสมาณพจึงขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมสั้นๆ ก็ได้ พระอัสสชิได้แสดงธรรมแก่อุปติสสมาณพ เรียกกันว่า "คาถาเยธัมมา" เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า "เย ธัมมา" ในสมัยโบราณ ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน

ชักชวนอาจารย์สัญชัยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

มาณพทั้งสองได้ไปชักชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยกัน แต่สัญชัยปริพาชกไม่ยอมไป มาณพทั้งสองก็รบเร้าว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เอง เป็นผู้รู้แจ้งจริง ต่อไปคนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร สัญชัยปริพาชกจึงถามว่า ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก มาณพทั้งสองได้ตอบว่า "คนโง่มากกว่า" สัญชัยปริพาชกจึงกล่าวแก่มาณพทั้งสองว่า "ปล่อยให้คนฉลาดไปเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ให้คนโง่ซึ่งมีจำนวนมากกว่ามาเป็นลูกศิษย์ของเรา เราจะได้รับเครื่องสักการะจากคนจำนวนมาก คนฉลาดอย่างเธอทั้งสองจะไปเป็นศิษย์ของพระสมณโคดมก็ตามใจ"

ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนเวฬุวนาราม ในกรุงราชคฤห์ ในขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับท่ามกลางพุทธบริษัทจำนวนมาก เมื่อเห็นมาณพทั้งสองกำลังเดินมา จึงตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย มาณพทั้งสองคนนั้นจะเป็นอัครสาวกของเราตถาคต"

มาณพทั้งสองได้ทูลของอุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุ พระมหาโมคคัลลานะอุปสมบทได้ ๗ วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายการที่พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานะว่า เป็นเพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ เปรียบด้วยการเสด็จไปของพระราชาต้องตระเตรียมราชพาหนะและราชบริวาร จึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการไปของคนสามัญ

ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวก

ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิศดารเสมอพระองค์ เมื่อมีภิกษุมาทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อจะเที่ยวจาริกไป พระพุทธเจ้ามักจะตรัสให้ภิกษุที่มาทูลลา ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อให้พระสารีบุตรได้สั่งสอน เช่นครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นจำนวนมากได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลาไปชนบท พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร แล้วทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

พระสารีบุตรได้รับการยกย่องมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" พระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนา ได้ชื่อว่าธรรมเสนา เป็นกองทัพธรรมที่ประกาศเผยแผ่ธรรม เมื่อไปถึงที่ไหน ก็ทำให้เกิดประโยชน์และความสุขที่นั่น พระพุทธเจ้าเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่า "พระธรรมราชา" โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี หรือแม่ทัพฝ่ายธรรม

เป็นผู้มีความกตัญญู

พระสารีบุตรยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้มีความกตัญญู แม้ว่าพระสารีบุตรจะได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เป็นเลิศในทางปัญญา ท่านก็นับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์ เพราะพระอัสสชิได้แสดงธรรมแก่ท่าน ทำให้ท่านมีดวงตาเห็นธรรม และได้มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เมื่อพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อพระสารีบุตรจะนอน จะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน และหันศีรษะไปทางทิศนั้น ภิกษุที่ไม่รู้เรื่องเข้าใจผิดว่าท่าานนอบน้อมทิศตามลัทธิของพวกมิจฉาทิฏฐิ ความทราบถึงพระบรมศาสดา จึงตรัสว่าพระสารีบุตรไม่ได้นอบน้อมทิศ ท่านนมัสการพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์

ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อราธะ อยากจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีภิกษุรูปใดรับอุปสมบทให้ เพราะเป็นผู้ชราเกินไป ราธะเมื่อไม่ได้บวชก็มีความเสียใจมาก มีร่างกายซูบซีด ผิวพรรณไม่ผ่องใส พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นราธะ จึงตรัสถามได้ความจริงแล้ว จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะบ้าง พระสารีบุตรได้กราบทูลว่าท่านระลึกได้ ครั้งหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ราธะได้ถวายข้าวแก่ท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้กตัญญูดีนัก อุปการะเพียงเท่านี้ก็ยังจำได้ จึงตรัสให้ท่านรับบรรพชาอุปสมบทราธพราหมณ์

โปรดมารดาก่อนจะนิพพาน

พระสารีบุตรได้พิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะนิพพานในห้องที่ท่านเกิด ปรากฏว่านางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดา เป็นผู้ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีความเสียใจที่พระสารีบุตรและน้องๆ พากันออกบวชในพระพุทธศาสนา พระสารีบุตรพยายามชักจูงมารดาให้มานับถือพระพุทธศาสนาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงดำริจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย

พระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อไปนิพพานที่บ้านเกิด แล้วออกเดินทางกับพระจุนทะผู้เป็นน้อง กับพระที่เป็นบริวาร ๕๐๐ องค์ เดินทางไปถึงหมู่บ้านนาลันทะ ซึ่งเป็นบ้านเกิด นางสารีพราหมณ์ผู้เป็นมารดา ได้จัดให้พระสารีบุตรพักในห้องที่เกิด และจัดเสนาสนะสำหรับเป็นที่อยู่ของภิกษุ ๕๐๐ องค์ ที่เป็นบริวาร ในคืนวันนั้น ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ องค์ มีท้าวเวสสุวัน เป็นต้น ได้มาถวายนมัสการพระสารีบุตรซึ่งกำลังนอนอาพาธอยู่ เมื่อท้าวจาตุมหาราชกลับไปแล้ว ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ได้มาถวายนมัสการ เมื่อท้าวสักกเทวราชกลับไปแล้ว ท้าวสหัมบดีมหาพรหมก็ได้มาถวายนมัสการ มีรัศมีเปล่งปลั่งดังกองเพลิง ทำให้สว่างไสวไปทั้งห้อง เมื่อท้าวมหาพรหมกลับไปแล้ว นางสารีพราหมณีจึงได้ถามพระจุนทะเถระว่า ผู้ใดที่เข้ามาหาพี่ชายของท่าน พระจุนทะเถระจึงบอกมารดาว่า ท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกเทวราช และท้าวมหาพรหม ได้มาถวายนมัสการพระสารีบุตร

นางสารีพราหมณีได้ฟังดังนั้นก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสารีบุตรและพระพุทธเจ้า คิดว่าพระลูกชายของเรายังเป็นใหญ่กว่าท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกเทวราช และท้าวมหาพรหม พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นครูของพระลูกชายของเราจะต้องมีอิทธิศักดานุภาพยิ่งใหญ่ พระสารีบุตรได้รู้ว่า บัดนี้มารดาได้เกิดความปีติโสมนัสและศรัทธาในพระพุทธเจ้าแล้ว ถึงเวลาที่จะเทศนาทดแทนพระคุณของมารดาและโปรดมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงได้เทศนาสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อจบเทศนาแล้ว นางสารีพราหมณีก็ได้พระโสดาปัตติผล

ในเวลารุ่งเช้า พระสารีบุตรก็นิพพาน พระจุนทะเถระได้ทำฌาปนกิจสรีระพระสารีบุตร เก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรไว้ ณ ที่นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นเลิศในความกตัญญูกตเวที และตรัสว่าลูกคนใดที่ทำให้พ่อแม่ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ลูกคนนั้นได้ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวทีอย่างสูง

... เคยมีชาวบ้านนิมนต์ พระสารีบุตร แล้วเกิดกังวลว่าจะจัดหาที่พักอย่างไร ถึงจะเหมาะกับ อัครสาวก จึงวกกลับไปถาม ซึ่งได้คำตอบว่า "ขอเพียงเพิงที่พัก ขนาด ที่อยู่ในท่านั่ง แล้วเมื่อฝนตก ชายสังฆาฏิ ไม่เปียก ก็พอ"

ที่พระสารีบุตร ต้องนอนหันหัวไปทางทิศที่พระอัสสชิ พักอยู่ตลอดจนชีวิต ก็เนื่องจาก พอบรรลุธรรม ก็นึก สัญชัยปริพาชก กับ หมู่เดิม จึงกลับไปเพื่อโปรด ซึ่งทำให้ อาจารย์เดิม เข้าใจผิด คือกลับมาสอน จนหมู่นั้น บรรลุธรรมอรหันต์ทั้งสิ้น จึงทำให้ อาจารย์เดิม กระอักเลือดสิ้นชีพ ผ่านเวลามา ท่านจึงนอนหันหัวไปเพื่อน้อม คารวะ ที่ควร ที่ถูก คือ อัสสชิเถระ ผู้เป็นอาจารย์พาตนให้เข้ากระแสธรรม จึงควรแต่การน้อม (ไม่เห็นว่าควรที่จะหันปลายเท้าไปยังทิศที่พักของ อัสสชิเถระ) จากการเห็นตระหนัก แล้วน้อมใจลงไป ไม่ใช่ ว่าเพราะไปความรู้ ปัญญาน้อย หรือ มาก มันแก้ตรงนี้ มายาไม่ใช่ ว่า เก่งกว่า แล้วจะให้ไปเทียบไปวัด น้อมไป แบบไม่เก่งถ่อมตน ไม่แสดงกล่าวธรรม เห็นแก่ประโยชน์โลกมาก แต่โลก ไม่เข้าใจ ว่าทำไม จะเข้าใจได้หรือ? มีแต่รวยธรรมแล้วมาอวดทำไม มาข่มกันหรือ กิเลสมีมันคิดได้ ทำได้ เมื่อมีแล้วทำอะไรได้หมด ...

สมัยพุทธกาลมี กุณฆลเกสา (เถรีกิ่งหว่า) ท้าโต้วาที พระสารีบุตร เริ่มต้นพระสารีบุตร กล่าวว่า "ถามสิ่งที่ท่านรู้เถิด" เราจะกล่าวแก้ พอหมดสิ้นทุกคำถาม พระสารีบุตร ถามว่า "ที่ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร?" นางก็ยอมแพ้ ว่าดิฉันไม่ทราบ

ภายหลังก็เข้ามาบวช

พระพุทธเจ้า กล่าวว่า "หากคาถาที่ไม่ประกอบด้วยบทอันมีประโยชน์ แม้จะมีตั้ง ๑,๐๐๐ คาถาก็ตาม คาถาเดียวที่ฟังแล้วทำให้สงบระงับได้ ประเสริฐกว่า" เป็น เถรีบรรลุธรรม แล้วอุทานว่า " ... แต่ก่อนข้าพเจ้า ... รู้ในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ และเห็นในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ"

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 11 พ.ย. 2554

* * * ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น * * *

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อความอันเป็นสิ่งเตือนใจ และ ไม่ให้ประมาท

ขออนุโมทนากุศลจิตทุกดวงที่เกิดขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
aurasa
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 11 พ.ย. 2554

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)

บูชาวันคล้ายวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตรเถระ

...ถวายผอบเจดีย์ใหม่ ประดิษฐานพระธาตุอัครสาวก ณ มศพ. ...

(วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔)

ผอบเจดีย์ใหม่ที่นำมาประดิษฐานพระธาตุของพระอัครสาวก ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พุทธศาสนา แทนผอบเจดีย์เดิม ก่อนการถวายผอบเจดีย์ใหม่ เพื่อประดิษฐานพระธาตุของพระอัครสาวก ท่าน พล.ต.วีระ พลวัฒน์ กรรมการและเลขานุการ มศพ. บูชาพระรัตนตรัย เพื่อขออนุญาตอัญเชิญย้ายพระธาตุอัครสาวกในที่ประดิษฐานใหม่ จากนั้นท่านจึงทำความสะอาดห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุด้านบน โดยมีพี่เต้ย (อ.ผเดิม ยี่สมบูรณ์) เป็นผู้ช่วย ส่วนด้านล่าง ได้จัดโคมประทีป และพวงมาลัยข้อพระกร พร้อมทั้งจัดผอบเจดีย์ใหม่ไว้บนพานเพื่อถวาย เมื่อทำความสะอาดห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว จึงอัญเชิญพานผอบเจดีย์ เทินขึ้นเหนือศีรษะ น้อมขึ้นไปยังห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วอัญเชิญย้ายพระธาตุของพระอัครสาวก ประดิษฐานในผอบเจดีย์ใหม่

กล่าวคำบูชาว่า

" ... ข้าพเจ้า ขอน้อมอัญเชิญพระธาตุของท่านพระสารีบุตรเถระ และพระธาตุของท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ เพื่ออัญเชิญในผอบเจดีย์ใหม่ เนื่องในวันคล้ายวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร ประดิษฐาน ณ เจติยสถาน มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ในการสักการะบูชาด้วยเทอญ ... "

หลังจากนั้น อัญเชิญผอบเจดีย์เดิม ใส่พาน เทินขึ้นเหนือศีรษะลงมา เพื่อเวียนประทักษิณรอบอาคารมูลนิธิฯ ๓ รอบ แล้วตั้งไว้บูชา พร้อมทั้งเครื่องสักการะบูชา มีกระทง และแจกันดอกไม้ที่คุณป้าแอ๊ว (คุณฟองจันทร์ นันตา) จัดเตรียมไว้อย่างสวยงามมาก และนอกจากคุณป้าแอ๊วจะได้เตรียมเครื่องสักการะอย่างตั้งใจในวันนี้แล้ว ยังเป็นผู้เลือกผอบเจดีย์ที่วิจิตรสวยงาม มาจากเสาชิงช้าด้วยครับ ซึ่งสหายธรรมผู้มีศรัทธาทุกท่าน ต่างรวบรวมทรัพย์ของตนเพื่อซื้อผอบเจดีย์นี้

ขออนุโมทนาในกุศลของทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมในกุศลครั้งนี้ครับ

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wittawat
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอขอบคุณ และอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ปุ้ม
วันที่ 12 พ.ย. 2554

ข้าพเจ้า ขอน้อมสักการะบูชาพระอรหันต์ พระสารีบุตรพระองค์นั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
tanakase
วันที่ 12 พ.ย. 2554

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
สัมภเวสี
วันที่ 13 พ.ย. 2554

งดงามมากครับ คู่ควรแก่การเก็บรักษาพระอัครสาวกธาตุซึ่งมีค่าควรเมือง

เพียงแค่เห็นสีทองของพระเจดีย์และกระทงดอกไม้ซึ่งตกแต่งด้วยปัญญา กุสลสัทธาก็เกิดขึ้นมากมายหลายล้านโกฏิ หาประมาณมิได้

ขออนุโมทนาและขอร่วมบูชาสักการะพระอัครสาวกธาตุทั้งสองด้วยคนครับ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 13 พ.ย. 2554
อนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
pat_jesty
วันที่ 13 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
วิริยะ
วันที่ 14 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
jaturong
วันที่ 16 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
Graabphra
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Jans
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
sinnerman108
วันที่ 23 พ.ย. 2554

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
pavee
วันที่ 29 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
Nataya
วันที่ 30 เม.ย. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
chatchai.k
วันที่ 13 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ