ผู้เห็นผิดกับผู้เห็นถูกได้รับผลต่างกัน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 152
…………………..
ผู้เห็นผิดกับผู้เห็นถูกได้รับผลต่างกัน
พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สญชัย
ถือสิ่งที่ไม่มีสาระว่า 'มีสาระ' และสิ่งที่มีสาระว่า 'ไม่มีสาระ'
เพราะความที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ส่วนเธอทั้งสอง รู้สิ่งเป็นสาระโดยความ
เป็นสาระ และสิ่งอันไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ ละสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสีย
ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น เพราะความที่คนเป็นบัณฑิต" ดังนี้แล้ว
ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
"ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็น
สาระ และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่
ประสพสิ่งอันเป็นสาระ. ชนเหล่าใด รู้สิ่งเป็นสาระ
โดยความเป็นสาระ และสิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่
เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร
ย่อมประสพสิ่งเป็นสาระ."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า อสาเร สารมติโน ความว่า
สภาพนี้ คือ ปัจจัย ๔ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ธรรมเทศนาอันเป็นอุปนิสัย
แห่งมิจฉาทิฏฐินั้น ชื่อว่าเป็นอสาระ, ผู้มีปกติเห็นในสิ่งอันไม่เป็นสาระ
นั้นว่า "เป็นสาระ."
บาทพระคาถาว่า สาเร จาสารทสฺสิโน ความว่า สภาพนี้ คือ
สัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ธรรมเทศนาอันเป็นอุปนิสัยแห่งสัมมาทิฏฐินั้น
ชื่อว่าเป็นสาระ,
ผู้มีปกติเห็นในสิ่งที่เป็นสาระนั้นว่า "นี้ไม่เป็นสาระ."
สองบทว่า เต สารํ เป็นต้น ความว่า ชนเหล่านั้น คือผู้ถือ
มิจฉาทิฏฐินั้นตั้งอยู่ เป็นผู้มีความดำริผิดเป็นโคจร ด้วยสามารถแห่งวิตกทั้งหลาย
มีกามวิตกเป็นต้น ย่อมไม่บรรลุสีลสาระ สมาธิสาระ ปัญญาสาระ
วิมุตติสาระ วิมุตติญาณทัสสนสาระ และ
พระนิพพานอันเป็นปรมัตถสาระ.
บทว่า สารญฺจ ความว่า รู้สาระมีสีลสาระเป็นต้นนั่นนั้นแลว่า
"นี้ชื่อว่าสาระ"
และรู้สิ่งไม่เป็นสาระ มีประการดังกล่าวแล้วว่า
"นี้ไม่เป็นสาระ."
สองบทว่า เต สารํ เป็นต้น ความว่า ชนเหล่านั้น คือบัณฑิต
ผู้ยึดสัมมาทัสสนะอย่างนั้นตั้งอยู่ เป็นผู้มีความดำริชอบเป็นโคจร ด้วย
สามารถแห่งความดำริทั้งหลาย มีความดำริออกจากกามเป็นต้น
ย่อมบรรลุสิ่งอันเป็นสาระ มีประการดังกล่าวแล้วนั้น.
ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
เทศนาได้เป็นประโยชน์แก่ชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องสญชัย จบ.
ขอนอบน้อมแด่พระัรัตนตรัย
สิ่งที่เป็นสาระ หรือ มีคุณค่า ประเสริฐ ในพระพุทธศาสนา สาระ สิ่งที่ประเสริฐ คือ กุศลธรรมประการต่างๆ และสาระ คือ ศีลสาระ สมาธิสาระและปัญญาสาระ ซึ่งสิ่งที่
เป็นสาระตามที่กล่าวมานี้ นำมาซึ่งประโยชน์กับผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระและเกิดสาระ
กับจิตใจของผู้นั้น อันนำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้ นำมาซึ่งความสุขและ นำมาซึ่ง
ประโยชน์ในโลกหน้า คือ การเกิดในภพภูมิที่ดี อันมี สาระ คือ กุศลธรรมประการต่างๆ
เป็นปัจจัย และนำมาซึ่งประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การบรรลุธรรม ดับกิเลส ถึงพระนิพพาน
ส่วนสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่ประเสริฐ คือ อกุศลธรรมประการต่างๆ และในพระสูตรนี้
แสดงถึง ความเห็นผิด ที่ สญชัย คือ อาจารย์ของ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะใน
อดีต มีความเห็นผิด ถือ สิ่งที่ไม่เป็นสาระ คือ ความเห็นผิด สำคัญว่าเป็นสาระ สำคัญว่า
ดี ประเสริฐ ก็ย่อมประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่ดี ไม่ประเสริฐ คือ ต้องได้รับทุกข์ คือ
โทมนัสใจในปัจจุบันและต้องประสบทุกข์ในภพหน้า คือ ไปอบายภูมิ และไม่สามารถ
ออกจากวัฏฏะทุกข์นี้ได้เลยครับ
ส่วนผุ้ถือสิ่งที่เป็นสาระ สำคัญว่าเป็นสาระ คือ ถือ กุศลธรรม และปัญญา คือ อบรม
ปัญญา ดังเช่น ท่านพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ถือสิ่งที่เป็นสาระ คือ ปัญญา
และหลีกเลี่ยงสิ่งไม่เป็นสาระ คือ ความเห็นผิด ไม่คบกับ อาจารย์สญชัยอีก ดังนั้นพระ
อัครสาวกทั้งสอง จึงได้สิ่งที่เป็นสาระ คือ สาระสูงสุด บรรลุธรรม ประจักษ์พระนิพพาน
ดับกิเลสครับ
พุทธบริษัท จึงควรเป็นผู้ไม่ประมาท และ ละเอียดในการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม
เพื่อจะได้เข้าใจถูก และไม่สำคัญหนทางที่ผิดว่าเป็นหนทางที่ถูกต้องครับ ขออนุโมทนา
คุณหมอและทุกท่านครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น การน้อมประพฤติในทางที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น ที่จะเป็นสาระที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งจะคอยประคับประคองและเกื้อกูลอุปการะให้แต่ละบุคคลดำเนินชีวิตเป็นไปในทางที่ถูกต้องดีงาม ถอยห่างจากสิ่งที่ไม่ดีทุกประการ และเป็นกุศลยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด เพราะสิ่งที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์ ก็คือ กุศลธรรม
กุศลธรรมมีหลายขั้น และเป็นประโยชน์ทุกขั้นด้วย ขั้นสูงสุด คือ โลกุตตรกุศล ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสได้ตามลำดับ ดังนั้นในชีวิตประจำวัน ควรอย่างยิ่งที่จะได้สะสมแต่สิ่งที่เป็นสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส คือ ละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิด เป็นต้น ครับ ...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิต
ของคุณผเดิม คุณคำปั่น คุณผู้ร่วมเดินทาง คุณเซจาน้อย
และ
ทุกๆ ท่านครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
"...สิ่งที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์ ก็คือ กุศลธรรม
...สะสมแต่สิ่งที่เป็นสาระ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง... สะสมปัญญาไปตามลำดับ
ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส คือ ละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิด.."
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ คุณผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ