จักขุวิญญาณจิตมีเจตสิกใดเกิดร่วมด้วยบ้าง?

 
อินทวัชร
วันที่  19 พ.ย. 2554
หมายเลข  20052
อ่าน  4,960

ถามว่าขณะจักขุวิญญาณเห็นสัททรูป เห็นแต่สีตามเป็นจริง เช่น เขียวแก่ เขียวอ่อน เหลืองแก่ เหลืองอ่อน แดงแก่ หรือแดงอ่อนนั้น ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะไม่มีเจตสิก หรือรู้ว่าเป็นอะไร เพราะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ ขอถามว่าจักขุวิญญาณจิตมีเจตสิกใดเกิดร่วมด้วยบ้างครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จากคำถามที่ว่า ขอถามว่าจักขุวิญญาณจิตมีเจตสิกใดเกิดร่วมด้วยบ้างครับ?

จักขุวิญญาณหรือจิตเห็น สภาพรู้แจ้งอารมณ์ทางตา หมายถึง อเหตุกวิบากจิต ๒ ดวง ซึ่งเกิดที่จักขุวัตถุ (จักขุปสาท) ทำทัสสนกิจ (เห็น) คือ รับรู้รูปารมณ์ที่กระทบทางตา (เห็น) เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวงรับรู้สีที่ดี เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวงรับรู้สีที่ไม่ดี จักขุวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาทั้ง ๒ ดวง

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ดังนั้น จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีทั้งหมด ๗ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย คือ ๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ ๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์ ๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์ ๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ ๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์ ๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้ ๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์ ไม่ใช่แค่เฉพาะ จักขุวิญญาณจิต เท่านั้นครับ จิตอื่นที่เป็นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง (จิตได้ยิน) เป็นต้น ก็มีเจตสิก ๗ ดวง เกิดร่วมด้วยครับ

และจากคำถามที่ว่าขณะจักขุวิญญาณเห็นสัททรูป เห็นแต่สีตามเป็นจริง เช่น เขียวแก่ เขียวอ่อน เหลืองแก่ เหลืองอ่อน แดงแก่หรือแดงอ่อนนั้น ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะไม่มีเจตสิก หรือรู้ว่าเป็นอะไร เพราะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ

ขณะที่เห็น ไม่ใช่เห็น สัททรูป (เสียง) เพราะจิตเห็นไม่ได้รู้เสียง แต่จักขุวิญญาณจิตเห็น สีหรือวัณณรูปครับ ขณะที่เห็น คือจักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้น เห็นเพียงสี แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คือยังไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งต่างๆ เพราะเพียงเห็นเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเพราะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงไม่รู้ว่าเป็นอะไรครับ เพราะเมื่อจิตเกิดขึ้น เจตสิกก็ต้องเกิดร่วมด้วยเสมอ จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือเจตสิก ๗ ดวงที่กล่าวมาครับ ส่วนการจะรู้ว่าเป็นสิ่งใด ก็เมื่อคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานหลังจากเห็นสีแล้ว ซึ่งเป็นวาระจิตอื่นๆ ต่อไปทางมโนทวารครับ แต่เมื่อเห็น เห็นเพียงสีเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้วครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
อินทวัชร
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบคุณครับ

ขอถามเพิ่มเติมว่า "การคิดนึกเป็นจิตอะไร จิตทุกดวงไม่ได้คิดนึกหรือครับ มีเจตสิกใดเกิดร่วมนอกจากเจตสิก ๗ ดวงที่กล่าวมาหรือครับ"?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

การคิดนึก ตรึกไป เป็นไปได้ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิตครับ ซึ่งจิตบางประเภทไม่ได้คิดนึก เพียงเห็นเท่านั้น คือ เห็นสี แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด การรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ชื่อว่า คิดนึกแล้ว คิดนึกเป็นรูปร่าง สัณฐานต่างๆ ซึ่งคิดนึกเป็นรูปร่าง สิ่งต่างๆ ก็ด้วยกุศลจิตและอกุศลจิตบ้างครับ แต่ขณะที่เห็น เป็นเพียงผลของกรรม ยังไม่ได้รู้ว่าเป็นสิ่งใดอันหมายถึงการคิดนึกครับ ซึ่งการคิดนึกด้วยกุศลจิตและอกุศลจิตที่รู้ว่าเป็นสิ่งใดแล้ว มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวงครับ เช่น ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง มีวิริยเจตสิก เป็นต้น และอาจเป็นอกุศลเจตสิกหรือโสภณเจตสิกเพิ่มขึ้นจาก ๗ ดวงครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
homenumber5
วันที่ 19 พ.ย. 2554

เรียน อ. paderm ขอเรียนถามดังนี้ค่ะ ๑. จิตที่ใช้ในการนึกคิด นี่ ก็คือจิตที่ประกอบกับเจตสิกกลุ่มนี้ เช่น วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก สัญญาเจตสิก เวทนาเจตสิก ใช่ไหมคะ เรียนอาจารย์ช่วยขยายความในรายละเอียดเพิ่มเติม

ทราบมาว่า เมื่อ ทวิวิญญาณจิตทั้ง ๑๐ รับอารมณ์มาแล้วอยู่ที่สุดท้าย มนสิการเจตสิก จะทำงานไปทางโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ อันนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่การที่จิตจะมีโยนิโสมนสิการเจตสิกมาประกอบด้วยจะต้องมีเหตุมาในอดีต เช่น การคบสัตบุรุษ การฟังธรรมจากสัตบุรุษ มีปุพเพกตปุญญตามาก่อนแล้ว อันนี้ ใช่หรือไม่

ดังนั้น การที่ กามาวจร ปุถุชน เมื่อรับอารมณ์ เช่น ตาดู หูฟัง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส กายรับสัมผัส ผ่านทางทวิปัญจวิญญาณจิตแล้ว ก็อยู่ที่มนสิการ ว่าไปทางโยนิโส อโยนิโสมนสิการ เข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ

อนุโมทนนาบุญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อินทวัชร
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

๑. จิตที่ใช้ในการนึกคิด นี่ ก็คือจิตที่ประกอบกับเจตสิกกลุ่มนี้ เช่น วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก สัญญาเจตสิก เวทนาเสตสิก ใช่ไหมคะ

วิตกเจตสิก ทำกิจหน้าที่ คือจรดในสภาพธรรม หรึอตรึก นึกคิด ส่วนเจตสิกอื่นที่กล่าวมานั้น เช่น สัญญาเจตสิก ทำหน้าที่จำ ไม่ใช่คิดนึก เวทนาเจตสิกทำกิจหน้าที่รู้สึกครับ ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามหน้าที่ของเจตสิกแต่ละประเภทครับ ซึ่งเพราะอาศัยจิตและเจตสิกอื่นๆ มี วิตกเจตสิกเป็นสำคัญ ก็ทำให้คิดนึก ตรึกไปในเรื่องราวต่างๆ ที่ เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างครับ เป็นกุศลวิตก อกุศลวิตกครับ


๒. ทราบมาว่าเมื่อ ทวิวิญญาณจิตทั้ง ๑๐ รับอารมณ์มาแล้ว อยู่ที่ สุดท้าย มนสิการเจตสิกจะทำงานไปทางโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ อันนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่การที่จิตจะมีโยนิโสมนสิการเจตสิกมาประกอบด้วยจะต้องมีเหตุมาในอดีต เช่น การคบสัตบุรุษ การฟังธรรมจากสัตบุรุษ มีปุพเพกตปุญญตามาก่อนแล้ว อันนี้ ใช่หรือไม่ ดังนั้น การที่กามาวจรปุถุชน เมื่อรับอารมณ์ เช่น ตาดู หูฟัง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส กายรับสัมผัส ผ่านทางทวิปัญจวิญญาณจิตแล้ว ก็อยู่ที่มนสิการว่าไปทางโยนิโส อโยนิโสมนสิการ เข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ

อนุโมทนนาบุญค่ะ


เมื่อทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงดับไป มีจิตเห็น เป็นต้นดับไป ก็มีจิตอื่นๆ เกิดต่อ และดับไป จนถึงก่อนที่จะเป็นชวนจิต ที่เป็นกุศลหรืออกุศลจิต มีจิตที่ทำทางที่จะทำให้ชวนจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งก็เป็นไปตามการสะสมมาของผู้นั้น ว่าจิตนั้น สะสมอะไรมามาก ก็จะทำทางให้เกิดกุศลหรืออกุศลจิตตามการสะสมมาครับ นั่นคือ โวฏฐัพพนจิต ทำหน้าที่คือกำหนดหรือตัดสินอารมณ์ตามการสะสมในอดีต เป็นทางที่จะทำให้เป็นกุศลหรืออกุศลครับ ซึ่งก็อาศัย การคบสัตบุรุษ เป็นต้นในอดีต ตามที่ผู้ถามได้ยกมา ถูกต้องแล้วครับ ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลหรืออกุศลครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ด้วยกันทั้งคู่และที่สำคัญเป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันด้วย จิตแต่ละประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ อย่างน้อยที่สุดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ได้แก่ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวินตินทรียเจตสิก และมนสิการเจตสิก

ไม่ใช่เฉพาะจักขุวิญญาณเท่านั้น ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีเราเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วจะต่อด้วยทางใจเสมอโดยมีภวังคจิตเกิดคั่น หรือแม้แต่ไม่ได้อาศัยตา หู เป็นต้น จิตก็สามารถเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจได้เลย จะเห็นได้ว่า แม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน เป็นต้น ก็คิดนึกได้ครับ

. ... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
win@wavf
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
อินทวัชร
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ท่าน Khampan กล่าวว่าจิตและเจตสิก..ไม่มีเราเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ แล้วอะไรทำให้มีเราครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 9 ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยนะครับ จากคำถาม จิตและเจตสิก..ไม่มีเราเลยมีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ แล้วอะไรทำให้มีเราครับ?

ในความเป็นจริง ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป แต่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมยึดถือสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต เจตสิกและรูป ยึดถือธรรมทั้งหลายว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ดังนั้น คำถามที่ว่า แล้วอะไรทำให้มีเรา คำตอบ คือ เพราะกิเลส คือความเห็นผิดและความไม่รู้ จึงสำคัญว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล เพราะมีความเห็นผิดที่สะสมมานาน จึงยึดถือสภาพธรรม ไม่ว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ว่าเป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่ได้กลิ่น เป็นเราที่คิดนึก เพราะความเห็นผิดที่สะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ จึงเห็นผิดว่ามีเรา และเพราะความไม่รู้ อวิชชา ที่สะสมมานาน เพราะไม่รู้ จึงสำคัญว่ามีเรา เพราะอาศัยความมไม่รู้เป็นปัจจัย ทำให้เกิดความเห็นผิดว่ามีเราครับ ดังนั้น เพราะกิเลสทั้งนั้น มีความเห็นผิดและความไม่รู้ จึงทำให้มีเรา ด้วยความเห็นผิดครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วิริยะ
วันที่ 20 พ.ย. 2554

เรียนถาม จิตเห็น เห็นวัณณรูป อยากทราบว่า วัณณรูปนั้น คือสีต่างๆ เช่น เขียว แดง ชมพู ม่วง ฯลฯ หรืออย่างไร ดิฉันเข้าใจมาตลอดว่า วัณณรูป คือสีขาว เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 11 ครับ

วัณณรูป หมายถึง สิ่งที่ปรากฏทางตา โดยไม่ใช่มุ่งหมายถึงสีขาวเท่านั้นครับ สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็น สีเขียว เหลือง อันสามารถปรากฏทางตาได้ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วิริยะ
วันที่ 20 พ.ย. 2554

เรียนถาม วัณณรูป หมายถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา และถ้าไม่ได้นึกถึงสัณฐาน รูปร่าง แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาจะมีลักษณะอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

เป็นเพียงสีเท่านั้นที่ปรากฏ ยังไม่ปรากฏรูปร่างลักษณะ เหมือนเป็นสีๆ นั่นแหละครับ คือลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา

ขอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
วิริยะ
วันที่ 20 พ.ย. 2554

เรียนถาม สีที่อาจารย์ได้กล่าวมานั้น คือสีต่างๆ ที่เรารู้จัก หรืออย่างไร เช่น สีชมพูของดอกไม้ เป็นต้น บางที ดิฉันเข้าใจว่า สีต่างๆ เป็นบัญญัติ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 15 ครับ

สีที่ปรากฏไม่ใช่บัญญัติครับ เช่น ลักษณะของสีชมพู ไม่ใช่บัญญัติ จะเปลี่ยนสีชมพูให้เป็นสีอื่นไม่ได้ แต่การบัญญัติชื่อว่า นี่คือ สีชมพู เป็นบัญญัติครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
อินทวัชร
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Jarunee.A
วันที่ 23 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ