อินเดีย ... ที่พักใจ 9 กุสินารา

 
kanchana.c
วันที่  19 พ.ย. 2554
หมายเลข  20056
อ่าน  2,606

กุสินารา

ความจริงการไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียทั้ง ๔ แห่งนั้น ก็เป็นสถานที่เดิมทุก ครั้ง แต่การเดินทางแต่ละครั้งนั้นไม่เหมือนกัน ทั้งเส้นทางการเดินทาง ทั้งถนนหนทาง ที่เปลี่ยนไป ผู้คนที่ร่วมเดินทาง สิ่งต่างๆ ที่พบเห็นระหว่างทาง รวมทั้งความคิดนึกของ ตัวเองที่มีมุมมองแตกต่างไปด้วย

การไปนมัสการสังเวชนียสถานในครั้งนี้ คิดว่าจะไม่เล่าประวัติของสถานที่ต่างๆ เพราะได้ค้นคว้าและเขียนไว้ละเอียดใน “อินเดีย ... อีกแล้ว” (อินเดีย ... แดนพุทธภูมิ) แต่ ก็มีเรื่องราวน่าสนใจจากการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ที่อยากเล่าให้ฟังค่ะ จากโรงแรม Pathik สาวัตถี เราเดินทางไปกุสินารา บนถนนที่คงเพิ่งสร้างเสร็จ ใหม่ๆ เพราะดูสะอาดเอี่ยม ขนาดกว้างใหญ่ ถ้าจำไม่ผิดคิดว่า ๖ เลน มีเกาะกลางถนน แบ่งช่องจราจรชัดเจน แต่แม้กระนั้นรถก็ยังวิ่งสวนทางในช่องทางเดียวกัน รถวิ่งทำ ความเร็วได้มากกว่าเดิม บางทีก็วิ่งมาด้วยความเร็วสูงเหมือนจะชนกัน พอใกล้ๆ ต่างก็ บีบแตรดังลั่นพร้อมกับเบี่ยงหลบกันไปคนละทาง คนนั่งข้างหน้าต้องใช้เท้าช่วยเบรค กันตัวโก่ง ตอนแรกคิดว่า เขาทำไว้ให้วิ่งสวนทางกันได้ทั้ง ๒ ฝั่ง เพราะว่าไม่มีทางให้ กลับรถ แต่รถแล่นไปสักพักก็เห็นเครื่องหมายจราจรให้กลับรถอย่างที่เข้าใจว่า รถใน อินเดียไม่สนใจกฎจราจร ทางไหนรถสามารถแล่นไปได้ นั่นคือกฎจราจร นั้นถูกต้อง แล้ว คิดว่าสิ่งที่น่ากลัวในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานครั้งต่อๆ ไป คือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะถนนดีขึ้น รถจึงวิ่งเร็วมากขึ้นด้วย

ถนนตัดผ่านทุ่งข้าวเขียวขจีกว้างสุดลูกหูลูกตา ลมพัดต้นข้าวพริ้วสวยเหมือนคลื่น น้อยๆ ในทะเล บางช่วงทำรั้วกั้นไม่ให้คนและสัตว์เลี้ยงเข้ามาในถนน แต่บางช่วงก็มี บ้านเรือนปลูกอยู่ติดถนน จึงเห็นเด็กๆ ถีบจักรยานเล่น มีวัวมานอนบนถนน สาวแขกใน ชุดส่าหรีสีสวยเทินหม้อน้ำบนศีรษะเดินนวยนาดข้ามถนน ไม่สนใจกับเสียงแตรรถยนต์ ที่วิ่งมาด้วยความเร็ว จึงไม่ค่อยแปลกใจนักเมื่อเห็นชายคนหนึ่งลากเด็กผู้ชายที่นอนแน่ นิ่งให้ออกไปจากพื้นถนน (คิดว่าคงตายแล้ว) โดยไม่มีรถคู่กรณีแล้วก็ไม่มีคนมุงดูด้วยคง เป็นเหตุการณ์ปกติประจำวันที่จะมีเด็กถูกรถชนจนไม่น่าสนใจสำหรับคนอื่นๆ อีกต่อไป เรามาถึงกุสินาราในตอนเที่ยง เข้าพักและรับประทานอาหารเที่ยงที่โรงแรมนิกโก้ โลตัสเจ้าประจำที่มาพักเกือบทุกครั้งที่มากุสินารา แม้จะเป็นโรงแรมเดิม ห้องที่พักก็ เปลี่ยนไปอยู่ดี แต่ที่ดูเหมือนเดิมอย่างมาก คือ คณะเด็กขอทานที่มานั่งเข้าแถวเป็น ระเบียบคอยอยู่แล้วพร้อมทั้งเครื่องดนตรีและเสียงสวดมนต์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ประกอบการขอ คนที่เพิ่งเห็นครั้งแรกก็จะเกิดจิตเมตตาเอ็นดูให้ทานกันทุกคน แต่คน ไปหลายครั้งอย่างเรา ชินตาเสียแล้ว จิตก็เลยทำหน้าที่ที่เคยชินคือตระหนี่ หวงแหน ไม่ยอมให้เช่นเคย แม้จะระลึกได้ทีหลังถึงสภาพจิตที่คับแคบนั้นว่า ไม่ได้เบาสบาย เป็นสุขเลยก็ตาม

ได้ไปกราบพระพุทธรูปปางปรินิพพานในวิหารปรินิพพานแล้ว ก็ทำพิธีห่มผ้าพระ พุทธรูป แล้วเวียนเทียนประทักษิณรอบพระเจดีย์ที่เป็นสถานที่ที่พระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงดับนามขันธ์ทั้ง ๔ หมดไม่เกิดอีกเลย เหลือไว้แต่เพียงพระคุณอัน ประเสริฐ คือ พระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ เพื่อให้พุทธ บริษัทถือเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดไป ตราบใดที่ความเข้าใจพระธรรมที่ทรงมอบให้เป็น มรดกแก่พวกเรานั้นยังไม่เสื่อมสูญไปจากโลกนี้

ต่อจากนั้นก็ไปที่มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เวียนเทียน ประทักษิณระลึกถึงสถานที่ดับรูปขันธ์ของพระองค์เหลือไว้แต่เพียงพระบรมสารีริกธาตุ ที่ครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ ๒,๖๐๐ ปี ได้รวมกันเป็นพระวรกายอันประกอบด้วยมหาปุริสสลัก ษณะทั้ง ๓๒ประการ ทรงใช้พระวรกายนี้กระทำพุทธกิจต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์แก่ผู้ที่สะสมความเข้าใจที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ทั้งผู้ มาเฝ้าในพระวิหารต่างๆ ที่ทรงประทับอยู่ หรือเสด็จดำเนินไปโปรดแสดงธรรมตาม สถานที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล แม้จะมีผู้ฟังเพียงคนเดียวก็ตาม

จะเห็นว่าพุทธกิจหลักของพระองค์มีอย่างเดียว คือ ทรงแสดงธรรมอันลึกซึ้งที่ตรัสรู้ ได้ยาก ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป แก่ผู้ที่ได้สะสมบารมีมาแล้ว คือสะสมความเข้าใจธรรมมาแล้วอย่างมาก ให้ประจักษ์แจ้งตามที่พระองค์ทรงประจักษ์ แล้วเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงอุ่นใจได้ว่า ถ้าได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ คือ สะสม ความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาที่บารมีนั้นเต็มเปี่ยมก็จะได้ฟังธรรมจาก ท่านผู้รู้ให้ได้พิจารณาจนเกิดปัญญาประจักษ์แจ้งเอง

มาบัดนี้เหลือแต่เพียงพระบรมสารีริกธาตุให้พวกเราได้กราบไหว้บูชาแทนพระองค์ ถ้ามีความเข้าใจพระธรรมที่ทรงมอบให้เป็นมรดกมากเท่าไร ก็จะยิ่งรู้จักพระองค์มากขึ้น ตามความเข้าใจนั้น จนกระทั่งถึงเมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อนั้นก็จะเห็นพระองค์ อย่าง ที่ทรงตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตถาคต”

ในตอนค่ำได้พากันไปทำบุญถวายผ้าป่าที่วัดไทยกุสินารา เฉลิมราชย์ ซึ่งอยู่ติดกับ โรงแรม และถวายเงินบำรุงสถานพยาบาลที่วัดสร้างขึ้นเพื่อรักษาฟรีให้ชาวอินเดีย ใน วันนี้วัดไทยก็เปลี่ยนไป เพราะกำลังซ่อมแซมอุโบสถเพื่อต้อนรับคณะบุคคลสำคัญแต่ ยังเปิดไฟให้พวกเราก็ได้เห็นความสวยงามของพระเจดีย์ที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรม แบบไทย พระเจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวพระราชทาน เมื่อกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ก็พากันเดินกลับโรงแรม ท่ามกลางความมืดแบบชนบทของเมืองกุสินารา แม้กระนั้นก็ยังมีร้านขายของเล็กๆ ข้าง โรงแรมให้พวกขา shop ได้ซื้อของอีกด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนา ที่นำเรื่องราวดีๆ มาให้อ่านกัน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 19 พ.ย. 2554

...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดง (อ.กาญจนา) ด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 19 พ.ย. 2554
...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดง (อ.กาญจนา) ด้วยค่ะ...
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2554
...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนาด้วยครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 พ.ย. 2554

...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนาด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jesse
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณอาจารย์กาญจนาสำหรับเรื่องราวอันมีค่าในการไปสักการะสังเวชนียสถาน ในทุกครั้ง ให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ไป ได้เกิดกุศลจิตโสมนัสยินดีไปด้วยและขออนุโมทนา ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 20 พ.ย. 2554

สำนวนเขียนอ่านสนุกได้สาระ..แม้ผู้เขียนออกตัวว่าสถานที่่เดิมแต่ผู้อ่านไม่รู้สึกคะ..ขออนุโมทนาคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ