ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร

 
pirmsombat
วันที่  19 พ.ย. 2554
หมายเลข  20057
อ่าน  1,577

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 356

[๗๗๘] ศัพท์ว่า อถ ในคำว่า อนึ่ง ภิกษุไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วย ความเป็นอยู่ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ

ศัพท์ว่า อถ นี้เป็นไปตามลำดับบท ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นอยู่อย่าง เศร้าหมอง ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีตว่า ก็ภิกษุนี้ ทำไม่ จึงมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ย่อมได้ฉันพืชทั้งปวง คือพืชแต่ราก พืช แต่ลำต้น พืชแต่ผล พืชแต่ยอด พืชแต่พืชเป็นที่ ๕ ภิกษุนี้ข้าม (ทุกข์) ไม่ได้แล้วเพราะความที่ตนมีความเพียร เสมอด้วยฟ้าแลบและพะเนินเหล็ก ภิกษุนั้นย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีต ด้วยความเป็นอยู่เศร้าหมอง

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นอยู่อย่างประณีต ย่อมดูหมิ่นภิกษุนั้น ที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมองว่า ภิกษุนี้ทำไมจึงมีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง ด้วยความเป็นอยู่อย่างประณีต.

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ใครถาม ปัญหาแล้ว ก็แก้ได้ เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย ปัญญา ส่วนภิกษุอื่นเหล่าอื่น ไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญา เธอก็ดูหมิ่นภิกษุอื่น ด้วยความถึงพร้อมด้วยปัญญานั้น.

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สำรวมแล้ว ด้วยความสำรวมในปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติ เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย เธอมีความดำริอย่างนี้ เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เธอก็ดูหมิ่นภิกษุอื่น ด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น.

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร คือเป็นผู้ถือ อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ถือทรงผ้าบังสกุล เป็นวัตร เป็นผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตตาม ลำดับตรอกเป็นวัตร เป็นผู้ถือไม่ฉันภัตหนหลังเป็นวัตร เป็นผู้ถือ เนสัชชิกธุดงค์เป็นวัตร หรือเป็นผู้ถืออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไร เป็นวัตร เธอมีความดำริอย่างนี้ เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร

ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร เธอก็ดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความถึงพร้อมด้วยวัตรนั้น

คำว่า อนึ่ง ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร ความว่า ไม่ควรดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ประณีต ด้วยความถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยความถึงพร้อมด้วยศีล หรือด้วยความ ถึงพร้อมด้วยวัตร คือไม่พึงให้ความถือตัวเกิดขึ้นด้วยความเป็นอยู่เป็นต้นนั้น ไม่พึงเป็นผู้หัวดื้อ หัวแข็ง หัวสูง ด้วยความเป็นอยู่เป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนึ่ง ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผิน
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ

ขออนุญาตสนทนาเพิ่มเติมครับ ในส่วนที่ท่านกล่าวไว้ว่า

"....คือไม่พึงให้ความถือตัวเกิดขึ้นด้วยความเป็นอยู่เป็นต้นนั้น ไม่พึงเป็นผู้หัวดื้อ หัวแข็ง หัวสูง ด้วยความเป็นอยู่เป็นต้นนั้น...."

ควรพิจารณาอย่างไร เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญในความข้อนี้

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ขออนุญาตสนทนาเพิ่มเติมครับ ในส่วนที่ท่านกล่าวไว้ว่า

"....คือไม่พึงให้ความถือตัวเกิดขึ้นด้วยความเป็นอยู่เป็นต้นนั้น ไม่พึงเป็นผู้หัวดื้อ หัวแข็ง หัวสูง ด้วยความเป็นอยู่เป็นต้นนั้น...."

ควรพิจารณาอย่างไร เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญในความข้อนี้


ความถือตัวมีจริง เพราะอาศัยกิเลสที่สะสมมามาก ไม่ว่าจะเป็นมานะ ความถือตัว

เปรียบเทียบ จึงเกิดความดูหมิ่น เพราะตนเป็นผู้มีความเป็นอยู่ที่เศร้าหมองบ้าง จึงดู หมิ่น ผู้อื่นที่ปฏิบัติตนไม่เศร้าหมอง สมถะ หรือ ถือตัว มีมานะ ด้วยความเป็นอยู่ที่ดี มีลาภ สักการะ ทรัพยฺสินมาก ก็ถือ ตัว หัวสูง หัวแข็งด้วยอำนาจกิเลส เ พราะมีมานะ และอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงดูหมิ่น ผุ้ที่มีฐานะน้อย ด้อยกว่าตน หรือ ประพฤติตนเศร้า หมองก็ดูหมินได้ครับ ดังนั้นจะสังเกตได้ครับว่า ไม่ว่าจะมีความเป็นอยู่เช่นไร ตราบใด ที่ยังมีกิเลสมาก มี มานะ เป็นต้น ก็ย่อมทำให้เกิดความถือตัวได้ เป็นธรรมดา มีการ เปรียบเทียบ และย่อมดูหมิ่นครับ ดังนั้น การถือตัว หัวสูง หัวแข็ง และการดูหมิ่น ไม่ไ่ด้ อยู่ที่ความเป็นอยู่ของผู้นั้นเป็นสำคัญ แต่อยู่ที่กิเลสที่สะสมมามากของผู้นั้นเป็นสำคัญ จึงเกิดกิเลส มีการถือตัวและดูหมิ่นได้ครับ

การเข้าใจให้ถูกต้องคือ เข้าใจถึงความเป็นธรรมดาของสภาพธรรม คือ กิเลสที่ยังเกิด ขึ้นได้ แต่เพราะอาศัยวามเข้าใจพระธรรมและปัญญาที่เจริญขึ้น ก็เกิดอกุศลเหล่านี้น้อยลง เพราะเข้าใจถึงความที่แต่ละคนสะสมอุปนิสัยมาต่างๆ กันที่จะชอบความเศร้าหมอง ชอบ ความเป็นอยู่สบาย และเข้าใจถึงความที่เป็นกรรมเป็นของๆ ตน ผู้ที่น้อย ก็เพราะบุญน้อย ผู้ที่มีมาก ทรัพย์มากเป็นต้น เพราะผลของบุญที่มีมาก แทนที่จะดูหมิ่น ก็ควรเป็นผู้ไม่ ประมาทในการเจริญกุศลมากขึ้น เพราะเป็นธรรมดาที่ผลของบุญจะหมดลง และการดูหมิ่น ถือตัวก็ไม่เป็นประโยชน์กับใครใดๆ ทั้งสิ้นครับ

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ว่า ความเป็นอยู่จะดี หรือ ไม่ดี ก็ไม่พ้นจากเพียง รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เ่ป็นเพียงสภาพธรรมทีเ่กิดขึ้น และดับไปครับ ค่อยๆ พิจารณาถูกต้องอย่างนี้ อกุศลก็จะค่อยๆ คลาย แต่ยังไม่หมด ตราบ ใดที่ยังมีกิเลสมาก ก็อาศัยฟังพระธรรมต่อไป และเริ่มเข้าใจความจริง ในขณะที่ถือตัว ดู หมิ่นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือหนทางที่ถูกในการดับกิเลสครับ

ขออนุโมทนาคุณหมอ คุณผู้ร่วมเดินทางและทุกๆ ท่านครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยนะครับ

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา อุปการะเกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ เพื่อให้เกิดกุศล ไม่ใช่ อกุศล อกุศลถึงแม้จะเล็กน้อย ก็ไม่ควรมี ไม่ควรเกิดขึ้น แม้แต่ความถือตัวความยกตนข่มผู้อื่น ที่ตั้งที่จะให้เกิดความถือตัวถือตน ยกตนข่มผู้อื่นนั้น มีมาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ายังมีกิเลสอยู่นั่นเอง การที่มีกิเลสเกิดขึ้นเป็นไป นั้น เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้นอีกเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ก็ตาม ทุกชีวิต ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียด เพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ว่าจิตใจของใคร จะมีความรู้สึก มีกิเลสมากน้อยหนาแน่นเบาบางสักเท่าไร เป็นไปเพราะเหตุใด พระองค์ทรงรู้แจ้งและทรงแสดงไว้ เพื่อให้มีการขัดเกลากิเลสให้มาก แม้ว่าจะเป็นความถือตน ยกตนข่มผู้อื่นเพราะเหตุต่างๆ นั่นก็เป็นธรรมที่เป็นอกุศลที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น เพราะว่าธรรมที่เป็นกุศล ที่ควรเจริญในชีวิตประจำวัน นั้น คือการนอบน้อม การแสดงความเคารพ การมีเมตตาต่อกัน ไม่ใช่การถือตน ไม่ใช่การยกตนข่มผู้อื่น ครับ

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pirmsombat
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ

คุณผเดิม คุณคำปั่น คุณผู้ร่วมเดินทาง และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ