ความบริสุทธิ์แห่งวาจา

 
pirmsombat
วันที่  20 พ.ย. 2554
หมายเลข  20059
อ่าน  3,010

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒- หน้าที่ 572

ว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งวาจา

ความบริสุทธิ์แห่งวาจาเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท คือพูดจริง ดำรงคำจริง มีถ้อยคำมั่นคง มีถ้อยคำเชื่อถือได้ ไม่พูดให้เคลื่อนคลาดแก่โลก ละปิสุณาวาจา เป็นผู้เว้นขาดจากปิสุณาวาจา คือฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง มีความพร้อมเพรียงเป็นที่มายินดี ยินดีในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน มีความเพลิดเพลินในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้เขาพร้อมเพรียงกัน ด้วยประการดังนี้

ละผรุสวาจา เป็นผู้เว้นขาดจากผรุสวาจา คือกล่าววาจาที่ไม่มีโทษ อันไพเราะโสต เป็นที่ตั้งแห่งความรัก หยั่งลงถึงหทัย เป็นคำของชาวเมืองที่คนหมู่มากพอใจ ชอบใจ

ละสัมผัปปลาปะ เป็นผู้เว้นขาดจากสัมผัปปลาปะ คือพูดโดยกาลควร พูดจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐานมีที่อ้างอิง มีส่วนสุดประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลควร

เป็นผู้ประกอบด้วยวจีสุจริต ๔ กล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ งดเว้น เว้นขาด ออก สลัด พ้นขาด ไม่ประกอบด้วยติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ

เป็นผู้มีจิตปราศจากเขตแดนกิเลสอยู่

ย่อมกล่าวกถาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ

อัปปิจฉกถา

สันตุฏฐิกถา

ปวิเวกกถา

อสังสัคคกถา

วิริยารัมภกถา

สีลกถา

สมาธิกถา

ปัญญากถา

วิมุตติกถา

วิมุตติญาณทัสสนกถา

ย่อมกล่าวสติปัฏฐานกถา สัมมัปปธานกถา อิทธิบาทกถา อินทรียกถา พลกถา โพชฌงคกถา มรรคกถา ผลกถา นิพพานกถา

เป็นผู้ประกอบ สำรวม สำรวมเฉพาะ คุ้มครอง ปกครองรักษา ระวังด้วยวาจา นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งวาจา ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยความบริสุทธิ์แห่งวาจาเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

วาจามีได้เพราะอาศัย จิตและเจตสิก หากไม่มีสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นจิตและเจตสิกแล้ว วาจาคำพูดก็มีไม่ได้ ซึ่งจิตก็มีทั้ง กุศล และ อกุศล เมื่อจิตเป็นกุศล การกระทำทางกายและวาจาก็ย่อมน้อมเป็นไปในทางที่ดี วาจาที่พูดย่อมไม่พูดเท็จ ย่อมไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่วาจาที่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย

ดังนั้น วาจาจะบริสุทธิ์หรือไม่ ก็มีเหตุ คือ จิตนั้นบริสุทธื์ก่อน คือ จิตบริสุทธื์ เพราะปราศจากเครื่องเศร้าหมอง คือ ปราศจากกิเลสในขณะนั้น เป็นกุศลจิตนั่นเอง วาจาที่พูดก็ย่อมบริสุทธิ์ด้วย แต่หากว่า จิตไม่บริสุทธิ์ คือ จิตเป็นอกุศล วาจาที่พูดก็ไม่บริสุทธิ์ ย่อมพูดเท็จ พูดคำหยาบ ส่อเสียดและเพ้อเจ้อด้วยจิตที่ไม่บริสุทธิ์

ความบริสุทธิ์ของวาจา จึงมีหลายขั้น หลายระดับ ตามระดับของจิตและปัญญา ซึ่งเพียงขั้นต้น ก็อาจเพียงงดเว้นวาจาที่ไม่ดี แต่เมื่อเห็นประโยชน์และมีปัญญาเจริญมากขึ้น ก็ไม่แต่เพียงงดเว้นวาจาที่ไม่ดีนั้น แต่ก็พูดวาจาที่ดีด้วย คือ พูดจริง พูดไม่ส่อเสียด ไม่หยาบ ไม่เพ้อเจ้อ และเมื่อปัญญามีกำลังมากขึ้น วาจาที่พูดก็ย่อมเป็นไปในการสละ ขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ ด้วยวาจาที่พูดถึงในเรื่อง กถาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ

1. วาจาที่พูดในเรื่องมักน้อย

2. วาจาที่พูดในเรื่องสันโดษ

3. วาจาที่พุดในเรื่องความสงัด

4. วาจาที่พูดในเรื่องความไม่คลุกคลี

5. วาจาที่พูดในเรื่องปรารภความเพียรในกุศล

6. วาจาที่พูดเป็นไปในเรื่องศีล

7. วาจาที่พูดเป็นไปในเรื่องสมาธิ

8. วาจาที่พูดเป็นไปในเรื่องปัญญา

9. วาจาที่พูดในเรื่องความหลุดพ้น

10. วาจาที่พูดในเรื่องการพิจารณาถึงกิเลสที่ได้หลุดพ้นแล้ว ๑๐ ประการนี้

เป็นการพูดที่เป็นประโยชน์ เป็นการขัดเกลาอย่างยิ่งที่เป็น กถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า วาจาที่ประเสริฐสูงสุด คือ วาจาที่กล่าวธรรม แสดงอมตะธรรมคือ แสดงหนทางดับกิเลสและพระนิพพาน เช่น วาจาที่กล่าวในเรื่อง สติปัฏฐาน เป็นต้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวัน เรามักพูดเป็นไปในเรื่องใดมาก ก็แสดงถึงการสะสมกำลังของกิเลสที่แสดงออกมามากในวาจานั้น ผู้ที่ศึกษาธรรม จึงค่อยๆ พิจารณา วาจาของตนที่จะพูดเป็นไปเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์และขัดเกลามากขึ้น อันเป็นไปเพื่อสละกิเลสทุกๆ ประการ แม้แต่วาจาที่พูดกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะค่อยๆ ขัดเกลาได้ ก็เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ด้วยการศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ และอาจารย์ผเดิม มากครับ

เนื่องจากเรื่องของวาจานี้ เป็นการติดต่อสื่อสารกันระหว่างบุคคลสองคนขึ้นไป ในสมัยก่อนมีการพูดคุยกันโดยตรง ปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารกันได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยทาง Social Network

ดังน้ั้น การใช้ Social Network ไปในทางที่สื่อสาร ความเท็จ หยาบคาย ส่อเสียดหรือเพ้อเจ้อ ไม่ว่าจะมีผู้ใดรับรู้ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ดังนี้ เข้าข่ายความหม่นหมองของวจี เป็นวจีทุจริตหรือไม่ครับ

ในทางตรงกันข้าม หากใช้ Social Network ไปในทางเรื่องของ กถาวัตถุ ๑๐ จะถือได้ว่าเป็นความบริสุทธิ์ของวาจาหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

เช่นเดียวกันครับ แม้ไม่ได้พูดทางวาจา แต่แสดงออกทางกายทวาร มีการพิมพ์สื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งหากเรากลับมาที่ตัวปรมัตถธรรม ก็จะไม่สงสัยเพราะว่า ขณะนั้น มีจิตเจตสิกเกิดขึ้น มีเจตนาเจตสิก ที่เป็นไปในทางกายทวาร มีการพิมพ์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ โดยมีเจตนาเจตสิกเกิดขึ้นที่เป็นไปในทางทุจริต ด้วยเจตนาพูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด หรือ พูดเพ้อเจ้อ การกระทำทางกายมีแล้ว มีเจตนาที่เป็นไปในทางกายทวาร ไม่ว่าจะเป็น อีเมลล์ เฟสบุ๊ก หรือ อื่นๆ ก็มีเจตนาเจตสิกที่เป็นทุจริต ก็เป็น บาป เป็นอกุศลธรรม ซึ่งจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับ กำลังของกิเลส กำลังของเจตนา และผู้ที่รับรู้ว่ามีคุณมาก หรือ น้อยด้วยครับ ดังนั้นไม่ว่าสื่อสารด้วยวิธีใด แบบใด ก็ไม่พ้นจาก การทำงานของจิต เจตสิก ไม่พ้นจากกุศลจิตและอกุศลจิต ซึ่งก็เป็นวจีทุจริตที่แสดงออกมาทางกายทวาร แม้ผู้อื่นไม่รับรู้ แต่ขณะนั้นมีเจตนาที่เป็นอกุศลเจตนา ก็เศร้าหมองด้วยวจีทุจริตที่แสดงออกทางกายทวารแล้วครับ เศร้าหมอง เพราะกิเลสที่เกิดในขณะนั้นนั่นเองครับ เป็นความเศร้าหมองของวาจา ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ของวาจาครับ

โดยนัยตรงกันข้าม หากใช้ Social Network มีเวปไซด์ อีเมลล์ เฟสบุ๊ก ด้วยเจตนาที่ดีด้วยให้ผู้อื่นเข้าใจธรรม และธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็เป็นกุศลธรรม เป็นการกระทำทางกายทวาร แม้ไม่ได้พูด แต่มีเจตนาที่ดีมีแล้ว และผู้อื่นได้รับประโยชน์ก็เป็นกุศลกรรมเช่นกันครับ และแม้ไม่ได้กล่าวธรรม แต่พูดคำที่มีประโยชน์ พูดอ่อนหวาน ไม่พูดหยาบพูดเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข ด้วยคำจริง ก็เป็นกุศลเจตนา เป็นกุศลกรรม แม้ไม่ได้พูดเป็นคำๆ แต่ มีการกระทำทางกายทวาร อันอาศัย Social Network ในปัจจุบันก็ได้ครับ เพราะมีจิต เจตสิก และเจตนาเจตสิกที่ตั้งใจดีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะใช้ระบบใดก็ตามเป็นความบริสุทธิ์แห่งวาจาในขณะนั้นครับ

ขออนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทางที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดทีเดียวนะครับ ถ้าหากเราไม่เข้าใจได้ถึงเรื่องของจิตและเจตสิกที่ทำหน้าที่ของกุศลหรืออกุศลแล้ว การกระทำหลายๆ อย่างในยุคปัจจุบันที่มิได้มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ของศีลเลย แต่หากมั่นคงในหลักที่อาจารย์ผเดิมกล่าวมาแล้ว ย่อมไม่ทำให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปได้ แม้แต่น้อย

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยครับ

การพูด เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน จำเป็นจะต้องพูดคุยสนทนากับผู้อื่นอยู่เสมอ และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ เวลาที่หิริ (ความละอายต่ออกุศลธรรม) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) มีกำลังขึ้น ก็จะทำให้พูดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะพูดไปโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร เช่นพูดเหน็บแนมผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น พูดเพ้อเจ้อในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นคำพูดที่ไม่บริสุทธิ์เลย เพราะจิตใจไม่สะอาด เป็นอกุศล แต่เวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น จะทำให้พิจารณาเห็นได้ว่า สิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็สามารถที่จะเว้นไม่พูดในขณะนั้นได้ โดยนึกถึงผู้ฟังเป็นสำคัญ ที่มุ่งถึงการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ไม่พูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะโดยปกติของทุกคนแล้ว ย่อมชอบคำจริง คำพูดที่สุภาพอ่อนโยน เป็นต้น ไม่ชอบคำเท็จ ไม่ชอบคำหยาบคาย ซึ่งก็มีข้อความธรรมประโยคหนึ่งที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวเตือนไว้ น่าพิจารณาทีเดียว ว่า "เรา ไม่ชอบคำที่ไม่น่าฟัง แล้วเรากล่าวคำอย่างนั้นออกไปทำไม" ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้มีความประพฤติดีงามในชีวิตประจำวัน ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น ไม่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูด และ คนฟัง แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะพูด ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การกล่าวธรรม ให้ข้อคิดเตือนใจที่ดีแก่ผู้อื่น เป็นต้น เพราะการพูดอย่างนี้ เป็นคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ และมาจากจิตใจที่ดีงาม ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น ที่ย้ำเรื่อง หิริและโอตตัปปะ ความละอายใจและความสะดุ้งกลัวต่อบาปอกุศลที่จะสะสมไป แต่ละครั้งที่จะพิมพ์ หรือ จะกด Enter หรือ Sent เพื่อส่งข้อความใด ก็คงจะต้องตรวจสอบเรื่องนี้ก่อนเพื่อนเลยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pirmsombat
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม คุณคำปั่น คุณผู้ร่วมเดินทางและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 5 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 22 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
tanrat
วันที่ 24 ก.ย. 2557

ธรรมะละเอียด ต้องใส่ใจ ฟังจนเกิดความเข้าใจของตนๆ โดยมีกัลยาณมิตรที่มีความเข้าใจถูกคอยสนทนาด้วย

กราบอนุโมทนา และกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
thilda
วันที่ 24 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณอย่างยิ่ง และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 26 ก.ย. 2557

สาธุ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน นะคะ

ด้วยความเคารพและขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

จากใหญ่ราชบุรี – ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
มกร
วันที่ 3 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ