โคจร

 
pirmsombat
วันที่  21 พ.ย. 2554
หมายเลข  20067
อ่าน  1,687

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 575

โคจรเป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีหญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีภิกษุณีเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจร ไม่อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร

อนึ่ง สกุลบางแห่งมีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นที่เดินสวนกันเข้าออกแห่งภิกษุผู้แสวงหา มุ่งความเจริญ มุ่งประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความสบาย มุ่งความปลอดโปร่งจากโยค-กิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุย่อมซ่องเสพ คบหา ติดต่อกันสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่าโคจร

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ย่อมเป็นผู้สำรวมเดินไป คือไม่แลดูช้าง ไม่แลดูม้า ไม่แลดูรถ ไม่แลดูพลเดินเท้า ฯลฯ ไม่แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่า โคจร

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ฯลฯ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่า โคจร

อีกอย่างหนึ่งว่า เหมือนอย่างว่า ท่านสมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ไม่ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขัน การประโคม ฯลฯ กองทัพ ภิกษุเป็นผู้เว้นขาดจากการขวนขวายดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่า โคจร

แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ชื่อว่าโคจร สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แดนเป็นของบิดาของคนซึ่งเป็นโคจรของภิกษุคืออะไร คือสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย

มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจรของภิกษุ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ส่วน คำว่า โคจร ไม่ได้มุ่งหมายเพียง การที่ภิกษุไม่เที่ยวไปในสถานที่อันไม่สมควรเท่านั้นครับ โคจรยังมีหลายนัย อันจะนำมาสู่ความเข้าใจในการอบรมปัญญา

อีกนัยหนึ่ง โคจร มี ๓ อย่าง คือ อุปนิสัยโคจร คือ การเข้าไปอาศัยกัลยาณมิตรผู้มีคุณธรรมมีปัญญาแล้วทำให้ตัวเองเจริญในคุณธรรมและปัญญา เข้าใจถูกในหนทางดับกิเลส เป็นต้น เป็นที่อาํศัย ที่ท่องเที่ยวไปที่มีกำลัง อารักขโคจร คือ ภิกษุเป็นผู้สำรวมกาย วาจา เมื่อบิณฑบาต มีจักษุทอดลงต่ำ ไม่แลดูสิ่งไม่ควร ไม่วอกแวก เป็นต้น

อุปนิพันธโคจร คือ สิ่งที่ผูกไว้เป็นที่เที่ยวไปของภิกษุคือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองครับ ซึ่งสามารถอบรมได้ในทุกสถานที่เพราะธรรมมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน สติปัฏฐานจึงเป็นโคจรของภิกษุ คือ ที่ที่เที่ยวไปของพระภิกษุ (อุปนิพันธโคจร)

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ..

โคจร ๓ อย่าง

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pamali
วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมพระรัตนตรัย และขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 22 พ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สมศรี
วันที่ 23 พ.ย. 2554
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ