การฆ่าคน?

 
lovedhamma
วันที่  22 พ.ย. 2554
หมายเลข  20071
อ่าน  14,957

ปกติแล้ว ศีล หรือข้อห้าม ในข้อที่ 1 ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ให้ฆ่าสัตว์ หรือทำลายชีวิตผู้อื่น แต่กรณีอย่างเช่น เพชฌฆาต ซึ่ง จำเป็น ต้องฆ่า/ประหารชีวิตคนตามหน้าที่ มิทราบว่า ในกรณีนี้ ถือว่าบาปหรือไม่ครับ ถึงแม้ว่า การที่จะคัดคนมาเป็นเพชฌฆาตนั้น จะต้องเลือกคนที่มีดวงคุ้มครองตนเองได้ มิฉะนั้น...ชีวิตจะสั้น เพราะเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เรียนท่านผู้รู้ช่วยอธิบาย ให้คำตอบด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสัจจะ ไม่เปลี่ยนแปลง กุศล เป็นกุศล อกุศลก็ต้องเป็นอกุศลครับ ไม่เปลี่ยนไป ตามยุคสมัย หรือ ผู้ใดกระทำ

สำหรับ ศีล ข้อที่ 1 คือ ปาณาติบาต การทำชีวิตของสัตว์ให้ตกล่วง คือ สิ้นชีวิต ไม่ว่าใคร บุคคลใด และที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด หากทำกรรมคือ มีการฆ่าสัตว์ ครบองค์กรรมบถ คือ สัตว์นั้นมีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต จิตคิดจะฆ่า มีพยายามที่จะฆ่า และท้ายสุดสัตว์นั้นตายเพราะการฆ่านั้น ก็เป็นกรรมบถ เป็นบาป เป็นอกุศลกรรม ที่สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ เมื่อกรรมนั้นให้ผลครับ

เพชรฆาต ก็คือ สมมติบัญญัติจากสิ่งที่มีจริงที่ประชุมรวมกัน คือ จิต เจตสิกและรูป ดังนั้น ไม่ว่าการกระทำใดๆ ของเพชรฆาต ทางกาย วาจา ก็ไม่พ้นจากการทำงาน หรือการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกทีเกิดขึ้น ดังนั้น ขณะที่เพชรฆาตได้ฆ่าสัตว์ประหารชีวิตนักโทษ ขณะนั้นก็ต้องมีจิตและเจตสิกที่เ่กิดขึ้น มีเจตนาเจตสิกทีเ่กิดขึ้นด้วย มีเจตนาฆ่าในขณะนั้นนั่นเองครับ

แม้จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่เจตนาฆ่าเกิดขึ้นแล้ว เพชรฆาตก็ย่อมรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตที่คิดจะฆ่าด้วย ไม่เช่นนั้นคงไม่ฆ่า แม้จะมีความจำเป็นทำตามคำสั่ง แต่ก็มีจิตและเจตนาเพื่อที่จะให้สัตว์นั้นตาย และมีความพยายาม กรรมสำเร็จ คือ บุคคลนั้นตายเพราะการฆ่าของเพชรฆาต เพชรฆาตก็ต้องทำบาปแน่นอนครับ ในขณะนั้นที่เป็น ปาณาติบาต

เพียงแต่ว่า การฆ่าด้วยความจำเป็น ตามคำสั่ง กรรมที่ฆ่าด้วยความจำเป็น ตามคำสังก็ไม่หนักเท่ากับ การฆ่าด้วความโกรธ พยาบาท เพราะว่า กำลังของกิเลสที่ขณะฆ่ามีน้อยกว่า กำลังของกิเลสที่มีความโกรธ พยาบาทจึงฆ่าครับ แต่เมื่อครบกรรมบถ มีการฆ่าและมีเจตนาฆ่าด้วยและสัตว์นั้นตาย จะด้วยเหตุผลอะไรก็ชื่อว่าบาป เป็นอกุศลกรรม กรรมสำเร็จแล้ว ส่วนกรรมจะหนักจะมาก หรือ จะน้อย ขึ้นอยู่กับบุคคลที่ถูกฆ่า มีคุณธรรมากหรือน้อย กิเลสที่มีกำลัง หรือไม่มีกำลังขณะที่ฆ่าครับ

จะเห็นนะครับว่า อกุศลธรรมไม่เปลี่ยนแปลง บาปก็คือบาป เพียงแต่จะบาป จะบาปน้อย ก็มีเหตุผลประการอื่นด้วยครับ ซึ่งตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่มีพราหมณ์ท่านหนึ่ง ท่านกล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า ที่ท่านทำบาปเพราะมีเหตุผลจำเป็น มีการเลี้ยงครอบครัว เป็นต้น จะบาปไหม จะต้องตกนรกหรือไม่ อย่างไร ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า เมื่อกรรมนั้นให้ผลย่อมตกนรก และนายนิรยบาล จะฟังเหตุผลที่บุคคลนั้นทำบาปแล้วเพราะเหตุผลจำเป็นหรือไม่ จึงไม่ลงโทษผู้นั้น พราหมณ์ก็ตอบว่า นายนิรยบาล คงไม่สนเหตุผล ความจำเป็น เพราะผู้นั้นได้ทำบาปแล้ว นายนิรยบาลก็ต้องลงโทษผู้นั้นครับ

จากตัวอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่คิดเป็นเหตุผลที่มีความจำเป็น นั่นเป็นขณะที่เป็นความคิดนึกขณะหนึ่ง แต่ขณะที่ทำบาป ทำอกุศลกรรม ขณะนั้นก็เป็นอีกขณะหนึ่ง จึงไม่ควรเอามาปนกันในแต่ละขณะครับ ขณะที่ทำอกุศลกรรมก็ต้องเป็นอกุศกรรม บาปก็คือบาปนั่นเองครับ แม้กรณีที่ผู้ถามก็เช่นกันครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...ผู้ที่มีอาชีพเป็นเพชรฆาต

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัตว์โลกผู้ที่ได้เกิดมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น คงไม่มีใครอยากจะถูกคนอื่นฆ่า (หรือแม้กระทั่งการถูกเบียดเบียน ไม่ถึงกับสิ้นชีวิต ก็ไม่ปรารถนา) แต่ว่า เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะฆ่าบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นด้วยอำนาจของอกุศลจิตทำให้ลืมคิดถึงบุคคลหรือสัตว์ที่จะถูกฆ่าว่าบุคคลหรือสัตว์นั้นย่อมไม่มีความปรารถนาที่จะถูกฆ่าเลย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ประเภทใดๆ ก็ตาม

การฆ่าสัตว์ คือ มีเจตนาที่จะปลงชีวิตสัตว์อื่นให้ตกล่วง ไม่ว่าจะเป็นใครทำ ก็เป็นอกุศลกรรมทั้งสิ้น กล่าวคือ เป็นเพชฌฆาต เป็นทหาร เป็นตำรวจ ฯลฯ หรือ แม้กระทั่งเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ทำก็เป็นบาป เป็นอกุศลกรรมเหมือนกันหมด ไม่มีการยกเว้นและประการที่สำคัญ คือ ศีล แต่ละข้อๆ นั้น ไม่ได้เป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับ แต่เป็นเจตนาของผู้นั้นที่จะมีเจตนาที่งดเว้นในสิ่งที่เป็นอกุศลกรรมประเภทนั้นๆ หรือไม่ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลกรรม ก็งดเว้น ไม่กระทำในสิ่งนั้นๆ แต่ถ้าไม่เห็นโทษ เป็นผู้ประมาทมัวเมา ก็ล่วงศีล เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริงครับ

ควรอย่างยิ่งที่แต่ละบุคคล จะเห็นคุณค่าของกุศลธรรม และเห็นโทษของอกุศลเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ด้วยการด้วยการสะสมกุศล และ ละเว้นจากความชั่วโดยประการทั้งปวง พร้อมทั้งศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อเป็นที่พึ่งในภายหน้า ขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป เพราะเหตุที่ฆ่าสัตว์ กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ นั้น ก็คือกิเลสนั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แก่นไม้หอม
วันที่ 23 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบคุณผู้ตั้งคำถาม และขออนุโมทนาในการอธิบายความละเอียดในศีล ปฏิบัติข้อที่ ๑ คือ ปาณาติบาต ของอาจารย์วิทยากร มศพ.ทั้งสองท่าน ค่ะ

ขอขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ปาณาติปาตาเวรมณี" คือ เจตนา ที่งดเว้นการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ซึ่งโดยความละเอียดในศีล ข้อที่ 1 ใน อรรถกถาในพระไตรปิฎกได้อธิบายไว้ครับว่า การงดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่า ศีลและการงดเว้นจากปาณาติบาตนั้น สำรวมอยู่ซึ่งปาณาติบาตนั้น นั่นเอง ไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ศีล เพราะอรรถว่าไม่ก้าวล่วง แต่ในคำว่า ปาณาติปาตํ เป็นต้น การทำสัตว์มีปราณ (ลมหายใจ) ให้ตกล่วงไปในบรรดาอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีคำอธิบายว่าการฆ่าสัตว์มีปราณ คือ มีปาณ คือ การประหารสัตว์มีปราณ ชื่อว่า ปาณาติบาตก็คำว่า ปาณ นี้ โดยโวหารได้แก่สัตว์ โดยปรมัตถ์ ได้แก่ ชีวิตินทรีย์.

การที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นเฉพาะหน้า ไม่ตบยุงในขณะนั้น ขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกทีเ่กิดขึ้น เจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ ขณะนั้นชื่อว่า เป็นศีลในขณะที่งดเว้นครับ เป็นศีลเพราะ ไม่ก้าวงล่วง ไม่ทำบาปในขณะนั้น หรือ ขณะใดที่ตั้งใจสมาทาน คือ ถือเอาด้วยดี แม้ไม่พบเหตุการณ์ที่เฉพาะหน้าที่จะงดเว้นจากฆ่าสัตว์ แต่ตั้งใจที่จะไม่ฆ่าสัตว์ขณะนั้นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดขึ้น ตั้งใจที่จะงดเว้นการฆ่าสัตว์ ก็เป็นศีลในขณะนั้นครับ

ปาณาติบาต หมายถึง การทำสัตว์มีชีวิตให้ตายไป คำว่า มีชีวิต หมายถึง มีปราณ คือ มีลมหายใจ และคำว่า ปาณ ที่หมายถึง สัตว์ สัตว์ในที่นี้ เมือ่ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คือ ชีวิตตินทรีย์ ทีแ่สดงถึง ความมีชีวิต เพราะสัตว์นั้นเกิดจากกรรมนั่นเองครับ

ซึ่งการจะล่วงศีล ครบกรรมบถ หมายถึง เมื่อครบกรรมบถ เป็นอันว่า ศีลข้อ 1 ขาดสามารถทำให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ครับ ซึ่ง องค์กรรมบถของ ศีล ข้อที่ 1 มีดังนี้ครับ

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 287

องค์ของปาณาติบาตนั้น มี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

หากว่าสัตว์นั้นมีชีวิต และก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิตด้วย และก็มีจิตที่คิดจะฆ่า มีเจตนาฆ่านั่นเอง และมีการพยายามทางกาย เป็นต้นที่จะฆ่า และสัตว์นั้นตาย ก็เป็นอันว่า ครบองค์กรรมบถ ศีลข้อที่ 1 ก็ขาด และสามารถทำให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ มี นรก เป็นต้นครับ

โทษจะมากจะน้อยของปาณาติบาต ขึ้นอยู่กับอะไร

เมื่อมีการทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์แล้ว แม้การทำปาณาติบาต แต่ก็บาปมาก บาปน้อยแตกต่างกันไปครับ ซึ่งพิจารณาดังนี้ หากสัตว์นั้นตัวเล็ก บาปน้อย สัตว์ตัวใหญ่ บาปมากครับ เพราะว่า ความพยายามที่จะทำการฆ่าในสัตว์ตัวเล็กมีน้อย ชวนจิตที่เป็นอกุศลกรรมเกิดน้อยกว่า ส่วนสัตว์ใหญ่บาปมากกว่า เพราะมีความพยายามในการฆ่ามากกว่า ชวนจิตที่เป็นอกุศลกรรมเกิดบ่อย มากกว่าครับ จึงบาปมากกว่า อีกประการหนึ่ง เพราะสัตว์นั้นมีคุณน้อย มีคุณความดีน้อย ก็บาปน้อย หากสัตว์ที่ถูกฆ่ามีคุณความดีมาก ก็บาปมากครับ

แต่หาก สัตว์นั้นขนาดเท่ากัน มีคุณความดีเท่ากัน จะบาปมาก หรือ น้อย ก็พิจารณาที่กิเลสของผู้ฆ่าครับ ถ้ากิเลสมีกำลัง กระทำด้วยการฆ่าที่โหดเหี้ยม อันนี้ก็บาปมาก แต่หากเจตนาฆ่าที่เป็นกิเลสไม่ได้มีกำลังมาก ก็บาปน้อยกว่าครับ นี่คือ พิจารณาที่กิเลสของผู้ฆ่าว่ามีกำลังมากหรือน้อยครับ โทษก็มากน้อย แตกต่างกันตามกำลังของกิเลส

ผลของปาณาติบาต

ผลของปาณาติบาต เมื่อกรรมนั้นให้ผล ย่อมทำให้สัตว์นั้น ไปเกิดในอบาย มี นรก เป็นต้น และเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ผลของกรรมอบย่างเบาของการฆ่าสัตว์ ทำให้สัตว์นั้น มีอายุสั้น เช่น ตายตั้งแต่อยู่ท้องมารดา หรือ เป็นเด็กก็ตายแล้วครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... ผลแห่งการฆ่าสัตว์ เป็นต้น [สัพพลหุสสูตร]

การละปาณาติบาต

ผู้ที่จะละปาณาติบาต ไม่มีการฆ่าสัตว์อีกเลย คือ พระโสดาบัน ท่านจะไม่มีแม้เจตนาฆ่า ไม่มีความคิดแม้จะฆ่าเลย แต่ปุถุชนแล้ว เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถล่วงศีลข้อนี้ได้เป็นธรรมดา หนทางการละ ปาณาติบาต คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา มีการเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ก็จะถึงการดับกิเลส เป็นพระโสดาบัน ไม่ล่วงศีล 5 อีกเลยครับ และอีกประการหนึ่ง เป็นผู้พิจารณาความจริงของชีวิต มีเมตตากับสัตว์ทั้งหลาย ตัวเราก็รักชีวิต ฉันใด แม้ผู้อื่นก็รักชีวิตฉันนั้นจึงไม่ควรเบียดเบียน ประทุษร้าย มีการฆ่าผู้อื่นเลยครับ และผู้ใดปรารถนาความสุขของตน แต่ทำการฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่ได้รับความสุขนั้น แต่ได้รับความทุกข์โดยส่วนเดียว จึงไม่ควรเลยที่จะฆ่าสัตว์

การพิจารณาความจริงเช่นนี้ และเป็นผู้มีเมตตา พร้อมๆ กับการเจริญสติปัฏฐาน ก็ทำให้เป้นผู้งดเว้นจากบาป มีปาณาติบาตได้บ้างเช่นกันครับ พระธรรมเท่านั้นที่เกื้อกูลให้สัตว์โลกเป็นคนดีมากขึ้น

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น และทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น...

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
lovedhamma
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ