สัมมาอาชีวะ

 
วิริยะ
วันที่  24 พ.ย. 2554
หมายเลข  20079
อ่าน  4,810

สัมมาอาชีวะ คือ อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น เกื้อกูล อุปการะกันและกันครับ ซึ่ง สำหรับ คำถามที่ถามนั้น เป็นนัยของการอธิบาย อริยมรรค มีองค์ 8 ที่เกื้อกูลอุปการะกันและกันในแต่ละข้อครับ ซึ่ง อริยมรรคมีองค์ 8 มีดังนี้ครับ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิซึ่ง ธรรมแต่ละข้อ เกื้อกูลอุปการะกัน ดังนี้เพราะมี สัมมาทิฏฐิ ปัญญา ที่เป็นความเห็นถูก เพราะมีความเห็นถูก ทำให้คิดถูกต้อง คือ ทำให้มีสัมมาสังกัปปะที่บริบูรณ์ คือ ความคิดที่ชอบที่ถูกต้อง อันอาศัย ความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ และอาศัยความคิดที่ถูก สัมมาสังกัปปะ ก็ทำให้ วาจาที่พูดก็ถูกต้อง เพราะถ้าคิดผิด คิดด้วย อกุศล วาจาก็ไม่ถูกต้อง วาจาไม่ชอบ วาจาเป็นทุจริตครับ เพราะฉะนั้น อาศัย สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ ก็ทำให้มีวาจาชอบ และเพราะอาศัยวาจาชอบ การกระทำทางกาย ที่เป็นกายสุจริต ก็ย่อมน้อมไปตามวาจาที่ถูกต้องด้วยครับ สัมมาวาจา จึงเป็นปัจจัย อุปการะแก่สัมมากัมมันตะ และต่อไป คือ สัมมาอาชีวะ การกระทำการงานที่ชอบ คือ ไม่กระทำการงานที่ไม่ดี งดเว้นจากการงานที่ไม่ดี เช่น งดเว้นจากอาชีพที่ไม่ควรประกอบ เป็นต้น ขณะนั้น เป็นสัมมาอาชีวะ เพราะงดเว้นจาก กายทุจริตและวจีทุจริต งดเว้นจากวาจาที่ไม่ดี การกระทำทางกายที่ไม่ดี คือ มีสัมมาวาจา และสัมมกัมมันตะ ย่อมทำให้ถึง สัมมาอาชีวะ ที่บริบูรณ์ เพราะ สัมมาอาชีวะในที่นี้ พระไตรปิฎก อธิบาย ถึง สัมมาอาชีวะ ที่เป็น อาชีวัฏฐมกศีล คือ ศีลมีอาชีพเป็นที่ ๘ คือ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ ๓. เว้นจากการพูดเท็จ ๔. เว้นจากการพูดส่อเสียด ๕. เว้นจากการพูดคำหยาบ ๖. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๗. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๘. เว้นจากอาชีพที่ผิด

จะเห็นนะครับว่า จะถึงความบริบูรณ์แห่ง สัมมาอาชีวะ ที่เป็นอาชีวัฏฐมกศีล คือศีลมีอาชีพเป็นที่ ๘ ก็ต้องงดเว้นจากการกระทำทางกายและวาจาที่ไม่ดีก่อนครับ และงดเว้นจากอาชีพที่ไม่ดี เป็น สัมมาอาชีวะ เพราะอาศัยการงดเว้น กาย วาจาที่ไม่ดี ทุจริต ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่ง สัมมาอาชีวะ โดยนัยนี้ครับ

อีกนัยหนึ่ง สัมมาอาชีวะก็คือ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต เช่น ขณะที่งดเว้นในการประกอบอาชีพที่ไม่ดี ซึ่ง อาชีพที่ไม่ดี ก็ต้องเนื่องด้วยกายและวาจา ขณะที่ไม่ฆ่าสัตว์อันเนื่องด้วยอาชีพ ก็เป็นผู้งดเว้นจากกายทุจริต มีการฆ่าสัตว์ในขณะนั้น และมาประกอบอาชีพที่สุจริต งดเว้น จากวาจาที่โกหก เช่น เป็นแม่ค้า แต่งดเว้นที่จะโกหก อันเป็นไปเพื่อประกอบอาชีพสุจริต ก็งดเว้น วาจาที่ไม่ดี และดำรงอยู่ในสัมมาอาชีะ ครับ ดังนั้น ถ้ากายทุจริต วาจาทุจริตอยู่ ย่อมไม่ถึง ความเป็นสัมมาอาชีวะที่บริบูรณ์ได้ แต่เพราะงดเว้นกายวาจาที่ไม่ดี ย่อมถึง สัมมาอาชีวะได้ ตามเหตุผล 2 ข้อข้างต้นที่กล่าวมาครับ

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 463

อนึ่ง เพราะชนทั้งหลายจัดแจงการงานด้วยวาจาก่อนว่า เราจักทำสิ่งนี้ๆ แล้วจึงประกอบการงานในโลก ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมากัมมันตะไว้ในลำดับของสัมมาวาจา เพราะวาจาเป็นอุปการะแก่การทำงานทางกาย.

ก็เพราะอาชีวมัฏฐมกศีล - ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ ย่อมบริบูรณ์แก่ผู้ละวจีทุจริต ๔ อย่าง กายทุจริต ๓ อย่าง แล้วบำเพ็ญสุจริตทั้งสองไม่บริบูรณ์แก่ผู้บำเพ็ญนอกไปจากนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาอาชีวะไว้ในลำดับต่อจากทั้งสองนั้น.

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตครับ......

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pamali
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมพระรัตนตรัย....

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 24 พ.ย. 2554

สั้นๆ นะคะ ก็คือ กายสุจริตและวจีสุจริตอันเกี่ยวเนื่องกับอาชีพนั่นเองค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 24 พ.ย. 2554

เรียนถาม

วิรตีเจตสิก จะเกิดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่าง ในมรรคมีองค์ 5 ดิฉันมีความเข้าใจว่า สัมมาวาจา และ สัมมากัมมันตะ ทั้งสองอย่างรวมกัน คือ สัมมาอาชีวะ จริงๆ ตัวเองก็ยังงงอยู่ว่าจะถามอย่างไร คือ ไม่เข้าใจว่า สัมมาอาชีวะ จะเกี่ยวข้องอะไรกับการเจริญสติปัฏฐาน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

วิรตีเจตสิก คือ เจตสิกที่ทำให้เกิดการงดเว้นจากบาป หมายถึง โสภณเจตสิก ๓ ดวง คือ ...สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑

๑. สัมมาวาจาเจตสิก เป็นสภาพที่งดเว้นจากวาจาทุจริต ๔

๒. สัมมากัมมันตเจตสิก เป็นสภาพที่งดเว้นจากกายทุจริต ๓

๓. สัมมาอาชีวเจตสิก เป็นสภาพที่งดเว้นจากอาชีพทุจริตที่เป็นไปทางวาจา ๔ และทางกาย ๓

ซึ่ง สำหรับ มรรคมีองค์ 5 คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มี มรรค 5 องค์ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แต่สามารถเกิดสติปัฏฐาน ที่เป็นมรรคมีองค์ 6 เพิ่มอีกองค์หนึ่ง คือ วิรตีเจตสิก ดวงใดดวงหนึ่งใน 3 ดวง เป็นมรรคมีองค์ 6 แต่จะไม่เกิดมากกว่า 1 ดวงใน 3 ดวงครับ ต้องดวงใดดวงหนึ่ง ซึ่ง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังงดเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริตที่เนื่องกับอาชีพ เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ในขณะที่ประกอบอาชีพ แล้วสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ขณะงดเว้นจากบาปที่เนื่องจากอาชีพในขณะนั้น เป็นมรรคมีองค์ 6 ที่มี สัมมาอาชีวะเกิดร่วมด้วยครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 24 พ.ย. 2554

เรียนถาม

ในขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นมรรคมีองค์ 6 ถ้าเป็นสัมมาวาจา ในขณะนั้น หมายความว่างดเว้นจากการพูดปด พูดหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ ถ้าเป็นสัมมากัมมันตะ หมายความว่าในขณะนั้น มีการงดเว้นจากการขโมย การฆ่า การประพฤติผิดในกาม และถ้าเป็นสัมมาอาชีวะก็เป็นดังที่อาจารย์ได้กรุณาอธิบายมาแล้วในความเห็นที่ 5 ซึ่งต้องเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพ ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่ และ วิริยเจตสิก อยู่ในมรรคมีองค์ 6 ด้วย นั่นเป็นเพราะเหตุใด เพราะสติปักฐานเกิดทางมโนทวาร ต้องมีวิริยเจตสิกด้วย เป็นเช่นนั้นหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ตามที่คุณวิริยะ อธิบายในเรื่อง วิรตีเจตสิกที่เกิดกับสติปัฏฐาน อธิบายถูกต้องแล้วครับ ส่วนวิริยเจตสิกจะต้องเกิดกับ มรรคมีองค์ 5 องค์ 6 และองค์ 8 เสมอ ที่เป็นสัมมาวายามะครับ คือ วิริยเจตสิก ความเพียรชอบ ซึ่งสติปัฏฐานไม่ใช่เกิดเฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น ปัญจทวารก็เกิดได้ เพราะปัญญาสามารถเกิดได้ทั้งปัญจทวารและมโนทวาร และก็ต้องมีความเพียรที่เป็นวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่เป็นสติปัฏฐานและเป็นการเจริญอริยมรรค ที่เป็นสัมมาวายามะครับ วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท ยกเว้น ทวิปัญจวิญญาณจิต 10 ดวง เป็นต้น เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น จิตส่วนใหญ่มีวิริยะความเพียร ซึ่งก็มีทั้งความเพียรชอบและความเพียรที่ไม่ชอบที่เกิดกับอกุศลจิตครับ แต่ขณะที่เป็นสติปัฏฐานเกิด มีวิริยเจตสิกที่เป็นสัมมาวายามะเสมอครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 24 พ.ย. 2554

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 8 อยากทราบว่า ถ้าไม่ใช่การเจริญอริยมรรค วิริยะ นั้นๆ ก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็น สัมมาวายามะ ใช่หรือไม่ เป็นเพียง วิริยเจตสิกที่เกิดกับมโนทวารที่จะเพียรไปในทางกุศล หรืออกุศล เข้าใจถูกต้องหรือไม่ ส่วนวิริยเจตสิกที่เกิดกับจิตอื่นๆ คงต้องกลับไปอ่านใหม่ค่ะ และอีกเรื่องที่ต้องกลับไปทำความเข้าใจคือ เรื่องสติปัฏฐานที่เกิดกับทางปัญจทวาร นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เข้าใจผิดมาตลอด เพราะคิดว่า สติปัฏฐานเกิดทางมโนทวารเท่านั้น

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 8 ครับ

กุศลจิต เกิดได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ อกุศลจิต ก็เกิดขึ้นได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เกิดเฉพาะทางใจเท่านั้น แต่เป็นสภาพธรรมคนละประเภทกัน กุศล เป็นกุศล อกุศล เป็น อกุศล จะไม่ปะปนกันอย่างเด็ดขาด ดังนั้น ความเพียรที่เกิดกับอกุศลจิต จึงเกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้ง ๖ ทวาร ความเพียร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดร่วมกับจิตเกือบทุกประเภท ถ้าความเพียรนั้น เกิดร่วมกับอกุศล ก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดร่วมกับกุศล ก็เป็นกุศล ความเพียรจึงมีทั้งเพียรที่เป็นอกุศล และ เพียรที่เป็นกุศล ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับในขณะที่สติปัฏฐานเกิดซึ่งเป็นการอบรมอริยมรรค นั้น มรรคมีองค์ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกัน ความเพียรในขณะนั้น ก็เป็นสัมมาวายามะ (เป็นหนึ่งในองค์มรรคด้วย) เป็นความเพียรที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง สัมมาวายามะ เกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งในขณะที่อบรมเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) ไม่ใช่เฉพาะขณะที่อบรมเจริญวิปัสสนาเท่านั้น แต่เฉพาะวิปัสสนาภาวนาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลสได้ในที่สุด สมถภาวนาเพียงข่มกิเลสไว้เท่านั้น เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว เพียรที่จะฟังพระธรรม เพียรที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เพียรเจริญกุศล เพียรละอกุศล ทั้งหมดนั้น เป็นกิจของวิริยเจตสิก ที่เป็นสัมมาวายามะ ทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pamali
วันที่ 15 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
peem
วันที่ 22 ส.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
nui_sudto55
วันที่ 9 พ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ