ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ประเทศอินเดีย ตุลาคม ๒๕๕๔ ตอนที่ ๓

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  1 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20088
อ่าน  2,578

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การนำเสนอภาพกิจกรรมของการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ที่ประเทศอินเดีย

โดยคณะของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ครั้งนี้

ในตอนที่ ๓ ข้าพเจ้าใคร่ขอประมวลภาพกิจกรรม และ การเดินทางไปนมัสการ

สถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ที่มีปรากฏกล่าวถึงไว้ในพระไตรปิฎก มาให้ทุกๆ ท่านได้ชม

ได้ระลึกถึงว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง ในดินแดนที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นี้ ได้ทรงเสด็จดำเนินไปโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย

จนตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยพระเมตตาคุณ พระมหากรุณาคุณ และพระบริสุทธิคุณ

แม้ว่าตลอดการเดินทางในประเทศอินเดีย จะมีความยากลำบากอยู่บ้าง

ด้วยสภาพของถนนหนทาง ผู้คน ความไม่สะอาด ฝุ่นละออง ที่พักและอุปสรรคอื่นๆ

แต่หากได้ระลึกถึงว่า ความยากลำบากต่างๆ ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่

จะมากมาย กว่านี้สักเพียงไหน การเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ จึงทำให้เราได้พิจารณา

จิตใจของตน เป็นการทดสอบความรู้ ความเข้าใจธรรมะ รวมถึงเป็นโอกาสแห่งการอบรม

เจริญปัญญาและกุศลทุกประการ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

ยังเป็นโอกาสให้เหล่าศิษย์ได้แสดงมุทิตาจิต นอบน้อมต่อท่านอาจารย์ อีกด้วย

โดยในตอนค่ำ ที่โรงแรมคล๊าค (Clark Hotel) ในเมืองพาราณสี ภายหลังอาหารเย็น

มีการแสดงพื้นเมือง การสันทนาการ ที่เหล่าศิษย์พร้อมใจกันจัดขึ้นเพื่อการผ่อนคลาย

แม้กระนั้น เนื้อเพลงที่ร่วมกันขับร้อง ก็เป็นเนื้อหาที่แต่งขึ้นใหม่ เพื่อบูชาคุณท่านอาจารย์

หาได้เป็นแต่เพียงความรื่นเริงโดยส่วนเดียวไม่ ในการนี้ ท่านอาจารย์ได้มีเมตตา

ให้ศิษย์ที่เดินทางมาในคณะอื่นๆ เช่นข้าพเจ้า ได้เข้าร่วมการสันทนาการในครั้งนี้ด้วย

เราจึงเดินทางจากที่พักด้วยพาหนะชั้นเยี่ยม ที่ราคาในตอนค่ำต่อคัน ห้าสิบรูปี

ขนคนได้ไม่จำกัด ถ้านั่งได้ แต่ราคาตอนขากลับยามดึก แม้ว่าตกลงว่าต่อคัน ห้าสิบรูปี

แต่เมื่อถึงโรงแรม พี่แขกท่านบอกว่า "คนละ" ห้าสิบไม่ใช่ "คันละ" ห้าสิบ

ศิษย์ของท่านอาจารย์ ที่ให้ความสำคัญกับ "คำ" ที่กล่าว และ ย้ำแล้วย้ำอีก ถึงกับอึ้ง

นี่ก็เป็นอีกบททดสอบหนึ่ง ที่ได้พบเจอ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอินเดีย

ส่วนที่ว่าใครจะสอบผ่านได้กี่เปอร์เซนต์นั้น ทุกท่านย่อมรู้ดีแก่ใจตนเองนะครับ

ก่อนการแสดงต่างๆ จะเริ่มขึ้น ท่านพลตรี ดร.วีระ พลวัฒน์ ได้เป็นตัวแทนคณะศิษย์

กล่าวคำขอบคุณท่านอาจารย์ ที่ได้เมตตาให้ทุกคนจัดการสันทนาการขึ้น และเป็นโอกาส

ให้ทุกๆ คนที่มา ได้แสดงออกถึงความเคารพ และ ความสำนึกในพระคุณ

ที่ท่านอาจารย์ ได้พากเพียรอบรมศิษย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน กว่าครึ่งศตวรรษ

ที่สำคัญ การมาเจริญกุศลที่อินเดียพร้อมๆ กับท่าน เป็นโอกาสแสนวิเศษ ซึ่งจะมีสักกี่ครั้ง

ในชีวิต เพื่อความสะสมอบรม ความเห็นถูก เข้าใจถูก ในธรรมะ ในความจริงของชีวิต

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 78

๔. พหุการสูตร

ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก ๓ จำพวก

[๔๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้คือใคร คือ บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงได้ถึงพระพุทธเจ้า ... พระธรรม ...พระสงฆ์เป็นสรณะ บุคคล (อาจารย์) นี้ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้ อนึ่งอีก ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคลอาจารย์) ใดจึงรู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ... นี่เหตุเกิดทุกข์ ... นี่ความดับทุกข์ ... นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ บุคคล (อาจารย์) นี่ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้

อนึ่งอีก ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงกระทำให้แจ้งเข้าถึงพร้อมซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้

เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันนี่ บุคคล

(อาจารย์) นี่เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าบุคคลอื่นจะมีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้ ยิ่งกว่าบุคคล ๓ นี่ไม่มี อนึ่ง เรากล่าวว่า บุคคล (ศิษย์) นี้ จะทำการสนองคุณแก่บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้ไม่ได้ง่ายเลย แต่เพียงด้วย

การกราบ ลุกรับ ทำอัญชลี สามีจิกรรม และคอยให้จีวร บิณฑบาต

เสนาสนะและยาแก้ไข้.

จบพหุการสูตรที่ ๔

หลังการแสดงพื้นเมืองที่มีความสวยงามจบลง พิธีกรได้กล่าวเชิญตัวแทนจากรถคันต่างๆ

ขึ้นมากล่าวถึงความประทับใจ และ ความรู้สึกที่มีในการเดินทางมาครั้งนี้

ต้องขอภัย ที่ข้าพเจ้าจำคำที่ทุกท่านขึ้นมากล่าวในคืนนั้น ได้เพียงเล็กน้อยคร่าวๆ เท่านั้น

เช่น พันตรีหญิง ศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี ท่านได้กล่าวถึงการที่ท่านมีหน้าที่ต้องติดตาม

มาดูแลคุณแม่ของท่าน ที่มาอินเดียกับท่านอาจารย์ในคราวก่อน (คุณแม่ของท่านติดตาม

ฟังพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายมานานหลายสิบปีแล้ว) ว่าการได้มาเห็น

และ ได้มากราบนมัสการสังเวชนียสถานในครั้งนั้น ทำให้ท่านได้รู้ ได้เข้าใจจริงๆ ว่า

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีอยู่จริงๆ และ จากการที่ท่านได้ฟังการบรรยาย

ของท่านอาจารย์ ทำให้ท่านซาบซึ้ง จึงได้ติดตามรับฟังและศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อีกท่านหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าประทับใจกับคำกล่าวของท่านมากคือ คุณจักรกฤษณ์ ที่กล่าวถึง

ความประทับใจในความเมตตา และ ความเพียรในการอบรมสั่งสอนศิษย์

ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เพียรกล่าวธรรมะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย้ำแล้วย้ำอีก

โดยท่านได้ยกพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเปรียบเทียบการอบรมสาวกทั้งหลาย

ดังช่างปั้นหม้อ ที่กระทำกับภาชนะดิน ดังข้อความใน....

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มิชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๕

มหาสุญญตสูตร

ดูก่อนอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงเรียกร้องเรา

ด้วยความเป็นมิตร อย่าเรียกร้องเราด้้วยความเป็นข้าศึก

ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอ

ตลอดกาลนาน

ดูก่อนอานนท์ เราจักไม่ ประคับประคองพวกเธอ

เหมือนช่างหม้อ ประคับประคองภาชนะดินดิบ ที่ยังดิบๆ อยู่

เราจักข่มแล้วๆ จึงบอก จักยกย่องแล้วๆ จึงบอก ผู้ใดมีแก่นสารผืนนี้

จักตั้งอยู่

จบ มหาสุญญตสูตรที่ ๒

" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ

ควรเสพ ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ ๑ เป็นที่เคารพ ๑ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ๑

เป็นผู้ฉลาดพูด ๑ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๑ พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ๑

ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม

๗ ประการนี้แล ควรเสพ ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ "

(จากทุติยสขาสูตรที่ ๖)

ดูก่อนคฤหบดีบุตร

อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ด้วยเข้าไปยืนคอยต้อนรับ ๑

ด้วยการเชื่อฟัง ๑ด้วยการปรนนิบัติ ๑

ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑


ในตอนเช้าตรู่ ทุกคนที่มาพาราสี ย่อมไม่พลาดโอกาสในการไปล่องเรือเที่ยวชม

วิถึชีวิตของชาวอินเดียริมฝั่งแม่น้ำคงคา สำหรับผู้ที่ศึกษาและเข้าใจธรรมะ

การได้มาดู มาเห็น ความเป็นอยู่และความเชื่อต่างๆ ในชีวิตของแต่ละบุคคล

ย่อมทำให้เกิดการพิจารณา ระลึก มั่นคงขึ้นในธรรม เห็นคุณค่า และ ความสำคัญ

ของความเห็นถูก เข้าใจถูก ในความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิต จากการที่ทรงตรัสรู้

และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ได้เห็นว่า ความไม่รู้และความเห็นผิดทั้งหลาย

เป็นภัยอันตรายอย่างยิ่ง แก่สังสารวัฏฏ์ของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ

ความไม่รู้ ว่า ไม่รู้

สำหรับอาหารการกินที่อินเดีย โดยส่วนใหญ่ เราจะรับประทานในโรงแรมที่พักทั้งสามมื้อ

อาจรับประทานในวัดไทย หรือ หากเป็นระหว่างการเดินทาง ก็อาจแวะร้านอาหาร

ที่ค่อนข้างมีมาตรฐาน หรือในวัดไทยที่ผ่าน ไม่ก็เป็นโรงแรมที่มีในระหว่างการเดินทาง

อาจเป็นข้าวกล่อง จากโรงแรมที่สามารถสั่งให้จัดเตรียมให้ เพื่อความไม่ประมาทครับ

สำหรับคณะของคุณเล็ก (สุรภา ภวนานันท์) ที่เมตตาให้ข้าพเจ้าได้ร่วมเดินทางด้วยนั้น

นอกจากจะไม่ยอมคิดค่ารถเลยแม้แต่บาทเดียวแล้ว เธอยังมีกุศลวิริยะอย่างยิ่ง

ในการจัดเตรียมของแห้งเช่นน้ำพริก หมูหยอง หมูแท่ง โจ๊กและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ

รวมถึงขนมสารพัดชนิดที่มีชื่อเสียง แสนอร่อย และผลไม้ต่างๆ ไว้ให้ทุกคนได้รับประทาน

ตลอดการเดินทาง ข้าพเจ้าทราบว่าเธอต้องตื่นแต่เช้าก่อนผู้อื่น เพื่อมาเตรียมหั่นของ

และ ลงมือยำปลาสลิดแสนอร่อยด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่มีภาระอื่นที่ต้องทำมากมายอยู่แล้ว

ความละเอียด ประณีต บรรจง ทั้งหลายในทาน การให้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงจิตรอันวิจิตร

ของบุคคล ที่สั่งสมอัธยาศัยมาในสังสารวัฏฏ์ แน่นอนว่าผลของกรรมย่อมวิจิตรด้วย

ตามกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว สมดังที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

การช้อปปิ้งซื้อสิ่งของต่างๆ เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ สำหรับหลายๆ ท่านที่มาอินเดีย

เป็นสิ่งที่น่าคิด น่าอนุโมทนาประการหนึ่งว่า ตั้งแต่ก่อนเดินทางมาอินเดีย

ทุกๆ ท่าน ก็มีการไปช้อปปิ้งหาซื้อสิ่งของต่างมากมายเพื่อนำมาอินเดีย แต่เป็นการช้อปปิ้ง

ที่มีจุดประสงค์เพื่อนำไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำไปถวายพระ นำไปสักการะบูชาสถานที่ต่างๆ

มิได้เป็นการซื้อเพื่อตัวเองแต่ประการใด แต่เป็นการซื้อเพื่อให้ ซึ่งนอกจากจะเห็นถึง

กุศลธรรม กุศลจิต ของแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้น สะสม และ เป็นไป ที่น่าอนุโมทนายิ่งแล้วนี้

เมื่อถึงอินเดีย ก็ยังเที่ยวแสวงหาซื้อสิ่งของต่างๆ อีก นอกจากจะซื้อเพื่อตนเอง (บ้าง) แล้ว

ข้าพเจ้าได้เห็นหลายท่าน ซื้อของฝากชนิดต่างๆ มากมาย เพื่อนำไปฝากญาติสนิท

มิตรสหายที่เมืองไทย มีบางท่าน ซื้อกระเป๋าสะพายหนังอูฐใบละหลายร้อยรูปี

ถึงหกสิบกว่าใบไปเป็นของฝาก แสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยในการสะสมการ "ให้" ที่ชัดเจน

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 78

๔. สีหสูตร

ว่าด้วยผลแห่งทาน ๕ ประการ

..........ดูก่อนท่านสีหเสนาบดี

ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก

แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี

แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายกผู้เป็นทานบดีย่อมขจรไป

แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปอยู่ที่ประชุมใดๆ คือ

ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขินเข้าไป

แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ

โลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงได้ในสัมปรายภพ.

ท่านอาจารย์ได้สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษ กับ ท่านพระสิวลี

ช่วงที่มีโปรแกรมไปชมสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ หากผู้ที่ได้เคยได้เดินทางมาอินเดียแล้ว

ไม่ประสงค์ที่จะเดินทางไปอีก ท่านอาจารย์ได้จัดให้มีการสนทนาธรรมอยู่ในโรงแรมที่พัก

แบบนอกรอบ ในระหว่างที่ รอเวลาให้ทุกท่านที่ไปเยี่ยมชมที่ต่างๆ กลับมาร่วม

การสนทนาธรรมและเวียนประทักษิณ สังเวชนียสถานต่างๆ ในตอนเย็น ทุกครั้ง

โดยไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์เลย

การสนทนาภาคภาษาไทย จัดขึ้นภายในโรงแรม ระหว่างรอเวลาท่านที่ไปช้อปปิ้ง

และไปเยี่ยมชม นมัสการสถานที่ต่างๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมา หรือต้องการไปซ้ำอีก

ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป

พากันยัดเยียดในนรก

ก็ย่อมเศร้าโศก

หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค

อันเป็นธรรมตรงต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้

เขาผู้มีประโยชน์อันล่วงเสียแล้ว

จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔

เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๕๔

เขาคิชฌกูฏ เป็นที่ตั้งของพระมูลคันธกุฎีของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บนยอดเขา

ทรงประทับอยู่ที่นี่ ในพรรษาที่ ๓,๕,๗ และ พรรษาสุดท้าย ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เป็นสถานที่ๆ เงียบสงบ อากาศเย็นสบาย มีทางเดินขึ้นลงเป็นทางลาด ไม่ชัน

มีพระสูตรหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึง "เหวใหญ่" และ สิ่งที่น่ากลัว

กว่าเหวใหญ่ บนยอดเขาคิชฌกูฎ ซึ่งได้แก่ เหว คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย

ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ

ซึ่งผู้ที่ไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ (ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ หนทางที่เป็นไปเพื่อ

ความดับทุกข์) ย่อมจะตกลงไปสู่เหวที่ใหญ่และน่ากลัวนี้ ยังไม่พ้นไปจากทุกข์

ส่วนผู้ที่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง ก็จะไม่ตกลงไปสู่เหวดังกล่าวนี้ เป็นผู้พ้นจากทุกข์

จึงควรที่จะอบรมเจริญความเพียรเพื่อรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง

(คัดจากคำอธิบายบางตอนโดย คุณคำปั่น อักษรวิลัย)

เนื่องจากเป็นพระสูตรหนึ่งที่มีความไพเราะลึกซึ้ง ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอยกมาเพื่อบันทึกไว้ด้วย

ขอเชิญอ่านและพิจารณาข้อความในพระสูตร ดังนี้ครับ...

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ ๓๑ - หน้า ๔๖๕

๒. ปปาตสูตร

(ว่าด้วยเหว คือ ความเกิดเป็นต้น)

[๑๗๒๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ภูเขาคิชฌกูฏกรุงราชคฤห์ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลายมาเถิด เราจักเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดนเพื่อพักกลางวัน ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระ-ดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดน ภิกษุรูปหนึ่งได้เห็นเหวใหญ่บนยอดเขากั้นเขตแดน ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหวนี้ใหญ่ เหวนี้ใหญ่แท้ๆ เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้ มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่าเหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้ มีอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้เป็นไฉน.

[๑๗๒๙] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินี-

ปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไป

เพื่อความเกิด.. . เพื่อความแก่.. . เพื่อความตาย .. . เพื่อความโศก ความ

ร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ ยินดีแล้ว ย่อมปรุงแต่ง

สังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง... และความคับแค้นใจบ้าง เรากล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นไปจากความเกิดความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

[๑๗๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด..และความคับแค้นใจ ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด... และความคับแค้นใจ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง... และความคับ-แค้นใจบ้าง เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ย่อมพ้นจากทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

จบ ปปาตสูตรที่ ๒

สถานที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร บริเวณใกล้เชิงเขาคิชฌกูฏ ที่พระเจ้าอชาติศัตรูใช้เป็นที่

คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดาของพระองค์เอง จนสวรรคต เรื่องมีว่า

ครั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูอยู่ในตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ได้สมคบกับท่านพระเทวทัต

และถูกท่านพระเทวทัตยุแหย่ว่า ท่านอาจตายเสียก่อนที่จะได้สืบทอดราชสมบัติ

จากพระเจ้าพิมพิสารก็ได้ จึงแนะนำให้ปลงพระชนม์พระราชบิดาเสีย แล้วขึ้นครองราชย์

ส่วนท่านพระเทวทัตเองก็จะปลงพระชนม์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วขึ้นเป็นประมุข

ปกครองสงฆ์ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเห็นชอบ จึงจับพระราชบิดาคือพระเจ้าพิมพิสารมาขัง

ไว้ที่นี่ โดยไม่ให้ใครเข้าเยี่ยม ยกเว้นพระราชมารดาคือพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร

เท่านั้น ทั้งไม่ทรงอนุญาตให้ใครนำอาหารเข้าไปถวาย ด้วยทรงตั้งพระทัยที่จะให้

พระราชบิดา อดอาหารจนสิ้นพระชนม์ไปเอง พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จเข้าไป

เยี่ยมพระสวามีในคุกทุกวัน และแอบซ่อนนำอาหารเข้าไป เจ้าหน้าก็ไม่กล้าห้าม

หลายวันผ่านไป พระเจ้าอชาตศัตรูทราบว่าพระราชบิดายังไม่สวรรคต และทราบว่า

พระราชมารดาแอบนำอาหารเข้าไป จึงทรงห้ามมิให้พระมารดาทรงแต่งส่าหรีเข้าไป

พระมเหสีทรงนำเอาข้าวมาทุบให้เหนียวและทรงนำมาติดไว้ที่ฝ่าพระบาท แล้วสวม

ฉลองพระบาทเสด็จเข้าไปเยี่ยมพระสวามี เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้ จึงห้ามพระมเหสี

เสด็จเข้าไปเยี่ยมโดยเด็ดขาด พระเจ้าพิมพิสารมีความเคารพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็นอย่างยิ่ง จากที่คุมขังนี้ทรงสามารถมองเห็นพระคันธกุฎี ที่ประทับของพระพุทธองค์

บนยอดเขาคิชฌกูฏได้ ทรงดำรงพระชนม์อยู่ด้วยการจงกรม

ทำให้ทรงมีกำลังพระวรกายอยู่ได้อีก พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงรับสั่งให้กัลบก (ช่างตัดผม)

เอามีดโกนไปกรีดฝ่าพระบาทของพระองค์ ไม่ให้ทรงสามารถจงกรมได้อีก ในที่สุด

พระเจ้าพิมพิสารก็สวรรคต ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระโอรสองค์แรก

ซึ่งทรงมีความปีติยินดียิ่ง และทำให้ทรงระลึกได้ว่าพระบิดาก็คงรักตนมากเหมือนกับ

ที่ตนรักพระโอรส จึงทรงรับสั่งให้ราชบุรุษ รีบไปปล่อยพระราชบิดา แต่ก็สายไปเสียแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารเสด็จสวรรคตก่อนพุทธปรินิพพาน คุกที่พระเจ้าอชาตศัตรูใช้คุมขัง

พระเจ้าพิมพิสารนี้ ปัจจุบันคงเหลือเพียงซากอิฐ ไว้ให้ได้ระลึกถึงพระองค์

ที่ได้ทรงมีอุปการะเป็นอันมากแก่พระศาสนา ทั้งยังทรงสร้างวัดเวฬุวัน

ซึ่งเป็นอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ถวายแด่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ อีกด้วย

ทีี่วัดเวฬุวันนี้ เป็นสถานที่เกิดวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ

เดือน ๓ ซึ่งเป็นวันที่พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

และที่สำคัญ ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ที่เป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา

ในวันดังกล่าวนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อีกด้วย

(ขนมคะชา หรือ ที่คนไทยชอบเรียก ขาชา ขนมยอดนิยมมาแต่ครั้งพุทธกาล)

พระพุทธรูปองค์ดำที่นาลันทา ตามประวัติกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่รอดพ้น

จากการเผาทำลาย นาลันทา ซึ่งเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก

ในพระพุทธศาสนา จากกองทัพมุสลิม ที่เผยแผ่อำนาจมาสู่ดินแดนแห่งนี้ราว พ.ศ. ๑๗๔๒

ในวิกิพีเดีย กล่าวถึงความล่มสลายของ นาลันทาไว้ดังนี้..

ในประมาณ พ.ศ. 1742 กองทัพมุสลิมเติรกส์ ได้ยกมารุกราน รบชนะกษัตริย์

แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และ เข้าครอบครองดินแดนโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์

ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบ ทั้งหมด และสังหาร

ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหาร ก็ถูกเผาผลาญทำลายลงในช่วงระยะเวลา

นั้นด้วย มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหาร

แทบหมดสิ้น และ มหาวิทยาลัยนาลันทาก็ก้าวถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา

อนึ่ง นาลันทา นอกจากจะเป็นสถานที่เกิด และ สถานที่ปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร

พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศทางปัญญารองลงมาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

ยังเป็นสถานที่ ที่มีความสำคัญอื่นๆ อีก เช่น เป็นสถานที่เกิดของท่านพระมหาโมคคัลลานะ

พระอัครสาวกเบื้องซ้าย และท่านพระมหากัจจายนะ ทั้งยังเป็นสถานที่ทรงแสดง

เกวัฏฏสูตร แก่ท่านเกวัฏฏะคฤหบดี แห่งนาลันทาอีกด้วย

ถ้ำดงคสิริ สถานที่ที่พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา เป็นเวลาถึง ๖ ปี

ก่อนที่จะทรงรู้ว่า ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้

การที่เพิ่งมีโอกาสไปกราบสักการะสถานที่นี้เป็นครั้งแรก ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงตอนหนึ่ง

ของพระธรรมเทศนา ธัมมจักกัปวัตตนสูตร ที่ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ว่า...

"...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดสองอย่างนี้ อันบรรพชิต

ไม่ควรเสพ ส่วนสุดสองอย่างนั้นเป็นไฉน คือ การประกอบตนให้

พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน

เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบ

ความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านั้น อัน

ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ

เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน..."

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๐

ธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒

สถานที่สามแห่งถัดมาคือ สถานที่ๆ นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโพธิสัตว์ ,

บ้านของนางสุชาดา และ สถานที่พราหมณ์ถวายหญ้าคาแด่พระโพธิสัตว์

ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งสามารถมองเห็นพระมหาเจดีย์พุทธคยาอันงามสง่า ได้แต่ไกล

การถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ (ในภาพคือที่วัดไทยพุทธคยา) เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง

ของหลายๆ ท่านที่เดินทางไปเจริญกุศลที่อินเดียครับ

ปาวาลเจดีย์ คือ เจดีย์สถานอยู่ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาส

แก่พระอานนท์ พระมหาสาวกอุปัฏฐากประจำพระองค์

จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร ปาวาลเจดีย์ ในวันเพ็ญเดือน ๓

ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน ที่เมืองกุสินารา


กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เป็นสถานที่พักของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ทรง

เสด็จมายังกรุงเวสาลี ทั้งยังเป็นที่ๆ ทรงมีพระพุทธานุญาติ ให้พระนางมหาปชาบดีโคตมี

พระน้านางของพระองค์ บวชเป็นภิกษุณีพระองค์แรกในพระพุทธศาสนา อีกด้วย

การเดินทางเที่ยวชมและนมัสการสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ในพระพุทธศาสนาของพวกเรา

ที่ประเทศอินเดียในคราวนี้ ได้จบลงที่พระนครเวสาลีแห่งนี้

ในตอนต่อไป ซึ่งข้าพเจ้าจะขอนำเสนอเป็นตอนสุดท้าย เป็นตอนที่คณะของท่านอาจารย์

ที่มีจำนวนคนรวมกันทุกคณะแล้วสองร้อยกว่าท่าน ได้ร่วมกันสนทนาธรรม

ในบริเวณพระมหาเจดีย์พุทธคยา และได้ทำการเวียนประทักษิณโดยสามรอบ

ภาพผู้คนและแสงเทียนนับร้อยเล่ม ทอดยาวสุดสายตา เคลื่อนไหวอยู่โดยรอบพระเจดีย์

เป็นภาพที่ดูอลังการ และ น่าประทับใจ เป็นอย่างยิ่งครับ

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

เรียนท่านผู้เข้าชมกระทู้ทุกท่านเพื่อทราบครับ

กระทู้ ณ กาลครั้งหนึ่งที่ประเทศอินเดีย ตอนที่ ๓ นี้

ได้โพสต์ลงเวปไซต์ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

แต่เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องของเวปไซต์ ทำให้ข้อมูลที่โพสต์ไว้หายไปทั้งหมด

รายละเอียด ตามที่ทางบ้านธััมมะแจ้งไว้ในกระทู้

แจ้งเหตุเว็บไซต์ขัดข้อง

ข้าพเจ้าได้ลองค้นดูในกูเกิ้ล พบเพียงข้อความ จึงได้นำมาใส่ภาพไว้ดังเดิม

เพื่อความสมบูรณ์ ในการบันทึกการเดินทางในครั้งนี้

อนึ่ง ข้าพเจ้า จะได้ทำการคัดลอกข้อความที่ท่านได้กล่าวคำอนุโมทนาไว้แล้วนั้น

มาบันทึกไว้ ในอันดับถัดไปด้วย ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านอีกครั้งหนึ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 1 โดย เมตตา
วันที่ 26 พ.ย. 2554 09:38
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของ...

คุณวันชัย และครอบครัวที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านอย่างยิ่ง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 2 โดย ผู้ร่วมเดินทาง

วันที่ 6 พ.ย. 2554 10.27

เป็นกระทู้ที่มีการเรียงลำดับภาพสถานที่สำคัญๆ ได้สวยงามมากครับ

และที่สำคัญถ้อยคำและพระธรรมแต่ละบทที่คุณวันชัยนำมาสรุปอธิบายช่างสอดคล้อง

และลึกซึ้งได้อรรถรสในพระธรรมดีจริงๆ

ก็ต้องกราบเท้าบูชาในกุศลเมตตาของท่านอาจารย์สุจินต์ผู้มีอุปการะยิ่ง

ที่ได้นำพาหมู่ลูกศิษย์ให้ได้เจริญกุศลในทุกสถาน

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัย ณ กาลครั้งนี้และทุกๆ ท่านด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 3 โดย pat_jesty

วันที่ 26 พ.ย. 2554 11.13

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความเห็นที่ 4 โดย wannee.s

26 พ.ย. 2554 11:34

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 5 โดย orawan.c

26 พ.ย. 2554 11:54

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของ...

คุณวันชัย และครอบครัวที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านอย่างยิ่ง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 6 โดย Jans
วันที่ 26 พ.ย. 2554 12:40
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาและกุศลวิริยะของคุณวันชัย

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 7 โดย Nareopak
วันที่ 26 พ.ย. 2554 15:05 ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 8 โดย ไตรสรณคมน์
วันที่ 26 พ.ย. 2554 15:05

ขอขอบคุณท่านวันชัย และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

(ว่าแล้ว กระทู้ท่านวันชัยต้องมีอาหารมาล่อ แถมมี detour ไปกราบนมัสการสถานที่

สำคัญอื่นๆ อีกด้วย จะรอชมตอนต่อไปค่ะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 9 โดย khampan.a
วันที่ 26 พ.ย. 2554 21:32

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของ...

พี่วันชัย ภู่งาม และครอบครัวที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ความคิดเห็นที่ 10 โดย เซจาน้อย
วันที่ 27 พ.ย. 2554 09:36 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของ...

พี่วันชัย ภู่งาม และครอบครัวที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pamali
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.....กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และทุกๆ ท่านค่ะ....สาธุ.........

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัยมาอีกครั้งนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
daris
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ครับ

ขอกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
jaturong
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ING
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
raynu.p
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ