แผลเก่า

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  2 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20091
อ่าน  1,537

ไม่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์นะครับ แต่ท่านอาจารย์สุจินต์เคยกล่าวไว้ว่า จิตเปรียบเสมือน "แผลเก่า" จึงขออนุญาตเรียน สอบถามความหมายโดยละเอียด และมีกล่าวไว้ในพระสูตรด้วยหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับคำว่า จิตเปรียบเหมือนแผลเก่า มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกครับ ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงอุปมา บุคคล 3 จำพวก ไว้ดังนี้ คือ

1. บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่า

2. บุคคลผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ

3. บุคคลมีจิตเหมือนเพชร สำหรับบุคคลที่มีจิตเหมือนฟ้าแลบคือ บุคคลที่บรรลุธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ขณะที่ประจักษ์ความจริง ในความเป็นพระอริยบุคคล แต่ละขั้นก็เหมือนกับการที่ฟ้าแลบ ย่อมเห็นสิ่งต่างๆ เพราะอาศัยแสงสว่างของฟ้าแลบ ชั่วขณะ ขณะที่โสดาปัตติมรรคจิตเกิด และถึงความเป็นพระโสดาบัน ประจักษ์ความจริง และดับกิเลสในขณะนั้น แต่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉท คือ หมดสิ้นครับ

สำหรับบุคคลที่มีจิตเหมือนเพชร คือ บุคคลที่ถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสได้ คือ มีปัญญาสูงสุดดับกิเลสได้ เปรียบเหมือนเพชรที่ตัดได้ทุกอย่างไม่ว่าก้อนหินและ ทุกสิ่ง ปัญญาก็เช่นกัน เมื่อถึงความสูงสุดที่เป็นปัญญาของพระอรหันต์ ย่อมตัดได้ ทุกอย่าง คือ กิเลสทุกๆ ประการครับ

สำหรับบุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่า

ข้อความพระไตรปิฎกมีดังนี้ครับ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจเมื่อถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ แผลเก่าถูกไม้หรือ กระเบื้องกระทบเข้า ย่อมให้ความหมักหมมมากกว่าประมาณ แม้ฉันใด บุคคลบางคนใน โลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกเขาว่าแม้เล็กน้อย ก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัส ให้ปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่าบุคคลมีจิตเหมือนแผลเก่า


แผลเก่า เมื่อถูกกระทบอะไรเล็กน้อยสิ่งที่ไม่ดี มีหนองก็ไหลออกมาง่ายครับ เหมือน กับบุคคลที่สะสมกิเลส คือ ความโกรธไว้มาก เป็นผู้มีอุปนิสัยมักโกรธ เมื่อได้กระทบ สัมผัสที่ไม่ดี เช่น เห็นไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี หรือแม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม ไม่ว่าเห็นหรือ ได้ยิน ผู้ที่สะสมความโกรธมามาก จนชำนาญ มีกำลังย่อมเกิดอกุศลธรรมคือ โทสะได้ ง่าย รวดเร็ว เหมือนแผลเก่าที่กระทบอะไรแล้ว ก็แผลนั้นก็กำเริบนำออกมาซึ่งสิ่งที่ไม่ ดี ผู้ที่สะสมความโกรธ เมื่อกระทบอะไร ก็ไหลออกมาซึ่งสิ่งที่ไม่ดีคือ กิเลสมีโทสะ เป็นต้นครับ ส่วนคำว่าแผลเก่า อีกนัยหนึ่งที่ใช้ คือ เมื่อบุคคลที่เป็นปุถุชน เมื่อได้รับกระทบ สัมผัสที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเห็นไม่ดี หรือ ต้องได้รับทุกข์ทางกาย ก็เหมือนถูกลูกศรยิงให้เป็น แผล แต่ปุถุชน ผู้มากไปด้วยอกุศลก็เกิดอกุศลจิต เดือดร้อนใจในสิ่งที่กระทบทางกาย ไม่ดี ก็เปรียบเหมือนถูกลูกศรดอกที่สอง ยิงไปที่แผลเก่าอีกครับ


ดังนั้น ทุกอย่างไม่ว่าการกระทำที่แสดงออกมาทางกาย วาจา ทุกอย่างย่อมมีเหตุ แสดงถึงการสะสมมาแล้วในอดีตชาติ โดยไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่สภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกทีเกิดขึ้นทำหน้าที่ สะสมสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดีมาเท่านั้นครับ เพียงแต่ว่าไม่ว่า สัตว์โลกจะมีอุปนิสัยมาอย่างไร ก็สามารถสะสมความเข้าใจพระธรรม สะสมสิ่งที่ดีใหม่ ได้ คือ กุศลธรรมประการต่างๆ อันเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะเมื่อ ปัญญาเจริญขึ้นแล้ว แม้จะเป็นผู้มักโกรธ ด้วยจิตเหมือนแผลเก่า แต่การสะสมปัญญาก็ คนละส่วนกับอกุศล เมื่อปัญญามีกำลังก็สามารถดับกิเลส คือ ความโกรธและอกุศล ธรรมประการต่างๆ ได้หมดครับ ดังเช่น พระอริยสาวกในอดีตที่มักโกรธ ด่าว่า พระ พุทธเจ้า แต่เมื่อพระองค์แสดงธรรม ท่านเหล่านั้นก็เลื่อมใสและได้บรรลุธรรมครับ พระ ธรรมจึงเกื้อกูลกับสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยอย่างไร หากว่าเป็นผู้สะสมความเห็นถูก มาแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jaturong
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้ว่าจะตั้งใจว่าจะไม่โกรธ แต่เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิด ขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ตราบใดที่ยังไม่ใช่ พระอนาคามีบุคคล ยังมีพืชเชื้อของความโกรธ ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความโกรธ เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ หรือถ้าสะสมจนกระทั่งมีกำลังมาก ก็เป็นเหตุให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมเบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ แม้ว่าจะมีกิเลสมากมายสักเพียงใด ก็ตาม กิเลสก็จะถูกดับด้วยปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ ขึ้นอยู่กับ การสะสมมาของแต่ละบุคคลอีกเหมือนกันว่าจะเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม จะเห็น โทษของอกุศลธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นผู้ไม่เห็นโทษของอกุศล ก็โกรธต่อไป ผูกโกรธผู้อื่นต่อไป แต่ถ้าเป็นผู้ที่เริ่มเห็นโทษก็จะค่อยๆ ละคลายลงได้ ด้วยความ เข้าใจที่ถูกต้อง จนกระทั่งเมื่ออบรมเจริญปัญญามากขึ้นคมกล้าขึ้น ในที่สุดก็จะ สามารถดับความโกรธได้อย่างหมดสิ้น เมื่อได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล กิเลสที่มี มาก ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้นถึงจะดับได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jans
วันที่ 4 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ