ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าแล้วรู้สึกหนักใจมาก
หัวหน้าฝ่ายได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าดูแลลูกน้อง 2 คน (ซึ่งตัวเองไม่อยากเป็นเลย อยากจะเป็นพนักงานธรรมดาดีกว่า) ซึ่งลูกน้องคนที่ 1 เป็นคนน่ารักมาก ลูกน้องคนที่ 2 เป็นคนชอบปี๊ด ตัวเรารู้สึกหนักใจจังเลยไม่รู้จะวางตัวยังไง (เพราะเรารู้ว่าตัวเราเอง เป็นคนใจอ่อนและไม่เด็ดขาด)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุที่จะต้องเป็นอย่างไรก็ ต้องเป็นอย่างนั้น แม้ในทางสมมติทางโลกที่จะได้รับมอบหมาย ให้ทำหน้าที่เพิ่มเติม มีการเป็นหัวหน้า ดูแลผู้อื่น ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ในสังคม ก็ต้องทำ หน้าที่นั้นให้ดีที่สุด คำว่าให้ดีที่สุด ในที่นี้ คือ ด้วยความตรง ด้วยกุศลธรรม เพราะการ ทำหน้าที่ที่ดี ไม่ใช่อยู่ที่ผลงานและความเป็นที่รักของลูกน้อง แต่อยู่ที่การทำหน้าที่ ของตนด้วยจิตที่ดี ด้วยความนึกถึงองค์กร ส่วนรวมเป็นหลัก โดยไม่ได้นึกถึงประโยชน์ ตน ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลักครับ
เพราะฉะนั้น พระธรรม คือ ความเข้าใจถูก ที่เป็นปัญญา ของบุคคลที่เจริญขึ้น ความ เป็นผู้ตรง กุศลธรรมประการต่างๆ ก็เจริญขึ้น ตามกำลังของปัญญา การใช้ชีวิตประจำ วัน ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด ก็จะทำหน้าที่ด้วยกุศลธรรมครับ คำถามของเจ้าของกระทู้ คือ จะวางตัวอย่างไร เพราะตัวเองเป็นคนใจอ่อนและไม่เด็ดขาด
การวางตัวให้หมาะสม แม้ความเป็นหัวหน้า คือ วางตัวด้วยจิตที่เป็นกุศลธรรม เมื่อ เป็นกุศลธรรม ย่อมไม่เอนเอียงด้วยอคติ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงทำให้เป็นผู้ตรง ตรงใน เรื่องต่างๆ ตรงทั้งกาย วาจาที่จะกล่าว การตัดสินปัญหาก็ตรงตามความเป็นจริง โดย ไม่ได้ยึดถือที่ตัวบุคคล ลูกน้องว่า ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนี้ แต่ดูที่ปัญหาการงานนั้น ว่าเป็นอย่างไร ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิดครับ การรักษาผู้อื่นคือทำให้เห็นถึงความเป็นผู้ ตรง ถ้าเราไม่ตรง ลูกน้องก็ไม่ตรงด้วย ถ้าจะเกรงใจ ใจอ่อน ควรเกรงใจในกุศลธรรม แต่อกุศลธรรม หรือ สิ่งที่ผิดในการทำการงาน ไม่ควรเกรงใจ ใจอ่อนเลยครับ เพราะ จะทำให้เสียประโยชน์กับองค์กรที่ทำอยู่ ทำให้ได้รับความเสียหาย เพราะความเป็นผู้ ไม่กล้า ไม่ตรงของผู้ทำหน้าที่ในการทำการงานครับ
แต่เมื่อรู้ว่าผู้อื่นทำผิด หรือ ไม่ตรงแล้ว ก็ควรเตือน พูดด้วยความหวังดี ด้วยกุศลจิต ด้วยความเมตตา มิใช่ว่าเพื่อจะหาช่องทำร้าย บุคคลนั้น ลูกน้องให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี เพราะความผิดพลาดครับ ทุกคนผิดพลาดกันได้แต่อาศัยความเข้าใจ และให้โอกาส ด้วยจิตเมตตา ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ลูกน้องจะเป็นคนรุนแรง หรือ ไม่รุนแรงก็ ตามครับพระพุทธเจ้าได้แสดง ข้อปฏิบัติที่ นาย ควรมีกับ ลูกน้อง ดังนี้ครับ
[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 90
[๒๐๓] ดูก่อนคฤหบดีบุตร ทาสกรรมกร ผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายพึงบำรุงด้วย สถาน ๕ คือ ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหารและรางวัล ๑ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้ ๑ ด้วยปล่อย ให้ในสมัย ๑.
คำว่าปล่อยให้ในสมัย คือ เมื่อถึงเวลาที่ควรจะให้ไปพักผ่อน ก็ให้ไปครับ
สำคัญที่สุด คือ ยึด กุศลธรรมเป็นใหญ่และความเป็นผู้ตรง ความถูกต้องเป็นสำคัญ โดยไม่เอนเอียง และยึดผลประโยชน์ขององค์กรในทางที่ถูกต้อง ด้วยยึดหลักกุศล ธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง ก็จะทำหน้าที่ถูกต้อง เพราะ กระทำด้วย ความตรงด้วยกุศลธรรมครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คฤหัสถ์ ซึ่งเป็นผู้อยู่ครองเรือนนั้น ส่วนมากก็จะต้องประกอบอาชีพการงาน ตามความถนัดตามความสามารถของตนเอง ด้วยความขยันหมั่นเพียร เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน เมื่อชีวิตยังเป็นไปอยู่ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ตามเหตุตามปัจจัยไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ตำแหน่งใด ก็ควรจะตั้งใจทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด และยิ่งถ้าเป็นผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรม มีจิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศลอยู่เสมอๆ แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร หน้าที่อะไร กุศลจิตก็สามารถจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ แม้ในการเป็นหัวหน้าคนก็ย่อมจะรู้ว่า อะไร คือ สิ่งที่ควรทำ และ อะไร คือ สิ่งที่ไม่ควรทำ จะเห็นได้จริงๆ ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อุปการะเกื้อกูลเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม อย่างแท้จริง ซึ่งก็มีตั้งแต่ระดับเบื้องต้น เป็นความดีในชีวิตประจำวัน เช่นการมีเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นต้น จนกระทั่งสูงสุด คือ ขั้นที่เป็นโลกุตตระ สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เฉพาะขั้นสูง คือ ขั้นที่เป็นโลกุตตระเท่านั้น ความดีที่ควรประพฤติในชีวิตประจำวัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นจะน้อมประพฤติปฏิบัติตามหรือไม่ หรือจะเป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ ก็แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคลจริงๆ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่อะไร ก็จะต้องตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด พร้อมกับเป็นคนดี และ ฟังพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น ด้วย เพราะความเข้าใจพระธรรมนี้เองที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตของเราให้ดำเนินไปสู่ความเจริญทั้งปวง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบคุณ คุณเผดิม และ คุณคำปั่นนะคะที่แนะนำสิ่งที่ดีดีให้นำไปปฎิบัติ
"ความเข้าใจพระธรรมนี้เอง ที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตของเราให้ดำเนินไปสู่ความเจริญทั้งปวง"
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม อ.คำปั่นและทุกท่านค่ะ
ตอนนี้ลูกน้องคนที่ชอบปี๊ดเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะเราได้เปิดใจพูดกับเขาด้วยเหตุผลและ ให้เขาเข้าใจและเห็นใจเราด้วยและเราก็รับฟังเหตุผลและปรึกษาหารือกันและขอให้เรา ร่วมมือกันทำงาน และอย่าคิดว่าเราจะวางอำนาจ เราเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ตำแหน่งมัน เป็นแค่หัวโขนที่เราจำเป็นต้องใส่มัน ในความเป็นจริงมันก็คือเพื่อนร่วมงานกัน