อธิษฐาน

 
manila
วันที่  8 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20116
อ่าน  4,518

คำถามที่ ๑. ค่ะ จากอธิษฐานธรรม [ปกิณณกกถา] อธิษฐาน เพราะเป็นเหตุตั้งมั่น คือถ้าตั้งมั่นในกุศลธรรรมทุกชนิด เราเรียกลักษณะนั้นว่าอธิษฐาน ถูกต้องหรือเปล่าคะ และนอกเหนือจากนี้เป็นการขอด้วยโลภะใช่หรือไม่คะ มีรายละเอียดในคำว่า อธิษฐาน อย่างไรคะ

คำถามที่ ๒. ค่ะ อธิษฐานธรรม ๔ คือสัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน ปัญญาธิษฐาน ขณะที่คิดว่าจะมีสัจจะ หรือตั้งใจว่าจะมีสัจจะ ลักษณะของคิดกับตั้งใจ แตกต่างกัน แสดงว่า ขณะที่คิดว่าจะมีสัจจะ ไม่ใช่อธิษฐานถูกต้องหรือเปล่าคะ แต่ลักษณะที่เป็นความตั้งใจที่จะมีสัจจะจึงเป็นการอธิษฐานใช่หรือไม่คะ มีรายละเอียดในอธิษฐานทั้ง ๔ อย่างนี้ อย่างไรคะ

คำถามที่ ๓. ค่ะ ถ้าเป็นสัจจาอธิษฐานจริงๆ แล้ว คิด จะไม่มีเหตุและปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดการพูดไม่จริงทั้งทางกาย วาจา และใจ ใช่หรือไม่ อย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า อธิษฐานในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องก่อนครับ จากความคิดเห็น ของอาจารย์ คำปั่น อักษรวิลัย

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ในการที่จะสะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นขอ อยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

จากความเห็นที่กล่าวมา อธิษฐาน จึงไม่ใช่การขอ ด้วยโลภะที่เป็นอกุศล แต่เป็นความตั้งใจมั่นในการกระทำกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อดับกิเลสครับ

สำหรับประเด็นเรื่อง อธิษฐานธรรม ๔ ประการ เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งอธิษฐานธรรม ๔ มีดังนี้ สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน ปัญญาธิษฐาน อธิษฐานธรรม ๔ จึงเป็นคุณธรรม ที่แสดงถึงความตั้งใจมั่นในกุศลธรรม โดยนัยต่างๆ ครับ

สัจจาธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นที่เป็นไปในการรักษาสัจจะ ความจริง ไม่ว่าจริงด้วย กาย วาจาและใจ ตรง จริง ด้วยกุศลธรรม ตั้งใจมั่นด้วยสัจจะ ความจริงว่ากระทำกุศล เพื่อดับกิเลส สัจจะตรงว่าศึกษาพระธรรมเพื่อละกิเลส ไม่ใช่เพื่อได้ มีความตั้งใจมั่น ที่เป็นสัจจะ ความจริงเพื่อดับกิเลสเท่านั้นครับ เมื่อมีความตั้งใจ ด้วยสัจจะความจริง เช่นนี้ การศึกษาธรรม การประพฤติปฏิบัติต่างๆ ก็น้อมไปในทางที่ถูกต้องและละกิเลสนั่นเองครับ

จาคาธิษฐาน คือการสละ สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ ข้าศึกต่อสัจจะความจริง ในเมื่อสัจจะความจริงก็คือกุศลธรรมประการต่างๆ ที่ตรง ดังนั้น การสละกิเลสประการต่างๆ ตั้งใจมั่นในการสละกิเลสด้วยการทำกุศล เพราะขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นจาคะ สละจากกิเลสแล้วด้วยความตั้งใจมั่นที่ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส จึงเจริญกุศลและอบรมปัญญา ขณะที่เข้าใจ ฟังพระธรรม ขณะนั้นเป็นจาคะ คือการสละกิเลส เป็นจาคาธิษฐานแล้วครับ ดังนั้น จาคะ จึงไม่ใช่เพียงการให้ สละวัตถุเท่านั้น แต่เป็นปัญญาที่สละกิเลสประการต่างๆ นั่นเองครับ

อุปสมาธิษฐาน หมายถึง ความสงบจากสิ่งที่ไม่ใช่คุณของบารมี พูดให้เข้าใจ คือ สงบจากกิเลสที่จะเป็นปฏิปักษ์ ข้าศึกที่จะไม่ให้เจริญบารมี ๑๐ ครับ บารมี ๑๐ คือ คุณความดี ๑๐ ประการ แต่ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อบารมี ๑๐ คือกิเลสทุกๆ ประการที่เกิดขึ้น ขณะที่เจริญกุศลอบรมปัญญา ขณะนั้นสงบแล้ว สงบจากกิเลสและเป็นบารมีประการต่างๆ ขณะที่สงบด้วยความเข้าใจถูกและเจริญกุศล เป็นกุศลในขณะนั้น ชื่อว่าเป็นอุปสมาธิษฐานในขณะนั้น เพราะสงบจากกิเลสที่เป็นข้าศึกของบารมี ครับ

ปัญญาธิษฐาน คือ ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงในสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ อันเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของบารมีครับ ขณะที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นย่อมรู้ว่ากุศลควรเจริญ อกุศลควรละ จึงละเว้นด้วยปัญญา เจริญในสิ่งที่ควรทำคือกุศล ด้วยปัญญา ชื่อว่าเป็นปัญญาธิษฐานในขณะนั้นครับ และขณะที่เข้าใจพระธรรม เห็นถูกตามความเป็นจริงในสภาพธรรมขณะนั้นก็เป็นปัญญา ที่เป็นปัญญาธิษฐาน ตั้งใจมั่นด้วยปัญญาที่เห็นถูกในสภาพธรรมครับ

ดังนั้น อธิษฐานธรรม ๔ ประการจึงเกี่ยวเนื่องกันหมดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jaturong
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น

ดังนั้น ทั้งสัจจะ ความจริงใจ ในการที่จะฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่จริงใจ ทั้งการกระทำและคำพูด และทั้งอธิษฐาน คือความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม ไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมด จึงไม่พ้นไปจากสภาพจิตที่ดีงามในขณะนั้นที่เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล พร้อมทั้งถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
manila
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ อาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่น และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

อธิษฐานธรรม ๔ ประการ ที่สำคัญต้องมีปัญญาประกอบค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

คำถามของท่านเจ้าของกระทู้อีก ๒ ข้อ ก็น่าสนใจนะครับ

ขออนุญาตให้ท่านอาจารย์ สนทนาอธิบายเพิ่มเติมด้วยนะครับ

คำถามที่ ๒. ค่ะ อธิษฐานธรรม ๔ คือสัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน

ปัญญาธิษฐาน ขณะที่คิดว่าจะมีสัจจะ หรือตั้งใจว่าจะมีสัจจะ ลักษณะของคิดกับตั้งใจแตกต่างกัน แสดงว่าขณะที่คิดว่าจะมีสัจจะไม่ใช่อธิษฐาน ถูกต้องหรือเปล่าคะ แต่ลักษณะที่เป็นความตั้งใจที่จะมีสัจจะจึงเป็นการอธิษฐานใช่หรือไม่คะ มีรายละเอียดในอธิษฐานทั้ง ๔ อย่างนี้ อย่างไรคะ

คำถามที่ ๓. ค่ะ ถ้าเป็นสัจจาธิษฐานจริงๆ แล้ว คือ จะไม่มีเหตุและปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดการพูดไม่จริงทั้งทางกาย วาจา และใจ ใช่หรือไม่ อย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

คำถามที่ ๒. ค่ะ อธิษฐานธรรม ๔ คือสัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน ปัญญาธิษฐาน ขณะที่คิดว่าจะมีสัจจะ หรือตั้งใจว่าจะมีสัจจะ ลักษณะของคิดกับตั้งใจแตกต่างกัน แสดงว่าขณะที่คิดว่าจะมีสัจจะ ไม่ใช่อธิษฐาน ถูกต้องหรือเปล่าคะ แต่ลักษณะที่เป็นความตั้งใจที่จะมีสัจจะจึงเป็นการอธิษฐาน ใช่หรือไม่คะ มีรายละเอียดในอธิษฐานทั้ง ๔ อย่างนี้อย่างไรคะ

ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงถึง เรื่อง สัจจะ กับ อธิษฐานไว้ครับว่า สัจจาธิษฐาน ก็มีทั้ง สัจจะและอธิษฐาน ความตั้งมั่นด้วย คือขณะที่เป็นผู้ตรง ด้วยการกล่าววาจาสัจจะ ก็มีความตั้งใจมั่นที่จะกล่าววาจาสัจจะอยู่แล้ว เมื่อเป็นผู้มีความตั้งใจมั่น จึงกล่าววาจาสัจจะนั้น จึงตั้งใจมั่นในขณะที่กล่าววาจาสัจจะ เป็นต้นครับ เพราะฉะนั้น ในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง บารมีข้อต่างๆ ก็เนื่องกันอยู่ในการกระทำนั้นครับ คือ สัจจะและอธิษฐาน นั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pat_jesty
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

ดังนั้น การคิดว่าจะมีสัจจะ หรือแม้ว่าตั้งใจว่าจะมีสัจจะ ก็ยังไม่เป็นสัจจาธิษฐาน ใช่ไหมครับ

เนื่องจากเป็นเพียงความคิดเท่านั้น จะมีความเข้าใจที่มั่นคงอย่างไรหรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นจึงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มีความตั้งใจมั่นในสัจจะหรือไม่

ดังนั้น การเจริญสัจจาธิษฐานหรืออธิษฐานอื่นๆ จึงไม่ใช่เพียงแต่คิดเท่านั้น จะถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ และรบกวนอาจารย์ตอบคำถามข้อที่ ๓ ด้วยนะครับ

คำถามที่ ๓. ค่ะ ถ้าเป็นสัจจาธิษฐานจริงๆ แล้ว คือจะไม่มีเหตุและปัจจัยใด ที่จะทำให้เกิดการพูดไม่จริงทั้งทางกาย วาจา และใจ ใช่หรือไม่ อย่างไรคะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 12 ครับ

อธิษฐานธรรม ๔ ประการ สำคัญที่สุด คือขาดปัญญาไม่ได้เลยครับ ดังนั้น ก็ต้องเป็นความตั้งใจมั่นที่จะรักษาสัจจะด้วย มีปัญญา ความเข้าใจถูกเป็นพื้นฐาน ดังนั้น คิดที่จะตั้งใจมีสัจจะ ด้วยปัญญา ความเห็นถูกที่มีกำลัง ดังเช่นพระโพธิสัตว์ กับ ความคิดนึก ตั้งใจที่จะรักษาสัจจะด้วยควมคิดของสัตว์โลกผู้มีปัญญาน้อยก็ย่อมแตกต่างกันอย่างมากครับ ดังนั้น จึงต้องเป็นความคิดนึก ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาสัจจะ ด้วยปัญญาที่มั่นคง จึงจะเป็นสัจจาธิษฐานครับ และจากคำถามที่ว่า ถ้าเป็นสัจจาอธิษฐานจริงๆ แล้ว คือจะไม่มีเหตุและปัจจัยใด ที่จะทำให้เกิดการพูดไม่จริง ทั้งทางกาย วาจา และใจ ใช่หรือไม่ อย่างไรคะ

ธรรม ก็ต้องพูดทีละขณะครับ ขณะที่งดเว้นจากการพูดเท็จด้วยปัญญา ก็เป็นสัจจาธิษฐาน และขณะที่ตั้งใจที่จะรักษาสัจจะด้วยความตั้งใจมั่นที่เกิดจากปัญญาจริงๆ ก็เป็นสัจจาธิษฐาน แต่เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลสหมด ก็ยังมีโอกาสล่วงการกล่าวคลาดเคลื่อนจากสัจจะ ความไม่จริงได้ ดังนั้น สัจจาธิษฐาน จึงมีหลายระดับตามกำลังของปัญญา แต่สำหรับสัจจาธิษฐานที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาของพระโพธิสัตว์แล้ว ย่อมไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอันเป็นการทำลายประโยชน์ผู้อื่นเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

เข้าใจได้มากขึ้นครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
nong
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
surat
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
pattarat
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ก.ไก่
วันที่ 10 ต.ค. 2563

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
สิริพรรณ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ