ปรมัตถธรรมอยู่เหนือไตรลักษณ์

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  11 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20135
อ่าน  3,549

มีผู้กล่าวว่า "ปรมัตถธรรมย่อมอยู่เหนือกฎไตรลักษณ์" (ผู้กล่าวเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท) ขอความกรุณาอธิบายว่า

1. ปรมัตถธรรม คืออะไร (เป็นไปได้ไหมว่า ท่านผู้กล่าวนั้นใช้คำว่า ปรมัตถธรรม ไปตามความเข้าใจของท่านเอง)

2. ปรมัตถธรรม (ไม่ว่าใครจะเข้าใจว่าคืออะไรก็ตาม) อยู่เหนือไตรลักษณ์ ได้หรือไม่ด้วยเหตุผลอย่างไร

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ปรมัตถธรรม คืออะไร (เป็นไปได้ไหมว่า ท่านผู้กล่าวนั้นใช้คำว่า ปรมัตถธรรม ไปตามความเข้าใจของท่านเอง)

ปรมัตถธรรม

ปรม (อย่างยิ่ง ประเสริฐ) + อตฺถ (เนื้อความ) + ธมฺม (สภาพที่ทรงไว้)

ปรมัตถธรรม จึงหมายถึง ธรรมที่มีเนื้อความที่ประเสริฐอย่างยิ่ง หมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริง ได้แก่ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นธรรมที่ไม่ใช่บัญญัติ เรื่องราว แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง โดยไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อว่าอะไรเลยก็ตาม ก็มีอยู่จริง ทุกยุค ทุกสมัย นั่นก็คือ จิต เจตสิก รูป พระนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ความจริงที่ประเสริฐยิ่งด้วยปัญญาของพระองค์เองตามความเป็นจริงครับ

2. ปรมัตถธรรม (ไม่ว่าใครจะเข้าใจว่าคืออะไรก็ตาม) อยู่เหนือไตรลักษณ์ ได้หรือไม่ด้วยเหตุผลอย่างไร

ปรมัตถธรรม มี ๔ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องแยกสภาพธรรมแต่ละอย่างว่าขึ้นอยู่กับกฎไตรลักษณ์หรือไม่ ไตรลักษณ์ คือลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทั่วไปในสภาพธรรม ซึ่งมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้)

ปรมัตถธรรมมี จิต เจตสิก รูป พระนิพพาน จิต เจตสิกและรูป ๓ อย่างนี้ เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิต เจตสิกและรูป จึงเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ ทนไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด คือเป็นอนัตตาด้วย คือไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรม จิต ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม เจตสิกและรูปก็เช่นกัน เป็นแต่เพียงสภาพธรรม จึงเป็นอนัตตา ดังนั้น จิต เจตสิกและรูปก็ไม่พ้นจากกฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

ส่วนพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมเช่นกัน นิพพานเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เกิดขึ้นและดับไปเลย เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงเที่ยง เป็นสุข แต่ที่สำคัญที่สุด แม้เที่ยง เป็นสุข ก็เป็นอนัตตา คือเป็นแต่เพียงธรรม สูญจากความเป็นสัตว์ บุคคล เพราะพระนิพพานเป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น จึงเป็นอนัตตา

ดังนั้น ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประการ ไม่พ้นจากกฎไตรลักษณ์ คือเป็นอนัตตา แต่พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่พ้นจากควาไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ แต่ก็ยังอยู่ในกฎไตรลักษณ์ประการหนึ่ง คือเป็นอนัตตา ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ จึงไม่พ้นจากกฎไตรลักษณ์เลย โดยเฉพาะความเป็นอนัตตา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จริงที่สุด คือปรมัตถธรรม มี ๔ ประการ คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้) และพระนิพพาน ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ดีใจ เสียใจ ติดข้องยินดีพอใจ หงุดหงิด โกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมทั้งหมด

ธรรม ไม่ได้หมายถึงเพียงสภาพธรรมฝ่ายดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปนั้นไม่พ้นไปจากธรรมเลย เมื่อไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะเป็นธรรม มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา จิต เจตสิก รูปนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ที่ไม่เที่ยงนั้นเพราะเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปนั้น เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเหตุว่าตั้งอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เมื่อไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลักษณะที่ทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหมด แต่เมื่อกล่าวถึงอนัตตาแล้ว ไม่มีเว้นธรรมอะไรเลยหมายรวมถึงพระนิพพานด้วย เพราะพระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา ดังพระพุทธพจน์ที่ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้นจริงๆ

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความเป็นเรา พร้อมทั้งได้สะสมความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนาน จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นต้วตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา

ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น จึงควรที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ไม่มีธรรมใดอยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์ เพราะเป็น "สามัญลักษณะ" ของสังขารธรรมทั้งหมด แม้แต่นิพพานที่เป็นสุขเพราะไม่เกิดไม่ดับก็ยังเป็น "อนัตตา"

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 1 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ