ว่าด้วยเรื่องการทำแท้ง

 
peeraphon
วันที่  12 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20153
อ่าน  5,677

เป็นคำถามที่อยู่ในใจมานาน ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยได้ทำแท้งหลายๆ คน ว่าเหตุใดผู้ทำแท้งหรือผู้มีส่วนร่วมในการทำแท้ง จึงมีภาวะตกต่ำลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องเงินทอง รวมไปถึงการดำรงชีวิตโดยรวม

ไม่ทราบว่ามีธรรมะบทไหนบ้างที่ว่าด้วยเรื่องการทำแท้ง และอยากเข้าใจให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผมมีความเข้าใจว่าทุกๆ คนมีกรรมเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ว่าทำแท้งแล้วจะมีใครมาตามทำให้เราเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ผมไม่มีความเชื่อเรื่องแก้กรรมหรือใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพราะเห็นว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำนั้นๆ มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากการทำกรรมไม่ดีประเภทอื่นๆ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 267

"ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพ (การเกิด) นี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่า ผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก."
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มตกภัตตชาดก)


แต่ละคนมีกรรมเป็นของของตน กรรมนี้ก็มีทั้งกรรมที่ดีเป็นกุศลกรรมและกรรมที่ไม่ดีเป็นอกุศลกรรมซึ่งได้กระทำมาแล้ว สะสมมาแล้วอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้เท่านั้น และการที่ได้รับผลของกรรมในปัจจุบัน เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผลของกรรมชนิดไหน ในชาติไหน แต่ที่แน่ๆ ที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจนั้น เป็นผลของอกุศลกรรม ในทางตรงกันข้ามที่ได้รับสิ่งที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจนั้น เป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งแตกต่างกันและไม่ปะปนกัน

การทำแท้ง ก็คือ การฆ่าสัตว์ มีความจงใจที่จะทำให้ผู้อื่นถึงความเป็นผู้สิ้นชีวิต เป็นปาณาติบาตที่ครบองค์ กล่าวคือ สัตว์มีชีวิต รู้ว่าสัตว์มีชีวิต มีจิตคิดจะฆ่า มีความพยายามในการฆ่า และสัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น สำเร็จเป็นอกุศลกรรมที่จะเป็นเหตุให้ได้รับวิบากที่ไม่ดี และสามารถนำเกิดในอบายภูมิได้ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาทีเดียวว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง คือการกระทำอกุศลกรรม ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่ควรทำ [ซึ่งก็มาจากการที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่นั่นเอง] เพราะทั้งหมดนั้น จะเป็นเหตุที่ทำให้เดือดร้อนใจในภายหลัง ทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า ซึ่งจะตรงกันข้ามกันกับขณะที่ได้เจริญกุศล ได้กระทำความดีประการต่างๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะการได้เจริญกุศล ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เดือดร้อนใจ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับวิบากที่ไม่ดีเลย อกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว สำเร็จไปแล้ว ก็ไม่สามารถไปแก้อะไรได้ สิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป แต่สิ่งที่สำคัญ คือเริ่มต้นใหม่ด้วยกุศลธรรม ด้วยความเป็นผู้จริงใจตั้งใจที่จะสะสมกุศลความดีประการต่างๆ ต่อไป สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดี เพราะสภาพธรรมทั้งสองอย่าง คือดีกับชั่ว จะไม่ปะปนกัน เป็นคนละส่วนกัน ดังนั้น ถ้าหากว่ารักตัวเอง ก็ต้องไม่กระทำอกุศลกรรม แต่จะต้องสะสมความดีประการต่างๆ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายขัดเกลากิเลสอันเป็นต้นเหตุของการกระทำอกุศลกรรมทั้งหมด จนกว่าจะถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด หนทางมีอยู่แล้ว คือการอบรมเจริญปัญญา แต่จะดำเนินตามทางนี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของผู้นั้นว่าจะเห็นประโยชน์หรือไม่เห็นประโยชน์ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างครับ

กุศลใดที่จะทำให้บาปจากการทำแท้งเบาบางลงได้บ้าง

ผลกรรมที่ได้รับจากการทำแท้ง

การทำแท้งบาปแค่ไหน

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Thanapolb
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

เรียนถาม อ.คำปั่น ต่อจากคำถามท่านแรก เคยได้ยินครับว่ามีคนไปถามบุคคลที่เขานิยมไปสอบถามกันคล้ายๆ หมอดูหรือคนทรง แล้วเขาบอกว่าคนนั้นมีบาปติดตัว เพราะไปให้เงินคนทำแท้ง แต่เขาบอกว่าเขาไม่เคย แต่มีคนมายืมเงินมี เพราะเขาจำเป็น แต่จำเป็นอะไรไม่ทราบ หมอดูท่านผู้นั้นก็บอกว่าแม้ไม่รู้ก็บาป ผมเลยคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะคนนั้นเขาไม่มีเจตนา จริงๆ เจตนามีคืออาจมีความกรุณาบุคคลที่ขอยืมเพราะความเดือดร้อนด้วยซ้ำ

และยังมีอีกประเภทที่บอกว่าหญิงมีบาปเพราะแท้งลูก แต่เขาบอกไม่เคย แล้วหมอดูผู้นั้นก็กล่าวว่าอาจไม่ตั้งใจ เช่น ตกเลือดเสียก่อน แต่ก็ทำให้เด็กที่จะเกิดมาไม่ได้เกิด จึงไม่พอใจ จึงอาฆาต

ลักษณะนี้เข้าข่ายกล่าวเท็จและหลอกลวงไหมครับ และถ้าผู้ใดเชื่อก็ถือเป็นมงคลตื่นข่าวด้วยใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

เรียน สนทนาในความเห็นที่ 2 ครับ

จากคำถามที่ว่า

เคยได้ยินครับว่ามีคนไปถามบุคคลที่เขานิยมไปสอบถามกัน คล้ายๆ หมอดูหรือคนทรง แล้วเขาบอกว่าคนนั้นมีบาปติดตัวเพราะไปให้เงินคนทำแท้ง แต่เขาบอกว่าเขาไม่เคย แต่มีคนมายืมเงินมี เพราะเขาจำเป็น แต่จำเป็นอะไรไม่ทราบ หมอดูท่านผู้นั้นก็บอกว่าแม้ไม่รู้ก็บาป ผมเลยคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะคนนั้นเขาไม่มีเจตนา จริงๆ เจตนามี คืออาจมีความกรุณาบุคคลที่ขอยืมเพราะความเดือดร้อนด้วยซ้ำ

จากคำถามนี้ ผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้วครับ เพราะบาปไม่บาป สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ ผู้ที่ให้ยืมเงิน ไม่ได้มีเจตนาให้ผู้อื่นไปทำแท้ง เมื่อไม่มีเจตนาร้าย แต่เจตนาหวังดีช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมายืมเงิน และผู้ที่ให้ยืมก็ไม่รู้ ส่วนผู้ที่รับเงินไปจะทำอะไรด้วยเงินนั้นที่เป็นทุจริต ก็เป็นบาปเฉพาะตัวของเขาเอง ไม่เกี่ยวกับผู้ให้ยืม เพราะผู้ที่ให้ยืมไม่ได้มีเจตนาที่จงใจให้เงินไปทำแท้งเลยครับ ดังนั้น ผู้ที่ให้ยืมด้วยความหวังดี จึงไม่บาปในกรณีนี้เลยครับ แต่ถ้าผู้ให้ยืมเงินรู้อยู่ และตั้งใจให้เงิน เพื่อเจตนาให้ผู้ที่รับเงินไปทำแท้ง นั่นก็มีเจตนาที่สนับสนุนให้ทำแท้ง ทำบาป ก็บาปครับ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ ดังนั้น จะกล่าวว่า ไม่รู้ก็เลยบาป เพราะไม่มีเจตนาร้าย จะบาปด้วย ไม่ถูกต้องครับ ตามที่หมอดูกล่าว ไม่ถูกต้องครับ ผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้วครับ

และจากคำถามที่ว่า และยังมีอีกประเภทที่บอกว่าหญิงมีบาปเพราะแท้งลูก แต่เขาบอกไม่เคย แล้วหมอดูผู้นั้นก็กล่าวว่าอาจไม่ตั้งใจ เช่น ตกเลือดเสียก่อน แต่ก็ทำให้เด็กที่จะเกิดมาไม่ได้เกิด จึงไม่พอใจ จึงอาฆาตลักษณะนี้เข้าข่ายกล่าวเท็จ และหลอกลวงไหมครับ และถ้าผู้ใดเชื่อก็ถือเป็นมงคลตื่นข่าวด้วยใช่ไหมครับ

ถูกต้องครับ กล่าวคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขัดกับหลักกรรมและผลของกรรม หญิงนั้นไม่ได้มีเจตนาทำร้ายเจตนาฆ่าเพื่อให้เด็กในท้องตาย แต่สัตว์นั้นตายด้วยกรรมของเขาเอง โดยที่ผู้เป็นแม่ไม่ได้มีเจตนาฆ่าและทุจริตเลยครับ จึงไม่บาป ส่วนการพอใจ ไม่พอใจ ของผู้อื่นที่ตายไปแล้ว ไม่มีใครรู้ได้ แม้แต่ใจของตนเอง จะกล่าวไปไยถึงใจของผู้อื่นครับ ผู้ที่กล่าวก็กล่าวไม่ตรงตามความเป็นจริง เป็นมุสาวาท ผู้ที่เชื่อโดยไม่พิจารณา ก็ไม่ได้สาระ และเป็นการถือมงคลตื่นข่าว ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peeraphon
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tookta
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

แล้วถ้าจะต้องทำแท้งด้วยความจำเป็น อย่างเช่น คุณหมอได้ตรวจพบว่าเด็กในท้องของคนที่ตั้งท้องไม่สมประกอบจำเป็นต้องทำแท้ง มิฉะนั้น เด็กที่เกิดมาจะพิการ แล้วถ้าเกิดว่าไม่ทำแท้งแล้วให้เด็กเกิดมาก็จะกลายเป็นภาระของพ่อแม่ ภาระของสังคม และถ้าในอนาคตถ้าไม่มีพ่อแม่คอยดูแล เด็กที่เกิดมานั้นก็จะต้องเผชิญกับสังคมที่ไม่เหลียวแลเขา เขาก็คงจะต้องทนทุกข์ทรมาน แล้วอย่างนี้ ถ้าทำแท้งก็เป็นบาปของคนทำแท้ง และถ้าปล่อยให้เด็กเกิดมาก็จะเป็นบาปหรือเปล่าที่ปล่อยให้เขาเกิดมา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

ก็ต้องเข้าใจครับว่า บาป คือเจตนาที่ไม่ดี เจตนาทุจริต มีการทำร้าย การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งการฆ่าสัตว์ เช่น การทำแท้ง อันมีเจตนาให้สัตว์นั้นตายลงไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เราก็ต้องพิจารณาทีละขณะจิต ขณะที่กำลังทำแท้ง มีเจตนาให้สัตว์นั้นตาย สัตว์นั้นตายลงไป ก็เป็นการฆ่าสัตว์ เป็นปาณาติบาตครับ เป็นบาปแล้วในขณะนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่การปล่อยให้เด็กนั้นออกมา เพราะเข้าใจว่า การฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์ทั้งหลายก็รักชีวิตและการฆ่าสัตว์ไม่ดี จึงไม่ฆ่าสัตว์ การคิดเช่นนี้ไม่บาปเลย แต่เป็นกุศล เพราะให้ชีวิตกับผู้นั้น แม้เด็กจะออกมาพิการก็ตามทีครับ ดังนั้น บาปไม่บาป สำคัญว่าเป็นเจตนาดีหรือไม่ดีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tookta
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอขอบคุณนะคะที่อธิบายขยายความที่เราไม่ค่อยจะลึกซึ้งสักเท่าไร

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Sea
วันที่ 24 ก.พ. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ