ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕

 
pirmsombat
วันที่  13 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20155
อ่าน  2,711

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 282

ภาวนาเสมอด้วยธาตุ

[๑๔๐] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนา [อบรมจิต] เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

[๑๔๑] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

[๑๔๒] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง นำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

[๑๔๓] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

[๑๔๔] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องเป็นเรื่องของผู้มีปัญญาระดับสูง ที่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ว่า ร่างกายก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันของธาตุทั้ง ๔ ไม่ใช่ร่างกายของเราเลย แต่เป็นเพียงสภาพธรรมที่ประชุมรวมกัน จึงไม่หวั่นไหวในสิ่งที่กระทบทั้งสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพราะพิจารณาด้วยปัญญา ด้วยใจที่เสมอแผ่นดิน ที่ไม่หวั่นไหว ในสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาด เมื่อบุคคลใดมาทิ้งที่แผ่นดินก็ตามก็ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดีและยินร้ายในสิ่งเหล่านั้นเลย และก็พิจารณาตามความเป็นจริงด้วยใจที่เสมอด้วยน้ำ ไฟ ลม ที่เมื่อใครก็ตามทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ไฟ น้ำ ลม ก็ไม่หวั่นไหวเลย ซึ่งการอบรมจิต ก็ด้วยมีปัญญารู้ความจริง เพราะความหวั่นไหวเกิดจากอกุศล ความไม่หวั่นไหวเกิดได้เพราะปัญญาที่อบรมจิตมาดีแล้วครับ ซึ่งผู้ที่จะไม่หวั่นไหวอีกเลยคือไม่เป็นอกุศลจิตอีกเลย คือพระอรหันต์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

เมื่อได้อ่านบทว่า "ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนา [อบรมจิต] เสมอด้วยแผ่นดินเถิด ... " ก็คิดทำใจให้ได้เหมือนธาตุดังกล่าว เช่นนี้ผิดหรือไม่ครับ และจะสำเร็จหรือไม่ ที่ถูกต้องควรพิจารณาอย่างไร?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

สังเกตนะครับว่า คำว่า ภาวนา หมายถึงการอบรมสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น และสิ่งที่มีแล้วก็ให้เจริญขึ้น อันมุ่งหมายถึงเรื่องปัญญาเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้ายังไใม่มี จะทำให้มีขึ้นเลย โดยพยายามคิด โดยตั้งใจจะทำ ความตั้งใจมีได้ คิดที่จะทำได้ แต่ไม่เป็นไปตามนั้น คือไม่มีใจเสมอด้วยแผ่นดินแน่นอนครับ เพราะยังไม่มีปัญญาที่มีกำลังถึงขนาดนั้น ที่จะไม่หวั่นไหวในสิ่งใดเลย คือไม่เป็นอกุศลแม้สิ่งที่ดีหรือไม่ดีครับ แต่ต้องอบรมเหตุคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ค่อยๆ อบรมปัญญาทีละน้อย เพราะเป็นเรื่องของภาวนา คือค่อยๆ อบรมปัญญาไปจนปัญญามีกำลัง เมื่อถึงตอนนั้น แม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้วใจ จะพยายามคิดหรือไ่ม่พยายามคิดให้ปัญญาเสมอดังเช่นแผ่นดิน เมื่อปัญญามีกำลังแล้ว ก็เป็นไปตามนั้น นั่นคือ แสดงถึงการทำหน้าที่ของธรรมและอาศัยเหตุปัจจัย จึงจะเกิดครับ จึงไม่มีตัวเราที่จะพยายามจะทำ จะตั้งใจและจะพยายามคิดให้ใจเสมอด้วยแผ่นดิน เพราะเป็นการเจริญอบรมภาวนาคือปัญญาจนมีกำลังจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ หากปัญญาน้อย คิดได้ แต่ไม่เป็นไปตามนั้น หนทางเดียวคือฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดและถึงการดับกิเลส ก็ย่อมไม่หวั่นไหวในสิ่งต่างๆ เองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นันทภพ
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอขอบพระคุณครับ

ขออนุโมทนาครับ

ขอสรรพสัตว์ทั่วจักรวาล เป็นสุขๆ เถิด อย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สวัสดีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 14 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 15 ธ.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ