ความอยากขับรถแซง คันหน้า เป็นกิเลสหรือไม่?

 
peeraphon
วันที่  13 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20156
อ่าน  1,607

ช่วงนี้มีคำถามบ่อยๆ รบกวนอาจารย์ทุกท่านด้วยครับ อาจจะเยอะเกินไป เพราะตั้งหลายTopic เพราะไม่อยากรวมไว้ในที่เดียว เผื่อท่านอาจารย์จะได้ Reference หากมีใครถามคำถามซ้ำกันครับ และในช่วงนี้ ผมจะสังเกตจิตตัวเอง เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ และพบว่าทุกๆ วัน โดยส่วนมากแล้วจะมีจิตที่เป็นอกุศลมากกว่ากุศล บางอย่างคิดได้ มีคำตอบให้ตัวเอง แต่บางอย่างไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อขับรถบนถนน ได้สังเกตจิตตัวเองว่า หากเราต้องการที่จะรีบไป เราก็มีจิตนึกคิดที่อยากจะแซงรถคันข้างหน้า หรือแม้กระทั่งหากเห็นใครขับรถไม่ค่อยเป็น หรือไม่สุภาพ ก็มีจิตขุ่นมัว จึงอยากทราบว่า จิตที่นึกคิดว่าอยากขับแซงรถคันข้างหน้า เพื่อให้เราไปได้เร็วขึ้นเป็น กิเลสหรืออกุศล หรือไม่ อย่างไรครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจความจริงของชีวิต คือจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไปในชีวิตประจำวันอย่างรวดเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงของชีวิตของสัตว์โลกที่เป็นปุถุชน คือผู้หนาด้วยกิเลส ย่อมสะสมอกุศลธรรม คือสภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็นกิเลสมามากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ว่า หากกิเลสเป็นรูปธรรม มีรูปร่าง ก็ไม่มีที่เพียงพอที่จะเก็บกิเลสที่สะสมมาได้ พรหมโลกก็ต่ำไปที่จะเก็บกิเลส จักรวาลทั้งหมดก็ไม่สามารถจะเพียงพอที่จะเก็บกิเลสที่แต่ละคนแต่ละจิตที่สะสมมาในแสนโกฏิกัปป์พอได้เลยครับ

เมื่อสะสมสิ่งที่ไม่ดี คือกิเลสมามาก อันมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้คืออวิชชา ที่สะสมมาเนิ่นนาน เมื่อสะสมกิเลสมามาก สิ่งที่เกิดมากในชีวิตประจำวัน ก็คืออกุศลธรรมที่เป็นอกุศลจิต จิตที่เป็นอกุศล เพราะประกอบด้วยกิเลสที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ ทำให้ในชีวิตประจำวันเกิดอกุศลบ่อยๆ ซึ่งการจะรู้ความจริงว่าอกุศลเกิดตอนไหนและบ่อยหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น หากไม่ใช่ปัญญาระดับนี้ เราก็อาจจะคิดว่าขณะนี้เป็นกุศล ขณะนี้เป็นอกุศลด้วยความคิดนึก ซึ่งขณะที่คิดนึกถึงสภาพธรรมในขณะนั้น สภาพธรรมนั้นดับไปนานแล้วครับ ก็ย่อมไม่รู้ตรงตามความเป็นจริง เพราะเป็นการคิดนึกถึงเรื่องราวของสภาพธรรมที่ดับไป ไม่ได้รู้ตรงลักษณะของอกุศลจิตที่เกิดขึ้นจริงๆ สมกับคำที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวไว้ครับ ที่คิดว่าตัวเองมีอกุศลมาก อกุศลมีมากกว่าที่ตัวเองคิดมากมายครับ

แม้ตื่นนอนขึ้นมา แค่คิดอยู่ในใจก็เป็นอกุศลแล้วโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องรอให้อกุศลมีกำลังที่เห็นได้ชัด เช่น ความติดข้องพอใจหรือความโกรธขุ่นเคืองใจ นี่เป็นอกุศลที่มีกำลังที่พอจะรู้ได้ เพราะมีกำลังแล้ว ขณะนี้กำลังเห็น เห็นเฉยๆ หลังเห็นก็เป็นอกุศลได้ทันที พอใจที่จะเห็นสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัวเลยครับ นี่แสดงถึงความละเอียดของกิเลส ซึ่งจะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นอกุศลก็ต้องเป็นปัญญาระดับสูงที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานครับ

และเมื่อย้อนกลับมาที่คำถามของผู้ถามที่ถามว่าเมื่อขับรถบนถนน ได้สังเกตจิตตัวเอง ว่า หากเราต้องการที่จะรีบไป เราก็มีจิตนึกคิดที่อยากจะแซงรถคันข้างหน้า หรือแม้กระทั่งหากเห็นใครขับรถไม่ค่อยเป็นหรือไม่สุภาพ ก็มีจิตขุ่นมัว จึงอยากทราบว่า จิตที่นึกคิดว่าอยากขับแซงรถคันข้างหน้า เพื่อให้เราไปได้เร็วขึ้น เป็นกิเลสหรืออกุศลหรือไม่ อย่างไรครับ?


สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับเร็วมาก ยากที่จะหยั่งรู้ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของการคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานครับ ซึ่งขณะที่คิดนึกอยากจะแซง การคิดนึก ความคิดเช่นนี้มีได้ ก็เพราะมีจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ขณะที่อยากแซงก็อาจเป็นจิตที่เป็นความต้องการคือเป็นความอยากที่จะแซงไปเพื่อให้เราไปเร็วขึ้น ก็ไม่พ้นจากกิเลสที่เป็นโลภมูลจิต เป็นจิตที่มีความต้องการ เป็นอกุศลจิตที่เป็นโลภะครับ นี่เราพูดกันถึงการพิจารณาว่าขณะที่ต้องการ อยาก ด้วยความติดข้องเป็นโลภะ เป็นอกุศลจิต ซึ่งการจะรู้จริงๆ ได้ก็ต้องเป็นขณะที่สติและปัญญาเกิดรู้ความจริงในขณะนั้น ที่เป็นปัญญาระดับสูงที่เป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่การคิดนึกถึงเรื่องราวของสิ่งนั้นที่ดับไปครับ เพราะไม่ได้รู้จริงๆ ที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่าคืออะไร

หนทางการอบรมปัญญา จึงไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องทำอะไร เช่น ไม่ต้องพยายามตามดูจิต ตามดูกิเลส ตามดูจิตใจในชีวิตประจำวันเลย เพราะขณะที่พยายามตามดู ก็อาจเป็นความต้องการที่เป็นโลภะ หลอกให้อยากรู้จิตในขณะนั้น หนทางที่ถูกคือเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่าสติและปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ เป็นเรื่องที่ยากและเป็นอนัตตาด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราที่จะตามดู พยายามให้เกิด สำคัญที่สุดคือต้องอบรมเหตุ คือการฟังพระธรรมเรื่องสภาพธรรม เรื่องสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ เมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะค่อยๆ รู้ความจริงไปทีละน้อย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด เพียงแต่เราจะไม่หลงไปตามโลภะหรือความเข้าใจผิดว่าสติเกิดแล้ว ด้วยความพยายามที่เป็นเรา เป็นตัวตนที่ไม่ใช่ปัญญาครับ สำคัญคือฟังพระธรรมต่อไป ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องไปตามดูจิต เพราะเมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ธรรมจะทำหน้าที่เองครับ เบาด้วยความเข้าใจพระธรรม โดยไม่ต้องไปทำอะไร แต่อบรมเหตุคือฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตที่ดำเนินไปนั้น เป็นจิตแต่ละขณะ และถ้าจะเทียบกัน ระหว่างกุศลจิตกับอกุศลจิต จะเห็นได้ว่าอกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกนั้นก็เป็นอกุศลทั้งนั้นถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบากจิตและกิริยาจิต ดังนั้น แม้แต่ในขณะที่คิดอยากจะขับรถแซงคันหน้า จิตเป็นอะไร ไม่พ้นไปจากความติดข้องต้องการที่จะมีความประพฤติเป็นไปอย่างนั้น หรือจะด้วยความโกรธความขุ่นเคืองใจก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ และเกิดง่ายมากสำหรับอกุศลจิต ยากที่จะพ้นไปได้ และอาจจะมีกุศลจิตเกิดแทรกสลับได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นอกุศลจิตตลอด แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้ไม่ได้ขับรถแซงคนอื่น จิตก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นกุศล ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นอกุศลจิต เป็นไปกับด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เพราะผู้ที่จะไม่มีอกุศลจิตเกิดเลยนั้นคือพระอรหันต์ หนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นคือการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pat_jesty
วันที่ 14 ธ.ค. 2554

การศึกษาพระธรรม ต้องเป็นผู้ตรงต่อความเป็นจริง ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการที่จะรู้หรือเข้าใจในลักษณะนั้นได้ สิ่งนั้นก็ต้องเกิดขึ้น ปรากฏให้รู้ ให้ศึกษาได้ในขณะนี้เท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างๆ กันที่ยังคงเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เพราะยังคงมีเหตุปัจจัยที่สะสมมา โดยเฉพาะปุถุชนผู้ซึ่งหนาด้วยกิเลส ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จึงมักเป็นอกุศลด้วยอำนาจของกิเลส เนื่องจากสะสมกิเลสมามาก เหตุมีมาอย่างไรผลก็ย่อมเป็นไปตามนั้น ไม่สามารถเลือกได้ว่าจิตจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเมื่อไหร่ เมื่อมีปัจจัยพร้อมให้เกิด ก็เกิด แต่กุศลจิตและอกุศลจิตเมื่อเกิดขึ้นต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ปะปนกัน และการที่จะขัดเกลาอกุศลได้นั้น ก็ต้องเห็นอกุศล เข้าใจอกุศลก่อน เพราะถ้ายังไม่รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล ก็ยังคงมีความคิดและการกระทำที่เป็นอกุศลได้มาก เพราะความไม่รู้นั่นเอง

ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สิ่งเหล่านั้นก็เกิดแล้ว มีแล้ว จึงควรพิจารณาว่าแต่ละอย่างก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะหลากหลาย ต่างๆ กัน แต่เสมอกันด้วยความเป็นธรรม ไม่มีเรา ... จึงไม่ใช่ของเรา ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ