สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

 
คนรักธรรมะ
วันที่  15 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20173
อ่าน  5,234

จาก อนิจจสูตร "ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นปัจจุบันไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา"

จากประโยคที่ยกมาบางส่วน ถ้าอ่านรวมๆ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ท่านหมายถึง รูปเป็นทุกข์ ไม่เที่ยงและเป็นอนัตตา แต่ว่า ถ้าดูเฉพาะประโยคที่ว่า "สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการเจาะจงว่า สิ่งที่เป็นทุกข์เท่านั้นจึงจะเป็นอนัตตา ซึ่งในความเข้าใจ คือแม้นิพพานซึ่งไม่มีทุกข์ มีความเที่ยง ก็ยังเป็นอนัตตา แต่เมื่อมีการแปลไว้เช่นนี้ จึงทำให้ผู้อ่านออกจะสับสนกันบ้าง และก็ไม่รู้บาลีด้วย ท่านมีความเห็นหรือคำอธิบายเกี่ยวกับประโยคนี้อย่างไรคะ ทำไมจึงมีการกล่าวหรือแปลไว้เช่นนั้น ทำไมจึงไม่กล่าวว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา อย่างที่เคยเห็นในบางพระสูตร เช่น สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (ทำนองนี้) เพราะจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้กระจ่างกว่า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเข้าใจ นัยของพระสูตรว่า กำลังพูดถึงสภาพธรรมอะไร ซึ่งก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสไว้ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าพระองค์ได้ตรัสถาม ว่า ตา เที่ยงหรือไม่เที่ยง หู เที่ยงหรือไม่เที่ยง รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง เสียง เที่ยงหรือไม่เที่ยง จะเห็นนะครับว่า พระพุทธองค์ ตรัสถึงสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ตรัสถามถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็นสังขารธรรม ดังนั้น พระสูตรนั้นจึงมุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็น จิต เจตสิกและรูป พระองค์จึงตรัสต่อไปครับว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ดังนั้น พระสูตรนั้นจึงไม่ได้มุ่งหมายถึงพระนิพพาน เพราะพระนิพพาน แม้เที่ยง เป็นสุขแต่เป็นอนัตตา ดังนั้น เราจะไม่นำพระสูตรที่แสดงอีกนัย มาปนกับเรื่องของพระนิพพานครับ

ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 305

บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมด เป็นอนัตตา.

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 172

อัสสาสะปัสสาสะ - ลมหายใจเข้าออก ย่อมตกแต่งกาย ฉะนั้น จึงชื่อว่า กายสังขาร.

สัญญาด้วย เวทนาด้วย ย่อมตกแต่งจิต ฉะนั้น จึงชื่อว่า จิตตสังขาร. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอา สังขตสังขาร.

ชื่อว่า อนิจจา - ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า มีแล้วกลับไม่มี. ชื่อว่า ทุกขา - เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่า เบียดเบียน.

คำว่า สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวรวมเอาพระนิพพานเข้าไว้ด้วย. ชื่อว่า อนัตตา เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่มีจริงนั้น มีมากมาย สามารถจำแนกได้หลายนัยตามความเป็นจริงของสภาพธรรม แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย (สังขตธรรม, สังขารธรรม) ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เพราะเกิดดับ เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้และเป็นอนัตตา เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วยนั้น มุ่งหมายถึงเฉพาะในส่วนของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น และสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นได้ มีอย่างเดียวเท่านั้น คือพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่เกิด ไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ ดับกิเลส แต่ก็เป็นอนัตตา เพราะเป็นธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จริงอยู่ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา แต่ก็ต้องแยกกัน ไม่ปะปนกันระหว่างธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป กับธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ (พระนิพพาน) ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 15 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 16 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
swanjariya
วันที่ 30 ส.ค. 2556

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ