พุทธชยันตี

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  19 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20198
อ่าน  36,251

ขอความรู้ และข้อมูล เกี่ยวกับ พุทธชยันตี ครับ

ขอบพระคุณมา ณ ที่นี่ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พุทธชยันตีหมายความว่าอะไร?

พุทธชยันตี โดยรากศัพท์ของคำว่าชยันตีมาจากคำว่า "ชย" คือชัยชนะ อันหมายถึงชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง อันทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก พุทธชยันตีจึงมีความหมายว่าเป็นการตรัสรู้และการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

ในปัจจุบัน พุทธชยันตียังถูกตีความในความหมายถึงชัยชนะของพุทธศาสนาและชาวพุทธด้วย เช่น การได้รับเอกราชและมีสิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นครั้งแรกของชาวพุทธในประเทศศรีลังกา การฉลองปีใหม่ชาวพุทธโดยไม่มีเหล้าสุรายาเสพติดสิ่งมึนเมาทั่วทั้งประเทศศรีลังกา การเอาชนะสิ่งเลวร้ายในสังคม จนทำให้ประเทศศรีลังกามีสถิติอาชญากรรมต่ำมากๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ที่มาและความสำคัญ

พุทธชยันตี (बुद्ध जयंती, Buddha Jayanti) เป็นชื่อเรียกงานเฉลิมฉลองหรือพิธีบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในวาระแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในประเทศไทยนั่นเอง พุทธชยันตีนี้เป็นที่รู้จักกันดีของชาวพุทธนานาชาติอย่างในประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ (ถือกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล)

แต่สันนิษฐานว่า มีการเริ่มต้นงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตีนี้ภายหลังจากที่ประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และจากการที่ ดร.อัมเบดการ์ (Dr.Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) ได้ฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย โดยมีการนำชาวอินเดียประมาณ ๒ แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ (อินเดีย ศรีลังกา นับเป็น พ.ศ. ๒๕๐๐ เร็วกว่าไทย ๑ ปี) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ นอกจากนี้รัฐบาลประเทศอินเดียยังได้สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ด้วย

สำหรับรัฐบาลไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ ด้วยการสร้างพุทธมณฑลเป็นอนุสรณ์สถาน ประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยกำหนดให้วันพระ หรือวันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ (ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๙) และมีการพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยครบชุดฉบับแรก เป็นต้น สำหรับการเฉลิมฉลองในระดับนานาชาตินั้น รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพในการจัด "ฉัฏฐสังคีติ" คือการสังคายนาพระไตรปิฎกระดับนานาชาติ โดยทางพม่านับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๖ แล้วได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีและคัมภีร์ทั้งหลายขึ้นเป็นจำนวนมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

สำหรับวาระสำคัญในปีปัจจุบันเนื่องในมหาธัมมาภิสมัย พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้นั้น ถ้าถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทยอยู่ในช่วงระหว่าง วิสาขบูชา ๒๕๕๔ – วิสาขบูชา ๒๕๕๕ ทั้งนี้ ในวันวิสาขบูชา ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้ (๑๗ พ.ค. ๒๕๕๔) เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒๕๙๙ ปีเต็ม และเริ่มเข้าสู่ปีที่ ๒๖๐๐ แห่งการตรัสรู้โดยคำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพาน บวกด้วย ๔๕ วัน เป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน (สูตรการคำนวณ จำนวนปีการตรัสรู้ = ปี พ.ศ. + ๔๕) ดังนั้นในวันวิสาขบูชาปี พ.ศ. ๒๕๕๕ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ครบ ๒๖๐๐ ปีบริบูรณ์ ในประเทศต่างๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็งได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา ๓ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) ดังเช่นในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดีย เป็นต้น ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัวและยิ่งใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาก็มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดงานในระดับภาคประชาชนกว่า ๒ ปีที่ผ่านมาในวงจำกัด ส่วนในระดับรัฐบาล สมควรที่รัฐบาลไทยจะประกาศให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ อย่างเป็นทางการ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณมากครับ เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีผู้ฝากเรียนถามว่า ถ้าเช่นนี้ เมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๖๐๐ จริงๆ จะต้องฉลองพุทธชยันตีอีกหรือเปล่า และจะเรียกปีนั้นว่า ปีพุทธชยันตี ได้หรือไม่ รบกวนอีกนิดหนึ่งนะครับ

ขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับ

ถ้าจะแปลตามศัพท์ คำว่า พุทธชยันตี แปลว่า เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทรงชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงจนถึงที่สุดแล้ว ไม่ต้องชนะกิเลสอีกต่อไป เพราะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ไม่ทรงพ่ายแพ้ให้กับกิเลสอีกต่อไป [ขอให้ท่านผู้รู้ ได้พิจารณาอีกที นะครับ]

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นในโลกเพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง ชีวิตของพระองค์ในชาติสุดท้าย จิตขณะแรกของพระองค์คือ ปฏิสนธิจิต [ที่เข้าใจกันคือถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา] เกิดขึ้นเมื่อวันเพ็ญเดือน ๘ คือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ

ต่อจากนั้นมา ๑๐ เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ก็ทรงประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดาและทรงดำเนินไปได้ ๗ ก้าวพร้อมกับทรงเปล่งอาสภิวาจา ต่อจากนั้นเรื่อยมา ชีวิตของพระองค์ก็ทรงดำเนินไปตามปกติของฆราวาสวิสัยที่ยังไม่ได้ดับกิเลส จนกระทั่งพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระองค์เสด็จออกผนวชแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งวันที่พระองค์เสด็จออกผนวชนั้น ตรงกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘) ต่อจากนั้นผ่านไป ๖ ปี ตอนที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา พระองค์ก็ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ (วันวิสาขบูชา) ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว พระบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ไม่ใช่เพื่อพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ผ่านมาอีก ๒ เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ จนเป็นเหตุให้ท่านโกณฑัญญะ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นอริยสงฆ์องค์แรกในโลก ต่อจากนั้นเป็นต้นมาตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกมาโดยตลอด เวลาพักผ่อนของพระองค์น้อยมาก ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง และมีผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน จนกระทั่งถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ในขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระองค์ ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

จะเห็นได้ว่า วันที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันวิสาขบูชานั้น เป็นวันที่ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ทรงชนะอย่างไม่มีวันที่จะกลับพ่ายแพ้ให้กับกิเลสอีกต่อไป เป็นวันที่พระองค์ทรงชนะจริงๆ ก็คงจะกล่าวอย่างนี้ได้เสมอ เมื่อกล่าวถึงวันที่พระองค์ทรงตรัสรู้ (วันวิสาขบูชา) ไม่ว่าจะเป็นปีใดก็ตาม สิ่งที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

สมัยนี้ เป็นสมัยที่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ แม้พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตามกำลังปัญญาของตนเอง ซึ่งเป็นการยากมากที่จะได้ฟัง เพราะฉะนั้นแล้ว พระธรรมแต่ละคำซึ่งเกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์นั้นควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มฟัง เริ่มศึกษา ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วครับ พุทธชยันตี หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ดับกิเลสและชนะมาร คือกิเลสหมดทั้งปวง เมื่อถึง ปี ๒๕๕๕ ก็เท่ากับ ครบ ๒๖๐๐ ปีที่ตรัสรู้และดับกิเลสครับ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๖๐๐ เป็นปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๖๐๐ ปี แต่เป็นปีที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ชนะกิเลสทั้งปวง ๒๖๔๕ ปี ถ้าจะเรียก พุทธชยันตี ก็คือ ในปี ๒๖๐๐ ฉลองพุทธชยันตีที่พระพุทธเจ้ททรงชนะกิเลสทั้งปวง ครบ ๒๖๔๕ ปี ซึ่งโดยส่วนมาก การจัดฉลองพุทธชยันตี จะเรียกหรือจัด เมื่อตัวเลขบริบูรณ์ เช่น ครบ ๒๖๐๐ ปี ที่ทรงตรัสรู้ดับกิเลส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ครับ หรือครบพระพุทธศาสนา ๒๕๕๕ ปีก็จัดพิธีพุทธชยันตี

จากความเห็นส่วนตัวนั้น การจะเรียกอะไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับสมมติทางโลกที่จะระบุว่าเป็นอย่างไร ให้ความสำคัญในเรื่องอะไร ก็ตามสมมติชาวโลกกัน หากแต่ว่าพุทธศาสนิกชนที่เข้าใจคำสอน สามารถน้อมระลึกถึงพระคุณ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ด้วยความเข้าใจพระธรรมและเข้าใจว่าพระองค์ได้ดับกิเลสทั้งปวงด้วยพระปัญญา โดยเข้าใจธรรม เข้าใจหนทางที่เป็นหนทางตรัสรู้ เมื่อเข้าใจตรงนี้ ก็น้อมระลึกถึงพระคุณตามความเป็นจริง ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ระลึกถึงพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ ก็เท่ากับกุศลเกิดในขณะนั้นด้วยความเข้าใจถูก โดยไม่จำเป็นจะต้องจัดพิธี เพราะประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม คือผู้ฟังได้เข้าใจพระธรรม ขณะนั้นเป็นขณะที่ประเสริฐ แม้ไม่มีพิธีการและการฉลอง แต่ถือได้ว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนแล้ว เพราะเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โดยการเข้าใจพระธรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ครบจำนวนปีเท่านั้นเท่านี้ เพราะทุกขณะหรือขณะใดที่เข้าใจ เป็นประโยชน์สูงสุดและทำตามจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้าครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Papper
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สรณ์
วันที่ 20 ก.พ. 2555

ที่มืดก็แจ่มแจ้ง ดุจแสงสุรีย์ฉาย

โง่งมก็ค่อยคลาย กมเลศสว่างพลัน

ข้ออรรถบรรยาย อธิบายชยันติ์นั้น

ขอบคุณพระคุณอัน อธิธรรมอรรถา

ตั้งจิตประพฤติธรรม์ มนมั่นจะบูชา

แด่องค์พระสัมมา วสถ้วนชยันตี

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Jans
วันที่ 15 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 24 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
sammd073
วันที่ 5 ก.ค. 2560

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 5 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ