ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ... ...

 
pirmsombat
วันที่  20 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20201
อ่าน  3,357

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 13

เธอเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง.

ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์.

เธอฟังเสียงด้วยโสตะ ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน.

ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าวไป ในการถอยกลับ ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การสำรวม หรือการสังวร ไม่ใช่การกระทำสำรวมให้ดูเรียบร้อย โดยดูจากภายนอก แต่เกิดจากจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี ดังนั้น สังวร สำรวม จึงเป็นเรื่องของกุศลธรรมที่เกิดขึ้น จึงสังวร สำรวม ก็ไม่พ้นจาก การสังวร สำรวม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ซึ่ง สังวร มี ๕ ประการ ดังนี้ครับ

๑. ศีลสังวร

๒. สติสังวร

๓. ขันติสังวร

๔. ญาณสังวร

๕. วิริยสังวร

ซึ่งสังวรทั้งหมดที่กล่าวมา ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ขณะใดที่สังวร คืองดเว้น ปิดกั้นอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้นด้วยกุศลธรรมที่เกิดขึ้นครับ จักษุคือสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมคือจักขุปสาท เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ดังนั้น ตัวจักษุเองไม่สำรวม แต่เพราะอาศัยจักขุปสาทกระทบรูป เกิดจักขุวิญญาณ คือการเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเห็นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ย่อมไม่พิจารณาโดยแยบคาย ยึดถือโดยนิมิตและอนุพยัญชนะ คือสำคัญในสิ่งที่เห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ ด้วยอำนาจกิเลส คือยึดถือในสิ่งที่เห็นด้วยกิเลส มีตัณหาคือโลภะและความเห็นผิด เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่เห็นสิ่งต่างๆ แล้วเกิดอกุศลจิตในสิ่งที่เห็น เมื่อนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่สำรวมจักษุ ความเป็นผู้ไม่สำรวมจักษุจึงอยู่ที่ใจที่เป็นอกุศล แต่เพราะอาศัยทวารทางตาจึงทำให้มีการเห็น แล้วเกิดอกุศลจิต จึงเรียกว่าเป็นผู้ไม่สำรวมด้วยจักษุ ทางทวารอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ หู จมูก ลิ้น กายและใจครับ

ความเป็นผู้สำรวมด้วยจักษุ คือเมื่อมีการเห็นเกิดขึ้น ปัญญาย่อมพิจารณาในสิ่งที่เห็นในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้นอกุศลธรรมไม่เกิด แต่ปัญญาเกิดรู้ตามความเป็นจริง จึงชื่อว่าเป็นผู้สำรวมด้วยจักษุ ใจนั้นเองที่ไม่เป็นไปด้วยอำนาจกิเลสอันอาศัยตาครับ ความเป็นผู้สำรวมด้วยจักษุจึงไม่ใช่เพียงอาการภายนอกว่าดูสำรวม ไม่มองสิ่งใด แต่สำคัญที่ปัญญา เมื่อเห็นสิ่งใดแล้วรู้ความจริงและจิตเป็นอย่างไร สำรวม สังวร จึงเป็นเรื่องของปัญญา เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาคือการเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงชื่อว่าเป็นผู้สำรวมด้วยจักษุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 20 ธ.ค. 2554
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกติชีวิตประจำวันเมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จึงมีการรู้อารมณ์ต่างๆ ทางทวารต่างๆ มีจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างตามการสะสม หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น และโดยภาวะของความเป็นปุถุชนแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศล เมื่อเป็นเช่นนี้ ขณะที่ไม่สำรวมหรือไม่สังวรจึงมีมาก เพราะอกุศลเกิดมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ แต่ที่จะเป็นอินทรีย์สังวร การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้นั้น ต้องเป็นกุศล คือสติที่เกิดขึ้นปิดกั้นไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า อินทรีย์สังวร หมายถึง สำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็คือสำรวมด้วยสติที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่การจงใจที่จะไปยืนสำรวม ไปเดินสำรวม แต่ไม่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ครับ

...ขอบพระคุณขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และทุกๆ ท่านด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 21 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ