ปหาตัพพธรรม
เรียนถามอาจารย์ เกี่ยวกับ ทัสสนนปหาตัพพะกับภาวนาปหาตัพพะ ว่ามีข้อที่เหมือนกันไหมครับ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า ปหาตัพพธรรม ก่อนครับว่าคืออะไร
ปหาตัพพธรรม คือสภาพธรรมที่ควรละ อะไรที่ควรละ คือสภาพธรรมที่เป็นกิเลสประการต่างๆ มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ดังนั้น อกุศลธรรมที่เป็นกิเลสทั้งหมด เป็นปหาตัพพธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่ควรละ ละด้วยปัญญาครับ
ส่วนคำว่า ทัสสนนปหาตัพพะ กับ ภาวนาปหาตัพพะ คืออะไร ทัสสนนปหาตัพพะ หมายถึง สภาพธรรมทั้งหลาย คือกิเลสบางประการที่ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ชื่อว่า ทัสสนนปหาตัพพะ ซึ่งสภาพธรรมคือกิเลสที่ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรคที่เป็นทัสสนนปหาตัพพะ อันเป็นการละกิเลส คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อคติ ๔ เป็นต้น ที่โสดาปัตติมรรคละได้แล้ว เรียกว่า ทัสสนนปหาตัพพะ คือสภาพธรรมทั้งหลายมีกิเลสประการที่ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรคครับ
ภาวนาปหาตัพพะ หมายถึงสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นกิเลสประการต่างๆ ที่ละได้ด้วยมรรคเบื้องบน ๓ ประการ คือ สกทาคามีมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค สภาวธรรม คือกิเลสประการต่างๆ ที่ถูกละได้ด้วยมรรค ๓ เบื้องบน เรียกว่า ภาวนาปหาตัพพะครับ เช่น โลภะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ความโกรธ ความไม่รู้ ความฟุ้งซ่าน มานะ เป็นต้น กิเลสที่เหลือเหล่านี้ที่ถูกละด้วยมรรค ๓ เบื้องบน ชื่อว่า ภาวนาปหาตัพพะ
ดังนั้น ทัสสนนปหาตัพพะกับภาวนาปหาตัพพะ เหมือนกันตรงที่เป็นสภาพธรรมที่ควรละเหมือนกัน เพราะเป็นกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ชนิดของกิเลสที่ละไม่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ระดับปัญญาที่ละ เพราะทัสสนนปหาตัพพะ คือสภาพธรรมที่ควรละที่ละกิเลสด้วยปัญญาที่เป็นโสดาปัตติมรรค แต่ภาวนาปหาตัพพะ เป็นปัญญาที่ละกิเลสประการต่างๆ ด้วยมรรค ๓ เบื้องบน มี สกทาคามีมรรค อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค ครับ
ขออนุโมทนา
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 187
ทสฺสเนน ปาตพฺพา ธมฺมา ธรรมอันโสดาปัตติมรรคประหาณ
ภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺมา ธรรมอันมรรคเบื้องสูง ๓ ประหาณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่างๆ โดยไม่ปะปนกันซึ่งไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรมเลย และมีจริงในขณะนี้ด้วย เมื่อกล่าวถึงธรรมที่พึงละแล้ว ย่อมหมายถึงอกุศลธรรมทุกประเภท อกุศลธรรมเป็นธรรมที่ไม่ดีไม่งาม ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ได้แก่ อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
ดังนั้น สภาพธรรมที่โสดาปัตติมรรคพึงละ [ทัสสนนปหาตัพพธรรม] จึงหมายถึงกิเลสที่จะพึงดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรคคือความเห็นผิดทุกประเภท ความตระหนี่ ความริษยา ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม เมื่อดับกิเลสประเภทดังกล่าวนี้ได้ ก็หมายถึงว่า ดับอกุศลจิตที่กิเลสนั้นๆ เกิดร่วมด้วยได้ด้วยรวมไปถึงกิเลสที่อยู่ในฐานะเดียวกันกับกิเลสประเภทนั้นๆ ก็ไม่เกิดอีกด้วย เช่น โสตาปัตติมรรคดับความเห็นผิดได้ โลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็เป็นอันดับได้ด้วย เพราะความเห็นผิดจะต้องเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่น เมื่อความเห็นผิดถูกดับ โลภมูลจิตประเภทที่ประกอบด้วยความเห็นผิดนี้ จึงถูกดับไปด้วย
สภาพธรรมที่มรรคเบื้องบน ๓ คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค พึงละ [ภาวนาปหาตัพพธรรม] ก็โดยนัยเดียวกัน กล่าวคือ สกทาคามิมรรค ไม่ได้ทำกิจดับกิเลสใดๆ เพิ่มเติมต่อจากโสตาปัตติมรรค แต่ได้กระทำโลภะและโทสะให้เบาบางลง, อนาคามิมรรคดับความติดข้องยินดีพอใจในกาม ดับความโกรธได้ สำหรับอรหัตตมรรคนั้นดับกิเลสทั้งหมดที่ยังดับไม่ได้ด้วยมรรคเบื้องต่ำ ๓ คือ ดับโลภะที่เป็นความติดข้องในภพ ดับมานะ (ความสำคัญตน) ดับอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านแห่งจิต) ดับอวิชชา ได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งก็หมายรวมถึงดับอกุศลจิตที่กิเลสประเภทนั้นๆ เกิดร่วมด้วยได้ด้วย รวมไปถึงกิเลสที่อยู่ในฐานะเดียวกันทั้งหมดก็ดับได้ด้วย กิเลสอกุศลที่มีมากที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์จะถูกดับได้เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้นทำกิจประหาณกิเลส ซึ่งดับได้ตามลำดับขั้น ตั้งแต่โสตาปัตติมรรคจิตจนถึงอรหัตตมรรคจิต กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้วก็จะไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น
ผู้ตั้งคำถาม และผู้สนทนาทุกท่านครับ