สาธารณเหตุ และสาธารณะ

 
homenumber5
วันที่  24 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20220
อ่าน  3,297

เรียน ท่านวิทยากร

ดิฉันได้ฟังมาว่า

๑. ทั่วทั้ง ๓๑ ภพภูมินี้ล้วนเป็นสาธารณะ คำว่าสาธารณะนี้ มีเนื้อหา ทางพุทธธรรม อย่างไร โปรดอธิบายด้วยค่ะ

๒. สาธารณเหตุ ในพระอภิธรรมมีรายละเอียดอย่างไรคะ กรุณาอธิบายด้วยค่ะ

๓. แล้ว สาธารณะในข้อ ๑ และ ๒ มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ทั่วทั้ง ๓๑ ภูมินี้ล้วนเป็นสาธารณะ คำว่าสาธารณะนี้ มีเนื้อหาทางพุทธธรรมอย่างไรโปรดอธิบายด้วยค่ะ

คำว่า สาธารณะ ความหมาย คือทั่วไป ซึ่งข้อความที่ยกมาที่ว่า ทั่วทั้ง ๓๑ ภูมินี้ล้วนเป็นสาธารณะ อยากให้ผู้ถามยกข้อความมามากกว่านี้ ก็จะเข้าใจละเอียดขึ้นครับว่า กำลังสื่อถึงอะไรครับ แต่หากให้ตีความแล้ว คำว่าทั่วทั้ง ๓๑ ภูมินี้ล้วนเป็นสาธารณะ หมายถึง ๓๑ ภพภูมิ คือภูมิที่เป็นที่เกิดของสัตว์ ล้วนทั่วไปกับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา ก็ไม่พ้นจากภพภูมิ ๓๑ ภพภูมิที่ที่เกิดทั่วไปทั้งหมดครับ


๒. สาธารณเหตุ ในพระอภิธรรม มีรายละเอียดอย่างไรคะ กรุณาอธิบายด้วยค่ะ

๓. แล้วสาธารณะในข้อ ๑ และ ๒ มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรคะ

สาธารณะ ในพระอภิธรรม ความหมาย ก็คือ ทั่วไป อีกเช่นกัน แต่จะมุ่งหมายถึงสภาพธรรมใดที่ทั่วไปก็แล้วแต่ เช่น เจตสิกบางประเภท เกิดทั่วไปกับจิตทุกประเภท เช่น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก สพฺพ (ทั้งปวง) + จิตฺต (จิต) + สารธารณ (ทั่วไป) + เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดกับจิต) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิก ๗ ดวงที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง หรืออกุศลสาธารณเจตสิก อกุสล (อกุศล) + สาธารณ (ทั่วไป) + เจตสิก (สภาพที่เกิดกับจิต) เจตสิกที่ทั่วไปแก่อกุศลจิตทุกดวง หมายถึง อกุศลเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑ อุทธัจจะ ๑ (ดูโมจตุกเจตสิก) ซึ่งอกุศลเจตสิกเหล่านี้ต้องเกิดทั่วไป (สาธารณะ) กับอกุศลจิตทุกประเภท ทุกดวงครับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง โสภณสาธารณเจตสิก โสภณ (ดีงาม) + สาธารณ (ทั่วไป) + เจตสิก (ประกอบกับจิต) เจตสิกที่ทั่วไปแก่โสภณจิต หมายถึง เจตสิก ๑๙ ดวงที่เกิดกับโสภณจิตทุกดวงครับ

ส่วน สาธารณเหตุ คือ เหตุที่เป็นสาธารณะ (ทั่วไป) สาธารณเหตุ หมายถึง อวิชชาความไม่รู้ คือเป็นเหตุทั่วไปกับสรรพสัตว์ เพราะอวิชชาทำให้เกิดสังขาร คือเกิดกุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะมีความไม่รู้จึงทำให้เกิดการกระทำกรรมต่างๆ และการเกิดขึ้นของการกระทำกุศลกรรมและอกุศลกรรมของสัตว์ทั้หลายทั้งปวง อาศัยอวิชชาเป็นปัจจัย (โมหะ) จึงเป็นเหตุทั่วไปของสรรพสัตว์ที่ทำให้สัตว์มีการกระทำกรรมต่างๆ เกิดขึ้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเห็นเพิ่มเติมในประเด็น สาธารณเหตุ ดังนี้

จริงๆ แล้ว คำว่าเหตุ แสดงไว้หลายนัย ในพระอภิธรรมปิฎกแสดงเหตุไว้ ๔ ประการ ที่เรียกว่า เหตุ ๔ ได้แก่ เหตุเหตุ หมายถึง เหตุที่เป็นมูล ซึ่งหมายถึงเหตุ ๖ ประการ อันได้แก่เจตสิก ๖ ประเภท คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ (ปัญญา) และโลภะ โทสะ โมหะ ปัจจัยเหตุ หมายถึง เหตุที่เป็นปัจจัย ตรัสหมายถึง มหาภูตรูป ซึ่งเป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานของรูปทั้งหลาย เพราะมีมหาภูตรูป จึงมีการบัญญัติเรียกว่า รูปขันธ์ อุตตมเหตุ หมายถึง เหตุที่เป็นประธาน หรือสูงสุดมุ่งหมายถึงกุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะมีกุศลกรรมและอกุศลกรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดผลขึ้นในภายหน้า กุศลกรรมให้ผลทำให้ได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ (อิฏฐารมณ์) ในทางตรงกันข้าม อกุศลกรรมให้ผล ย่อมทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจที่เป็นอนิฏฐารมณ์ เหตุย่อมสมควรแก่ผล ผลที่เกิดขึ้นย่อมมาจากเหตุ ส่วนสาธารณเหตุนั้น ได้แก่ อวิชชาหรือโมหะ ซึ่งเป็นเหตุที่ทั่วไปแก่สัตว์ทั้งหลายที่ยังมีกิเลสอยู่ อวิชชานี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารคือการกระทำที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

เหตุ ๔ อย่าง [พระอภิธรรมปิฎก]

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
bsomsuda
วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
homenumber5
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาท่านความเห็นที่ 1 และ 3 เนื้อหาเพิ่มความเข้าใจในพุทธวจนมากขึ้น เป็นการลดอวิชชาในพระพุทธ พระธรรมลงได้บ้าง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ในคัมภีร์ปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ ๗ เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรมปิฎกนั้น แสดงสภาพธรรมทั้งหลายโดยความเป็นปัจจัยแก่กันและกัน โดยประเภทของปัจจัยต่างๆ ปัจจัยแรก คือ เหตุปัจจัย แสดงให้เห็นความสำคัญของสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุ ในงานศพ เมื่อพระภิกษุท่านสวดพระอภิธรรม จะเริ่มต้นด้วย "เหตุปจฺจโย" คือโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เพื่อเตือนให้รู้ว่าสภาพธรรมซึ่งเป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดผล เกิดภพเกิดชาตินั้น ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ