หากต้องการพระนิพพาน ให้เดินตามรอยพระกุลลเถระ

 
dets25226
วันที่  25 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20233
อ่าน  3,271

ธัมมะตาสัง คะเหตฺวานะ ญาณะทัสสะนะปะฏิปัตติยา ปัจจะเวกขิง อิมัง กายัง ตุจฉัง อันโตพะหิรังฯ

อาวุโส - ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อะหัง - ข้าพเจ้า พระกุลลเถระ ญาณะทัสสะนะปะฏิปัตติยา - ปฏิบัติโดยใช้สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ธัมมะตาสัง - พระจักษุที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้ให้นั้น คะเหตวานะ - รับเอาไว้แล้ว ปัจจะเวกขิง - พิจารณาเห็น (มองเห็น) อิมัง กายัง - ร่างกายที่เรียกว่าขันธ์นี้ อันโตพะหิรัง - ทั้งข้างในและนอกขันธ์ ตุจฉัง - เป็นของว่างเปล่า ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าพระกุลลเถระ ได้ใช้ตาปัญญา คือสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้งสองที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้เฝ้าดูและพิจารณาลงลึกเข้าไปใจขันธ์ห้าจนเห็นแต่ความว่างเปล่า ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอนัตตาฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เชิญคลิกอ่านที่นี่

กุลลเถรคาถา [เถรคาถา]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

การจะถึงพระนิพพาน ดับกิเลส ไม่ใช่ดำเนินตามของพระเถระรูปใดครับ แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้บรรลุธรรม นั่นคือ ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นทางสายเดียว เพื่อละ สละ ดับกิเลสทั้งหมดได้ครับ ซึ่งท่านพระกุลลเถระ หรือไม่ว่าใครที่ได้บรรลุธรรม ท่านเหล่านั้นย่อมอบรมเจริญปัญญาที่เป็นอริยมรรค สติปัฏฐาน คือการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางการดำเนินไปสู่พระนิพพาน ไม่ว่าใคร บุคคลใด ก็ต้องดำเนินตามทางนี้ครับ และท่านพระกุลลเถระ ท่านไม่ได้ใช้ปัญญา

แต่จากพระสูตรโดยตรงที่ยกมานั้น ปัญญาท่านเกิดรู้ตามความเป็นจริง คือเข้าใจ ในสรีระของศพและของท่านไม่ต่างกัน คือศพก็คือสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันของรูปธรรม มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น และร่างกายของท่านก็คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมที่ประชุมรวมกัน และรูปธรรมอื่นๆ ที่ประชุมรวมกัน เมื่อต่างก็เป็นรูปธรรมทั้งคู่ คือซากศพและตัวท่าน ความยินดี ติดข้องจึงไม่เกิดกับท่านในสรีระและในทุกสิ่ง เพราะเกิดญาณทัสสนะ คือปัญญาตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เสมอกันว่าเป็นแต่เพียงธาตุและธรรมเท่านั้น ปัญญาที่เกิดขึ้นรู้ความเป็นจริงเช่นนี้ ที่เห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรม เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา จึงเกิดปัญญาวิปัสสนาญาณตามลำดับถึงมรรคจิตและดับกิเลสได้หมดสิ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้นั่นเองครับ เพราะเห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมครับ แต่กว่าท่านจะถึงปัญญาระดับนั้น เมื่อในอดีต ท่านก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจในขั้นการฟังเบื้องต้น เข้าใจแม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจและอาศัยการฟังยาวนาน อบรมปัญญามายาวนานล้านๆ ชาติ นับไม่ถ้วน จนปัญญาแก่กล้าในชาตินี้ ก็สามารถดับกิเลสได้ครับ

จะเห็นนะครับว่า สำคัญ คือปัญญาพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องที่จะทำตาม แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจไปทีละน้อย โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ครับ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
dets25226
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในคำอธิบายขยายความของท่านอาจารย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของผู้รู้ คือพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงธรรมให้ผู้อื่นได้รู้ตาม เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อละตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตนหรือจดจ้องต้องการ โดยปราศจากความเข้าใจ

จะเห็นได้ว่าในพระพุทธศาสนา มีคำว่า "ปฏิบัติธรรม" แต่ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรแล้ว แล้วจะไปปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจแล้วจะไปปฏิบัติเลย ไม่ใช่อย่างนั้นโดยประการทั้งปวง เพราะเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นว่า ไม่ใช่ตัวตนที่ไปปฏิบัติ แต่เป็นกิจหน้าที่ของสภาพธรรมฝ่ายดี คือสติและปัญญา เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง โดยมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งจะขาดปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลย

พระอริยสาวกทั้งหลายที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ล้วนเป็นผู้อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกมาแล้วทั้งนั้น เมื่อปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อม ก็ทำให้ท่านเหล่านั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ได้ แม้แต่ท่านพระกุลลเถระ ก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่ตัวท่านหรือที่ภายนอกก็ตาม ล้วนเสมอกันโดยความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรแก่การติดข้องยินดีพอใจ ทำให้ท่านละคลายความติดข้องยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ มีปัญญาเจริญขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น ก็เพราะได้สะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกมาแล้วนั่นเอง โดยที่ไม่ได้มีตัวตนไปทำอะไรที่ผิดปกติเลย เพราะปัญญา ไม่ทำให้ผิดปกติ แต่ที่ทำให้ผิดปกติก็คือความเห็นผิดและความไม่รู้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

มีสถานที่บางแห่ง นำซากศพจริงๆ มาพิจารณากัน เพื่อให้เห็นความเป็นจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นการพิจารณาที่ถูกต้อง หรือมีสิ่งใดเป็นข้อสังเกตหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

หากนำซากศพมา แต่ยังไม่มีความเข้าใจพื้นฐานว่า ธรรมคืออะไร ก็พิจารณาเป็นเรื่องราว และก็ไม่รู้สภาพจิตในขณะนั้นครับว่าเป็นจิตอะไร เพราะไม่มีปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตตนเอง ซึ่งหากไม่มีปัญญาแล้ว แทนที่จะเป็นความสงบของจิตที่เป็นกุศล แต่ก็เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นอนิฏฐารมณฺ์ รูปที่ไม่ดีได้อย่างรวดเร็ว คืออกุศลที่เป็นโทสะ แม้ความขุ่นใจเพียงเล็กน้อยก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วครับ เพราะเป็นผู้หนาด้วยกิเลส ย่อมไหลไปในอกุศลได้ง่าย เมื่อเห็นรูปที่ไม่ดี ดังนั้น หากเริ่มจากความต้องการที่อยากสงบ (โลภะ) จึงนำสิ่งนั้นมาพิจารณาโดยไม่มีปัญญาเบื้องต้นเลย และอารมณ์คือการพิจารณา ป่าช้าเก้า ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาสะสมมามากแล้ว ไม่ใช่เพียงอ่านอารมณ์ของสมถภาวนา แล้วจะนำมาพิจารณาได้ เพราะสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา จะต้องเริ่มจากการเห็นโทษของกิเลสและรู้ลักษณะของความสงบ คือกุศลในชีวิตประจำวัน และรู้ลักษณะของอกุศลในชีวิตประจำวัน จึงจะอบรมสมถภาวนาได้ จึงเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมดครับ

แม้แต่ท่านพระสารีบุตร เคยให้ศิษย์ของท่านพิจารณาความเป็นอสุภะ แต่ศิษย์ของท่านก็ไม่ได้ความสงบแห่งจิต เพราะไม่ถูกกับอัธยาศัยของศิษย์ที่สะสมมาครับ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกศิษย์ของพระสารีบุตรมา และรู้การสะสมว่าเขาเคยเป็นช่างทองมาก่อน จึงบันดาลดอกไม้ทองและก็ค่อยๆ ให้แห้งเหี่ยว ภิกษุรูปนั้นพิจารณาตาม ด้วยสะสมปัญญามาแล้วในอดีตชาติและอารมณ์เหล่านี้ก็ถูกกับอัธยาศัยที่สะสมมา จึงบรรลุคุณธรรมครับ

ดังนั้น สมัยนี้ ไม่ต้องกล่าวถึง การเทียบเท่าปัญญาของพระสารีบุตร ที่จะรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกได้จริง ดังนั้น จึงไม่ใช่การนำอารมณ์ที่ผู้พิจารณายังไม่เข้าใจพื้นฐานของการอบรมปัญญามาให้พิจารณา แทนที่จะสงบก็เป็นอกุศลเกิดได้โดยไม่รู้ตัวครับ ดังนั้น ไม่ต้องถึงซากศพหรอกครับ เพียงรูปที่ปรากฎทางตาในชีวิตประจำวันที่กำลังเห็นอยู่ แม้เพียงรูปที่ไม่ดี ที่ไม่ถึงซากศพก็เป็นอกุศลแล้วโดยไม่รู้ตัว และก็ไม่ได้พิจารณาหรือมีสติปัญญารู้ความจริงในขณะนั้นเลย จะกล่าวไปไยเมื่อเห็นซากศพที่เป็นอารมณ์ที่ไม่ดีมากๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

เป็นเรื่องที่ละเอียดมากเลยครับ การไม่ได้ศึกษานัยของพระธรรมโดยละเอียด เมื่อได้อ่านพระสูตรแต่ละเรื่องแล้วก็นำมาทำตามๆ กันไป โดยขาดความเข้าใจจริงๆ ย่อมเป็นการปฏิบัติที่ไม่ตรง ไม่อาจทำให้เกิดกุศลจิตจริงๆ ได้ทีเดียว

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pat_jesty
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

การศึกษาธรรมควรพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้ง รอบคอบ รอบด้าน เพราะต้องสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอประทานโทษนะครับ

คำภาษาบาลีที่ปรากฏในกระทู้

ธัมมะตาสัง คะเหตฺวานะ ญาณะทัสสะนะปะฏิปัตติยา ปัจจะเวกขิง อิมัง กายัง ตุจฉัง อันโตพะหิรังฯ

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม ๒๖ ข้อ ๓๕๐ ปรากฏข้อความ เป็นดังนี้ (วางรูปเป็นฉันท์)

ธมฺมาทาส คเหตฺวาน าณทสฺสนปตฺติยา

ปจฺจเวกฺขึ อิม กาย ตุจฺฉ สนฺตรพาหิรฯ

เขียนแบบคำอ่าน เป็นดังนี้

ธัมมาทาสัง คะเหตวานะ ญาณะทัสสะนะปัตติยา

ปัจจะเวกขิง อิมัง กายัง ตุจฉัง สันตะระพาหิรังฯ

พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลไว้ว่า

เราได้ถือเอาแว่นธรรมแล้วส่องดูร่างกายอันไร้ประโยชน์ ทั้งภายในและภายนอกนี้ เพื่อการบรรลุญาณทัสสนะ

อรรถกถาอธิบายไว้ว่า

บทว่า ธมฺมาทาส ได้แก่ แว่นอันล้วนแล้วด้วยธรรม. เหมือนอย่างว่า สัตว์ทั้งหลายเห็นคุณและโทษ ที่หน้าหรือกายของตน ด้วยแว่น ฉันใด วิปัสสนาญาณอันเป็นเหตุให้พระโยคาวจรเห็นตามเป็นจริงซึ่งธรรม คือความเศร้าหมอง และความผ่องแผ้ว ในอัตภาพก็ฉันนั้น ท่านเรียกว่าธรรมาทาส แว่นธรรมในที่นี้. ทำวิปัสสนาญาณนั้นให้เกิดขึ้นในสันดานขอองตน เพื่อบรรลุถึงญาณทัสสนะ คือดวงตาเห็นธรรม กล่าวคือมรรคญาณ.

บทว่า ปจฺจเวกฺขึ อิม กาย ความว่า เราได้พิจารณาโดยเฉพาะ คือเห็นด้วยญาณจักษุ ซึ่งกรัชกายนี้ ชื่อว่าไร้ประโยชน์ เพราะเว้นจาก ความเที่ยงและแก่นสาร ชื่อว่า ทั้งภายในและภายนอก เพราะจำแนก ออกเป็นสันดานตนและสันดานคนอื่น.

ในการศึกษาพระธรรม ผู้รู้ท่านว่า พึงอ้างพยัญชนะและอรรถะ ให้ตรงตามหลักฐานส่วนความเข้าใจในพยัญชะและอรรถะนั้น ย่อมแล้วแต่สติปัญญาของผู้ศึกษา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peem
วันที่ 22 ส.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 เม.ย. 2562

กราบอนุโมทนาขอบคุณวิทยากรทั้งสองท่าน และผู้ร่วมสนทนา

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ และเป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้ศึกษาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนานำมาถ่ายทอดให้เข้าใจถูกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ