รู้ถูกต้อง ทำถูกต้อง ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
สัจจญาณ ใน ทุกขสัจ คือ รู้ความจริง ได้แก่ การศึกษาเรียนรู้จนเข้าใจในขันธ์ ๕ รวมเรียกว่า "รูปและนาม" อย่างแจ่มแจ้งว่า "รูปขันธ์ตั้งแต่หัวจรดเท้าของทั้งเทวดาและมนุษย์เป็นกองแห่งความทุกข์ ไม่มีอะไรอื่นอีกนอกจากความทุกข์" ความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งอย่างนี้นี่แหละ เรียกว่า "สัจจญาณ รู้ถูกต้อง" หรือ ญาตปริญญา กล่าวคือ รู้แจ่มแจ้งในขันธ์ ๕ นี้ว่าอาการหนัก แข็ง หยาบ กระด้าง เบา อ่อน นิ่ม เป็นปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาการซึมซับ เอิบอาบ แตกแยก เกาะกุม เป็นอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) อาการเย็น ร้อน อุ่น หนาว เป็นเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) อาการเจ็บ ปวด เต้น ตอด เหน็บ ซ่าน โยก คลอน ไหว นิ่ง เป็นวาโยธาตุ (ธาตุลม) หากอาการใดเกิดขึ้นมาก็ใช้สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะพิจารณาว่าเป็นอนัตตา มิใช่ของเรา การกระทำอยู่อย่างนี้ เรียกว่ากิจจญาณหรือตีรณปริญญา ทำถูกต้องหรือพิจารณาถูกต้อง" ทุกขสัจจะ กตญาณ คือ การเห็นและพิจารณาจนเข้าใจว่า "รูปนามหรือขันธ์ห้าที่เกิดดับๆ อยู่นี้เป็นอนัตตา" เป็นกตญาณ คือ รู้ว่า "ได้ทำในสิ่งอันถูกต้องแล้ว" สัจจญาณในสมุทยสัจ คือ ความรู้อันถูกต้อง กล่าวคือการรู้ว่า "การได้มาซึ่งขันธ์ห้านี้ เป็นเพราะ ตัณหา คือ โลภะ มานะ และอัตตทิฏฐิ" ความอยากได้ในสิ่งสมมติหรือบัญญัติทั้งหมดเรียกว่า "โลภะ" ความเย่อหยิ่งจองหองว่า "เรามี" เช่น เรามีฐานะ เรามีบริวาร เรามีสติปัญญาความรู้ความสามารถ เรามีลูก เรามีสามีภรรยา เป็นต้น เรียกว่า "มานะ" ความยึดถือว่า "ตัวกู ของกู" เรียกว่า "อัตตทิฏฐิ" ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เรียกว่า "สมุทยสัจจญาณ ความรู้ถึงความจริงอันเป็นสาเหตุ" ในขณะที่สมุทยสัจ คือ โลภะ มานะ อัตตทิฏฐิเกิดขึ้นมานั้น การใช้สัมมาทิฏฐิเห็นสภาวะที่เป็นอนัตตา และสัมมาสังกัปปะคิดพิจารณาวางอัตตาทุกๆ ขณะจิต การเห็นและพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่า "สมุทยปหานปริญญา" หรือเรียกว่า "กิจจญาณ" ก็ได้ "มรรคญาณ" ก็ได้ ในขณะที่สัมมาทิฏฐิเห็นอัตตาอยู่และสัมมาสังกัปปะก็พิจารณาว่าเป็นอนัตตาอยู่นั้น มรรคญาณก็จะเกิดขึ้นมาตัดอัตตทิฏฐิขาดสะบั้นลงไปนั้น เรียกว่า "กตญาณ หรือผลญาณ" สัจจญาณในนิโรธสัจ คือ การที่สมุทัยอันเป็นตัวเหตุดับลงไปแล้วสงบเย็นอยู่นั้นเรียกว่า "กิเลสนิโรธ" การที่ขันธ์ห้าดับสงบลงนั้นเรียกว่า "ขันธนิโรธ" การศึกษาจนเข้าใจในความเป็นจริงอันถูกต้องนั้นเรียกว่า "นิโรธสัจจญาณ" หรือความรู้ถึงความจริงว่า "กิเลส ได้ดับสงบเย็นลงไปแล้ว" เป็นนิโรธสัจจกตญาณ สัจจญาณในมรรคสัจ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นรูปธาตุ นามธาตุที่เป็นสภาพแห่งอนัตตา สัมมาสังกัปปะ ความพิจารณาว่ารูปและนามนี้เป็นอนัตตา การเห็นและพิจารณาในรูปนาม ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง อย่างนี้นี่แหละเรียกว่า "สัจจญาณ ญาณรู้ความจริง" กิจจญาณในมรรคสัจ คือ การใช้สัมมาทิฏฐิ เห็นจดจ่ออยู่ที่มโนวิญญาณธาตุและที่เวทนา ซึ่งเป็นนามทั้งสองประการนี้ ที่นี้ ธาตุภายในรูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และตรงที่จิตก็เกิด อุทธัจจะ กุุกกุจจะ - ความฟุ้งซ่าน และเกิด กามวิตก - ความคิดนึกไปในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อยู่ โดยผลัดเปลี่ยนกันเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง
ในบรรดาสิ่งเหล่านี้ สิ่งไหนเกิดขึ้นมาก็ตาม จะมาปรากฏที่มโนวิญญาณธาตุและเวทนานี้เอง ทีนี้ ก็ให้ใช้สัมมาทิฏฐิสังเกตดูให้เห็นสภาพความเป็นอนัตตาของรูปนาม ในขณะที่รูปนามเกิดขึ้นมาให้สัมมาทิฏฐิเห็นอยู่อย่างนั้น ให้ใช้สัมมาสังกัปปะพิจารณาว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ ในขณะที่ดูและพิจารณาอยู่อย่างนี้ เรียกว่า "กิจจญาณ ความรู้ในสิ่งที่ควรทำ" ช่วงแห่ง "มัคคสัจจกตญาณ คือ ในช่วงเวลาที่เห็นรูปนามเป็นสภาพแห่งอนัตตาและพิจารณาว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา" อยู่นั้น ทีนี้อัตตาตัวตนก็หลุดออกไปเกิดอนัตตาขึ้นมาแทนที่ นี่แหละเรียกว่า "มัคคสัจจกตญาณ" หรือเรียกว่า "มรรคญาณ" อริยสัจ ๔ ประการนี้ หากกล่าวให้เข้าใจง่าย มี ๑๒ คำ คือ
๑. รู้ถูกต้อง ๒. ทำถูกต้อง ๓. ทำถูกต้องเสร็จแล้ว
๑. รู้ถูกต้อง ๒. วางถูกต้อง ๓. วางถูกต้องเสร็จแล้ว
๑. รู้ถูกต้อง ๒. บรรลุถึงสิ่งที่ถูกต้อง ๓. บรรลุถึงสิ่งที่ถูกต้องเสร็จแล้ว
๑. รู้ถูกต้อง ๒. เจริญถูกต้อง ๓ เจริญถูกต้องเสร็จแล้ว
สัจจะ ๔ ประการนี้เกิดขึ้นในวิถีเดียวกัน ไม่มีการประวิงรอคอยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในวันนี้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้ การปฏิบัติที่ได้ผล คือ "หา เห็น ตัด ถึง" หา สัมมาสังกัปปะ เป็นผู้หา เห็น สัมมาทิฏฐิ เป็นผู้เห็น ตัด มรรคญาณ เป็นผู้ตัดอัตตา ถึง เป็นผลญาณฯ
ธัมมสากัจฉา ช่วงเย็นครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง โดยพิจารณาให้ตรงตามพุทธวจน เป็นสำคัญครับ การจะดับกิเลสได้ ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริง ดังนั้น การรู้ความจริงในอริยสัจ ๔ ก็เป็นปัญญาเช่นกัน การถึงการดับกิเลสได้ ก็ต้องเป็นปัญญา เข้าใจอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้อง แจ่มแจ้ง ซึ่งปัญญาในการรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง มี ๓ ซึ่งมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก คือสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ
สัจจญาณ คือ ปัญญาที่รู้ความจริงในอริยสัจ ๔ เช่น รู้ว่านี้ทุกข์ รู้ด้วยปัญญา ด้วยความมั่นคง ว่า ทุกข์ คือสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงความปวดเมื่อยเท่านั้น แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่เกิดขึ้นและดับไป ปัญญาที่รู้ความจริงในความเป็นทุกขอริยสัจ เป็นสัจจญาณ แต่สัจจญาณจะมีได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม จนปัญญามั่นคง เห็นถูกว่า สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้เองที่เป็นทุกข์ นี่คือสัจจญาณในทุกขอริยสัจ และปัญญาที่รู้ความจริงในสมุทยสัจจะ ว่าเป็นอย่างนี้ คือรู้ตัณหา โลภะ ตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนี้ โดยสัจจะอื่นๆ ก็โดยนัยเดียว คือรู้ในพระนิพพานในขั้นการฟังตามความเป็นจริงและรู้ในหนทางดับทุกข์ คืออริยมรรค ตามความเป็นจริงครับ นี่คือสัจจญาณ ปัญญาในอริยสัจ ๔ ซึ่งสัจจญาณก็มีหลายระดับ ตามระดับปัญญา
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
กิจจญาณ คือ ปัญญาที่รู้หน้าที่ กิจที่ควรทำในอริยสัจ ๔ เช่น ปัญญาที่รู้ว่าทุกขอริยสัจควรกำหนดรู้ รู้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ควรกำหนดรู้ รู้ด้วยปัญญา ที่สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงในขณะนี้ของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ดั้งนั้น จึงไม่มีเราที่ไปกำหนดรู้ แต่เป็นหน้าที่ของปัญญาว่าทุกข์ควรกำหนดรู้ คือปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมนั่นเอง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมและปัญญาที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณ เป็นต้น เป็นกิจจญาณในทุกขอริยสัจ
ปัญญาที่รู้กิจหน้าที่ใน สมุทยสัจจะ ว่า โลภะเป็นสิ่งที่ควรละด้วยปัญญาระดับสูงเป็นกิจจญาณในสมุทยสัจจะ ปัญญาที่รู้ความจริงในนิโรธสัจจะ คือรู้ความจริงว่าควรทำให้แจ้ง ให้ถึงพระนิพพาน ด้วยปัญญาระดับสูง เป็นกิจจญาณในนิโรธสัจจะ
ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่าหนทางในการดับกิเลส คือสติปัฏฐาน ๔ อริยมรรคควรเจริญ ควรอบรมให้มาก ปัญญารู้เช่นนี้ เป็นกิจจญาณในอริยสัจข้อสุดท้ายที่เป็นหนทางดับกิเลสครับ นั่นคือ มรรคอริยสัจจะ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
กตญาณ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งในกิจ ที่ได้ทำแล้วในอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง อันหมายถึงการบรรลุธรรม ดับกิเลสได้นั่นเองครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...
ดังนั้น ปัญญา ๓ ระดับ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ในอริยสัจ ๔ จึงหมายถึง การวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ ปัญญาที่ สัจจญาณ รู้ในอริยสัจ ๔ ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (สัจจญาณ x อริยสัจ ๔ = ๔) การจะถึงปัญญา ๓ ระดับตามที่กล่าวมาในอริยสัจ ๔ นั้น ที่สำคัญต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมในหนทางที่ถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากขั้นการฟังว่าขณะนี้เป็นธรรม การรู้ความจริงก็ต้องรู้ขณะนี้ ขณะนั้นกำลังอบรมสัจจญาณ ความมั่นคงในการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นทุกขอริยสัจ
ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วงเรื่องของชื่อปัญญา เพียงแต่อบรมเหตุคือการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ธรรมจะทำหน้าที่ ปัญญาเจริญขึ้น สัจจญาณก็เจริญขึ้นตามลำดับ และย่อมทำให้ถึงปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมด้วยการประจักษ์แจ้งความเป็นามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นกิจจญาณและถึงการดับกิเลส บรรลุธรรมอันเป็นกตญาณได้ครับ ซึ่งก็ไม่พ้นจากการรู้ความจริงในขณะนี้เลยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยะ ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลสตามลำดับขั้น เป็นสัจจะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสัจจะ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ว่าโดยประเภทแล้ว มี ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค,
ทุกข์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เกิดแล้วย่อมดับไป เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และรูป เลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา
สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ นี้ก็เพราะตัณหา ตราบใดที่ยังมีตัณหา ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดการตายอย่างไม่จบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น
นิโรธ เป็นความดับทุกข์ ดับกิเลส ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลส ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์อย่างสิ้นเชิง ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้น,
มรรค เป็นหนทางอันประเสริฐที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นต้น อันเป็นทางอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวก ดำเนินไปแล้ว ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยบุคคล
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อริยสัจจ์ หมายถึง สิ่งที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่เบื้องต้นจริงๆ มั่นคงในความเป็นจริง ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพราะสิ่งที่มีจริงนั้นไม่พ้นจากขณะนี้เลย ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม จะต้องอาศัยการฟัง การศึกษา ฟังในสิ่งที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เป็นสัจจญาณ เมื่อไม่มีปัญญาในขั้นนี้แล้ว การที่จะไปถึงปัญญาขั้นต่อไปที่เป็นการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมและรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะมีไม่ได้
ทั้งหมดทั้งปวงนั้นไม่ว่าจะเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมดครับ
..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...