สมาธิ สติ

 
debit_a
วันที่  25 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20236
อ่าน  7,227

๑. สมาธิ สามารถฝึกได้ใช่มั้ย โดยการเพ่ง เช่น เพ่งลมหายใจ ส่วน สติ ไม่จำเป็นต้องฝึกใช่มั้ยคะ คือทำตัวตามปกติ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมที่จะระลึก สติก็จะเกิดเองใช่มั้ยคะ คือบางทีต้องการความสงบของจิต ก็คือทำสมาธิใช่มั้ยคะ

๒. แล้วอย่างพระอริยะสมัยพุทธกาล เช่น พระนางพิมพา พระพุทธเจ้าตรัสกรรมฐานให้ สงสัยว่าสมถกรรมฐาน เจริญไปสู่วิปัสสนาอย่างไรคะ หรือ ได้มั้ยคะ หรือว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. สมาธิ สามารถฝึกได้ใช่มั้ย โดยการเพ่ง เช่น เพ่งลมหายใจ ส่วน สติ ไม่จำเป็นต้องฝึกใช่มั้ยคะ คือทำตัวตามปกติ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมที่จะระลึก สติก็จะเกิดเองใช่มั้ยคะ คือบางทีต้องการความสงบของจิต ก็คือทำสมาธิใช่มั้ยคะ

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต ซึ่งหากศึกษาโดยความละเอียดแล้ว สมาธิ องค์ธรรม คือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่แสดงถึงลักษณะของความตั้งมั่นในขณะนั้น ซึ่งเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้น เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ครับ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสมาธิอยู่แล้ว ไม่ต้องฝึก เพราะเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภทและทุกขณะ เป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะนั่นเอง จึงไม่ต้องฝึกก็มีสมาธิชั่วขณะอยู่แล้วครับ และที่สำคัญ เราจะต้องแยกคำว่า สมาธิ กับ การเจริญสมถภาวนา ออกจากกันครับ คือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว สมาธิ เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล ดังนั้น จึงมีความตั้งมั่นที่เป็นไปในอกุศลก็มี เรียกว่า มิจฉาสมาธิ และมีความตั้งมั่นที่เป็นไปในกุศลก็มี ที่เรียกว่าสัมมาสมาธิครับ ดังนั้น หากกล่าวคำว่า สมาธิ จึงไม่ได้ตัดสินเลยทันทีครับว่า เมื่อมีสมาธิแล้ว จะเป็นสิ่งที่ดีครับ

ส่วนถ้าเป็นสมถภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญความสงบ ความสงบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสงบคือสมาธิ ความไม่คิดฟุ้งซ่านมีสมาธิจะเป็นความสงบนะครับ แต่ความสงบในที่นี้ มุ่งหมายถึงสงบจากกิเลส คือเป็นกุศลในขณะนั้นนั่นเอง ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการเจริญสมถภาวนา จึงมุ่งหมายถึงการเจริญความสงบที่เป็นฝ่ายกุศลเท่านั้นครับ คือเจริญความสงบ คือเกิดกุศลนั้นบ่อยๆ จนมีความตั้งมั่นในกุศล เป็นสัมมาสมาธิในขณะนั้นและก็เป็นความสงบที่เป็นกุศลด้วยครับ

สมาธิและสมถภาวนา จึงแยกกันตามที่กล่าวมา ซึ่งการระลึกรู้ลมหายใจ จึงไม่ใช่เรื่องของการฝึกสมาธิ แต่เป็นการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาด้วยในการะลึกรู้ลมหายใจ และต้องเป็นปัญญาระดับสูงมากในการระลึกรู้ลมหายใจครับ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปไหนไกล เริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานทีละเล็กละน้อย แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไร ให้เข้าใจครับ ก็จะค่อยๆ เข้าใจหนทางที่ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ส่วน สติ คือสภาพธรรมฝ่ายดี ทำหน้าที่ระลึก เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น สติก็เกิดร่วมด้วยเสมอครับ ดังนั้น สติไม่ต้องฝึก สมาธิก็ไม่ต้องฝึก แต่อาศัยการฟังพระธรรม ค่อยๆ เข้าใจธรรมจะทำหน้าที่เจริญขึ้นเอง แม้ไม่ใช้คำว่าฝึกหรือจะทำ แต่ธรรมเกิดแล้ว เจริญแล้วตามความเข้าใจพระธรรมที่เพิ่มขึ้นหรือตามปัญญาที่เพิ่มขึ้นครับ

ส่วนคำถามที่ว่าบางทีต้องการความสงบของจิต ก็คือ ทำสมาธิ ใช่มั้ยคะ

ตามที่กล่าวแล้ว ความสงบของจิต ต้องสงบจากกิเลส คือกุศลธรรมเกิดขึ้นและเจริญบ่อยๆ เป็นเรื่องของการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การทำสมาธิครับ และขณะที่ต้องการสงบ ขณะนั้นไม่สงบ เพราะมีความต้องการ คือโลภะเกิดขึ้น โลภะเป็นอกุศลจะสงบไม่ได้เลยครับ * * *

๒. แล้วอย่างพระอริยะสมัยพุทธกาล เช่น พระนางพิมพา พระพุทธเจ้าตรัสกรรมฐานให้ สงสัยว่าสมถกรรมฐาน เจริญไปสู่วิปัสสนาอย่างไรคะ หรือ ได้มั้ยคะ หรือว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย ขอบคุณค่ะ

สมถกรรมฐาน ก็คือสมถภาวนา นั่นเองครับ สมถกรรมฐาน ก็คือ การเจริญความสงบหรือการเจริญกุศลธรรม จนแนบแน่นได้ถึงฌาน เป็นต้น แต่สมถภาวนาไม่ใช่หนทางดับกิเลส เพียงข่มกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่เป็นฌานเท่านั้นครับ และเมื่อออกจากฌาน กิเลสก็เกิดขึ้นอีกได้เป็นธรรมดาครับ ซึ่งก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ ก็มีการเจริญสมถภาวนาอยู่แล้ว แต่เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติ ทรงแสดงว่าสมถภาวนา ไม่ใช่หนทางดับกิเลส เพราะพระองค์ตรัสรู้ความจริง คือหนทางดับกิเลส ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา คือเจริญอริยมรรค ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ดังนั้น ผู้ที่เจริญสมถภาวนา แต่ไม่มีความเข้าใจวิปัสสนา หนทางดับกิเลส แม้จะได้ถึงฌานสูงสุด ก็ไม่สามารถดับกิเลสและนำไปสู่วิปัสสนาได้เลย เพราะวิปัสสนาและสมถภาวนาแยกกัน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ เป็นคนละเรื่องกันครับ แต่ถ้าเป็นผู้มีความเข้าใจเรื่องการเจริญวิปัสสนา มีการเจริญวิปัสสนาอยู่แล้ว ผู้ที่มีปัญญามาก ท่านก็เจริญสมถภาวนาด้วย ซึ่งจิตที่เป็นฌานที่เป็นสมถภาวนาเป็นอารมณ์หรือเป็นสิ่งที่ให้สติและปัญญาที่เป็นวิปัสสนา รู้ความจริงได้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาครับ

ที่เรามักได้ยินคำว่า เอาสมถภาวนามาเป็นบาทวิปัสสนา ไม่ใช่หมายถึงต้องเจริญสมถภาวนาก่อนแล้วถึงเจริญวิปัสสนา แต่ความหมายคือสมถภาวนาที่เจริญอยู่ ก็ต้องมีจิต จิตที่เป็นสมถภาวนาอยู่นั้นเป็นอารมณ์หรือเป็นที่ตั้งให้สติและปัญญาของวิปัสสนาได้ครับ

ดังนั้น ถ้าหากขาดการศึกษาขั้นการฟังในเรื่องของสภาพธรรม ในส่วนของการเจริญวิปัสสนาแล้วก็ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้เลย แม้จะเจริญสมถภาวนามากเพียงไรก็ตามครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
debit_a
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอบคุณค่ะ มันเป็นคนละความหมาย คือเจริญสมถะกลับได้มิจฉาก็ได้ อย่างนี้เราก็ทำควบคู่ไปก็ได้ใช่มั้ยคะ แต่ต้องเป็นความสงบจริงๆ คือบางทีทำแล้วมันฟุ้งซ่าน สักพักมันก็กลับมาอยู่ที่ลมอัตโนมัติ เมื่อเห็นความฟุ้งซ่าน


คือบางทีเรากำลังบ่น อยู่ดีๆ มันก็เห็นว่าอกุศลเกิดขึ้น คำที่เราบ่นก็หยุดทันที แบบไม่ได้บังคับเลย หรือบางที ฟังธรรมบ่อยๆ แล้วรู้สึกว่าเห็นอกุศลธรรมบ่อยขึ้น หรือบางที นั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์อยู่ อยู่ดีๆ ก็เห็นกาย (รูป) นี้เป็นก้อนๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นว่าไม่มีเรา มีแต่ก้อนๆ หรือท่อน อย่างนี้มันใช่สติระลึกสภาพธรรมรึเปล่าคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หนทางเดียวที่จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงนั้น ต้องฟังพระธรรม ต้องศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความตั้งใจจริงๆ เพราะพระธรรมทั้งหมดนั้นแสดงให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง และสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาในการที่จะรู้ธรรม ต้องเป็นปกติจริงๆ ไม่ใช่ผิดปกติ แม้แต่ในเรื่องของสมาธิก็เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จะไม่เข้าใจผิดเลย จะไม่เข้าใจผิดว่าสมาธิเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ

สำคัญที่ความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ เพราะเหตุว่า สมาธิ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ซึ่งถ้าไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตนด้วยความจดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่การอบรมความสงบของจิต แต่เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส พอกพูนสังสารวัฏฏ์ให้ยืดยาวต่อไป ส่วนสมาธิที่เป็นกุศลก็มี เพราะสมาธิ เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกประเภท (เอกัคคตาเจตสิก) ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับอกุศล (ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง) เป็นอกุศลสมาธิหรือเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลสมาธิ

สำหรับสติ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามเท่านั้น จะไม่เกิดกับจิตชาติอกุศลเลย สติเป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น บังคับให้สติเกิดก็ไม่ได้ ถ้าเป็นผู้ได้สะสมกุศล เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม กุศลจิตเกิดขึ้น นั่นมีสติเกิดร่วมด้วยแล้ว แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานที่เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องมีพื้นฐานมาจากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ จึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดได้ ซึ่งในขณะที่สติปัฏฐานเกิดนั้น สติก็มี ปัญญาก็มี สมาธิก็มี รวมไปถึงสภาพธรรมที่ดีงามอื่นๆ ด้วย

พระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน (วิปัสสนา) ระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยการได้ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ไม่รู้อะไรแล้วไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน แม้ว่าท่านเหล่านั้น (บางท่าน) จะได้อบรมเจริญสมถภาวนาด้วย ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงในความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะฌานจิตและองค์ฌานทั้งหลาย มี วิตักกะ วิจาระ เป็นต้น เป็นธรรมที่มีจริง ก็เป็นที่ตั้งที่จะให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจตามความเป็นจริง ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ได้ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเริ่มที่การฟัง การศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ธรรมทุกคำมีค่ามาก ถ้ามีความตั้งใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาด้วยความจริงใจแล้ว ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ทุกอย่าง เจริญอบรมได้ ถ้ามีความเห็นถูกเป็นเบื้องต้น คือมีปัญญา ความเข้าใจเป็นเบื้องต้น ดังนั้น การอบรมสมถภาวนา ผู้ที่อบรม คือเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน แม้แต่โลภะ คือความยินดีพอใจ ได้ในสิ่งที่ดีก็ติดข้อง ก็เห็นโทษที่จะละ แต่ไม่ใช่เพราะอยากได้ความสงบ ไม่อยากจะวุ่นวาย เป็นต้น อยากจะสงบ นั่นก็เป็นโลภะ ความต้องการที่อยากจะสงบ ก็เริ่มจากความไม่สงบ ก็ไม่สามารถถึงความสงบได้เลยครับ ไม่เป็นสมถภาวนา

ดังนั้น การอบรมสมถภาวนา ต้องเริ่มจากการเห็นโทษของกิเลสและก็ต้องมีปัญญาที่รู้ความจริงว่าขณะไหนเป็นกุศล เป็นอกุศล ไม่เช่นนั้น เราก็ไม่รู้เลยว่าขณะที่กำลังทำอยู่ เป็นกุศลหรือไม่ อกุศลหรือไม่ครับ

สมถภาวนาจึงเป็นเรื่องของปัญญาตั้งแต่ต้น และการอบรมปัญญาที่เป็นสมถภาวนา ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ไปตามรู้ลมหายใจครับ เพราะเราสำคัญว่าถ้าขณะที่รู้ลมหายใจ จิตไม่คิดเรื่องอื่นคือไม่ฟุ้งซ่าน คือความสงบ เราต้องแยกระหว่างสมาธิกับความสงบ สงบในที่นี้คือสงบจากกิเลส คือเป็นกุศล ขณะที่รู้ลมหายใจที่เป็นสมถภาวนา

คำถาม คือ ขณะที่จิตไม่ซัดส่ายไปเรื่องอะไร ขณะนั้นปัญญารู้อะไร หากว่ามันนิ่งไม่คิดเรื่องอื่นแต่ก็ไม่รู้อะไรเพิ่มเติม ไม่มีความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นว่าขณะนั้นรู้อะไร ก็แสดงว่าไม่ใช่การเจริญสมถภาวนาแล้วครับ แม้จะกล่าวว่าตามรู้ลมหายใจอยู่ เพราะต้องเป็นเรื่องของปัญญา และขณะที่มีสมาธิ ไม่ได้หมายความว่าสงบครับ เพราะสมาธิ เกิดกับอกุศลก็ได้ การไม่ฟุ้งซ่านจึงไม่ใช่ตัววัดว่าเป็นกุศลครับ ที่เป็นความสงบที่เป็นสมถภาวนา สำคัญคือขณะนั้น ปัญญารู้อะไรครับ

และขณะที่สงสัยว่าใช่สติหรือไม่ นั่นแสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะถ้าเป็นปัญญาเกิด ขณะนั้นจะไม่สงสัยในขณะนั้น เพราะในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงสติเกิดเท่านั้น ต้องมีปัญญาด้วย คือปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ขอให้กลับไปสู่ความเข้าใจเบื้องต้น ไม่ต้องทำ แต่เริ่มจากการฟังพระธรรมเบื้องต้น แม้แต่คำว่าธรรมคืออะไร ช้า แต่เริ่มถูกดีกว่า เร็ว แต่ไม่เข้าใจและสงสัยเพิ่มขึ้นสิ่งที่ทำครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
debit_a
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอบคุณค่ะ เข้าใจมากขึ้นเลยค่ะ เหมือนช่วยให้เราตรงขึ้นในพระธรรมมากกว่าเดิม ^ ^ คือขณะนั้นไม่สงสัยค่ะ อยู่ดีๆ มันระลึก แต่มันสั้นมากๆ ๆ เหมือนมันเป็นลักษณะสภาพที่ไม่มีคำอธิบาย แต่เมื่อไปเปิดพระไตรปิฎก แล้วอ่านความหมายก็ถึงทำให้เราเข้าใจสภาพนี้ เหมือนกับว่าเราต้องมีศัพท์เพื่อช่วยให้เราเข้าใจในสภาพให้ตรงกัน เข้าใจประมาณนี้ค่ะ


แล้วในสมถะ จะมีสัมมาสมาธิเท่านั้น ถูกมั้ยคะ (ตามธรรมสังคณีปกรณ์) ส่วนวิปัสสนา จะมีสัมมาทิฏฐิ เท่านั้น ถูกมั้ยคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

สมถะ หมายถึง ความสงบ คือสงบจากกิเลส เป็นกุศล ซึ่งเมื่อเป็นการเจริญสมถภาวนา ก็ต้องเป็นการเจริญกุศล แต่ต้องประกอบด้วยปัญญา ดังนั้น ขณะที่เจริญสมถภาวนา ไม่ใช่มีเพียงสัมมาสมาธิ ที่เป็นความตั้งมั่นที่ชอบเท่านั้นครับ แต่มีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูก คือมีปัญญาด้วย ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนาแน่นอนครับ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวายามะ เพียรชอบ มีสัมมาสติ ระลึกชอบ และมีสัมมาสมาธิ แต่ก็ต้องแยกนะครับว่าสัมมาแต่ละข้อที่กล่าว ไม่ใช่ สัมมามรรคในการอบรมเจริญวิปัสสนา เพราะเป็นปัญญาคนละระดับขั้นครับ

ส่วนวิปัสสนา คือการเจริญอบรมปัญญาที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็มีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบที่เป็นปัญญา และก็มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ คือมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และมีสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ อย่างน้อย มี ๕ ประการครับ ดังนั้น จึงไม่ใช่มีเพียงสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ในขณะที่เจริญวิปัสสนา มีสติปัฏฐานเกิด เป็นต้นครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
debit_a
วันที่ 25 ธ.ค. 2554

ขอบคุณค่ะ ที่ช่วยขยายความให้อีกค่ะ พอดีเห็นในพระไตรปิฎก เขียนแค่ว่า

[๘๖๗] สมถะ เป็นไฉน?

ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ อันใด นี้เรียกว่า สมถะ.

วิปัสสนา เป็นไฉน?

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่าวิปัสสนา.


สงสัยอีกนิดค่ะ ว่าแล้วอย่างการจำได้ว่าของไว้ตรงโน้น ตรงนี้ ไม่ใช่เป็นสติที่ระลึกสภาพธรรม แต่เป็นความไม่ลืม เป็นสติคนละประเภทใช่มั้ยคะ ตามข้อความนี้ค่ะ

[๘๖๕] สติ เป็นไฉน?

สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติอันใด นี้เรียกว่า สติ.


คำว่า สติ กับ สตินทรีย์ โดยอรรถะ มีความหมายเดียวกันรึเปล่าคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

[๘๖๗] สมถะ เป็นไฉน?

ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ อันใด นี้เรียกว่า สมถะ.

วิปัสสนา เป็นไฉน?

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิอันใด นี้เรียกว่า วิปัสสนา.

สงสัยอีกนิดค่ะ ว่าแล้วอย่างการจำได้ว่าของไว้ตรงโน้น ตรงนี้ ไม่ใช่เป็นสติที่ระลึก สภาพธรรม แต่เป็นความไม่ลืม เป็นสติคนละประเภทใช่มั้ยคะ ตามข้อความนี้ค่ะ


- หากได้ศึกษาในส่วนพระอภิธรรม สติเจตสิก เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เกิดกับจิตที่ดีงาม ที่เป็น โสภณจิตเท่านั้น มีกุศลจิต เป็นต้น แต่จะไม่เกิดกับจิตที่ไม่ดี คืออกุศลจิตเลยครับ ดังนั้น การจำได้โดยนัยนี้ ว่าของวางไว้ตรงไหน เช่น จำได้ว่าวางปากกาไว้ตรงนี้ ขณะนั้น จิตเป็นกุศลหรือไม่ เพราะตามที่กล่าวมา คือสติเจตสิก จะต้องเกิดกับจิตที่ดีงาม มี กุศลจิต เป็นต้น ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย ซึ่งขณะที่เป็นกุศล คือขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ขณะที่จำได้ว่าของวางไว้ตรงไหน เป็นกุศลขั้นไหน ทาน ศีล สมถภาวนา วิปัสสนา

คำตอบ คือ ไม่ใช่กุศลขั้นไหนเลยครับ เพียงจำได้หมายรู้ว่าของวางไว้ตรงนี้ ดังนั้น ขณะนั้น ไม่ได้มีสติเกิดร่วมด้วย หรือแม่ค้า จำได้ว่า จะต้องใส่มะเขือกี่ลูก ในการทำแกงไก่ จำได้ว่ามีดวางไว้ตรงไหน จำได้ จะต้องใส่เครื่องปรุงเท่าไหร่ ถ้าเป็นเช่นนั้น แม่ค้าก็รวยกุศล คือกุศลเกิดบ่อยในขณะที่ทำแกงไก่ เพราะสติเกิดกับกุศลจิตครับ แต่การจำได้ ระลึกได้ ที่เป็นกุศล คือจำได้ ระลึกได้ที่จะทำกุศล เช่น เมื่อวานตั้งใจที่จะใส่บาตรกับพระภิกษุในวันพรุ่งนี้ พอถึงวันพรุ่งนี้ สติก็เกิด จำได้ ระลึกได้ ว่า วันนี้ต้องให้ทาน ใส่บาตร นี่คือ จำได้ ระลึกได้ ที่เป็นไปในทางกุศล จึงมีสติเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมก็ต้องโยงโดยทุกนัย ทั้งพระอภิธรรม และพระสูตร เพื่อความไม่เข้าใจผิดในพยัญชนะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แม้แต่การจำได้หมายรู้ที่เป็นเรื่องของสติครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

และจากคำถามต่อที่ว่า

[๘๖๕] สติ เป็นไฉน?

สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติอันใด นี้เรียกว่า สติ.

คำว่า สติ กับ สตินทรีย์ โดยอรรถะ มีความหมายเดียวกันรึเปล่าคะ


สติ และ สตินทรีย์ มีความแตกต่างกัน ดังนี้

สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกประเภท ทั้งกุศลขั้นทาน ศีล และภาวนา เช่น ขณะที่ให้ทาน ก็มีสติระลึกที่จะให้ เป็นสติขั้นทาน ขณะรักษาศีลหรืองดเว้นที่จะไม่ฆ่า ก็มีสติระลึกที่จะงดเว้นจากบาปใขณะนั้น เป็นสติขั้นศีล ขณะที่เจริญสมถภาวนา ขณะนั้น ก็มีสติ เช่น ระลึกเป็นไปในการระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธานุสสติ และขณะที่เจริญวิปัสสนา มีสติเกิดร่วมด้วย ระลึกเป็นไปในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่สติบางขั้น เป็นสตินทรีย์ และสติบางขั้น ไม่เป็นสตินทรีย์ สติที่เป็นกุศลขั้นทาน ศีล ไม่มีกำลัง ยังไม่แก่กล้า ไม่ใช่สตินทรีย์ เพราะไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาในการเจริญอบรมภาวนา แต่ถ้าเป็นสติในการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สตินั้นประกอบด้วยปัญญาระดับสูง สตินั้นจึงเป็นสตินทรีย์ เป็นใหญ่และมีกำลัง เพราะประกอบด้วยปัญญาและเป็นการเจริญภาวนาครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
debit_a
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

ขอบคุณค่ะ ขออนุโมทนา

สรุป คือ สติที่ทำให้ถึงพระนิพพาน คือต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญา (สตินทรีย์) ส่วนสติขั้นทาน ศีล เป็นสติที่ยังไม่ถึงขั้นที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนาระลึกสภาพธรรม ถูกมั้ยคะ


คือ เมื่อเช้าฟังวิทยุของมูลนิธิฯ ได้ยิน อ.เล่าเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ระลึกถึงเรื่องเงินที่มีคนไม่ได้คืนมา ผ่านมาเป็นสิบปี แล้วก็ระลึกได้ อย่างนี้มันเป็นสติขั้นไหนคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

จากที่ คุณ debit_a กล่าวมา ที่ว่า สรุปคือ สติที่ทำให้ถึงพระนิพพาน คือต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญา (สตินทรีย์) ส่วน สติขั้นทาน ศีล เป็นสติที่ยังไม่ถึงขั้นที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนาระลึกสภาพธรรม ถูกมั้ยคะ


- คุณ debit_a มีความเข้าใจถูกต้องแล้วครับ ในเรื่องสติ ตามที่กล่าวมา

ขออนุโมทนา ด้วยครับ ในความเห็นถูก


คือ เมื่อเช้าฟังวิทยุของมูลนิธิฯ ได้ยิน อ.เล่าเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ระลึกถึงเรื่องเงิน ที่มีคนไม่ได้คืนมา ผ่านมาเป็นสิบปี แล้วก็ระลึกได้อย่างนี้มันเป็นสติขั้นไหนคะ


- สำหรับเรื่องราวที่ได้ฟังมานั้น คือ ชายคนนี้เป็นพ่อค้า และก็มีคนนำใบเรียกเก็บเงินมาให้ ซึ่งใบเรียกเก็บเงินนั้น ขาดไป หนึ่งพันบาท แต่พ่อค้าคนนั้นก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร (ซึ่งที่จริงพ่อค้าคนนั้นจะต้องทักท้วงและจ่ายเพิ่มตามจริงอีกหนึ่งพันบาท) แต่พ่อค้าท่านนั้นก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร เวลาผ่านไปหลายปี พ่อค้าท่านนั้นก็ได้ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ได้ฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ หลายๆ ครั้งเข้า จนเวลาผ่านไป ๑๐ ปี ท่านก็ระลึกได้ว่า ควรบอก ในสิ่งที่ตัวท่านยังไม่ได้ให้เงิน อีกหนึ่งพันบาท ท่านจึงเรียกคนที่ส่งใบเก็บเงินมา และบอกความจริงว่า ยอดใบเก็บเงินยังขาดไปอีกหนึ่งพันบาท ท่านผู้เก็บเงินดีใจมาก และกล่าวว่า เป็นผู้มีความจำดี เวลาผ่านไปหลายปียังจำได้ พ่อค้าท่านนั้นก็เลยจ่ายเงิน หนึ่งพัน คืนไปในส่วนที่ขาด

คำถาม คือ การที่พ่อค้าจำได้ และระลึกได้ว่าควรจ่ายส่วนที่เหลือ เป็นสติไหม

เป็นสติ เพราะ เป็นกุศลจิตที่คิดจะใช้ในส่วนที่ตัวเองติดไว้ เป็นการงดเว้นจากบาปที่ไม่ยอมคิดจ่ายตอนแรก เกิด หิริ โอตตัปปะ จึงจ่ายส่วนที่เหลือครับ ด้วยกุศลจิตนั่นเอง ก็สรุปว่า เป็นผู้มีสติในขณะนั้น โดยเป็นสติขั้นทานที่คิดจะให้ในขณะนั้นและขณะที่คิดที่จะงดเว้นจากการถือเอาทรัพย์ของคนอื่น ที่เป็นอทินนาทาน โดยการใช้คืน ก็เป็นสติขั้นศีลในขณะนั้นด้วยครับ ซึ่งอาศัยการฟังพระธรรมรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาและเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงเกื้อกูลต่อการเกิดสติที่ระลึกได้ในสิ่งที่ผ่านไปแล้วในทางกุศลธรรมครับ และสรุปว่า แต่การระลึกได้ในทางอกุศล ไม่ใช่สติครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
daris
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์ผเดิมเพิ่มเติมครับ จากข้อความของอาจารย์ในความคิดเห็นที่ 14 เกี่ยวกับพ่อค้าคนนั้นครับ

ถามว่า การกระทำนั้นของพ่อค้าคนนั้นถือเป็น อทินนาทาน หรือไม่ครับ?

A: คือ ๑๐ ปีก่อน จิตที่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น เป็นอกุศลจิต และได้มีการกระทำลงไปแล้ว คือไม่ทักท้วงเมื่อรู้ว่าตนยังติดเงินผู้ที่เรียกเก็บเงิน

ฺB: แต่ ๑๐ ปีให้หลังเกิดกุศลจิตระลึกได้ จึงนำเงินที่ติดไว้ไปคืน สงสัยว่าทั้งหมดเป็นอทินนาทาน หรือไม่?

๑. ถือว่า A + B เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ผลลัพธ์สุดท้าย คือ ไม่ได้มีการถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน แสดงว่า ไม่ใช่เป็นอทินนาทานหรือ

๒. ถือว่า A และ B เป็นคนละเหตุการณ์ คือเป็นจิตคนละขณะ เหตุการณ์ A สำเร็จลงแล้ว ได้ทรัพย์ที่ไม่ใช่ของตนมาแล้ว จบไปเป็นอทินนาทาน สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถ เหตุการณ์ B เป็นกุศลจิตขั้นทาน คือมีการให้ของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

ขอกราบขอบพระคุณครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่น, ท่านผู้ตั้งกระทู้ และจิต ที่เป็นกุศลของพ่อค้าคนนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 15 ครับ

เหตุการณ์ A คือ พ่อค้า หากมีเจตนาไม่จ่าย ทั้งๆ ที่รู้อยู่ โดยที่นำของๆ เขาไปแล้ว แต่เจตนาไม่จ่ายให้ครบ เท่ากับมีเจตนา ลักของเขา เพราะมีเจตนาจ่ายไม่ครบ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ก็มีเจตนาลักขโมยในขณะนั้น และก็ต้องดูที่ เจ้าของทรัพย์ ทราบหรือไม่ว่ายังติดอยู่หนึ่งพันตอนนั้น หากเจ้าของทรัพย์ไม่รู้ ไม่ได้มีเจตนาหวงแหนในทรัพย์นั้น คือหนึ่งพัน ก็ไม่ครบองค์กรรมบถครับ แต่ผู้เป็นพ่อค้า มีเจตนา ลักขโมย ทุจริตแล้ว แต่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ข้ออื่นตามที่กล่าวมาครับ ซึ่งหากครบองค์กรรมบถตามที่กล่าวมาก็เป็นอทินนาทาน ส่วนเหตุการณ์ B แต่ ๑๐ ปีให้หลัง เกิดกุศลจิตระลึกได้ จึงนำเงินที่ติดไว้ไปคืน

หากเหตุการณ์ A ครบองค์กรรมบถ ก็เป็นอทินนาทาน ภายหลัง เอาเงินไปคืน กรรมสำเร็จแล้ว ก็เป็นอทินนาทานไปแล้ว ส่วนการเอาเงินมาคืน ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กรรมบถในเหตุการณ์เมื่อครั้งก่อนหายไปเพราะการคืนเงิน เพราะกรรมสำเร็จไปแล้ว เปรียบเหมือน คนที่ขโมยของไป การขโมยสำเร็จแล้ว ภายหลัง โจรสำนึกผิดก็เอาของมาคืน การเอาของมาคืนก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่ง ที่เห็นโทษของกิเลสนั่นเองครับ เปรียบเหมือนการที่เราสำนึกผิด เช่น ทำบาป ด่าว่าพ่อแม่ไป ภายหลังสำนึกผิด ก็เลยขอโทษพ่อแม่ แต่กรรมสำเร็จไปแล้วครับ แต่การสำนึกผิด ขอโทษก็เป็นกุศลจิตอีกขณะหนึ่งครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
daris
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมครับ ธรรมช่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
khampan.a
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น สืบเนื่องจากความคิดเห็นที่ 15 ด้วยครับ

รายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ สทร. ๒ บางนา ประจำวันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๐๐ - ๐๗.๐๐ น. นั้น เป็นครั้งที่ ๑๒๐๙ - ๑๒๑๐

สำหรับเรื่องราวของพ่อค้าคนดังกล่าวที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึง อยู่ในตอนที่ ๑๒๑๐ ถ้าสหายธรรมท่านใดมีเอ็มพีสาม ชุดเทปวิทยุ แผ่นที่ ๒๑ ก็สามารถเปิดฟังทบทวนได้ (รวมไปถึงฟังในตอนอื่นๆ ด้วยครับ) โดยปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เลย เป็นผลสืบเนื่องมาจากได้สะสมกิเลสมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เพราะโลภะมีกำลัง ติดข้องต้องการมาก อยากได้ของๆ ผู้อื่นมาเป็นของตนจึงทำการทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้น สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถเรียบร้อยแล้ว กรรมที่ได้กระทำไปแล้ว สำเร็จแล้ว ไม่สามารถไปลบล้างได้ แต่เพราะได้อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ สภาพธรรมฝ่ายดี คือกุศลธรรม ก็จะเจริญขึ้นคล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นผู้มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศลมากขึ้น เห็นโทษภัยของอกุศลมากขึ้น ก็ปรุงแต่งให้มีการกระทำที่เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรมากยิ่งขึ้น สิ่งใดที่เคยกระทำไม่ดี เคยผิดพลาด (คือ พลาดให้กับกิเลส) ก็จะแก้ไขให้ถูกต้อง ด้วยการเจริญกุศล กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามต่อไป ขณะนั้น กุศลจิตซึ่งเป็นจิตที่ดีงามอันประกอบด้วยสติ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจากสภาพจิตที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นถึงแสงสว่างของปัญญาจริงๆ ที่จะเป็นเครื่องช่วยนำทางชีวิตให้แต่ละบุคคลดำเนินไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น เป็นการทำให้ออกห่างจากกุศลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกห่างได้โดยสมบูรณ์ เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้นทำกิจประหารกิเลส ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกในสังสารวัฏฏ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
daris
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
วิริยะ
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
debit_a
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณทุกท่านมากค่ะ ที่ร่วมสนทนา และตอบคำถามให้ ทั้งยังมีความเพียรไปหาข้อมูลเทปมาให้อีก ขอบพระคุณมากค่ะ เข้าใจมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมเยอะเลย

ขออนุโมทนา โทษที มาช้าไปหน่อยค่ะ ^ ^"

คือ อยากถามเพิ่มอีกค่ะ ไม่อยากตั้งใหม่ คือมีบางคนกล่าวว่า "ทุกคนสุดท้ายทุกคน ก็จบที่นิพพานเหมือนกันหมด" ประโยคนี้น่าเชื่อถือแค่ไหนคะ คือเมื่อเช้าฟังวิทยุ อ. บอกว่าการที่บุคคลคิดว่าสังสารวัฏฏ์นี้เกิดโดยไม่มีเหตุ เท่าที่พอจำได้ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือพอพิจารณาดูก็คิดว่า ประโยคนี้ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นเช่นนั้นรึเปล่าคะ เพราะฟังดูแล้วเหมือนเราเล่นเกมอะไรซักอย่าง แล้วก็เข้าเส้นชัยเหมือนกันทุกคน

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
paderm
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 21 ครับ

ถูกต้องครับ เป็นความเห็นผิด คือเข้าใจว่า สุดท้าย สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมด ก็ย่อมถึงพระนิพพานกันทั้งสิ้น โดยเข้าใจว่าไม่มีเหตุอะไรเลย สุดท้ายก็ถึงพระนิพพานเอง ซึ่งขัดกับเรื่องเหตุและผล หลักของการกระทำ เพราะผู้ที่ไม่ได้สร้างเหตุ คืออบรมปัญามา จะถึงพระนิพพานได้อย่างไรครับ ดังนั้น ความเห็นที่ว่า สุดท้าย สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมด ก็เข้าถึงพระนิพพานเอง โดยไม่มีเหตุอะไรทั้งสิ้น เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ในทิฏฐิ ๖๒ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
debit_a
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ