ศีลบริสุทธิ์

 
วิริยะ
วันที่  1 ม.ค. 2555
หมายเลข  20274
อ่าน  10,609

เรียนถาม

ปุถุชนมีศีล แต่ศีลยังไม่บริสุทธ์ ต้องเป็นพระโสดาบันจึงจะมีศีลบริสุทธิ์ เข้าใจถูกต้องหรือไม่ และศีลบริสุทธิ์ คือ ไม่กระทำทุจริตทั้งทางกาย วาจาเลยแม้แต่น้อยหรืออย่างไร

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีล มีหลากหลายนัย ทั้งที่เป็น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลของพระภิกษุ ปกติศีล แต่สำหรับในกรณีที่กล่าว่า ปุถุชน ยังมีศีลไม่บริสุทธิ์ ในภาษาทางธรรมเรียกว่า ศีลนั้นเศร้าหมอง คือ ยังมีการก้าวล่วงศีล คือ ศีล ๕ นั่นเองครับ ปุถุชน ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า จึงมีโอกาสล่วงศีล ๕ คือ การฆ่าสตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จและดื่มสุราเมรัยได้อยู่ครับ แต่เมื่อเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ถึงความเป็นพระโสดาบัน ศีลท่านย่อมบริสุทธ์ ไม่เศร้าหมอง ความหมาย คือ ไม่ล่วงศีล ๕ ข้อเลย ไม่ว่าจะชาติไหนเมื่อไหร่ เมื่อได้เป็นพระโสดาบันแล้ว จะไม่ล่วงศีลอีก นี่คือ ความบริสุทธิ์ของศีลของท่าน ที่เป็นพระโสดาบันครับ อันหมายถึง ศีล ๕ นะครับ

แต่เมื่อพูดถึง ทุจริตทางกาย วาจา อันนี้แยกออกจาก ศีล ๕ แล้วนะครับ เพราะทุจริตทางกาย วาจา ความหมายกว้างกว่า ศีล ๕ ทุจริตทางกายและวาจา มี ๗ ข้อคือ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ จะเห็นนะครับว่า มีมากกว่าศีล ๕ คือ มีเพิ่มตรงข้อวาจา ที่ว่า พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ

ดังนั้น ที่ถามว่า พระโสดาบันท่านไม่กระทำทุจริตทางกาย วาจาแม้แต่น้อยหรือไม่ทุจริต กาย วาจา มี ๗ ข้อตามที่กล่าวมา พระโสดาบัน ท่านไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพัย์ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด แต่ท่านยังทำทุจริตทางวาจา อยู่ ๒ ข้อ คือ ยังพูดคำหยาบและเพ้อเจ้ออยู่ครับ แต่คำหยาบและพูดเพ้อเจ้อ ของท่าน ไม่รุนแรง มีกำลังน้อย ไม่เหมือนปุถุชนครับ

ดังนั้น เมื่อกล่าว่า ท่านมีศีลบริสุทธิ์หรือไม่ พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์ คือ มี ศีล ๕ ที่ไม่ก้าวล่วงอีก แต่ถ้าถามว่า ท่านยังทำทุจริตทางกาย วาจาหรือไม่ มีทำอยู่ครับ ตามที่กล่าวมาในบางข้อที่ยังทำครับ มีการพูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ม.ค. 2555

เรียนถาม

พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งจริงๆ เพียงคำว่าศีลบริสุทธิ์ ก็ยังเข้าใจไม่ถูกต้องมาตลอด ถ้าไม่ได้สนทนาธรรมก็คงเข้าใจผิดตลอดไป

เรียนถามเพิ่มเติมค่ะว่า ที่กล่าวว่าปุถุชนยังมีโอกาสล่วงศีล ๕ นั้น คือบางครั้งดิฉันคิดว่า ตัวเองไม่ได้ล่วงศีล ๕ หรือพยายามจะไม่ล่วง คำว่ามีโอกาสจะล่วงศีลได้ หมายความว่า ถ้ามีเหตุปัจจัยให้ล่วงศีล เราก็ห้ามไม่ได้ใช่หรือไม่ ที่ผ่านมา มีบางช่วงเวลาที่เราไม่ได้ล่วงศีลเลย แต่มีบางครั้ง ก็ล่วงด้วยความจำเป็น คือข้อมุสา

สรุปคือ จะล่วงศีล หรือไม่ล่วงศีล ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

สภาพธรรมทั้งหลาย จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะเหตุปัจจัย เพราะมีเหตุปัจจัยก็ทำให้เกิด สภาพธรรมนั้นได้ แม้แต่การล่วงศีล ก็ต้องมีเหตุปัจจัย หากเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็ไม่ สามารถทำให้ล่วงศีล ๕ ได้อีก เพราะไม่มีเหตุปัจจัย คือ ความเป็นปุถุชน ที่หนาด้วยกิเลสอีกแล้ว แม้จะมีการกระทบสิ่งต่างๆ ก็ไม่ล่วงศีล ๕ แต่สำหรับผู้ที่็เป็นปุถุชนผู้ที่หนาด้วยกิเลส ก็ยังล่วงศีลได้ ก็ด้วยเหตุปัจจัยพร้อม ตามที่ผู้ถามได้กล่าวว่าขึ้นอยู่ กับเหตุปัจจัย ถูกต้องแล้วครับ หากยังไม่มีเหตุปัจจัยให้ล่วงศีล ก็ยังไม่มีการล่วงศีล เกิดขึ้น ดังเช่น ต้นยาง ถ้ายังไม่ถูกมีดกรีดก็อาจสำคัญว่า ต้นยางไม่มียางแล้ว แต่เมื่อ ถูกมีดกรีด ยางก็พร้อมที่จะไหลออกมาได้อย่างมากมาย ฉันใด กิเลสที่สะสมมา ไม่ได้หายไปไหน มีเพิ่มมากมายนับไม่ถ้วน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม กิเลสก็เกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่พระโพธิสัตว์ ผู้มีปัญญามาก แต่ยังเป็นปุถุชน ท่านล่วงศีลข้อ ๓ กับ มเหสี ของพระราชาได้ เพราะได้เห็นรูปสวยของพระมเหสี สองต่อสองครับ เมื่อพระราชา ถามว่าท่านเป็นผู้มีปัญญา ทำไมถึงยังทำกรรมที่ไม่ดีอย่างนี้อีก พระโพธิสัตว์ ผู้เป็นฤาษีด้วยและได้ฌาน ก็กล่าวว่า ธรรม คือ กิเลส เป็นสภาพธรรมที่รุนแรง ร้ายกาจ สะสมมามาก เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมกิเลสก็เกิดขึ้น เปรียบเหมือน งูที่ถูกยั่วก็พร้อมที่จะออกจากข้อง แผ่พังพานได้ทันทีครับ นี่คือ ตัวอย่างแสดงถึงความเป็นธรรมดาของ ปุถุชน เมื่อเหตุพร้อมก็ล่วงศีลได้ทันที

พระพุทธเจ้าทรงแสดง ว่าศีลมีที่สุด คือ ที่จะล่วงได้ ด้วยเหตุหลายประการ คือ ศีลมีที่สุดเพราะทรัพย์ เพราะญาติ เพราะอวัยวะ เพราะชีวิต ความหมายคือ เพราะ ทรัพย์ก็ยอมล่วงศีล เพราะญาติก็ยอมล่วงศีล เพราะอาจจะต้องเสียอวัยวะ ก็ยอมล่วงศีล และเพราะชีวิตตนก็ยอมล่วงศีล ยกตัวอย่าง หากลูกเราถูกงูเหลือมรัดอยู่ เรามีมีด หรือไม้ที่จะสามารถช่วยลูกได้ จะทำอย่างไรครับ นี่คือศีล มีที่สุดเพราะญาติก็ได้ ดังนั้นเหตุปัจจัยพร้อม เมื่อเป็นปุถุชนก็ล่วงศีลได้เป็นธรรมดาครับ ธรรมจึงต้องอาศัย เหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นครับ แม้การล่วงศีลก็อาศัยเหตุปัจจัย ถูกต้องตามที่ผู้ถามเข้าใจ แล้วครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ม.ค. 2555

เมื่ออ่านจากความเห็นที่ 3 แล้ว

ทำให้คิดว่า ดิฉันคงประมาทไม่ได้เลย เพราะมีบางเวลาที่มีความคิดว่า "ช่วงนี้หรือที่ผ่านมานี้ เราไม่ได้ล่วงศีลเลย" นึกขึ้นมาด้วยความมีมานะ และจากข้อความที่ท่านได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ที่ท่านล่วงศีลข้อ ๓ ดิฉันเกิดความสงสัยว่า ความเป็นโพธิสัตว์ กับ การล่วงศีล ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อได้ศึกษาว่า โพธิสัตว์คือผู้ที่จะตรัสรู้ในอนาคต แต่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ในเมื่อยังเป็นปุถุชนก็ยังมีโอกาสล่วงศีลได้ แต่ถ้าผิดศีลเสียแล้ว จะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นเลยหรือคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ศีลเมื่อล่วง คือ ทำกรรมบถ ที่เป็นอกุศลกรรมแล้ว เมื่อกรรมนั้นให้ผลก็ย่อมทำให้ตกนรก ไปอบายภูมิได้ ซึ่งพระโพธิสัตว์ ยังไปอบายภูมิได้ครับ คือ ตกนรกได้ แต่ไม่ถึงกับ ตกอเวจีมหานรก ครับ ดังนั้น ก็ไม่รู้ว่า กรรมของท่านจะให้ผลหรือไม่ เพราะอาจมีกรรม อื่นๆ มาให้ผลก่อน เช่น เป็นกุศลกรรม ทำให้กรรมนั้นยังไม่ทันให้ผล ก็ได้ แต่หากยังมีการเกิดอีกร่ำไป ก็ต้องได้รับผลของกรรม เมื่อกรรมนั้นตามทันครับ แต่พระองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว กรรมในอดีตที่เป็นอกุศลกรรมที่ทำไว้มากมาย ก็ไม่มีโอกาสให้ผลได้อีกต่อไป เพราะไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิกและรูปอีกแล้วครับ ส่วน การล่วงศีล ก็เป็น ส่วนของอกุศลกรรม ส่วนกุศลกรรมและปัญญาที่อบรม ก็เป็นคนละส่วนกัน ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อปัญญาถึงพร้อมก็สามารถดับกิเลสได้ครับ แม้จะเคยล่วงศีลมา ซึ่ง ศีลจะบริสูทธิ์ได้จริงๆ ไม่ล่วงอีกเลย เพราะปัญญา นั่นคือ ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลขั้นแรก ที่สามารถดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ดับความเห็นผิดทุกประเภท ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ดับความริษยา ดับความตระหนี่ ดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ทั้งหมด พระโสดาบันเป็นผู้มีศีล ๕ ที่บริสุทธ์ ก็เพราะว่าดับกิเลสอย่างหยาบได้หมดแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ล่วงศีล ๕ อีกเลย ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลยังมีโอกาสล่วงศีล ๕ ได้ เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว

สำหรับอกุศลกรรมบถ มี ๑๐ ประการ ได้แก่

กายทุจริต ๓ (ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม)

วจีทุจริต ๔ (พูดเท็จ, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ)

มโนทุจริต ๓ [อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ของๆ ผู้อื่น (โลภะ) , พยาบาท (โทสะ) , มิจฉาทิฏฐิ, ความเห็นผิด] นั้น ต้องเป็นอริยบุคคลเท่านั้น ถึงจะดับได้ ดังต่อไปนี้

ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด และความเห็นผิดพระโสดาบัน ดับได้

พูดคำหยาบ และ พยาบาท พระอนาคามีดับได้

อภิชฌา และ การพูดเพ้อเจ้อ พระอรหันต์ ดับได้

เพราะกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถึงแม้ว่ากิเลสจะมีมากมายสักเพียงใดก็ตาม ก็สามารถดับได้ในที่สุด เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา จนคมกล้าขึ้น ถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ เมื่อมรรคจิต เกิดขึ้น ก็สามารถดับกิเลสได้ ตามสมควรแก่มรรคของตนๆ และกิเลสที่ดับได้แล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกในในสังสารวัฏฏ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
SOAMUSA
วันที่ 3 ม.ค. 2555

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

กราบเรียนอาจารย์คำปั่น ดิฉันว่า ความคิดเห็นที่ 9 นั้น

การประหารอกุศลกรรมบถ ๓ คือ ปิสุณวาจา ผรุสวาจา พยาบาท

พึงประหารด้วย อนาคามิมรรคค่ะ

กราบเรียนอาจารย์ด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 3 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

สำหรับ พระโสดาบัน ละการพูดส่อเสียดได้ คือ ปิสุณาวาจา ส่วนพระอนาคามี ละการพูดคำหยาบ และ พยาปาทะ ตามที่อาจารย์คำปั่นกล่าวถูกแล้วครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 45

อนึ่ง พึงทราบการละความคดทางกายเป็นต้น ดังต่อไปนี้ ก่อนอื่น

อกุศลกรรมบถ ๖ ข้อเหล่านั้น คือ

ปาณาติบาต อทินนาทาน มิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา มิจฉาทิฏฐิ พระอริยบุคคล ย่อมละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค. สองอย่างคือ ผรุสวาจา พยาบาท จะละได้ด้วยอนาคามิมรรค สองอย่างคือ อภิชฌา สัมผัปปลาปะ จะละได้ด้วยอรหัตตมรรค.

จบอรรถกถาปเจตนสูตรที่ ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
SOAMUSA
วันที่ 3 ม.ค. 2555

กราบเรียนอาจารย์ค่ะ

ในหนังสือเรียน ว่าไว้อย่างที่กล่าวมาแล้วในความคิดเห็นที่ 10 ค่ะ ในหนังสือพระอภิธรรม ว่าไว้อย่างนี้จริงๆ ค่ะ บาลีแสดงไว้ดังนี้ค่ะ

อกุสลกมฺมปเถสุ ปาณาติปาโต อทินฺนาทานํ กาเมสุมิฉาจาโร มุสาวาโท มิจฺฉาทิฏฺฐีติ อิเม ปฐมญาณวชฺฌา ปิสุณวาจา ผรุสวาจา พยาปาโทติ ตโย ตติยญาณวชฺฌา สมฺผปฺปลาปาภิชฺฌา จตุตฺถญาณวชฺฌา.

จาก วิสุทฺธิ ๓/๓๓๗

หมายเหตุ ตัว ฐ และ ญ ดิฉันไม่สามารถพิมพ์ให้เป็นตัวบาลีได้ ขออภัยด้วยค่ะทำไมถึงไม่ตรงกันค่ะ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายให้ทราบด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 3 ม.ค. 2555

จากความเห็นที่ 12 ในบาลีแสดงไว้ว่า ในอกุศลกรรมบถ ๑๐

ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท พูดส่อเสียด และ ความเห็นผิด ดับได้ด้วยมรรคที่ ๑ คือ โสดาปัตติมรรค,

พูดคำหยาบ และ พยาบาท ดับได้ด้วยมรรคที่ ๓ คือ อนาคามีมรรค

ส่วน สัมผัปปลาปะ และ อภิชฌา ดับได้ด้วยมรรคที่ ๔ คือ อรหัตตมรรค ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
SOAMUSA
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ต้องกราบขออภัยด้วยนะคะ

ดิฉันคงต้องยึคตามเดิมในวิสุทธิมรรค เพราะต้องตอบในข้อสอบ ถ้ามีคำถามเรื่องนี้ในข้อสอบค่ะ และคงต้องกราบเรียนถามพระอาจารย์สอนพระอภิธรรมเมื่อมีโอกาสค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
SOAMUSA
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ดิฉันไม่ใช่คนหนีปัญหา เมื่อปุจฉาแล้ว ต้องทราบวิสัชชนาเพื่อความเข้าใจ

ดิฉันว่าพระสูตรกับพระอภิธรรมนั้นว่าคนละแนว แต่หลักแล้วเหมือนกัน ทุกท่านทราบดีนะคะว่า พระสูตรว่ากันเรื่องสัตว์ บุคคล ส่วนพระอภิธรรม ชื่อก็บอกแล้วว่า อภิ ย่อมละเอียดลึกซึ้งเป็นธรรมที่ยิ่ง ว่าด้วยเรื่องสภาวธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต เกิดจากพระสัพพัญญุตาญาณ ของพระพุทธองค์ ดังนั้นพระสูตรและพระอภิธรรม ทั้ง ๒ คัมภีร์นี้ จึงต้องต่างกันในด้านดังกล่าวมาแล้ว แต่สอดคล้องกัน จะมีไม่ลงตัวกันเป๊ะ นั้นคือความต่างกันด้วยเหตุว่า การว่าด้วยสัตว์ บุคคลกับ สภาวธรรม อยู่ที่ว่าใครจะละเอียดเจาะไปหาคำตอบหรือไม่ และมีคำตอบให้หาเสมอ ดิฉันฟังท่านอาจารย์สุจินต์สอนมาว่า ธรรมะต้องศึกษาอย่างละเอียด นี่คือเหตุผลให้ค้นหาคำตอบจนได้ค่ะ ดิฉันยินดีรับคำตักเตือนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
แก้วนพคุณ
วันที่ 5 ม.ค. 2555

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
homenumber5
วันที่ 4 ก.พ. 2555

เรียนท่านความเห็นที่ 15 และท่านวิทยากร

ดิฉันขออนุญาตสนทนาดังนี้ หากผิดถูกอย่างไร ขอชี้แนะแก้ไขด้วยค่ะ

๑. พระธรรม ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น แบ่งเป็นพระสุตตันตปิฎกอันเป็นเรื่องราวของบุคคลในครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าเรื่องราวของบุคคลต่างๆ และข้อธรรมต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นๆ แล้วบุคคลเหล่านั้นได้บรรลุธรรมในขั้นต่างๆ กัน ดังนั้นเป็นเรื่องราวในอดีต ส่วนพระอภิธรรมนั้นทรงแสดงแก่พระพุทธมารดาและบริวาร ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ หลังตรัสรู้แล้ว เป็นการแสดงธรรมที่อธิบาย เหตุ ปัจจัย ในพระธรรมต่างๆ เป็นปรมัตถธรรม ๔๒๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ว่าด้วย จิต เจตสิก รูป เพื่อให้ถึงนิพพาน

๒. ตามที่ดิฉันเข้าใจ สำหรับปุถุชน ที่ต้องสิกขาให้มากคือพระอภิธรรม (แต่ไม่ละทิ้งอีกสองปิฎกค่ะ) เพราะเป็นการแสดงเหตุ เพราะ ปุถุชนย่อมปรารถนาภพภูมิที่สูงขึ้นๆ จนขั้นบรรลุขั้นอริยมรรคและผล การเข้าใจเหตุ ของการเกิดภพชาติอยู่ในพระอภิธรรม โดยเฉพาะในเรื่อง วิถีจิต ด้านกามวิถีและอัปปนาวิถี ซึ่งจะไปสู่การปฏิสนธิในภพภูมิหรือได้บรรลุอริยธรรมขั้นต่างๆ มิใช่ปุถุชนยุคนี้ที่ส่วนมาก เมื่ออ่านพระสูตรที่พบว่าชาวกุรุรัฐที่บำเพ็ญมานานแสนนาน และมาบรรลุธรรมเมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมเรื่อง มหาสติปัฏฐาน ๔ แล้ว เราก็มาทำสติปัฏฐาน ๔ บ้าง ทั้งที่ไม่ได้ฟังธรรมใดเลย

(อ้างอิงที่ อ. สุจินต์เคยถามศิษย์ว่า เมื่อฆราวาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ให้ฟังธรรมหรือ ให้ฝึกมหาสติปัฏฐาน ๔ คำตอบคือให้ฟังธรรมนะคะ) ข้อนี้ ถูกผิดอย่างไร กรุณาอธิบายด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 17 ครับ

การศึกษาพระธรรม ต้องศึกษาในส่วนอื่นควบคู่กันไป ไม่ได้เจาะจงว่าส่วนใด สำคัญกว่าส่วนใด การศึกษาพระธรรม จึงไม่ใช่ศึกษาแบบวิชาการ ตำราเรียนที่จะต้องจำให้ได้มาก แต่การศึกษาพระธรรมไม่ว่าส่วนใด เพื่อเข้าใจความจริงในขณะนี้ เพราะ พระอภิธรรม คือ ชีวิตประจำวัน พระอภิธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ขณะนี้กำลังมีพระอภิธรรม ดังนั้นไม่ว่าศึกษาในส่วนใด ก็เพื่อเข้าใจขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพื่อละคลาย ไถ่ถอนความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ซึ่งทุกส่วน ทุกคำของพระไตรปิฎกมีประโยชน์และเกื้อกูลต่อการเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญาครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
ประสาน
วันที่ 7 ก.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
thilda
วันที่ 1 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
chatchai.k
วันที่ 11 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ