บุคคลย่อมคบกันโดยธาตุ

 
พุทธรักษา
วันที่  1 ม.ค. 2555
หมายเลข  20275
อ่าน  3,389

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

เคยได้ยินได้ฟังมาว่า บุคคล เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย บุคคล ย่อมคบกัน โดย ธาตุ ศีล รู้ได้ โดย การอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน

ขอเรียนถามว่า พระผู้มีพระภาคฯ ทรงตรัสแสดงธรรมเกี่ยวกับแต่ละประเด็นข้างต้นนี้ไว้ว่าอย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคล เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

พระพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงที่เป็นสัจจะไว้ครับว่า ความจริง มีแต่สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้น ดังนั้น การที่เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็น จิต และเจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะจิตที่ดี อันประกอบด้วยเจตสิกที่ดี ก็มี มีกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกที่ดี มีศรัทธาและปัญญา เป็นต้น และจิตที่ไม่ดี คือ อกุศลจิต ที่ประกอบด้วย เจตสิกที่ไม่ดี มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก เป็นต้น จิตที่ไม่ดี ก็เช่น ความโกรธ ความโลภ ความเห็นผิด เป็นอันสรุปได้ว่า จิตที่ไม่ดี ก็คือ อกุศลจิตทุกประเภท

ดังนั้น คำว่าเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ก็คือ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล อันหมายถึง จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วในขณะนี้ นับไม่ถ้วน บางขณะก็เป็นอกุศล บางขณะก็เป็นกุศล แต่ส่วนใหญ่ คำพูดที่ว่า เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ในความเป็นจริง น่าจะเป็น เดี๋ยวดี แต่ส่วนใหญ่ ร้าย เพราะว่า โดยมาก อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต กุศลจิตเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันบ้าง แต่น้อย และไม่รู้ตัวเลยว่าเกิดแล้วครับ เพราะความเป็นปุถุชน ผู้หนาด้วยกิเลส จึงเดี๋ยวดี แต่ส่วนใหญ่ไม่ดี ครับ

ธรรมชาติของจิตมนุษย์ ของปุถุชน ผู้หนาด้วยกิเลส จึงเป็นธรรมชาติที่โลเล ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล แต่น้ำย่อมไหลไปสู่ที่ต่ำ จึงมักเป็นอกุศลเสียส่วนใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถึง จิตมนุษย์ที่ไม่แน่นอน โลเลไป เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ 232

" ... ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายก็ดี ของนกทั้งหลายก็ดี รู้ได้ง่าย แต่เสียงของมนุษย์ รู้ได้ยากกว่านั้น."

"อนึ่ง ผู้ใด เมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นสหายภายหลัง ผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้."

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

บุคคล ย่อมคบกัน โดย "ธาตุ"

ธาตุ ก็คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เมื่อกล่าวคำว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมคบกันโดยธาตุ ธาตุในที่นี้ จะมุ่งหมายถึง จิตและเจตสิกเท่านั้น ครับ เพราะสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกที่เป็น ธาตุ เป็นสภาพธรรมที่สะสม คือสะสมทั้งสิ่งที่ดี และ สิ่งที่ไม่ดี จึงทำให้มีอุปนิสัยแตกต่างกันไป ตามการสะสม เรียกว่า ตามการสะสม จิต เจตสิก ตามธาตุ ตามอุปนิสัยที่แตกต่างกันไปครับ ดังนั้น คำว่า ธาตุ จึงหมายถึง อุปนิสัยของแต่ละบุคคลทีเกิดจากการสะสมของจิต เจตสิก คือ ฝ่ายกุศล หรือ อกุศลที่แตกต่างกันไปครับ

บุคคลย่อมคบกันโดยธาตุ คือ บุคคลเมื่อจะคบกัน ก็ย่อมคบตามผู้ที่มีอุปนิสัยหรือธาตุ คือ จิต เจตสิกที่สะสมมาคล้ายคลึงกัน เช่น บุคคล ๒ คน ที่มีอุปนิสัยที่สนใจในพระธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ทั้งสองท่านนี้ก็จะคบกัน เพราะสนใจในเรื่องเดียวกันและสะสมมาในเรื่องเดียวกัน มีธาตุเดียวกัน การคุยกัน ก็ย่อมน้อมไปที่จะคุยกันได้คบกันได้ แต่ถ้าอีกคน มี ธาตุ คือ การสะสมมาที่สะสมความเข้าใจธรรมในหนทางที่ผิดก็ย่อมไม่คบกับผู้ที่สนใจเข้าใจในธรรมที่ถูกต้อง เพราะเมื่อได้ฟังแล้วในหนทางที่ถูกก็ไม่ชอบและไม่เข้าใจครับ เป็นต้น บุคคลที่มีอุปนิสัย มีธาตุ นิสัยอย่างไร ก็น้อมไป เข้าไปหา ในบุคคลที่มีนิสัยอย่างนั้น คนที่เป็นคนดี ก็น้อมไปที่จะคบหาคนดี คนที่ไม่ดี ก็ไม่คบหาคนดี เพราะไม่ชอบความดี คนดีก็ไม่คบหาคนที่ไม่ดี เพราะไม่ชอบความไม่ดี แต่ให้ความช่วยเหลือได้ แต่ไม่เสพคุ้น ไม่คบครับ สัตว์จึงคบกันโดยธาตุ ด้วยประการฉะนี้

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

การสมาคมกันโดยธาตุ [จังกมสูตร]

สัตว์ทั้งหลายคบกันโดยธาตุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

"ศีล" รู้ได้ โดย "การอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน"

ศีล คือ การกระทำทางกาย วาจา การจะรู้จักบุคคลนั้น ว่าเป็นผู้มีศีลหรือไม่มีกายวาจาที่ดีจริงๆ หรือไม่ พระพุทธเจ้ทรงแสดงว่า ต้องใส่ใจถึงจะรู้ ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ ผู้ไม่มีปัญญาย่อมไม่รู้และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ถึงจะรู้ได้ ไม่ได้อยู่ร่วมกันนานๆ ก็ไม่รู้

อธิบายดังนี้ครับ คนที่ไม่ได้ใส่ใจ สนใจคนนี้เป็นพิเศษ เมื่อไม่ได้ใส่ใจ สังเกตพฤติกรรม ก็กระทำสิ่งที่ตนสนใจไป เมื่อไม่ได้ใส่ใจถึงพฤติกรรมของคนนั้น ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า คนนั้นมีศีล มีการกระทำทางกาย วาจาที่ดีจริงๆ หรือไม่ ดังนั้นผู้ที่ใส่ใจถึงจะรู้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ย่อมไม่รู้

อีกประการหนึ่ง ผู้มีปัญญาถึงจะรู้ได้ว่า บุคคลนั้นมีศีล หรือไม่มีศีล ไม่มีปัญญาก็รู้ไม่ได้ คนที่ไม่มีปัญญา ย่อมไม่รู้ว่า อกุศลมีโทษ การฆ่าสัตว์มีโทษ เป็นต้น ไม่รู้ว่าอะไร ควร ไม่ควร หรือ เพราะอาศัยอำนาจอคติ ความลำเอียง เพราะรัก หรือ ไม่ชอบคนนี้ อันเกิดจากความไม่มีปัญญา จึงสำคัญว่า คนนั้นเป็นคนดี ด้วยอำนาจความชอบเป็นต้นได้ และคนนั้นเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีล เพราะไม่ชอบคนนั้นด้วยอคติ เป็นต้น และหากไม่มีปัญญา ก็ย่อมไม่รู้ว่า ศีล คือ อะไร จะกล่าวไปไยถึงการจะรู้จักว่าใครมีศีล หรือไม่มีศีล ดังนั้น ต้องมีปัญญาถึงจะรู้ได้ คือ เห็นตรงตามความเป็นจริงด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยความลำเอียง เพราะไม่ชอบคนนี้ หรือ ชอบคนนี้ เมื่อมีปัญญาถึงจะรู้ได้ว่า มีศีล หรือ ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา ก็รู้ไม่ได้ครับ อีกประการหนึ่ง ศีล พึงรู้ได้ ก็ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ

การอยู่ร่วมกันนานๆ ก็ต้องเข้าใจก่อนครับว่า ต้องมีปัญญาเสมอนะครับ ถ้าหากไม่มีปัญญา ถึงแม้จะอยู่ร่วมกันนานๆ ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนนั้นมีศีล หรือไม่มีศีล ประเด็นคือ ถ้ามีปัญญาแล้ว ก็ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ เพราะ คนที่มีศีล ไม่ได้เพียงมอง เพียงวันสองวัน เดือนสองเดือน หรือเจอกันไม่นาน เพราะโดยมากของสัตว์โลกที่เป็นปุถุชนเมื่อเจอกัน ก็ย่อมทำดีต่อกัน ไม่กล้าแสดงออกถึงความไม่ดี เพราะรักความเป็นเราที่ให้ดูดีไว้ ดังนั้น เพียงเจอกันไม่นาน ก็ต้องรักษาความดูดี แต่หากได้อยู่ร่วมกันนานๆ ย่อมเห็นถึงอุปนิสัยที่แท้จริงได้ว่า ผู้นั้น มีศีลจริงหรือไม่ โดยอาศัยระยะเวลายาวนาน โดยการคบกันติดต่อกันไป ไม่ใช่เพียง คบกันนานๆ ก็จริง แต่ไม่กี่วันที่ได้เจอกันครับ และไม่ได้คบติดต่อกันไป เหมือนการอยู่ร่วมกันนานๆ ตลอดเวลาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ฐานะ ๔ ที่พึงรู้ด้วยฐานะ ๔ [ฐานสูตร]

ฐานสูตร ... ฐานะ ๔ ที่พึงรู้ด้วยฐานะ ๔

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละบุคคลมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม เป็นไปด้วยกุศลบ้าง อกุศลบ้าง (มีดีบ้าง มีไม่ดีบ้าง เป็นธรรมดา) ซึ่งไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมเลย ถ้ามีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม คือ อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เกิดขึ้นก็เป็นคนไม่ดี ถ้ามีสภาพธรรมฝ่ายดีคือ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเกิดขึ้นเป็นไป ก็เป็นคนดี แท้ที่จริงแล้ว คน สัตว์ ไม่มี มีแต่ธรรมเท่านั้นเท่านั้นจริงๆ

บุคคลผู้ที่สะสมมาที่จะมีความชอบในสิ่งใด หรือ ไม่ชอบในสิ่งใด ก็น้อมไปในการชอบในสิ่งนั้นหรือไม่ชอบในสิ่งนั้น ตามการสะสม เมื่อจะคบหาสมาคม ก็ย่อมคบหาสมาคมกับผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมมาเหมือนกันตนเอง คล้ายกับตนเอง ซึ่งมีอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะในสมัยพุทธกาลเท่านั้น แม้แต่ในยุคนี้สมัยนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกันเลยจริงๆ เป็นธรรม หรือเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น

การที่จะรู้ว่าใครมีความประพฤติเป็นไปอย่างไร มีศีลหรือเป็นผู้ทุศีล ก็ต้องอาศัยการร่วมกัน ต้องนานๆ ด้วย ไม่ใ่ช่เพียงวันสองวัน พร้อมทั้งมีความละเอียด ใส่ใจ มีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วย จึงจะรู้ได้ ขึ้นชื่อว่าปุถุชนแล้ว เป็นผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ชีวิตของผู้ที่เป็นปุถุชน ซึ่งไม่ใช่พระอริยบุคคลนั้น ย่อมเป็นผู้มากไปด้วยโทษ คือ เป็นไปด้วยด้วยอกุศลเป็นส่วนใหญ่ จนกว่าจะมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ก็จะเป็นผู้มีโทษน้อยลง ไม่เหมือนกับตอนที่เป็นปุถุชน และเมื่อดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็จะเป็นผู้ไม่มีโทษใดๆ เลย กล่าวคือ ไม่มีความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสใดๆ อีกเลย เพราะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว นั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 1 ม.ค. 2555

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

และ ขอกราบบูชาคุณ แด่ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านนะคะ ที่กรุณาตอบคำถามและ ค้นคว้าพระสูตรฯ มาให้อ่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
homenumber5
วันที่ 4 ก.พ. 2555

เรียนท่านวิทยากร หากว่าเราพิจารณา ว่าคนที่เราพบเห็นมีศีลหรือไม่มีเราใช้วิธีต่อไปนี้ได้ไหม

๑. ต้องศึกษาว่า ศีล ในพระธรรมของพระพุทธเจ้าคืออะไรก่อน เราพบว่า ศีลมัยในบุญกิริยาวัตถุนั้น ต้องเป็นผู้ที่ มีกายกรรมสุจริต วจีกรรมสุจริต ถูกต้องไหมคะ

๒. เราต้องศึกษาว่า กายกรรมสุจริต ๓ ได้แก่ ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปทังสมาทิยามิ อทินนาทานาเวรฯ กาเมสุมิจฉาจาราฯ และวจีสุจริตก็ได้แก่ ไม่กระทำในสี่ข้อคือ มุสาวาจา ปิสุณวาจา สัมผัปปลาป ผรุสสาวาจา ๓ ต่อไปต้องศึกษาว่า ศีลมัย ทั้งหกนี้ ครอบคลุมอะไรบ้างที่เราทำประจำวัน คร่าวๆ เช่นนี้พอจะเป็นหนทาง ในการดูว่าใครมีศีลได้ไหมคะ ความจริงเหนืออื่นใดเราย่อมไม่รู้เลยว่าเรามีศีลครบถ้วนไหมหากเราไม่ฟังธรรมเรื่องศีลมัย

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ 10 ครับ

จริงๆ แล้วเรื่องของศีลมัย มีอรรถที่กว้างขวางมาก นอกจากจะเป็นการละเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้นอันเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ แล้ว ยังหมายรวมถึงการน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามอีกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่งดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดีเท่านั้น พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับจริงๆ จึงจะมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เข้าใจ
วันที่ 10 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สิริพรรณ
วันที่ 11 พ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณ ยินดีในกุศลทุกท่านค่ะ เป็นข้อสนทนาที่มีประโยชน์มากหลายประการ ประการสำคัญคือ สะสมความเข้าใจ ว่า แต่ละวัน เป็นธาตุแต่ละ หนึ่งๆๆๆ ที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล

ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่อ่านซ้ำๆบ่อยๆก็หลงลืม กลายเป็นเรา ก็สะสมความเห็นผิดความเข้าใจผิดก็เป็นธาตุฝ่ายไม่ดี  เหตุนี้จึงต้องฟังพระธรรมทุกวัน ศึกษาพระธรรมทุกวัน ขาดไม่ได้เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 11 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ