เหตุที่บรรลุธรรมได้ คืออะไรกันแน่ ?

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  2 ม.ค. 2555
หมายเลข  20285
อ่าน  4,908

ในคัมภีร์ธรรมบทเล่าเรื่องนายพรานคนหนึ่ง ทำปาณาติบาต แต่เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบันพร้อมทั้งบุตรและสะใภ้ พวกพระภิกษุสงสัยว่า นายพรานทำกรรมอะไรจึงได้สำเร็จโสดา พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ในอดีตชาติสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า นายพรานเกิดเป็นเศรษฐีบ้านนอก ได้บริจาคทรัพย์แล้วพร้อมด้วยบุตรภรรยาและสะใภ้ได้มอบตัวเป็นทาสปรนนิบัติพระเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า ผลบุญนี้ทำให้ได้สำเร็จโสดา

เท่าที่ฟังมา ผู้รู้ ท่านก็บอกว่า จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ก็ด้วยการเจริญสติ อบรมปัญญาจนรู้เท่าทันสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ได้บอกว่า ทำบุญกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่นบริจาคทรัพย์และบริจาคตัวเองเป็นทาสปรนนิบัติพระเจดีย์) แล้วจะได้สำเร็จโสดา จึงสงสัยว่า

๑. ถ้าบรรลุธรรมได้ด้วยการเจริญสติอบรมปัญญาแล้วไซร้ การอ้างถึงการทำบุญกรรมเช่นนั้นๆ เป็นเหตุให้บรรลุธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องอ้าง

๒. ถ้าการทำบุญกรรมที่ไม่ได้เป็นการเจริญปัญญาโดยตรงแต่ประการใดเลย เช่นบริจาคตัวเป็นทาส อย่างในเรื่องเศรษฐีบ้านนอกที่ตรัสเล่า เป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมได้แล้วไซร้ ที่อ้างว่าจะบรรุลุได้ก็ด้วยการอบรมสติเจริญปัญญา ก็ไม่จำเป็นต้องอ้างเช่นกัน

ขอฟังมติของท่านผู้รู้ครับ

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอตอบโดยรวมทั้ง ๒ ข้อนะครับ

จากเรื่องที่ท่านผู้ถามยกมา คือ เรื่องของนายพรานกุกกุฏมิตร ที่ท่านเป็นนายพรานล่าสัตว์ แต่ตอนหลังได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วได้บรรลุธรรม ซึ่ง ตามที่ผู้ถามได้กล่าวแล้ว ที่ว่า ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า นายพรานกับลูกๆ ได้บรรลุธรรมเพราะทำกรรมอะไรไว้ คือ เป็นอุปนิสัยแห่ง โสดาปัตติมรรค พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เพราะ บริจาคทรัพย์และยอมเป็นทาส บูชา พระเจดีย์ที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ปัญหาที่พอสรุปได้คือ ถ้าที่กล่าว่า การบรรลุธรรม ก็ด้วยการอบรมสติ ปัญญา มีสติปัฏฐาน เป็นต้น ก็ไม่ต้องกล่าวถึงว่า บรรลุได้เพราะบุญโดยการเป็นทาสของพระเจดีย์ และถ้าบรรลุได้ ด้วยการทำบุญ มีการยอมเป็นทาส บูชาพระเจดีย์ ก็ไม่ต้องกล่าวอ้าง ถึงการเจริญสติปัญญาว่าจะได้บรรลุครับ ขออธิบายดังนี้นะครับ

ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจครับว่า การจะบรรลุธรรมนั้น ไม่ใช่เพียงกุศลเพียงเล็กน้อย แต่เป็นการอบรมกุศลประการต่างๆ มีบารมีประการต่างๆ เป็นต้น อย่างมากมาย และ อบรมปัญญาในอดีตชาติมามากมายด้วย ไม่ใช่เพียงแค่บุญเพียงครั้งเดียวจะทำให้บรรลุธรรมได้ครับ แต่จากข้อความที่ยกมานั้นในเรื่องพระไตรปิฎก ของ นายพราน

ข้อความมีว่า

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 41

บุรพกรรมของกุกกุฏมิตรพร้อมด้วยบุตรและสะใภ้

โดยสมัยอื่น พวกภิกษุสนทนากันว่า "อะไรหนอแล เป็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค ของนายพรานกุกกุฏมิตร ทั้งบุตร และสะใภ้? นายพรานกุกกุฏมิตรนี้ เกิดในตระกูลของพรานเนื้อเพราะเหตุอะไร? "


จะเห็นคำว่า อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค คือ เหตุที่มีกำลังที่ทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อมีคำว่า อุปนิสัย แสดงให้เห็นว่ เป็นธรรมที่เบื้องต้น ที่เป็นเหตุเบื้องต้นที่จะทำให้ บรรลุธรรม แต่ไม่ได้ทั้งหมดนะครับ แต่เพราะอาศัย กุศลนี้ เป็นเบื้องต้น ที่มีกำลัง ก็ทำให้กุศลนี้ เป็นปัจจัยให้ได้มีการเกิดในประเทศอันสมควรในชาติต่อไป ได้เจอพระพุทธศาสนาอีก ได้คบกับสัตบุรุษ และได้ฟังธรรม เพราะมี กุศลมูล เบื้องต้น อันเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้ได้เจริญกุศลประการต่างๆ อีกครับ

เพราะเพียงกุศลแค่นี้ ไม่เพียงพอเลย ที่จะทำให้บรรลุธรรม แต่เพราะอาศัยกุศลมูล ที่ตักเตือน และเป็นเบื้องต้นนี้ เป็นปัจจัยให้ได้อบรมปัญญาในชาติต่อๆ ไปครับ ดังนั้น พระพุทธองค์ กำลังกล่าวถึงกุศลที่มีกำลังที่เป็นอุปนิสัย ครั้งแรก ที่ได้ทำบุญกับพระพุทธศาสนา อันเป็นปัจจัยเบื้องต้น ให้ได้พบเจอพระพุทธศาสานา เกิดในประเทศที่สมควร ที่มีพระพุทธศาสนาและได้พบสัตบรุษ ได้ฟังธรรม และอบรมปัญญาต่อไป สมกับ เรื่องของจักร ๔ ที่แสดงถึง ว่า จักร ๔ ประการ คืออะไร คือ

ปฏิรูปเทสวาสะ (ความอยู่ในถิ่นที่เหมาะ) ๑

สัปปุริสูปัสสยะ (ความพึ่งพิงสัตบุรุษ) ๑

อัตตสัมมาปณิธิ (ความตั้งตนไว้ชอบ) ๑

ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน) ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ซึ่งข้อความในอรรถกถา แสดงชัดเจนครับว่า เพราะ มี ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน) จึงทำให้ได้เกิดในประเทศที่สมควร ประเทศที่มีการฟังพระธรรม อบรมปัญญานั่นเอง เพราะบุญที่ทำไว้ในปางก่อน ทำให้ได้พบสัตบุรุษ ผู้ที่เข้าใจธรรม อันเป็นเหตุได้ฟังพระธรรม อบรมปัญญาต่อไปในชาติอื่นๆ ครับ แต่ไม่ใช่เพียงบุญที่ยอมเป็นทาส จะบรรลุธรรมเท่านั้น แต่พระองค์แสดงบุญเบื้องต้น ครั้งแรกที่ทำ ที่มีกำลัง เป็นปัจจัยให้ได้ จักร ๔ ตามที่กล่าวมาครับ

อีกประการหนึ่ง คงเคยได้ยินเหตุใกล้ และ เหตุไกลนะครับ

เหตุไกล คือ เหตุ เริ่มต้น ที่เป็นอุปนิสัยให้บรรลุ คือ การทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน เช่น การยอมเป็น ทาส บูชา พระเจดีย์ แต่ไม่ใช่ จะมีเหตุไกล เริ่มต้นที่จะทำให้บรรลุครับ พระพุทธเจ้า ได้แสดงธรรม ในสูตรต่างๆ มีสติปัฏฐานสูตรว่า หนทางนี้เป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้ สัตว์พ้นทุกข์ คือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีการเจริญสติและปัญญา ครับ ดังนั้น ก็มีเหตุใกล้ ที่เป็นเหตุโดยตรงที่จะทำให้บรรลุธรรมด้วย คือ การอบรมสติและปัญญาครับ แต่ เพราะมีเหตุไกล คือ การทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน จึงทำให้ ได้อยู่ในประเทศสมควร ได้คบสัตบุรุษ ได้ฟังพระธรรม ทำให้ได้เข้าใจธรรม ปัญญาเจริญขึ้น จนอบรมสติปัฏฐาน บรรลุธรรม เพราะอาศัยกุศลมูล ครั้งแรก เป็นเหตุปัจจัยให้ได้อบรมปัญญา ที่เป็น เหตุใกล้ เหตุโดยตรงให้บรรลุธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2555

จึงสรุปได้ดังนี้ ครับ

1. เพราะการบรรลุธรรมอาศัยการอบรมกุศลมากและยาวนาน ไม่ใช่เพียงกุศลครั้งแรกเท่านั้น

2. เพราะอาศัย บุญที่มีกำลังครั้งแรก ปุพเพกตปุญญตา เป็นปัจจัยให้ได้อยู่ในประเทศอันสมควร ได้คบสัตบรุษ ได้ฟังธรรม และอบรมสติปัฏฐาน บรรลุธรรม

3. เพราะมีเหตุไกล ที่เป็นบุญที่ประกอบด้วยปัญญา เบื้องต้น จนเป็นปัจจัยให้ได้ อบรมเหตุใกล้ที่ทำให้บรรลุธรรม ครับ

4. พระพุทธองค์แสดงเหตุที่เป็นอุปนิสัยเริ่มต้น ที่จะได้บรรลุธรรม คือ การทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน แต่ไมได้ปฏิเสธว่า จะไม่ต้องอบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐาน

เพราะการบรรลุธรรม ที่เป็นเหตุโดยตรง คือ การเจริญสติปัฏฐานและอบรมปัญญา ซึ่ง หากได้อ่านประวัติพระเถระรูปต่างๆ หลังจากที่ท่านตั้งความปรารถนาที่จะได้บรรลุ เป็นต้น และได้ทำกุศลเป็นมูลครั้งแรก ท่านก็อบรมปัญญา เจริญกุศลประการต่างๆ มากมาย หลังจากชาตินั้น จนถึงชาติสุดท้ายก็ได้บรรลุ หากเพียงบุญข้างต้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากไม่ได้อบรมปัญญาในชาติอื่นๆ เลย ปัญญาจะก้าวกระโดด บรรลุธรรมในชาติสุดท้ายทันทีไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของการอบรม สะสมยาวนานที่เรียกว่า จิรกาลภาวนาครับ การบรรลุธรรม จึงขาดการอบรมกุศลประการต่างๆ โดยเฉพาะปัญญาไม่ได้เลยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเจริญกุศล การอบรมปัญญา ต้องใช้เวลาหรืออาศัยเวลาในการอบรมเจริญที่ยาวนาน ไม่ใช่วันเดียว ชาติเดียว ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแต่ละวันที่ชีวิตดำเนินไปอยู่นี้ บางครั้งเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ทั้งโลภะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มากมายเหลือเกิน และบางครั้งก็เป็นโอกาสของการเจริญกุศลประการต่างๆ ตามสมควร ถ้าไม่มีการเจริญกุศล สะสมความดีประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง ควบคู่ไปกับการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันแล้ว จะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้อย่างไร

และที่สำคัญ บารมี (ความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น) ไม่ได้มีเฉพาะปัญญาบารมีเท่านั้น ยังหมายรวมถึงความดีประการอื่นๆ ด้วย แต่บารมีทั้งหมดนั้นจะขาดปัญญาไม่ได้เลย พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตกว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญกุศล สะสมบารมีประการต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ยาวนานมาแล้วทั้งนั้น และจะขาดปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ได้เลย ทีเดียว ดังนั้น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต คือ การมีโอกาสได้เจริญกุศล และได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง อวิชชา (ความไม่รู้) ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์นับชาติไม่ถ้วน ก็จะค่อยๆ เบาบางลงไปตามลำดับของความเข้าใจ เพราะฉะนั้นแล้ว จึงต้องมีความอดทนที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อได้ฟังได้ศึกษา ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าจะถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แก้วนพคุณ
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
raynu.p
วันที่ 7 ม.ค. 2555

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
captpok
วันที่ 8 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
natre
วันที่ 28 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 21 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ