พึงชนะความชั่วด้วยความดี

 
dets25226
วันที่  5 ม.ค. 2555
หมายเลข  20312
อ่าน  35,637

"พึงชนะความชั่วด้วยความดี"

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถาเหล่านี้ไว้ว่า “ก็ชนเหล่าใด เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้น ได้ด่าเรา ผู้โน้น ได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับได้

ส่วนชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้น ได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับได้”

(จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

พอได้ยินคำว่า “พึงชนะความชั่วด้วยความดี” ถ้าฟังอย่างผิวเผินดูเหมือนจะเข้าใจได้ว่า พึงชนะความชั่วของคนอื่นด้วยความดีของตัวเอง แต่แท้ที่จริงแล้ว พึงชนะความชั่วของตัวเอง ด้วยความดีของตัวเองต่างหาก นั่นหมายถึงว่า ถ้าเรามีกิเลสที่จะกระทำ พูด หรือคิดนึกสิ่งใดที่ไม่ดีแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะมีปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริง และละสิ่งที่ไม่ดีนั้นเสีย ส่วนการที่จะละคลายได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการสะสมและการเจริญขึ้นของปัญญาจากการที่ได้ศึกษา และฟังพระธรรมแล้วนั่นเอง

นี่คือ ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้น้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองอย่างแท้จริง

หมายเหตุ.- วันนี้เกิดความรู้สึกว่า ทำดีนั้น ถูกเอาเปรียบ ไม่เห็นใครจะทำด้วย ทำแล้วเหนื่อยกับการทำสิ่งที่ถูกอยู่เพียงคนเดียว แล้วก็มีคาถานี้ ผุดขึ้นมาเตือนใจครับฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 148

"พึงชำนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ปัน พึงชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยคำจริง"

ในความเป็นจริงมีแต่สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไปครับ ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยอรรถลึกซึ้งอีก ก็จะเห็นว่า กิเลสที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรา ไม่มีคนชนะ ไม่มีคนแพ้ แต่เมื่อใดที่อกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ดี ดังนั้น พึงชนะความโกรธ ด้วยความ ไม่โกรธ คือ ชนะกิเลสของตนเอง คือ มีปัญญาเกิดรู้ความจริง ในขณะที่ความโกรธ เกิดขึ้น เช่น เห็นโทษของความโกรธตามความเป็นจริง ด้วยสติและปัญญา จึงไม่เกิด ความโกรธต่อไป และเปลี่ยนเป็นความเมตตา และขันติ เป็นต้นครับ หรือ เมื่อความ โกรธเกิดขึ้น สติและปัญญา เกิดรู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ไม่ใช่เราพิจารณากิเลสของตนเอง ไม่ใช่พิจารณากิเลสของคนอื่น เข้าใจกิเลสของตนเองเป็นสำคัญ เข้าใจเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อข้าใจดังนี้ ขณะนั้นปัญญาเกิด ไม่เป็นอกุศล ชนะกิเลสของตนแล้ว ไม่ใช่กิเลสของผู้อื่น หรือ ชนะผู้อื่นครับ

ความไม่ดีของใครก็ของคนนั้น ไม่มีใครไปชนะใครได้ นอกจากจัดการกิเลสของตนป็นสำคัญครับ ความดี ก็เป็นของเฉพาะตน ความชั่ว ก็เป็นของเฉพาะตน สำคัญคือความเห็นถูก แต่ก็บังคับไมได้ครับว่า จะต้องให้สติและปัญญาเกิด แต่ค่อยๆ อบรมไปด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาก็จะเจริญขึ้นเอง ก็จะงดเว้น บาป อกุศลด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นได้บ้างครับ การพิจารณาธรรม ตามความเป็นจริง จึงสำคัญที่จิตของเราเป็นสำคัญ แม้ผู้อื่นโกรธ หรือ ไม่ดีกับเรา ก็มีเมตตาได้ แม้เขาจะไม่ชอบเราก็ตาม นี่คือ การชนะคนอื่น คือ ชนะกิเลสของตนเองครับ พึงชนะความชั่วด้วยความดี คือ กุศลจิตและปัญญาเกิด ในขณะที่อกุศลกำลังเกิดนั่นเองครับ

จากข้อความที่ว่า

หมายเหตุ.- วันนี้เกิดความรู้สึกว่า ทำดีนั้น ถูกเอาเปรียบ ไม่เห็นใครจะทำด้วย ทำแล้วเหนื่อยกับการทำสิ่งที่ถูกอยู่เพียงคนเดียว แล้วก็มีคาถานี้ ผุดขึ้นมาเตือนใจครับฯ


ทำความดี คือ กุศลธรรม ที่สำคัญ คือ เพราะรู้ว่าเป็นความดี จึงทำครับ โดยไมได้หวังว่าใครจะเป็นอน่างไรกับเรา เพราะเราห้ามอกุศลของคนอื่นไม่ได้

ความดี คนดีทำได้ง่าย ความชั่ว คนชั่วทำได้ยาก ความชั่ว คนดีทำได้ยาก ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย ก็เป็นธรรมดาของโลก หากเราเข้าใจความจริงเช่นนี้ แม้คนอื่นจะไม่ทำ เราทำ ก็เพื่อรักษาความดี เพื่อความดีที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น และขณะที่ทำดี ก็ รักษาใจ เป็นประโยชน์กับใจของตนที่ทำแล้ว เพราะกำลังสะสมสิ่งที่ดีอยู่ครับ

ทำดีเพราะเป็นความดี ขออนุโมทนาในความดีและทำต่อไปนะครับ เป็นกำลังใจให้ พร้อมๆ กับการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่ออบรมปัญญา ความเห็นถูกก็จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และพระธรรมก็อนุเคราะห์กับสัตว์โลก แม้เจอเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้มีธรรมเตือนใจพิจารณาด้วยพระธรรมที่ถูกต้องครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม นั้น ก็เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เป็นเครื่องเตือนให้พิจารณาตนเองเป็นสำคัญ ขณะที่กล่าวคำหยาบคายหรือได้ต่อว่า ได้ประทุษร้ายบุคคลอื่นนั้น บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ชนะแล้วที่ได้กล่าวคำ ได้กระทำอย่างนั้นออกไป นำมาซึ่งความสะใจ แต่แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นเป็นผู้แพ้อย่างสิ้นเชิง คือ แพ้ต่ออำนาจของกิเลส เพราะถ้าเป็นผู้ชนะจริงๆ ต้องชนะกิเลสของตนเองไม่ใช่การไปชนะบุคคลอื่น การอบรมฝึกฝนจิตใจให้เป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นเรื่องยาก ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่แสดงถึงคุณของกุศลธรรมบ่อยๆ เนืองๆ และจะต้องมีความเพียรที่จะเจริญกุศลประการนั้นๆ ด้วย เท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่กุศลจิตเกิดก็ชนะอกุศลแล้ว (อกุศล จะเกิดร่วมกับกุศลไม่ได้) เมื่อเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นคุณของกุศลแล้ว ย่อมมีปัจจัยที่จะให้เกิดกุศล แทนที่จะเป็นอกุศล โดยเริ่มชนะกิเลสของตนเองไปทีละเล็กทีละน้อย มีความอดทนที่จะเป็นกุศลยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน พระธรรมเท่านั้นที่จะเกื้อกูลได้อย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dets25226
วันที่ 5 ม.ค. 2555

"แม้มองไม่เห็นฝั่ง ก็ไม่ละความเพียร"

ผมหวนคิดเรื่องพระโพธิสัตว์นะครับ อาจารย์ เช่น เรื่องพระมหาชนก ทรงเห็นประโยชน์ของความเพียรอย่างยิ่ง ทรงประกอบด้วยปัญญา สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้อง และสมควร มีตอนหนึ่งที่ตรัสกับนางมณีเมขลาว่า

"อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง"

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังน่าเลื่อมใสถึงเพียงนี้ ทรงเห็นค่าของพระธรรม ยิ่งกว่าชีวิตและความสมหวัง

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แก้วนพคุณ
วันที่ 5 ม.ค. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ