ภาวะ กับ สภาวะ ต่างกันอย่างไร
ขอรับกวนถามท่านผู้รู้หน่อยครับว่า ภาวะ กับ สภาวะ สองคำนี้ต่างกันอย่างไร และ คำว่าสภาวธรรม มีความหมายว่าอย่างไร อธิบายให้หน่อยได้หรือไม่ครับ จะได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โดยทั่วไปแล้ว ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มักใช้คำว่า สภาวะ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง คำว่า สภาวะ หมายถึง ลักษณะของความจริง ที่เป็นอย่างนั้นเช่น สภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา สภาวะ จึงแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วยครับ ชื่อว่า สภาวะ
ส่วนคำว่า ภาวะ ก็เป็นคำสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่คำโบราณ ที่มักใช้ กับ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ภาวะเศรษฐิกิจ เป็นต้น
ส่วนคำว่า สภาวธรรม หมายถึง ธรรมที่มีจริงที่เป็นสัจจะ ชื่อว่า สภาวธรรม ก็คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพานนั่นเองครับ รวมถึง สภาวธรรมของสภาพธรรมแต่ละอย่าง หรือลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น เกิดขึ้นและดับไปครับ
ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้คำว่า สภาพธรรม สภาวธรรม สิ่งที่มีจริง ปรมัตถธรรม ก็แสดงถึงสิ่งที่จริง ที่เป็นสิ่งที่มีอยู่ คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน และ หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ทั่วไป เช่น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา รวมทั้งลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เฉพาะตัวของสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาวธรรม หรือ สภาพธรรม ใช้แทนกันได้ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และ พระนิพพาน มีลักษณะเฉพาะของตนๆ
สรุปแล้ว ไม่พ้นไปจากนามธรรม และ รูปธรรม
นามธรรมและรูปธรรม เป็นสภาพธรรม หรือ เป็นสภาวธรรม ที่มีจริงทั้งหมด สภาวธรรม หรือ สภาพธรรม มาจากศัพท์วิเคราะห์ว่า
สนฺโต ภาโว = สภาโว
(สิ่งที่เป็นจริง มีจริงๆ ชื่อว่า สภาวะ ซึ่งก็คือ สภาพธรรมหรือสภาวธรรม นั่นเอง)
และ คำว่า ภาวะ โดยศัพท์ หมายถึง ความเป็น ซึ่งก็คือ สภาพที่มีอย่างนั้น สภาพที่เป็นจริงอย่างนั้น สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เพราะสภาพธรรม ก็ไม่พ้นไปจาก ความเป็นจริงของธรรมแต่ละอย่างๆ นั่นเอง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...