อิณสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๕
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมที่
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
ในวันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๕ คือ
อิณสูตร (ว่าด้วยความจนทางโลกกับทางธรรม)
... จาก ...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 664
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)
... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 664
อิณสูตร
ว่าด้วยความจนทางโลกกับทางธรรม
[๓๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก, ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืม แม้การกู้ยืม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก.
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ กู้ยืมแล้วย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกามในโลก.
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ รับใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวง ก็เป็นทุกข์ของบุคลผู้บริโภคกามในโลก.
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมติดตามเขา แม้การติดตาม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก.
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก.
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความเป็นคนจนก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การรับใช้ดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การทวง ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การติดตาม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลกด้วยประการฉะนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนเข็ญใจยากไร้ในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้นั้นแล เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขาว่า เป็นการกู้ยืม, เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดกายทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมดำริ ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามด้วยกาย ว่าชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดวจีทุจริตนั้น ฯลฯ เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการ ปกปิดมโนทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ... ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา เรากล่าวเหตุแห่งการปกปิดทุจริต ของเขานั้นว่า เป็นการรับใช้ดอกเบี้ย, เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุรูปนี้ เป็นผู้กระทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้ เรากล่าวการถูกว่ากล่าวของเขาว่า เป็นการทวงดอกเบี้ย อกุศลวิตกที่เป็นบาปประกอบด้วยความเดือดร้อน ย่อมครอบงำเขา ผู้อยู่ป่า ผู้อยู่โคนไม้ หรือผู้อยู่ในเรือนว่าง เรากล่าวการถูกอกุศลวิตกครอบงำนี้ ของเขาว่า เจ้าหนี้ติดตามเขา, คนจนเข็ญใจยากไร้นั้นแล ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจเมื่อตายไปแล้ว ย่อมถูกจองจำ ในเรือนจำ คือ นรก หรือในเรือนจำ คือกำเนิดดิรัจฉาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเพียงแห่งเดียว ซึ่งร้ายกาจ เป็นทุกข์ กระทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อย่างนี้ เหมือนเรือนจำ คือนรก หรือเรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉานเลย.
พระคาถา
ความเป็นคนจน และการกู้ยืมเรียกว่าเป็นทุกข์ในโลก คนจนกู้ยืมเลี้ยงชีวิตย่อมเดือดร้อน เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา เพราะไม่ใช้หนี้นั้น เขาย่อมเข้าถึงแม้การจองจำ ก็การจองจำนั้น เป็นทุกข์ของชนทั้งหลายผู้ปรารถนากาม, ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรมกระทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตย่อมปรารถนา ย่อมดำริว่า คนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา พอกพูนบาปกรรมในที่นั้นๆ อยู่ บ่อยๆ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เราตถาคตย่อมกล่าวว่า เป็นทุกข์เหมือนอย่างนั้น เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทรามทราบความชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน มีหนี้สิน เลี้ยงชีวิตอยู่ ย่อมเดือดร้อน ลำดับนั้น ความดำริที่มีในใจ เป็นทุกข์เกิดขึ้นเพราะความเดือนร้อนของเขา ย่อมติดตามเขาที่บ้าน หรือที่ป่า เขาผู้มีบาปกรรมมีปัญญาทราม ทราบความชั่วของตนอยู่ ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานบางอย่าง หรือถูกจองจำในนรก ก็การจองจำนั้นเป็นทุกข์
ที่นักปราชญ์หลุดพ้นไปได้.บุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มาโดยชอบธรรมย่อมเป็นผู้ยึดถือชัยชนะไว้ได้ในโลกทั้งสองของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ การบริจาคของคฤหัสถ์ดัง กล่าวมานั้น ย่อมเจริญบุญ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญาและสำรวมในศีล ในวินัยของพระอริยเจ้าผู้นั้นแล เราเรียกว่ามีชีวิตเป็นสุขในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิส ยังอุเบกขา (ในจตุตถฌาน) ให้ดำรงมั่น ละนิวรณ์ ๕ ประการ เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ บรรลุฌานทั้งหลาย มีเอกัคคตาจิตปรากฏมีปัญญารักษาตัว มีสติ จิตของเขาย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะทราบเหตุในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ตามความเป็นจริง เพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง หากว่าเขาผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบคงที่อยู่ในนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า ความหลุดพ้นของเรา ไม่กำเริบไซร้ ญาณนั้นแลเป็นญาณชั้นเยี่ยม ญาณนั้น เป็นสุข ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ญาณนั้นไม่มีโศก หมดมัวหมองเป็นญาณเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้.
จบอิณสูตรที่ ๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อิณสูตร *
ว่าด้วยความจนทางโลกกับทางธรรม
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาม ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ครองเรือน เปรียบเทียบกับความทุกข์ในวินัยของพระอริยเจ้า มี ๖ ประการด้วยกัน ดังนี้
- ความยากจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาม (การไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และ ปัญญาในกุศลธรรม เป็นความยากจนในวินัยของพระอริยเจ้า)
- การกู้ยืม เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาม (การประพฤติทุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ เป็นการกู้ยืม ในวินัยของพระอริยเจ้า)
- การใช้ดอกเบี้ย เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาม (การที่ได้ประพฤติทุจริตแล้ว ก็มุ่งปกปิดไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ เป็นการรับใช้ดอกเบี้ยในวินัยของพระอริยเจ้า)
- การถูกทวง เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาาม (การที่เมื่อประพฤติทุจริตแล้ว ก็ถูกผู้มีศีลเป็นที่รัก ว่ากล่าว เป็นการถูกทวงในวินัยของพระอริยเจ้า)
- การถูกเจ้าหนี้ติดตาม เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาม (การถูกอกุศลวิตกอันเป็นบาป อันลามกครอบงำ เป็นการถูกติดตาม ในวินัยของพระอริยเจ้า)
- การถูกจองจำ เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกาาม (การที่เมื่อกระทำทุจริตกรรมแล้ว ผลคือ ทำให้ถูกจองจำในเรือนจำ คือ นรก เป็นต้น เป็นการถูกจองจำในวินัยของพระอริยเจ้า)
* หมายเหตุ คำว่า อิณ (อ่านว่า อิ - นะ) ซึ่งเป็นชื่อของพระสูตร แปลว่า "หนี้" ครับ
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ