ใจของเราไม่ต่างอะไรกับห้องที่ว่างเปล่า เราบรรจุอะไรลงไป ...

 
ผู้รู้น้อย
วันที่  13 ม.ค. 2555
หมายเลข  20351
อ่าน  1,943

มีคำกล่าวที่ว่าใจของเราไม่ต่างอะไรกับห้องที่ว่างเปล่า เราบรรจุอะไรลงไป ชีวิตของเราก็เป็นไปตามสิ่งที่บรรจุนั้น ทุกวันนี้ เราเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เราบรรจุอะไรลงไปในห้องแห่งหัวใจของเราบ้าง ความรู้ ความงมงาย ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความโลภ ความดี ความชั่ว ความริษยา ความหน้าด้าน ความสะอาด สว่าง สงบ หรือความตื่นรู้ ... ชีวิตจะเป็นอย่างไร รุ่งโรจน์หรือร่วงโรย ขึ้นสูงหรือลงต่ำ สำคัญที่เราบรรจุอะไรลงไปในใจของเราเอง ...

รบกวนเรียนถาม ท่านผู้รู้ด้วยครับว่า เราสามารถใส่อะไรลงไปในใจได้ไหมครับ ... เพราะ ใจ จริงๆ แล้วก็คือ จิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ อารมณ์ ... สมัยนี้มักจะนำธรรม ของพระพุทธเจ้าขึ้นมาบัญญัติกันตาม ความคิดความรู้สึกของตน ... ซึ่งอันตรายมากสำหรับเยาวชน ... ที่นำไปศึกษาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ใช้คำต่างๆ จะต้องใช้คำที่ถูกต้อง และมีความเห็นถูกเป็นเบื้องต้น จึงจะใช้คำต่างๆ อย่างเหมาะสม ให้เหมาะและสื่อในคำนั้นได้ตรงตามสภาพธรรมนั้นครับ

แม้แต่คำว่า จิต ใจ มนัส หทัย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใจของเรา แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาครับ ซึ่งตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น แสดงธรรมชาติของจิต หรือ ลักษณะของจิตไว้หลายประการดังนี้ครับ

ประการแรก จิตเป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ คือ เมื่อจิตเกิดขึ้น ทำหน้าที่รู้ ดังนั้นต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่ถูกจิตรู้ครับ เช่น เมื่อเห็นเกิดขึ้น (จิตเห็น) ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น คือ สี สีเป็นอารมณ์ ของจิตเห็น จิตเห็นทำหน้าที่รู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา ดังนั้น จิตเป็นสภาพธรรมรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ครับ

ประการที่สอง คือ จิตเป็นธรรมชาติหรือ มีลักษณะ สะสม คือ เมื่อจิตเกิดขึ้น ทำหน้าที่สะสมทั้งฝ่ายที่ดี หรือ ไม่ดี เช่นเมื่อจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ก็สะสมสิ่งที่ดี มี ปัญญาเป็นต้น สะสมไว้ไม่หายไปไหน ในจิตขณะต่อไป ทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยในการอบรมปัญญาเพราะมีการสะสมสิ่งที่ดี คือ ปัญญามาแล้วนั่นเองครับ โดยนัยตรงกันข้าม เมื่อจิตฝ่ายไม่ดีเกิดขึ้น ก็สะสมอุปนิสัยที่ไม่ดี เช่น จิตโกรธเกิดขึ้น ก็ทำให้สะสมเป็นผู้มีอุปนิสัยมักโกรธได้ง่าย เพราะจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธไม่ได้หายไปไหน สะสมต่อไปในจิตขณะต่อๆ ไปนั่นเองครับ

การที่แต่ละคนมีอุปนิสัยแตกต่างกันไป เช่น อุปนิสัยในการให้ ในความตระหนี่ ในความเป็นผู้มีเมตตา เป็นผู้มักโกรธ เป็นผู้มักอยากได้ เป็นต้น ก็เพราะอาศัย จิต ที่เป็นสภาพธรรมที่สะสม และเมื่อเกิดจิตประเภทต่าๆ กันไป ก็ทำให้สะสมเป็นอุปนิสัยแตกต่างกันไปนั่นเองครับ

ดังนั้นจากคำกล่าวที่ยกมานั้น ใจของเราไม่ต่างอะไรกับห้องที่ว่างเปล่า เราบรรจุอะไรลงไป ชีวิตของเราก็เป็นไปตามสิ่งที่บรรจุนั้น


ใจเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ ไม่สามารถจับต้องได้ เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์และ สะสม ใจ จึงไม่ใช่รูปธรรมที่เป็นห้องที่ว่างเปล่า และไม่มีเราที่จะบรรจุ เพราะไม่มีเรา มีแต่ธรรม ที่เป็นจิต เจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป

ดังนั้นชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ชีวิตก็คือ จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นเพียงชั่วชีวิตที่เป็นชั่วขณะจิต ดังนั้น ชีวิตหรือจิตจะเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีเรา ไม่มีใครที่จะบังคับบัญชาได้ ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว ชีวิต หรือ จิต จะเป็นอย่างไร จะเกิดขึ้นเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตามเหตุปัจจัย นั่นคือ ตามการสะสมมาของจิต เจตสิก ที่ได้สะสมมาในอดีตที่เกิดขึ้นและดับไปนั่นเองครับ ไม่มีเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาที่จะมีอำนาจ บรรจุ หรือ ทำให้เกิดสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดีได้ตามใจชอบ

ธรรมจึงไม่อิสระ ความหมายคือ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา หากได้ฟังพียงข้อความที่กล่าวมา ด้วยความเผิน ก็คิดว่าสามารถทำได้ ดังเช่นใส่ของลงไปในห้องว่างที่ทำได้ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครทำให้จิตเป็นไปในอำนาจ ทุกคนก็อยากให้เกิดแต่สิ่งที่ดีๆ กับจิตใจ คือ เกิดกุศลจิตไม่อยากให้เกิดอกุศลจิตเลย แต่ก็ไม่เป็นไปในอำนาจ ไม่สามารถบรรจุสิ่งที่ต้องการได้ เพราะไม่มีเราที่จะบรรจุ แต่แล้วแต่การสะสมมาของจิต เพราะจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม สะสมสิ่งที่มีกุศลธรรมามาก ใจ หรือ จิตก็น้อมไปตามการสะสมคือ เกิดกุศลจิตได้ง่ายกว่าจิตที่ไม่ได้สะสมฝ่ายดีมานั่นเองครับ

ดังนั้น จิตจึงไม่ใช่สิ่งที่บรรจุลงไปได้เหมือนห้องว่าง แต่จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม คือ เมื่อเกิดจิตประเภทใด มีฝ่ายดี เป็นต้น ก็สะสมสิ่งที่ดีเป็นปัจจัยให้เกิดจิตที่ดีได้ในอนาคต โดยไม่ต้องพยายามบรรจุเลย และ โดยนัยตรงกันข้าม ฝ่ายอกุศลก็เช่นกันครับ จึง ไม่ต้องทำ พยายามที่จะบรรจุสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพียงแต่เข้าใจความเป็นอนัตตาและความเป็นแต่เพียงธรรม และอาศัยการศึกษา ฟังพระธรรม สิ่งที่ดีๆ ก็เกิดขึ้นได้บ่อยขึ้น เพราะ อาศัย ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาพระธรรมครับ

ดังนั้น สำคัญที่เหตุ ว่าจะเกิด ดี หรือ ไม่ดีอย่างไรกับจิต แต่ไม่มีตัวตนที่จะพยายามบรรจุอะไรลงไปในจิตได้ครับ และเมื่อกำลังสะสมเหตุที่ดี คือ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เมื่อปัญญาเกิดขึ้น กุศลธรรมเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม ก็สะสมความดี สะสมปัญญา โดยไม่ต้องไปพยายามบรรจุลงในจิต ดังนั้นจะกล่าวให้ถูกต้อง คือ ไม่มีการบรรจุลงในใจ แต่ ใจจะสะสมไปซึ่ง กุศลธรรมและอกุศลธรรมต่อไปในแต่ละขณะจิตที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
หลานตาจอน
วันที่ 13 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 13 ม.ค. 2555

ขอขอบพระคุณและขอน้อมจิตอนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิมด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ