ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต...

 
dets25226
วันที่  14 ม.ค. 2555
หมายเลข  20361
อ่าน  16,174

พึงรักษาจิตได้อย่างไร

เมื่อรักษาจิตได้แล้ว จะเป็นอย่างไร

เมื่อรักษาจิตไม่ได้ จะเป็นอย่างไร

สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญญาพอ แต่ประสงค์กุศลอันนี้ จะศึกษา แล้วรักษาจิต ได้มากน้อยเพียงใด

ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พึงรักษาจิตได้อย่างไร

จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทำหน้าที่รู้อารมณ์ แต่เมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ซึ่งเจตสิกนี้เอง ที่มีทั้งเจตสิกฝ่ายที่ดี และ เจตสิกที่ไม่ดี ที่เป็นกิเลส เป็นอกุศล ซึ่งโดยทั่วไปของปุถุชน จึงมีเจตสิกที่เป็นกิเลส เกิดกับจิตเป็นส่วนใหญ่ทำให้เป็นจิตที่ไม่ดี เป็นจิตที่เป็นอกุศล คือ อกุศลจิต มีจิตที่เป็นโลภะ จิตที่เป็นโทสะ จิตที่เป็นโมหะ เป็นต้น ครับ

เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงแสดง การรักษาจิต การรักษาจิต ไม่มีตัวเราที่จะรักษานะครับ ไม่มีตัวเราที่จะพยายามจะรักษาอีกเช่นกัน เพราะมีแต่ธรรมไม่ใช่เรา ที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ดังนั้น การรักษาจิต ก็ต้องเป็นหน้าที่ของธรรม ที่เป็นเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดีที่เกิดขึ้นนั่นเอง เป็นธรรมที่จะรักษาจิต รักษาจิตไม่ให้เป็นไปในอกุศลธรรม แต่เกิด จิตที่ดี ที่เป็นกุศลธรรมแทน ครับ ชื่อว่ารักษาจิต

ดังนั้น ธรรมที่รักษาจิตไม่ให้เป็นอกุศล แต่เป็นกุศล คือ สติและปัญญา และรวมทั้ง เจตสิกฝ่ายดีประการอื่นๆ มี หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ครับ แต่การจะรักษาจิตได้ ธรรมที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ที่จะทำให้รักษาจิตได้ คือ ปัญญา ความเห็นถูกนั่นเอง เมื่อมีปัญญาความเห็นถูก ย่อมคิดชอบ และทำให้มีการกระทำทางกาย วาจาที่ชอบ ระลึกชอบ ซึ่งขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น เมื่อมีปัญญา ปัญญาเกิด รักษาจิตในขณะนั้น ให้เป็นกุศล รักษาไม่ให้เป็นอกุศลในขณะนั้น และสติเป็นเครื่องกั้นกระแสของกิเลส ก็ช่วยรักษาจิตในขณะนั้นด้วยครับ

ดังนั้นจึงไม่มีเราที่จะพยายามรักษา แต่เพราะอาศัยการอบรมปัญญา ปัญญาเจริญขึ้น ก็ทำให้เกิดจิตที่ดี ก็ช่วยรักษาจิตในขณะนั้นไม่ให้เป็นอกุศล เป็นกุศลจิตแทนครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 353

๖. เตลปัตตชาดก

ว่าด้วยการรักษาจิต

[๙๖] "บุคคลพึงประคอง ภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมัน ฉันใด บัณฑิตผู้ปรารถนาจะไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป ก็พึงตามรักษาจิตของตนไว้ ด้วยสติฉันนั้น"

ผู้ที่ปรารถนา ทิศที่ไม่เคยไป คือ พระนิพพาน พึงตามรักษาจิต ด้วย กายคตายติ นั่นคือ การเจริญสติปัฏฐาน ดังนั้น เพราะอาศัยการเจริญสติปัฏฐาน คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ชื่อว่ารักษาจิตในขณะนั้น ด้วยสติและปัญญา และเมื่อปัญญาแก่กล้า ย่อมรักษาจิตได้สูงสุดคือดับกิเลส ถึงพระนิพพาน ด้วยการรักษาจิต คือ การเจริญสติปัฏฐาน หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 ม.ค. 2555

เมื่อรักษาจิตได้แล้ว จะเป็นอย่างไร

เมื่อรักษาจิตที่ดีได้ด้วยปัญญา ก็ทำให้ กุศลจิต เกิดขึ้นไดบ่อยๆ และเมื่อรักษาจิตได้สูงสุด คือ ดับกิเลสหมดด้วยปัญญา ย่อมรักษาจิตไม่ให้เกิด อกุศลขึ้นอีกต่อไปครับ มาร คือ กิเลสมาร ก็ไม่สามารถย่ำยี คือ เกิดขึ้นได้อีกครับ ย่อมถึงทิศที่ไม่เคยไป คือ พระนิพพานครับ

เมื่อรักษาจิตไม่ได้ จะเป็นอย่างไร

รักษาจิตไม่ได้ ก็เพราะเป็นอกุศล อกุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น ขณะที่รักษาจิตไม่ได้ คือ เป็นอกุศล ก็ย่อมสะสมธรรมที่มีโทษ และสะสมเป็นอุปนิสัยไม่ดี และไม่มีทางพ้นจากการเกิด การตาย พ้นจากวัฏฏะได้เลย เพราะการรักษาจิตไม่ดี เพราะไม่มีปัญญา เพราะเจริญอกุศลนั่นเองครับ

สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญญาพอ แต่ประสงค์กุศลอันนี้ จะศึกษา แล้วรักษาจิต ได้มากน้อยเพียงใด

ปัญญาจะเจริญเติบโตมากๆ จนสามารถรักษาจิตได้ทุกขณะ คือ ไม่เป็นอกุศลอีกเลย คงไม่ใช่ฐานะ แต่ปัญญาสามารถค่อยๆ อบรมได้ ทีละเล็กละน้อย จากการศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม ก็จะค่อยๆ เกิดปัญญา และเริ่มเข้าใจความจริงก็มีการรักษาจิตได้บ้าง เมื่อปัญญา หรือ กุศลเกิดขึ้นในบางขณะ และเมื่ออบรมปัญญาไปเรื่อยๆ ย่อมถึงความแก่กล้าของปัญญา และดับกิเลสได้หมดสิ้น ก็แป็นการรักษาจิต จากอกุศลธรรมได้หมดในขณะนั้นครับ

ดังนั้นทุกอย่างต้องค่อยๆ อบรมไปจึงจะรักษาจิตได้จริงๆ ก็ค่อยศึกษาฟังพระธรรมต่อไปเรื่อยๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อกล่าวเฉพาะจิตแล้ว เป็นเพียงสภาพธรรมที่รู้แจ้งในอารมณ์ แต่ที่จะเป็นจิตที่ดีหรือไม่ดีนั้น ก็เพราะธรรมที่เกิดร่วมกับจิต (เจตสิก) ถ้าอกุศลเจตสิก เกิดร่วมกับจิต ก็ทำให้จิตนั้นเป็นอกุศลจิต ปรุงแต่งให้เป็นอกุศล ให้ติดข้อง ให้ไม่พอใจ ให้ตระหนี่ เป็นต้น ในขณะที่มีอกุศลเกิด ไม่ได้รักษาจิตให้เป็นไปในกุศล เพราะเป็นอกุศล ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจตสิกธรรมที่ดีงามเกิดร่วมกับจิต มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น เกิดร่วมกับจิต ก็ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่ดีงาม เป็นกุศลจิต เป็นการรักษาจิตไม่ให้เป็นไปในอกุศล ทั้งสองประการคือ กุศลจิต และ อกุศลจิต เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ปะปนกัน และไม่เกิดพร้อมกันด้วย ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

แต่ละคนก็สะสมกิเลสมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ จึงมีขณะที่ทำให้จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใสด้วยกิเลส มากทีเดียว นั่นก็คือขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น เพราะในขณะที่อกุศลจิตเกิดนั้น จะไม่ปราศจากกิเลส ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกธรรมเลย หนทางเดียวที่จะค่อยๆ รักษาจิตที่เต็มไปด้วยกิเลสให้ค่อยๆ ละคลายเบาบางลง ก็ด้วยการสะสมกุศลในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

เมื่อมีปัญญามากขึ้นก็จะปรุงแต่งให้คิด พูดและกระทำในสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้นจนกว่าจะมีปัญญาคมกล้าสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นไม่มีเหลือ เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ กิเลสที่ดับได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นทำร้ายหรือเสียดแทงจิตใจอีกเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dets25226
วันที่ 14 ม.ค. 2555

"ธรรมทั้งปวง ไม่ใช่เรา แม้จิต เจตสิก ความรู้สึก นึก คิดนี้ ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา"

อนุโมทนาเนื้อความนี้ครับ

ผมเข้าใจอย่างนี้ครับ ว่า การรักษาจิตนั้น จุดมุ่งหมาย คือ นำพาให้จิตเจริญกุศลเรื่อยๆ อย่างตั้งใจจริง เหมือนคนประคอง ภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมันอย่างระมัดระวัง จนเจริญถึงกุศลสูงสุด คือ ดับกิเลสหมดสิ้น ด้วยปัญญา รู้ถูกทั่วในกองสังขาร

ขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 14 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ขออนุญาตร่วมสนทนาอีกนิดครับ เพราะว่าพระธรรมเป็นเรื่องละเอียด ตามที่กล่าวแล้วครับว่า ไม่มีตัวตนที่จะพยายามรักษาจิต แต่เป็นหน้าที่ของธรรมที่จะรักษาจิตได้ คือ สติและปัญญาที่เกิดขึ้น ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอุปมา การรักษาจิตไว้คือ เปรียบเหมือนบุคคลที่ประคองภาชนะที่ใส่น้ำมันไม่ให้ตก หากตกก็จะถูกเพชรฆาตตัดคอ ความหมายคือ การประคอง ก็ด้วยสติและปัญญา แต่ไม่ใช่ด้วยเจตนา ด้วยความตั้งใจจริงนะครับ เพราะเจตนาเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แต่เพราะอาศัยการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ชื่อว่าเป็นการรักษาจิต ซึ่ง อาศัยการฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ย่อมเกิดสติปัฏฐาน โดยไม่ต้องพยายามรักษาจิต แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ชื่อว่า รักษาจิตแล้วในขณะนั้นครับ

ดังนั้น หน้าที่คือ ไม่ใช่พยายามจะรักษาจิตด้วยความตั้งใจที่จะให้กุศล หรือ ปัญญาเกิด แต่ อบรมเหตุ คือ ฟังพระธรรมต่อไป เมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้น โดยไม่ได้หวังและไม่ต้องตั้งใจ เพราะ ธรรมจะปรุงแต่งทำหน้าที่เอง เพราะ มีแต่ธรรมไม่ใช่เราครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
คิดดีจัง
วันที่ 15 ม.ค. 2555

อนุโมทนาครับผม

การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
SOAMUSA
วันที่ 17 ม.ค. 2555

กราบอนุโมทนาค่ะอาจารย์และทุกๆ ท่าน

ขอบพระคุณที่อธิบายให้เข้าใจค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
swanjariya
วันที่ 22 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนาขอบคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 2 ธ.ค. 2563

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศลทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ