เหตุที่ทำให้กรรมไม่ให้ผล มีหรือไม่

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  14 ม.ค. 2555
หมายเลข  20362
อ่าน  2,462

มีปัญหาในวงสนทนาธรรม ให้นำมาเรียนถามว่า กรรมที่ทำแล้ว มีเหตุที่จะไม่ให้ผล หรือไม่ หรือว่า มีวิธีที่จะทำให้กรรมให้ผลไม่ได้ บ้างหรือไม่

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมที่ทำแล้ว มีเหตุที่จะไม่ให้ผล หรือไม่

กรรม ก็คือ เจตนาที่เป็นไปในกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เมื่อมีการกระทำที่ครบกรรมบถ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือ ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น แต่ผลของกรรมอาจจะให้ผล หรือ ไม่ให้ผลก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วยครับ

กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ก็มี กรรมบางอย่างให้ผลชาติหน้าก็มี กรรมบางอย่าง ให้ผลในชาติถัดๆ ไปก็มี ดังนั้น หากรรมที่ให้ผลในชาติหน้า แต่มีกรรมอื่นมาตัดรอน หรือ มาให้ผลก่อน กรรมนั้นก็เป็นอโหสิกรรม ก็ไม่ให้ผลอีกได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น พระเทวทัต ทำอนันตริยกรรม หลายข้อ เช่น ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ ทำสังฆเภท คือ ทำ สงฆ์ให้แตกกัน แต่ อนันตริยกรรมที่แรงที่สุด คือ การทำสงฆ์ให้แตกกัน กรรมที่หนักที่สุดนั้นจึงให้ผลก่อน คือ ตกนรกอเวจีตลอดกัปเพราะด้วยผลของอกุศลกรรม คือการทำ สังฆเภท แต่ไม่ใช่ การทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ ดังนั้น กรรมที่เป็น การทำโลหิต ของพระพุทธเจ้าให้ห้อ จึงไม่ให้ผลไปในชาติถัดไป โดยปริยาย เพราะอนันนตริยกรรมจะต้องให้ผลในชาติถัดไปทันที คือ ชาติหน้า แต่ สังฆเภทมาให้ผลก่อน การทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ จึงไม่ให้ผลในชาติถัดไปตามที่ควรจะเป็นครับ เพราะมีกรรมที่หนักกว่าให้ผลก่อนครับ นี่ก็เป็นปัจจัยใหนึ่งตามที่กล่าวมา

และกรรมบาองย่างให้ผลในชาตินี้ ที่เป็นอกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม แต่เพราะมีกุศลกรรมใหญ่ที่มีกำลัง มาตัดรอน หรือ อกุศลกรรมใหญ่ที่มีกำลังมาตัดรอน ที่เรียกว่า ปโยคสมบัติ และ ปโยควิบัติ ที่เป็นความเพียรในทางกุศลกรรมและความเพียรในทางอกุศลกรรม มาตัดรอน กรรมดี กรรมชั่ว ที่จะให้ผลในปัจจุบัน ทำให้ไม่ให้ผลได้ครับ แต่ต้องเป็น กุศลกรรมที่ทำที่มีกำลัง หรือ อกุศลกรรมที่มีกำลังมากนะครับ

และอีกนัยหนึ่ง อย่างเช่น กรรมที่ให้ผลในชาติถัดๆ ไป ทั้งฝ่ายกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เปรียบเหมือน สุนัขล่าเนื้อ วิ่งตามทันเมื่อไหร่ก็กัดกินเมื่อนั้น แต่กรรมนั้นไม่สามารถให้ผลได้ เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิด จิต เจตสิก เพราะ การให้ผลของกรรม ก็คือ จิต เจตสิก ที่เป็นวิบากจิต มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น หรือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง มี จิตเห็น เป็นต้น ที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เมื่อไม่มีการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก และรูปอีก กรรมที่ทำมา ก็ไม่สามารถให้ผลได้อีกครับ เพราะผลของกรรม คือ วิบากจิต เจตสิกและรูปที่เกิดจากกรรมครับ ดังเช่น พระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้ว ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิกและรูปอีก กรรมที่เคยทำในอดีต แสนโกฏิกัปป์ ก็ไม่มีโอกาสให้ผล ก็ เป็นอโหสิกรรมไปครับ

มีวิธีที่จะทำให้กรรมให้ผลไม่ได้ บ้างหรือไม่

กรรม เมื่อ มีเหตุปัจจัย ก็ให้ผล เป็น วิบากจิตและเจตสิก รวมทั้งรูปที่เกิดจากกรรม ดังนั้น กรรมจึงนำมาซึ่ง จิต เจตสิกและรูปครับ วิธีที่จะทำให้กรรมไม่ให้ผลจริงๆ ก็คือ ไม่มีการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิกและรูป นั่นคือ ดับเหตุให้เกิด จิต เจตสิกและรูป คือ กิเลสประการต่างๆ เมื่อดับกิเลสหมดสิ้นก็ไม่มีการเกิดขึ้นอีก ของ จิต เจตสิกและรูป ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของผลของกรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูปอีกครับ

วิธีคือ การเจริญ อบรมปัญญา ศึกษาพระธรรมและเจริญสติปัฏฐาน อันเป็นทางสายเอก เพื่อดับทุกข์ทั้งมวลครับ อันมีทุกข์ คือ การเกิด เป็นต้นนั่นเองครับ ส่วนในปัจจุบันที่จะมีการทำการสะเดาะเคราะห์ แก้กรรมตามที่ทำกันในปัจจุบัน เมื่อยังไม่เข้าใจความเป็นปัจจัยและยังไม่รู้จักกรรมจริงๆ แม้แต่คำว่า กรรม จะแก้กรรมได้อย่างไร และกรรมนั้นก็สำเร็จไปแล้ว เพียงแต่ว่า การทำความดีที่ถูกต้อง บ่อยๆ เนืองๆ และมีกำลัง ย่อมห้ามอกุศลบางประการไม่ให้เกิดขึ้นได้บ้างในปัจจุบันครับ แต่ถ้าทำด้วย ความต้องการจะแก้กรรม อันมีพื้นฐานคือความเห็นผิด ก็ย่อมที่จะอุปถัมภ์ให้อกุศลกรรม ในอดีต ให้ผลในปัจจุบันได้ง่ายขึ้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม ไม่ใช่มีเฉพาะชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น กรรมเก่าทั้งหมดที่ได้กระทำแล้วในแสนโกฏิกัปป์ สามารถจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ หรือเมื่อไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็ให้ผลหลังปฏิสนธิได้ นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม การให้ผลของกรรม ให้ผลทำให้วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเกิดขึ้น และทำให้รูปเกิดขึ้น (กรรมชรูป) ตามสมควรแก่กรรม

กรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เป็นสภาพที่ปกปิด เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น จะให้ผลเมื่อใด ให้ผลในชาตินี้ ในชาติหน้า หรือ ในชาติต่อๆ ไป ก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ต่างกัน มีผลไม่เสมอกัน กล่าวคือ กุศลกรรม ย่อมทำให้เกิดผลที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ส่วน อกุศลกรรมให้ผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ ทำให้มีความทุกข์เดือดร้อน เมื่อทำกรรมสำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรรมในชาตินี้หรือกรรมในชาติก่อนๆ ที่ผ่านมา เมื่อถึงคราวให้ผล ย่อมให้ผลตามฐานะของกรรมนั้นๆ ไม่มีใครสามารถตัดหรือแก้กรรมที่ทำสำเร็จไปแล้วได้, อกุศลกรรมที่กระทำแล้ว เสร็จสิ้นแล้ว ไม่สามารถจะไปแก้หรือไปตัดได้ นอกจากจะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล แล้วปรับปรุงแก้ไขตนเอง ด้วยการสำรวมระวังไม่กระทำกรรมชั่วอย่างนั้นอีก พร้อมกับเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศล สะสมความดีประการต่างๆ ส่วนความดีทั้งหลายนั้น ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปตัด มีแต่ควรจะสะสมเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป

หนทางเดียวที่จะทำให้ไม่ต้องมีกรรม และ การได้รับผลของกรรมอีกเลย นั่นก็คือ อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จนกระทั่งปัญญาคมกล้าขึ้น สามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ไม่ต้องมีการกระทำกรรม และการได้รับผลของกรรมอีกเลย กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตไม่สามารถให้ผลได้อีกเลย กล่าวได้ว่า สิ้นทั้งกรรม สิ้นทั้งผลของกรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมจากท่านอื่นอีกเล็กน้อย ในส่วนที่ยังไม่ได้แสดงดังนี้ค่ะ

กรรมที่จะให้ผลได้ต้องถึงพร้อมด้วย สมบัติและวิบัติ ซึ่งท่านได้จำแนกทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม ขอยกตัวอย่างของอกุศลกรรมพอคร่าวๆ ดังนี้

๑. อกุศลกรรมบางอย่างคติสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผลอยู่ เช่น การเกิดในสุคติภูมิ ย่อมทำให้ได้รับอิฏฐารมณ์มากกว่าอนิษฐารมณ์

๒. อกุศลกรรมบางอย่างอุปธิสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผลอยู่ เช่น การเกิดมามีรูปงาม ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับวิบากที่ดี

๓. อกุศลกรรมบางอย่างกาลสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผลอยู่ เช่น เกิดมาในยุคที่สมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ชีวิตก็ไม่ลำบากแร้นแค้น

๔. อกุศลกรรมบางอย่างปโยคสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผลอยู่ เช่น เป็นผู้มีความสามารถในการประกอบการงานอย่างชาญฉลาด ย่อมทำให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต

ส่วนการให้ผลของ กุศลกรรม และ วิบัติ ก็โดยนัยตรงกันข้ามค่ะ ซึ่งรายละเอียดมีอธิบายไว้อย่างชัดเจนใน อรรถกถามโนรถปูรณี หน้า ๑๓๓ ตามลิงก์ข้างล่างค่ะ

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
captpok
วันที่ 19 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 21 ส.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ