ทำไมเราไม่เลีอกเจริญสติปัฐาน 4 ขั้นต้นๆก่อน?

 
apitum
วันที่  16 ม.ค. 2555
หมายเลข  20373
อ่าน  1,736

ทำไมเราไม่เลีอกเจริญสติปัฐาน ๔ ขั้นต้นๆ ก่อน เช่น กายยานุปัสสนา ซึ่งง่ายกว่า เหมาะกับบุคคลผู้เริ่มต้นปฏิบัติแล้วจึงมาเจริญธัมมานุปัสสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่ามาก เหมาะกับบุคคลที่มี อินทรีย์ แก่กล้าแล้ว เพราะว่า สติปัฏฐานทั้ง ๒๑ บรรพ ทำให้บรรลุอรหันต์ได้ทุกๆ บรรพ

ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยโต้แย้งด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติปัฏฐาน ก็คือ ธรรม ซึ่งเป็น สติและปัญญาที่เกิดขึ้น รู้ความจริงของสภาพธรรมต่างๆ ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมครับ สติและปัญญาก็เป็น ธรรมเช่นกัน ดังนั้นในเมื่อ สติและปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นธรรม ก็ต้องเป็นอนัตตา ด้วย

ความหมายของอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เกิดจากเหตุปจจัย ไม่มีเรา ที่จะทำให้เกิด เป็นไปตามอำนาจของเราได้เลย นี่คือ ความเป็นอนัตตา ดังนั้น สติปัฏฐาน เป็นอนัตตา สติและปัญญา บังคับให้เกิดตามใจชอบไม่ได้ เพราะเป็นธรรมไม่ใช่ เรา และบังคับที่จะเลือกหมวดใดหมวดหนึ่ง ตามที่เราจะเลือกก็ไม่ได้อีก เพราะเป็น ธรรม สติและปัญญาเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ จึงบังคับที่จะเลือกให้สติเกิดระลึกรู้ที่หมวด นี้ก่อน เพราะคิดว่าง่าย อันนี้ก็ไม่ตรงกับหลักความเป็นอนัตตาแล้ว จึงไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ การเจริญสติปัฏฐานเลย ดังนั้น เมื่อไหร่ที่เลือกให้รู้ทันทีว่าไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะ เป็นโลภะ ความต้องการที่จะเลือกหมวดด้วยความเป็นเราที่คิดว่าหมวดนี้ง่ายครับ ดังนั้น ทุกบรรพ ทุกหมวด บรรลุได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า สติและปัญญาจะระลึกรู้หมวดอะไร บังคับไมได้เลย เปรียบเหมือน อกุศล ทุกประเภท ไม่ดีทุกประเภท แต่เลือกให้เกิดอกุศล ประเภทนี้ก่อนได้ไหม เพราะอกุศลประเภทนี้ ไม่รุนแรง ทำได้ไหมครับ ก็ไม่ได้ ฉันใด สติและปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะเลือกหมวดตามใจที่คิดว่าง่าย เพราะเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา จึงเป็นอนัตตา

คำถาม จึงมีว่าใครเลือก เรา หรือ สติที่เกิด และมีเราหรือไม่ หรือ มีแต่ธรรม และ ธรรมบังคับบัญชาได้หรือไม่ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำถาม จึงมีว่าใครเลือก เรา หรือ สติที่เกิด และมีเราหรือไม่ หรือ มีแต่ธรรม และ ธรรมบังคับบัญชาได้หรือไม่ ครับ

แจ่มชัดครับ

ขออนุโมทนาอ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
apitum
วันที่ 16 ม.ค. 2555

* * * ขอโต้แย้งคุณ เซจาน้อย นิดนึง * *

สติปัฐาน ๔ แยกเป็นหมวดๆ รวมเป็น ๒๑ บรรพ พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้มีทางเลือกครับ ใครมีจริตทางใดก็เลือกได้ ถ้าเราเลือกไม่ได้ หรือห้ามเลือก คงมีบทเดียวแน่ (คงกล่าวค้านพุทธพจน์) ธรรมะเลือกเจริญได้ เลือกปฏิบัติหมวดไหนก็ได้ ตามกำลังปัญญา หรือเกรงว่าจะมีตัวตนในการปฏิบ้ติ ตัวตนไม่มี มีแต่ธรรมะปฏิบัติธรรมะ สติปัฐาน ๔ ไม่มีข้อความไหนในพระสูตร บอกให้ละตัวตนก่อนแล้วจึงเริ่มปฏิบัติ (ถ้าธรรมะ บังคับบัญชาไม่ได้เลยจริงๆ คุณก็คงขับรถฝ่าไฟแดงไปเลย ไม่ต้องหยุดเลย เพราะไฟแดงเป็นเพียงสมมติ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็คงรอดตายได้)

แจ่มชัดไหมครับ คุณ เซจาน้อย *

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตาม ความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ประการ ไม่ใช่เพียงประการเดียวเท่านั้น การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริง เนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย

ข้อสำคัญ ประการหนึ่ง ก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกและปัญญารู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้ได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่สติปัฏฐาน (ที่ตั้งของสติ, อารมรณ์ของสติ) ก็เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงแสดงไว้ ๔ หมวด ซึ่งเมื่อได้ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นหมวดของกาย เวทนา จิต และธรรม (นามธรรมและรูปธรรม) ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด และเป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะให้รู้ได้ และเวลาที่สติเกิด ก็ไม่ได้มีการจำกัดเจาะจงหมวดหนึ่งหมวดใด เพราะสติเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรีบน ความเห็นที่ 3 ครับ

คำว่า อนัตตา คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ จึงไม่มีตัวตนที่จะเลือกว่าผ่าไฟแดง หรือ ไม่ฝ่าไฟแดง เมื่อไหร่สภาพธรรมอะไรพร้อมจะเกิดก็เป็นไปย่างนั้น เป็นอนัตตา รวมทั้งสภาพธรรทุกอย่าง ก็เป็อนัตตา เกิดตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปุ้ม
วันที่ 16 ม.ค. 2555

การสะสมของแต่ละบุคคลไม่เหมือน และไม่เท่ากันครับ ที่แยกไว้เพราะเป็นธรรม ที่มีจริงและด้วยพระญาณ ทั้งหมดก็มี ๔ หมวดแล้วที่ทรงแยกไว้ ขึ้นอยู่กับเกิดกับใคร ชื่อนี้คือธรรมอะไร จะได้ไว้เรียกถูกต้องตามธรรมนั้นๆ การเกิดขึ้นแห่งสติก็จึงเนื่องกับ การสะสมนั้นเอง จึงไม่ควรมาคิดว่า จะเอาอะไรก่อน อะไรหลัง แต่ที่มีจริง ณ ที่เกิด เฉพาะหน้านี้ต่างหาก เราจะรู้หรือเห็นถูกต้องตามธรรมนั้นๆ อย่างไรนะครับ

ต้องขอโทษด้วยนะครับถ้าผมกล่าวผิดไป

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ

ขออนุโมทนาคุณปุ้มครับ กล่าวได้ถูกต้องแล้วครับ

ขอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะให้รู้ได้และเวลาที่สติเกิด ก็ไม่ได้มีการจำกัดเจาะจงหมวดหนึ่งหมวดใด เพราะสติเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำคัญอยู่ที่ความ เข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนากับท่านผเดิม, อ.คำปั่น และ คุณปุ้มครับ กล่าวได้ถูกต้องแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pat_jesty
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอร่วมสนทนาด้วยคนค่ะ

สติปัฐาน ๔ แยกเป็นหมวดๆ รวมเป็น ๒๑ บรรพ พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้มีทางเลือกครับ ใครมีจริตทางใดก็เลือกได้ ถ้าเราเลือกไม่ได้ หรือห้ามเลือก คงมีบทเดียวแน่ (คงกล่าวค้านพุทธพจน์)

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งจะกล่าวถึงสิ่งใดก็ขึ้นอยู่กับสอนใคร บุคคลนั้นมีความเข้าใจแค่ไหน จึงแสดงอะไรต่อบุคคลนั้น ซึ่งในแต่ละครั้งก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเลือกกล่าวสิ่งใด แต่แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนั้น ที่สามารถจะรู้ได้ การจัดหมวดหมู่นั้นผู้ที่ศึกษาเข้าใจให้ครบถ้วน เป็นไปตามลำดับ เพื่อให้ละคลายสิ่งที่เคยยึดถือว่ามีตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล

ธรรมะเลือกเจริญได้ เลือกปฏิบัตติหมวดไหนก็ได้ ตามกำลังปัญญา

ธรรมะไม่ได้เลือกเจริญได้ แต่ธรรมเข้าใจได้ตามกำลังปัญญา

หรือเกรงว่าจะมีตัวตนในการปฏิบ้ตติ ตัวตนไม่มี มีแต่ธรรมะปฏิบัติธรรมะ สติปัฏฐาน ๔ ไม่มีข้อความไหนในพระสูตร บอกให้ละตัวตนก่อนแล้วจึงเริ่มปฏิบัติ

ที่ไม่มีกล่าวให้ละตัวตน เพราะสภาพธรรมที่แท้จริงไม่มีตัวตนตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่มีใครที่จะละได้ แต่ธรรมะปฏิบัติธรรม คือ สติสัมปชัญญะและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย (จำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้างนะคะ รบกวนผู้รู้ขยายต่อ) ทำกิจ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งก็เพราะมีเหตุปัจจัยพร้อมจึงเกิด ถ้ายังไม่มีพร้อมก็ไม่เกิด บังคับบัญชาไม่ได้ คำว่าบังคับบัญชาในนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุผลว่าอะไรจะเกิด ยังไงก็ได้ แต่หมายถึงไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ หรือกะเกณฑ์เตรียมพร้อมให้เกิดได้ ยังคงเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ถ้าธรรมะ บังคับบัญชาไม่ได้เลยจริงๆ คุณก็คงขับรถฝ่าไฟแดงไปเลย ไม่ต้องหยุดเลย เพราะไฟแดงเป็นเพียงสมมติ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็คงรอดตายได้)

เวลาศึกษาพระธรรม ก็ควรศึกษาโดยละเอียด รอบคอบ และเมื่อเข้าใจมากขึ้นๆ ก็จะมีความมั่นคงขึ้น ธรรมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ก็ต้องเป็นตามเหตุตามปัจจัยตลอด ไม่เพียงแค่คิดว่ามีเหตุปัจจัยให้รอดตายเพียงอย่างเดียว แม้แต่ตั้งแต่ขับรถ เห็นไฟแดง รู้ว่าเป็นไฟแดง และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกสิ่งก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะทุกอย่างเป็นธรรมะ

ผู้ศึกษาพระธรรมจึงไม่ควรศึกษาอย่างเผิน แม้แต่เพียงคำๆ เดียว "ธรรมะ" คืออะไร ก็ควรเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นค่ะ

ขอบพระคุณผู้ร่วมสทนาทุกท่าน และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นทื่ 9 ครับ

จากที่ผู้ร่วมสนทนาได้ให้ขยายความที่ว่า

แต่ธรรมะปฏิบัติธรรม คือ สติสัมปชัญญะและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย (จำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้างนะคะ รบกวนผู้รู้ขยายต่อ) ทำกิจ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง


ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้น จะต้องมี เจตสิกฝ่ายดีอย่างน้อย ๑๙ ประเภทเกิดร่วมกันในขณะนั้น ที่เรียกว่า โสภณสาธารณ เจตสิก เช่น มีหิริ โอตตัปปะเจตสิก ศรัทธาเจตสิก สติเจตสิก เป็นต้น แต่เมื่อเป็นสติปัฏฐานแล้วจะต้องมี ปัญญาเสมอ จึงมี อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ปฏิบัติหน้าที่

และผู้ร่วมสนทนาได้อธิบายมานั้น มีความเข้า ใจถูกต้องในหนทางการอบรมปัญญาเป็นอย่างดี ก็ขออนุโมทนาในความเห็นถูก และ กุศลจิตของคุณ pat_jesty ที่มีเจตนาดีช่วยอธิบายให้สหายธรรมในกระทู้นี้ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วิริยะ
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
apitum
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ความคิดเห็นที่ 10

ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน เจริญอย่างไร จึงทำให้สติปัฏฐานเกิด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แล้วทำอะไรกันดีละ นั่งจิบกาแฟ รอ หรือ นั่งฟังธรรมไปเรื่อยๆ หรือเจริญสมถะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555

[๓๘๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ เราประสงค์จะอยู่ ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วย โพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเย็นก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ .

[๓๘๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว สติสัมโพชฌงค์ เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้สติสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ฯลฯ

[๓๘๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนา มานี้เราก็รู้ว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว อุเบกขา สัมโพชฌงค์เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไปเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย.

[๓๘๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย หีบผ้าของพระราชาหรือของราชมหาอำมาตย์ เต็มด้วยผ้าสีต่างๆ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลา เช้า ก็นุ่งห่มผ้านุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเย็น ก็นุ่งห่มผ้าชุดนั้นๆ ได้ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน บรรดาโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเช้า ก็ อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ ประสงค์อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ ประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อ นั้นๆ .

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555

วิตักกสูตร

[๑๖๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอันลามก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะวิตกเหล่านี้ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก พึงตรึกว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความตรึกเหล่านี้ ประกอบด้วยประโยชน์เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ดูกรภิกษุทั้ง หลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรคามินีปฏิปทา จะเลือกตรึกธรรมะได้ไหม มีตัวตน หรือไม่มีตัวตนมาตรึกไหม?

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 17 ม.ค. 2555

เรียน คุณ apitum

กระผมจะต้องไปอินเดียเพื่อปฏิบัติหน้าที่สำคัญของมูลนิธิฯ ณ เช้านี้ ไม่สามารถสนทนาต่อได้ เรียนสหายธรรมทั้งหลายสนทนาธรรมกันนะครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 17 ม.ค. 2555

สัพเพธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขอน้อมจิตอนุโมทนาในกุศลจิต ด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ความคิดเห็นที่ 15

คุณ paderm ตามสบายเลยครับ ขอให้เดินทางโดยปลอดภัย

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20373 ความคิดเห็นที่ 13 โดย apitum

เราจะเลีอกธรรมะหมวดไหนมา ใช้เจริญได้ไหม

อ่านจากพระสูตรนี้ คงไม่ต้องโต้แย้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
SOAMUSA
วันที่ 17 ม.ค. 2555

กราบอนุโมทนาอาจารย์และทุกท่านที่เข้าใจธรรมค่ะ

ขอบพระคุณที่อธิบายให้เข้าใจค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ม.ค. 2555

พระสูตรเป็นการรวบรวมพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวในเหตุการณ์ต่างๆ มีที่มาที่ไปของเหตุการณ์หรือพระธรรมที่กล่าวในแต่ละครั้ง รวมถึงระบุว่ากล่าวกับบุคคลใด เพื่อให้ผู้ศึกษาพอที่จะทราบได้ว่าบุคคลเหล่านั้นมีกำลังปัญญาระดับใด ดังตัวอย่างที่คุณ apitum ยกมานั้น เป็นพระสูตรที่ตรัสกับพระภิกษุ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีปัญาญามาก ทั้งผู้ที่บรรลุแล้ว และกำลังอบรมเจริญปัญญา ท่านจึงไม่เข้าใจผิด คิดว่ามีตัวตน ด้วยมีความเข้าใจมั่นคง เมื่อได้ฟังก็เข้าใจได้ว่าแท้ที่จริงของตัวเรานั้น ก็คือ สภาพธรรมะ

แม้แต่พระวินัยก็ทรงแสดงถึงที่มาที่ไป และเหตุผลในการบัญญัติ ก็เพื่อเกื้อกูลให้เพศบรรพชิตประพฤติตนเหมาะสม และเกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญา ให้หลีกเลี่ยงแม้ในสิ่งที่จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลเพียงเล็กน้อย เพราะพระองค์ทรงทราบหนทาง เหตุและผลของปัจจัยดี จึงบัญญัติเช่นนั้น

ส่วนพระอภิธรรมเป็นการกล่าวถึงปรมัตธรรม สถาพจริงแท้ของหน่วยย่อยที่สุดของสิ่งที่มีจริงๆ ความเป็นอนัตตาที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทรงแสดงปัจจัยโดยละเอียด เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ละคลายความเป็นตัวตนที่เคยยึดถือเหนียวแน่นนั้น ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นธรรมอย่างไร

ดังนั้นผู้ที่ศึกษาต้องอาศัยการพิจารณาโดยแยบคาย เพราะพระธรรมนั้นละเอียด ลึกซึ้ง ทุกคำเป็นคำจริง และมีความหมาย พระไตรปิฎกจึงต้องสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกันไม่ใช่ว่าอ่านพระสูตรนี้แล้วมีตัวตน แต่พระอภิธรรมไม่มีตัวตน เป็นต้น กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้พระธรรม ต้องสั่งสมบารมีถึงสี่อสังไขแสนกัลป์หลังได้รับคำทำนายจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อน การอบรมเจริญปัญญาจึงต้องใช้เวลายาวนาน และเป็นไปตามลำดับ

เพราะฉะนั้นเมื่อสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ควรศึกษาและฟังพระธรรมด้วยความเข้าใจไปบ่อยๆ เนืองๆ โดยไม่ต้องหวัง หรือรอคอยให้สติปัฏฐานเกิด เพราะมั่นคงในหนทางว่าถ้าความเข้าใจถูกมั่นคง ตรงต่อความเป็นจริง เมื่อนั้นย่อมเกิดได้ การฟังพระธรรมแล้วเข้าใจเมื่อนั้นก็เป็นการเจริญปัญญา (ในขั้นฟัง) เพิ่มขึ้นๆ ปัญญาที่มากๆ ในระดับสูงขึ้น จะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่เกิดจากปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยสะสม เพิ่มขึ้นๆ ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 17 ม.ค. 2555

กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ไม่พ้นไปจากโลกทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีโลกทั้ง ๖ สภาพธรรมใดๆ ก็ไม่มี ... เพราะไม่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้จึงมีเพียง ๖ ทางนี้เท่านั้น ซึ่งเป็น "ฐาน" หรือ ที่ตั้งให้สติระลึก แล้วแต่ว่าสติจะระลึกไปทางใด ไม่มีการเลือก เจาะจง บังคับ ทางหนึ่งทางใดหรือบรรพหนึ่งบรรพใด เพราะขณะที่สติกำลังระลึก หรือ ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ มีแต่เพียงสภาวธรรมเท่านั้น ... ชื่อไม่มี บรรพก็ไม่มีค่ะ

เหตุที่ทรงจำแนกเป็นหมวดหมู่เป็นบรรพ ไม่ใช่เพื่อให้เราเลือกเจริญ (สติ) ได้ แต่ทรงจำแนกตามการยึดถือของชาวโลก ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะเจริญสติปัฏฐานบรรพใดบรรพหนึ่ง เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยไม่สนใจในส่วนอื่นๆ ขณะนั้นไม่ใช่การศึกษาสภาวธรรมที่มีอยู่จริงๆ ที่กำลังปรากฏกับเราจริงๆ แต่เป็นความจงใจเลือกด้วยความเป็นตัวตนค่ะ เพราะตลอดเวลาก็มี เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ... คิดนึก ไม่ใช่มีแต่ "กระทบสัมผัส" เพียงอย่างเดียว

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

เหตุที่ทรงจำแนกเป็นหมวดหมู่เป็นบรรพ ไม่ใช่เพื่อให้เราเลือกเจริญ (สติ) ได้ แต่ทรงจำแนกตามการยึดถือของชาวโลก ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะเจริญสติปัฏฐานบรรพใดบรรพหนึ่ง เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยไม่สนใจในส่วนอื่นๆ ขณะนั้นไม่ใช่การศึกษาสภาวธรรมที่มีอยู่จริงๆ ที่กำลังปรากฏกับเราจริงๆ แต่เป็นความจงใจเลือกด้วยความเป็นตัวตนค่ะ ... คุณไตรสรณคมน์ กล่าวได้ถูกต้องแล้วครับ เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด

ขอน้อมจิตอนุโมทนาในกุศลจิต ด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ดีครับ ข้อโต้แย้งผิดๆ ก็มีประโยชน์ครับ เพราะจะได้ทำให้ผู้ที่สนใจรู้ว่าสิ่งใดเป็นอวิชชาและสิ่งใดเป็นวิชชา จะได้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ไม่หลงเดินทางไปในทางที่ผิดๆ

ขอน้อมจิตอนุโมทนาในกุศลจิต ของทุกๆ ท่าน ทุกๆ คำถาม ด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่มีการเลือก เจาะจง บังคับ ทางหนึ่งทางใดหรือบรรพหนึ่งบรรพใดเพราะขณะที่สติกำลังระลึก หรือ ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฎ มีแต่เพียงสภาวธรรมเท่านั้น ... ชื่อไม่มี บรรพก็ไม่มีค่ะ

ขอบคุณ คุณไตรสรณคมน์ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
ธมฺม
วันที่ 20 ม.ค. 2555

จะเลือกตรึกธรรมะได้ไหม มีตัวตน หรือไม่มีตัวตนมาตรึกไหม ความคิดเห็น กำลังตรึกถึงธรรมะ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ด้วย อกุศลวิตก เพราะมีธรรมอื่นฯ เป็น [ ปัจจัย (เลือก) ] การตรึกจึงเกิดได้ กำลังตรึกถึง ธรรมะ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ด้วย กุศลวิตก เพราะ มีธรรมอื่นฯ เป็น [ ปัจจัย (เลือก) ] การตรึกจึงเกิดได้ จะเลือกตรึก ธรรมะ ก็ยังเรียกอารมณ์ที่ตรึกได้ว่าเป็น ธรรมะ เรียก การตรึกได้ ว่าตรึก (ธรรมะ) แต่เรียก คำว่า เลือก เป็น ธรรมะ ที่เป็น (ปัจจัย) ไม่ได้ ต้องมีความเห็นลงไปว่า ตัวตน (อัตตา) เลือก ตรึก ได้ ขณะที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด ผู้มีปัญญามั่นคงในระดับการฟัง แล้วเข้าใจว่ามีเพียงธรรมะ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย แม้กุศลวิตกเกิด หรืออกุศลวิตกเกิดขึ้น ขณะนั้นสัจจญาณก็มีความรู้ ขั้นคิดได้ว่า มีความเป็น เราด้วยตัณหาบ้าง เราด้วยมานะบ้าง เราด้วยทิฏฐิบ้าง ตามอยู่เหมือนเงาตามตัวอยู่แล้ว เพราะยังละตัณหา มานะ ทิฏฐิ ไม่ได้ แม้สติปัฏฐานเกิดแล้ว ดับไป ยังไม่ได้ละความเป็นเรา ความรู้สึกเป็นเรา ก็ตามยึดสติบ้างว่าเป็นเรามีสติ เป็นปรกติอยู่แล้ว ความรู้เช่นนี้เป็นญาณ ในอริยสัจ ๔ เป็นปัจจัยให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เกิดเบาบางลงตามลำดับด้วยกำลังของสัจจญาณ

แต่หากสัจจญาณไม่มั่นคง ความยึดถือผิดว่าเป็นเรา ก็ตามมา คิดว่าความเป็นเราคือตัวโลภะเลือกตรึกได้ เราต้องตั้งใจทำศีล สมาธิ ก่อนมีสัจจญาณ แต่เพราะยังไม่ได้ละความเป็นเรา เป็นตัวตน จึงคิดตั้งใจทำ เลือก หรือคิดว่าเรา แต่นั่นคืออวิชชา อวิชชาเจริญซ่อนความไม่รู้จักว่าตัณหาเป็นสมุทยสัจ ตัณหาจึงเป็นเหตุแห่งการติดข้องลูบคลำข้อปฏิบัติ เก็บสภาพตัวตนไว้ ไม่ต้องรู้จักว่าเป็นธรรมะที่มีโทษ แต่กลับเห็นว่า ไม่ต้องกลัว เสมือนว่าเป็นธรรมะฝ่ายดีมีคุณ ที่ทำให้เลือกบังคับบัญชา สติและปัญญาได้ เมื่อสมาธิมีมาก บางท่าน ได้ศึกษาปัฏฐาน ปฏิจจสมุปบาท มาแล้วบ้างก็ตาม แต่ความที่อวิชชาเกิดกับความต้องการที่จะเลือกจัดการธรรมะ ก็ปิดบัง การที่ได้เคยศึกษาปัฏฐาน ปฏิจจสมุปบาท ว่าเป็นเพียงอาศัยกันและกัน ยังธรรมที่สืบเนื่องกันให้เกิดขึ้นเป็นต้น

สรุปความคิดเห็นได้ว่า การที่โลภะ (เรา หรือ ตัวตน) เกิดก่อนกุศลต่างๆ โดยไม่ศึกษาให้ละเอียดว่ากุศลเหล่านี้จะไม่เป็นเหตุให้สติปัฏฐานไม่เกิดไม่เจริญ (ไม่ภาวนา) เพราะโลภะเป็นผู้นำและเป็นบริวาร และไม่กลัวโลภะโดยเห็นว่าต้องให้โลภะ (ตัวตน) เกิดก่อน กุศลธรรม และโลภะก็ตามเป็นบริวารโดยไม่ระวังภัย คือความเห็นผิด

ขออนุโมททนาทุกๆ ท่าน ที่ร่วมสนทนา ตามพระธรรมวินัย และทุกท่านที่ประพฤติเพื่อความเห็นถูก

ประภาส

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ