ตัณหา คือ อุปาทาน ใช่หรือไม่

 
govit2553
วันที่  16 ม.ค. 2555
หมายเลข  20375
อ่าน  3,243

[๑๔] คำว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า คำว่า ผู้นั้น คือ ผู้เว้นขาดกามทั้งหลาย. ตัณหาเรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ความพอใจ ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วย สามารถแห่งความเพลิดเพลิน ความกำหนัดกล้าแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความยินดีความยินดีทั่วไป ความข้อง ความติดพัน ความแสวงหา ความลวง ความให้สัตว์เกิด ความให้สัตว์เกี่ยวกับทุกข์ ความเย็บไว้ ความเป็นดังว่าข่าย ความเป็น ดังว่ากระแสน้ำ ความซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นดังว่าเส้นด้าย ความกระจายไป ความให้อายุเสื่อมไป ความเป็นเพื่อน ความตั้งมั่น เครื่องนำไปสู่ภพ ความติดอารมณ์ ความตั้งอยู่ในอารมณ์ ความสนิท

ความรัก ความเพ่งเล็ง ความผูกพัน ความหวัง ความจำนง ความประสงค์ ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวัง ในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความปรารถนา ความให้ สัตว์ปรารถนา ความที่จิตปรารถนา ความเหนี่ยวรั้ง ความให้สัตว์เหนี่ยวรั้ง ความที่จิต เหนี่ยวรั้ง ความหวั่นไหว อาการแห่งความหวั่นไหว ความพรั่งพร้อมด้วยความหวั่นไหว ความกำเริบ ความใคร่ดี ความกำหนัดในที่ผิดธรรม ความโลภไม่เสมอ ความใคร่ อาการ แห่งความใคร่ ความมุ่งหมาย ความปอง ความปรารถนาดี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ความกั้น ความปิด ความบัง ความผูก ความเข้าไปเศร้าหมอง ความนอนเนื่อง ความกลุ้มรุมจิต ความเป็นดังว่าเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุต่างๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมาร แม่น้ำตัณหา ข่ายตัณหา โซ่ตัณหา สมุทรตัณหา อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า วิสัตติกา.

คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา. [อันซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ ] เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่า ครอบงำ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่ามีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่ามีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะ อรรถว่าเปรียบด้วยเครื่องบริโภคเป็นพิษตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้น แผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุลคณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจ โวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไปในรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยิน แล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว และในธรรมที่พึงรู้แจ้งตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.

//www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=0&Z=486


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตัณหา คือ โลภะ ความติดข้องต้องการ

อุปาทาน คือ ความยึดมั่น มี ๔ ได้แก่

กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

โดยสภาพธรรมได้แก่ โลภะ และทิฏฐิ ทั้งโลภะและทิฏฐิมีหลายระดับ ความแตกต่างของตัณหาและอุปาทานก็คือ ตัณหาเป็นโลภะที่เกิดขึ้นครั้งแรก มีกำลังอ่อน เหมือนโจรที่เหยียดมือไปรับเอาสิ่งของ กามุปาทาน เป็นความยึดมั่นในอารมณ์นั้น โดยไม่ปล่อย เป็นโลภะที่มีกำลัง เหมือนโจรที่ยึดของนั้นไว้ การเป็นปัจจัยของตัณหา และอุปาทาน มีอธิบายได้หลายนัย เช่น โดยปกตูปนิสสยปัจจัย ตัณหาที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยแก่ กามุปาทานที่เกิดหลังๆ หรือ โดยปัจจัยอื่นๆ เช่น ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ทิฏฐุปาทานฯ ที่เกิดพร้อมกันโดยสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย สัมปยุตปัจจัย เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อว่าโดยองค์ธรรม อุปาทานที่เป็นกามุปาทาน กับ ตัณหาก็เป็นโลภเจตสิกเหมือนกัน ซึ่ง จากสูตรที่ผู้ถามกล่าวมา จึงมุ่งหมายถึง ว่า ตัณหาที่มีกำลังมาก เป็นอุปาทานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปาทาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความยึดมั่นถือมั่น สภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมไม่พ้นไปจาก โลภะ (โลภเจตสิก) และ ทิฏฐิ (ทิฏฐิเจตสิก) ซึ่งเป็นความเห็นผิด

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อุปาทาน เป็นกิเลสที่มีกำลังยึดมั่นถือมั่น ดังนั้น อุปาทานจึงไม่มีเฉพาะตัณหาหรือโลภะเท่านั้น ยังมีความเห็นผิดที่เป็นสภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่นด้วย ดังนั้น ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ควรจะเป็น ตัณหาหรือโลภะที่มีกำลัง เป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔

ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี้คือ ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่จริงที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 21 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ