อุปาทาน หรือขันธ์ เป็นตัวทุกข์ ?

 
dets25226
วันที่  17 ม.ค. 2555
หมายเลข  20385
อ่าน  5,073

๑. ผมไม่อาจเข้าใจชัดในคำทั้ง ๒ ได้ ทั้งไม่อาจทราบความแตกต่างกัน ตามที่ผมได้ยกหัวข้อขึ้นถามนั้น ขอได้โปรดอนุเคราะห์ด้วยครับ

๒. จิตที่ปราศจากอุปาทาน จะมีทุกข์ที่เกิดจากขันธ์ ได้มากน้อยเพียงใด

๓. ระบบประสาท หรือ มันสมอง จัดอยู่ในขันธ์ได้หรือไม่อย่างไร

ด้วยความเคารพอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. อุปาทาน หรือขันธ์ เป็นตัวทุกข์?

อุปาทาน และ ขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ต่างก็เป็นทุกข์ เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ และควรทราบว่า ขันธ์ และอุปทานขันธ์ ต่างกันตรงที่ว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นขันธ์ แต่กิเลสที่เข้าไปยึดขันธ์ ๕ นั้น เป็นอุปาทาน ดังนั้น อุปาทานขันธ์ คือขันธ์ ที่เป็นที่ยึดถือหรือขันธ์ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน และอีกนัยหนึ่ง คือ ขันธ์ที่เกิดจากอุปาทาน เป็นอุปาทานขันธ์ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งนั้น

ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์ สำหรับสภาพธรรมที่ยึดถือขันธ์ คือ โลภะ และ ความเห็นผิด

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การยึดถืออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

๒. จิตที่ปราศจากอุปาทาน จะมีทุกข์ที่เกิดจากขันธ์ ได้มากน้อยเพียงใด

ต้องเข้าใจก่อนว่า จิตของใครที่ปราศจากอุปาทาน

เมื่อศึกษาพระธรรมในทางพระพุทธศาสนาก็จะเข้าใจได้ว่า จิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ปราศจากอุปาทาน เป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นด้วยอุปาทาน เพราะเหตุว่า โลภะ ดับได้อย่างหมดสิ้น ก็ต่อเมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนความยึดถือด้วยอำนาจแห่งความเห็นผิด นั้น ดับได้ตั้งแต่เป็นพระโสดาบัน ดังนั้น จิตของพระอรหันต์ เป็นจิตที่ปราศจากอุปาทาน แต่พระอรหันต์ ก็ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้น ยังมีเห็น ยังมีได้ยิน ยังมีได้กลิ่น ยังมีการลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น และ มีรูปธรรม เกิดขึ้น แต่ไม่เป็นไปกับด้วยกิเลส ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย, สภาพธรรมที่เกิดดับ ที่เป็นขันธ์ประการต่างๆ นั้น ล้วนเป็นทุกข์เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่สำหรับพระอรหันต์แล้ว ถึงแม้จะมีขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเป็นไปจนกว่าจะถึงกาละที่จะดับขันธปรินิพพาน ก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นแต่ประการใด เพราะเหตุว่าท่านดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว นั่นเอง

๓. ระบบประสาท หรือ มันสมอง จัดอยู่ในขันธ์ได้หรือไม่อย่างไร

สภาพธรรมที่มีจริง นั้น เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประการ คือ รูปธรรม (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้) และ นามธรรม (สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ได้แก่จิต กับ เจตสิก) นอกจากนั้นก็ยังมีนามธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่รู้อารมณ์ ได้แก่ พระนิพพาน

ดังนั้น ที่เข้าใจว่าเป็นมันสมองนั้น ก็ไม่พ้นไปจากการเกิดขึ้นเป็นไปของรูปธรรม คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นต้น เป็นรูปธรรม เพราะสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ ก็เป็นรูปธรรม ทั้งหมด รูปธรรม เป็นรูปขันธ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
dets25226
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอขอบคุณอาจารย์มากครับ

ขอถามต่ออีกนิดนะครับว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีกิเลส ดับทุกข์สิ้นเชิง แต่ทุกข์ประจำสังขาร ก็ยังเกิดขึ้น ไม่ดับไปใช่หรือไม่ครับ เหตุว่า นัยแห่งอุปาทาน หรือความยึดถือนั้น ผมก็ยังไม่อาจเข้าใจได้ชัดเจน ว่า ถ้าละได้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้น ผมคิดว่า ถ้าหากวางความยึดถือเสียแล้ว แม้ทุกข์ประจำสังขาร จะเจ็บปวดทรมานเพียงใด ก็ไม่อาจทำความทุกข์ใจให้เกิดมีขึ้นแก่พระอรหันต์ขีณาสพได้เลย ถูกหรือไม่่ครับ

ขันติธรรม อันเป็นปฏิปทาของพระพุทธเจ้า เมื่อคราวทรงพระประชวรนั้น มีอย่างไรครับ

ได้ยินว่า พระขีณาสพ ผู้ดับกิเลสหมดสิ้น เมื่อเข้านิโรธแล้ว ย่อมไม่รู้สึกถึงเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ข้อนี้เป็นจริงมากน้อยเพียงใดครับ....

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ

พระขีณาสพ (พระอรหันต์) เป็นผู้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น กิเลสประการ ต่างๆ ไม่เกิดขึ้น อกุศลจิตไม่เกิดขึ้น รวมไปถึงกุศลจิตก็ไม่เกิดขึ้น จิตของท่านมี เพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ วิบากชาติและกิริยาชาติ แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงกาละที่จะ ดับขันธปรินิพพาน อกุศลวิบากจิตที่เป็นทุกขกายวิญญาณ อันเป็นผลของอกุศล กรรมยังเกิดขึ้นได้ ทำให้ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระขีณาสพ (พระอรหันต์ทั้งหลาย) เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น ก็ยังป่วยหรือแม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังทรงประชวร ทุกข์ทางกายย่อมเกิดขึ้น แต่ไม่ทุกข์ทางใจเลย เพราะเหตุ ว่าดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานใดๆ เลย การที่จะเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ต้องด้วยปัญญาเท่านั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถอยู่ได้ตลอดกัป (ซึ่งกัปในที่นี้ คือ อายุขัยของคน สมัยนั้น คือ ๑๐๐ ปี) ด้วยการเข้าสมาบัติ ซึ่งต้องประกอบด้วยอิทธิบาท ๔ ด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าไม่เข้าสมาบัติ โรคก็กำเริบ หลังจากปลงอายุสังขาร ในวัน มาฆบูชา โรคก็กำเริบ แต่ตราบใดที่พระพุทธเจ้ายังเจริญอิทธิบาท ๔ ด้วยการเข้า สมาบัติ ย่อมข่มโรคไว้ได้ และอยู่ได้ตลอดกัป ดังนั้น การข่มอาการประชวรของ พระองค์ก็ด้วยการเข้าสมาบัติ ครับ

จากข้อความที่ว่า ได้ยินว่า พระขีณาสพ ผู้ดับกิเลสหมดสิ้น เมื่อเข้านิโรธแล้ว ย่อมไม่รู้สึกถึงเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ข้อนี้เป็นจริงมากน้อยเพียงใด ... ตามความเป็นจริงแล้ว พระอรหันตขีณาสพ ผู้ได้สมาบัติ ๘ รวมไปถึงพระอนาคามี ผู้ได้สมาบัติ ๘ ก็สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ ซึ่งในขณะที่เข้านิโรธสมาบัตินั้น ดับ จิต เจตสิก หมายความว่า จิตและเจตสิกไม่เกิดขึ้น นั่นก็หมายความว่า เวทนา ซึ่ง เป็นความรู้สึก ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
dets25226
วันที่ 18 ม.ค. 2555

สาธุๆ ขอบคุณอาจารย์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
papon
วันที่ 21 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ