พระอรหันต์ที่เป็นสาวก เทียบตนเองกับพระศาสดาอย่างไรจึงไม่เรียกว่ามีมานะ

 
Thanapolb
วันที่  18 ม.ค. 2555
หมายเลข  20387
อ่าน  1,338

เรียนถามเรื่องมานะเจตสิก ครับ

มานะ ที่ทราบว่ามีการถือตน จะสูงกว่า เท่าเทียม หรือด้อยกว่า ด้วยความเป็นจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ ก็เป็นมานะถ้ามีการเปรียบเทียบใช่ไหมครับ จึงอยากทราบบางกรณี เช่น

๑. พระอรหันต์ที่เป็นสาวก ก็อาจเทียบตนเองกับพระศาสดาว่าตนด้อยกว่า ซึ่งเป็นความจริง แต่พระอรหันต์ละมานะได้แล้ว อย่างไรจึงไม่เรียกกว่ามีมานะ

๒. หรือแม้ปุถชนธรรมดาอย่างเรา ก็พอดูออกว่าตนดีหรือด้อยกว่าคนอื่นในด้านไหน แต่ก็ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา และในใจก็ไม่คิดจะอยากแสดงออกอย่างนั้น สภาวะแบบไหนที่บุคคลทั่วไปไม่แสดงถึงการมีมานะ (ไม่ได้หมายถึงละมานะ นะครับ เพราะละยังไม่ได้เด็ดขาดแน่นอน) แต่ขณะจิตแบบไหนไม่ประกอบด้วยมานะ เป็นต้นครับ

อนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ควรค่าแก่การศึกษา พิจารณาไตร่ตรอง เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง พระอรหันต์ เป็นผู้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด กิเลสที่ท่านได้สะสมมาในสังสารวัฏฏ์ จะถูกดับได้อย่างหมดสิ้นเมื่ออรหัตตมัคคจิตเกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นก็จะต้องมีการดับเป็นขั้นตามลำดับมรรค ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค เป็นต้นไป

สำหรับมานะ เป็นกิเลสประการหนึ่ง มีทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว มานะ ย่อมมีได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มานะของผู้ปุถุชน ย่อมจะมีความหยาบมากกว่าของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นปุถุชน มีการยกตน เชิดชูตน บางครั้งไม่ได้ดีกว่าเขา ก็สำคัญว่าดีกว่าเขา เป็นต้น แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว มานะที่ไม่เป็นจริง ย่อมไม่เกิดขึ้น เช่น ท่านเป็นพระโสดาบัน ก็ย่อมไม่มีความสำคัญตนว่าท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นต้น ซึ่งจะต่างไปจากผู้ที่เป็นปุถุชนอย่างสิ้นเชิง มานะจะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลยเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่มีความสำคัญตน ไม่มีความถือตน ไม่มีการยกตนเลย สภาพจิตของท่านเมื่อดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว มีเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ วิบาก กับ กิริยา

พระอรหันต์ ท่านเป็นพระอริยสงฆ์สาวก ดับมานะได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีการสำคัญตน หรือ เปรียบเทียบกับผู้อื่นแต่อย่างใด แต่ท่านย่อมรู้ฐานะของท่านตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร ในฐานะที่ท่านเป็นพระสาวก ก็ย่อมจะมีความเคารพนอบน้อมต่อบุคคลผู้ที่เป็นบรมศาสดา คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงพระธรรมให้ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างยิ่ง โดยไม่ได้มีความสำคัญตนหรือเปรียบเทียบแต่อย่างใด ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ทั้งการกระทำและคำพูดของพระอรหันต์ ไม่เป็นไปกับด้วยกุศลและอกุศล แต่เป็นไปเพราะจิตที่ดีงามที่เป็นมหากิริยาจิต เท่านั้น

สำหรับประเด็นคำถามที่ ๒ ก็ควรจะได้พิจารณาว่า มานะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความสำคัญคน เปรียบเทียบ ยกตน เชิดชูตน จะเพียงอยู่ในใจ หรือมีการแสดงออกก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจาก มานะ ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตประเภทที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ถ้ามานะเกิด ก็เกิดร่วมกับโลภมูลจิตประเภทที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เท่านั้น ไม่เกิดกับจิตประเภทอื่น และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีมานะเกิดตลอดเวลาอย่างแน่นอน ขณะที่เป็นวิบาก ก็มี ขณะที่เป็นกุศล ก็มี ขณะที่เป็นอกุศล (ที่ไม่เป็นไปกับด้วยมานะ) ก็มี

ดังนั้น ขณะใดก็ตาม ที่เป็นกุศลจิต เป็นวิบากจิต เป็นต้น ขณะนั้น มานะไม่เกิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามานะจะหมดไป เพราะยังไม่ได้ดับ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ และประการที่สำคัญ ธรรมที่ขัดเกลามานะ ก็จะต้องเป็นกุศลธรรม เท่านั้น ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น เพราะขณะนั้น จิตใจอ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง และประการสำคัญ การอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้ รวมถึงกิเลสที่กำลังกล่าวถึง คือ มานะ ด้วยกิเลสทั้งหลายที่มีนั้นต้องเป็นผู้มีปัญญา ถึงจะดับได้ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jaturong
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปุ้ม
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 18 ม.ค. 2555

เมื่อ "ไม่มีเรา" แล้ว จะเอา "เรา" ไปเปรียบเทียบกับใครละคะ เพราะความเป็นเราถูกดับหมดสิ้นไม่มีเหลือ แม้แต่ในความทรงจำ ความคิด สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือสภาพธรรม ซึ่งคุณธรรมของแต่ละบุคคลก็คือสภาพธรรมฝ่ายดีในระดับต่างๆ เป็นสัจจธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ... โดยไม่ต้องเปรียบเทียบค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Thanapolb
วันที่ 19 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและอนุมโทนา อ. คำปั่น ที่เมตตา และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับ

ขอเรียนถามเพิ่มเติม

สมมติเราทำความดีไว้ แล้วมีคนชม หรือยกย่อง แล้วถ้าขณะนั้นเราพลอยรู้สึกปลาบปลื้ม ยินดี การที่จะไม่มีอกุศลและมานะมาแทรก ก็ต้องไม่หลงตัวเองและไม่ยินดีกับสิ่งที่เขาอาจกล่าวคำเยินยอเกินจริงด้วยใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 19 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 7 ครับ

เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้ อกุศลจิตเกิดขึ้นมากจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เกิดมากกว่ากุศลอย่างเทียบส่วนกันไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้ในขณะที่ได้รับคำชม เป็นไปได้ที่จะเป็นเหตุให้กุศล เกิดก็ได้ หรือ อกุศล เกิดก็ได้ [การได้ยินคำชม เป็นเพียงวิบากทางหู เท่านั้น แต่ต่อจากนั้น จะเป็น กุศล หรือ อกุศล ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของผู้นั้น] เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่สามารถบังคับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่ธรรมเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ถ้าชื่นชมในกุศลจิตของผู้ที่ชื่นชม ที่เห็นคุณของกุศลธรรม ที่ยกย่องสรรเสริญในกุศลธรรม หรือ มีความเห็นที่ถูกต้องว่า กุศลเป็นสิ่งที่ดี แล้วมีความตั้งใจที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น ต่อไป อย่างนี้ไม่ใช่ อกุศล แต่ถ้ามีความติดข้องยินดีพอใจในคำชม หรือ เกิดความยกตนทะนงตนเย่อหยิ่ง เป็นต้น ล้วนเป็นอกุศล ทั้งนั้นครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pat_jesty
วันที่ 19 ม.ค. 2555

คำยกย่อง สรรเสริญ ก็เป็นเพียงเสียงที่ดี ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู แต่ก็ดับไปและไม่กลับมาอีกเลยเหมือนสภาพธรรมอื่นๆ และจะเป็นอย่างไรต่อก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ถ้าอกุศลเกิดต่อ ก็รู้ได้ว่ายังมีอกุศลอยู่มาก ก็ควรทำความดีต่อไป เพราะทำความดีไม่ใช่เพื่อได้รับการชื่นชม แต่ทำความดี เพราะเห็นโทษของอกุศล และรู้ว่ากุศลทุกประการเป็นสิ่งที่ควรเจริญ และเป็นที่น่าอนุโมทนาแก่ผู้ที่รับรู้ ซึ่งความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้จะเกิดขึ้นได้จากการศึกษาและฟังพระธรรมให้เข้าใจมั่นคงขึ้นๆ ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Thanapolb
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอขอบพระคุณท่าน อ. Khampan.a และความคิดเห็นที่ 9 ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chaweewanksyt
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนา

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ