ทำดีได้ดี

 
jojojo
วันที่  20 ม.ค. 2555
หมายเลข  20402
อ่าน  15,798

เคยได้ยินมาว่า ทำดีแล้วจะได้ดี แต่ทำไมคนทำดี ประพฤติดี มีคุณธรรม จึงถูกใส่ร้าย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น แสดงถึงความละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งก็คือ สิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือ ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต เจตสิกและรูป ดังนั้น เหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็คือ การเกิดขึ้นทำหน้าที่ของจิต เจตสิกและรูปครับ

แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น คนดีถูกใส่ร้าย เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงไว้ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป โดยแสดงชีวิตของคนเรา มีอยู่ ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นการได้รับผลของกรรม เช่น ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย รวมไปถึงขณะที่หลับสนิทด้วย ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นปัจจัย วิบากจิตซึ่งเป็นการได้รับผลของกรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ และ อีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนของการสะสมเหตุ คือ เป็นกุศลกับเป็นอกุศล นี้ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคล ไม่มีใครกำหนด ไม่มีใครบังคับ แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

ดังนั้นขณะที่เป็นคนดี คือขณะที่เป็นกุศลจิตเกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ที่เรียกว่าถูกใส่ร้าย ทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดี และไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ตนเองเป็นอยู่ นั่นเป็นผลของกรรมที่เป็นวิบากจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นคนดี กุศลจิตเกิดขณะหนึ่ง ขณะที่เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบากที่ทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็อีกขณะหนึ่ง จึงแยกกัน เพียงแต่ว่า การได้ยินเสียงที่ไม่ดี หรือ ถูกใส่ร้าย เป็นผลของกรรมคือ เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ในอดีต มีการกล่าวคำส่อเสียดนั่นเอง ครับ

ดังนั้นการที่กล่าวว่าคนดีทำไมถูกใส่ร้าย เป็นธรรมดา ครับ เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้เกิดมาชาติเดียว เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน จึงมีการกระทำบาปกรรมไว้ในอดีต เช่น ใส่ร้าย ว่าร้ายผู้อื่น เมื่อกรรมนั้นให้ผล ก็ทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดี และถูกใส่ร้าย เป็นต้น เพราะในความจริงของปุถุชนไม่ได้เกิดความดีตลอด หากเข้าใจก็รู้ว่า อกุศลจิตเกิดเป็นส่วนมาก เพราะความเป็นผู้หนาด้วยกิเลส จึงยังไม่ใช่คนดีที่แท้จริงและสมบูรณ์ และเมื่อมีกิเลสมาก ก็มีโอกาสกระทำและได้ทำบาป มีการว่าร้ายผู้อื่นในอดีตชาติ ทำให้จึงได้รับกรรม คือ การใส่ร้าย ว่าร้ายจากผู้อื่นได้ เป็นธรรมดาครับ

และแม้พระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐเลิศที่สุด ก็ยังถูกว่าร้ายใส่ร้าย จากเรื่องของนางสุนทริปริพาชิกา ที่พระองค์ถูกว่าร้าย ใส่ร้าย ด้วยคำไม่จริงว่า พระองค์ทรงฆ่านาง ซึ่งการที่พระองค์ถูกว่าร้าย เพราะเศษกรรมเก่าที่ในอดีตชาติพระองค์ได้เป็นดาบส เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เกิดความริษยา จึงกล่าวร้าย ว่าร้ายด้วยคำไม่จริงต่อพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ตกนรกมากมายและด้วยเศษกรรมที่เหลือ ทำให้พระองค์ถูกว่าร้าย ที่ฆ่านางสุนทริปริพาชิกาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2555

และอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์ถูกกล่าวร้าย เรื่อง นางจิณจิมาณวิกา เพราะพระองค์ในอดีตชาติไปว่าร้าย พระสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่านันทะ ทำให้เศษกรรมจึงถูกกล่าวตู่ว่าร้ายด้วยคำไม่จริงได้ครับ นี่แสดงให้เห็นถึงแม้แต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นคนดีสูงสุด ก็ถูกว่าร้าย กล่าวร้ายได้ เพราอะไร เพราะกรรมที่ทำมานั่นเองครับ

ดังนั้น หากเราพบเหตุกาณ์ที่ใครถูกใส่ร้าย ว่าร้าย ไม่ว่าจะเป็ใคร คนดี หรือ คนเลว แสดงถึงความเป็นธรรมของโลก และแสดงให้เห็นว่าเป็นเพราะกรรมในอดีตที่ได้ทำอกุศลกรรม มีการว่าร้ายผู้อื่นเป็นต้นในอดีตไว้ ที่ได้ทำมานั่นเองครับ จะโทษใคร คนอื่นไม่ได้เลย เพราะทำกรรมนั้นมาครับ และควรสำเหนียกว่า การนินทาและ การสรรเสริญ เป็นธรรมดาของโลก ผู้ที่ได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว และ นินทาอย่างเดียวไม่มี แม้แต่พระพุทธเจ้า ส่วนการนินทาว่าร้ายของคนพาลไม่เป็นประมาณ และการกล่าวคำยกย่องของคนพาลไม่เป็นประมาณ บัณฑิตเท่านั้นที่เป็นประมาณ ด้วยเพราะอาศัยความเที่ยงตรง ไม่ลำเอียงและประกอบด้วยปัญญา คนจะดี จะชั่วไม่ได้อยู่ที่คำพูดของคนอื่น ตัวเรา และ ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ว่าตนเองเป็นอย่างไร ดังนั้นคนจะเป็นบัณฑิตเพราะคำพูดของคนอื่นก็ไม่ใช่ จะเป็นคนพาลเพราะคำพูดของคนอื่นก็ไม่ใช่ จิตใจของผู้นั้นเองที่เป็นตัวตัดสินครับ

ส่วนเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่ผู้อื่นถูกใส่ร้าย ก็แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคลว่าจะคิดอย่างไร ผู้ที่ไหลไปในอกุศลเป็นส่วนมาก ก็ย่อมน้อมไปอยู่แล้วในการทำความชั่ว ไม่ว่าจะเห็นเหตุการณ์คนที่ถูกใส่ร้าย หรือ ไม่ถูกใส่ร้ายก็ตาม แต่ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาว่า การถูกใส่ร้ายเป็นผลของกรรมในอดีต ส่วนความดี คือ สิ่งที่ดี ที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะความดีจะให้ผลในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ได้ เพียงแต่อาศัยระยะเวลาในการให้ผลของกรรมครับ

เพราะฉะนั้น ทำความดี เพราะเป็นความดี ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ก็จะทำให้มั่นคงแม้จะประสบกับเหตุกาณ์อะไรก็ตาม เพราะเรายึดความดีเป็นสำคัญ ซึ่งความดีต่างๆ จะเจริญได้ และไม่หวั่นไหวในเหตุการณ์ต่างๆ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาจากองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2555

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 462

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

การนินทาสรรเสริญเป็นของเก่า

พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว จึงตรัสว่า "อตุละ ข้อนั้น เขาเคยประพฤติกันมาตั้งแต่โบราณทีเดียว ชนทั้งหลายติเตียน ทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมาก ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว ด้วยว่าผู้อันเขาพึงติเตียนอย่างเดียวเท่านั้น หรือว่าผู้อันเขาพึงสรรเสริญอย่างเดียวไม่มีเลย แม้พระราชาทั้งหลาย คนบางพวกก็นินทา บางพวกก็สรรเสริญ แผ่นดินใหญ่ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็ดี ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี คนบางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ บางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ ก็การนินทาและสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ; แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน จึงชื่อว่า เป็นอันติเตียน ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ ว่า :-
"อตุละ การนินทาและสรรเสริญนั่น เป็นของเก่า นั่นมิใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้, ชนทั้งหลาย ย่อมนินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง.๑ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก คนผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือว่าอันเขาสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ หากว่าวิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุกๆ วัน สรรเสริญผู้ใดซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล, ใครเล่าย่อมควรเพื่อติเตียนผู้นั้นผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท ๒ แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็สรรเสริญเขา ถึงพรหมก็สรรเสริญแล้ว"

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปุ้ม
วันที่ 20 ม.ค. 2555

ขออุโมทนาครับ กับคำกล่าวของอาจารย์ผเดิมครับ : ทำไมกรรมไม่ส่งผล : ส่งแล้วนะครับ เพราะถ้าเขาไม่คิดผิด คงไม่ปรุงแต่งมาว่าเราได้ เขาได้ความคิดอันลามกไว้แล้ว จึงนำมาโยนใส่เรา เขาสะสมความคิดผิดไว้ย่อมมีพลังไปสู่อกุศล มีวิบากเป็นที่ไปในความทุกข์ในเบื้องหน้าอย่างนั้นๆ ที่สะสมไว้อย่างแน่นอน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีรพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ตามสมควร เรื่องกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด กรรมในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาแต่ละบุคคลก็ได้กระทำมาอย่างมากมายมีทั้งดีและไม่ดี กรรมดี กับ กรรมชั่ว เป็นคนละส่วนกัน ข้อที่น่าพิจารณา คือ บุคคลผู้ที่ทำกรรมชั่ว คือ ทำทุจริตกรรม กรรมชั่วยังไม่ให้ผล แต่เขายังมีความสุข มีทรัพย์สินเงินทอง มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น นั่นเป็นเพราะกรรมดีที่เขาเคยได้กระทำมาแล้ว ให้ผล (จึงมีผู้เข้าใจผิดว่า ทำชั่ว ได้ดี) เมื่อกรรมชั่วให้ผลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเขาย่อมจะรู้ได้ว่า ทำกรรมชั่ว ได้รับผลชั่วจริงๆ , ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ทำกรรมดี คือ ทำสุจริตกรรม กรรมดียังไม่ให้ผล เขาจึงประสบกับความทุกข์ยาก ได้รับความเดือดร้อนประการต่างๆ ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะกรรมชั่วที่เขาเคยได้กระทำมาแล้ว ถึงคราวที่จะให้ผล (จึงมีผู้เข้าใจผิดว่า ทำดีได้ดี มีที่ไหน) แต่เมื่อกรรมดีให้ผลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเขาย่อมจะรู้ได้ว่า ทำกรรมดี ได้รับผลดีจริงๆ การกระทำกรรมดี และ กรรมชั่ว นั้น เป็นการสร้างเหตุใหม่ เมื่อกรรมถึงคราวที่จะให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้น (เหตุ ย่อมสมควรแก่ผล) ถ้าเป็นผลของกรรมดี ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกรรมชั่ว ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะให้ผลในภายหน้า ก็ควรสะสมแต่กรรมที่ดีงาม (กัลยาณกรรม) เพราะกรรมดี เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ ส่วนกรรมชั่ว พึ่งไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 20 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kusalwong
วันที่ 20 ม.ค. 2555

เรียนถาม อ.คำปั่น ค่ะ

ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะให้ผลในภายหน้า ก็ควรสะสมแต่กรรมที่ดีงาม (กัลยาณ-กรรม) เพราะกรรมดี เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ ส่วนกรรมชั่ว พึ่งไม่ได้เลยทีเดียว ครับ. การสะสมของแต่ละบุคคล เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งดีและชั่ว เราสามารถเลือกสะสมเฉพาะกรรมที่ดีงามเท่านั้น เป็นได้หรือคะ

คิดว่าการสะสมกรรมดีหรือทำบุญมาดีจะมีโอกาสพบกัลยาณมิตรอยู่กับคนดี มีโอกาสฟังธรรม สะสมความดีทีละเล็กน้อย มีโอกาสสะสมกรรมดีมากขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
tookta
วันที่ 20 ม.ค. 2555

ขอให้คิดดีทำดีก็แล้วกันใครจะนินทา หรือให้ร้ายเราก็คงจะไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ความประพฤติและการปฎิบัติดีของเราจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราเป็นคนยังไง ถ้าเอาเรื่องที่ถูกผู้อื่นนินทา หรือใ่ส่ร้ายเรามาใส่ใจก็จะทำให้เราจิตตกนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 7 ครับ

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 498

ก็บุคคล ทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั่นแหละ เป็นของของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้ สำหรับภายหน้า บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.

ข้อความบางตอนจาก ...

ทุติยาปุตตกสูตร

ธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และที่สำคัญ ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และ ทรงแสดงธรรมตามที่เป็นจริงอย่างนั้น แก่พุทธบริษัท จะเห็นได้ว่า ความดี กับ ความชั่ว ต่างกันอย่างสิ้นเชิง มีผลไม่เสมอกัน ความดี เป็นความดีไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ในทางตรงกันข้าม ความชั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายนั้น ก็เป็นความชั่ว ไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นไปได้เช่นเดียวกัน เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ค่อยๆ เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัยให้น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น ไม่ใช่ตัวตนที่เลือก แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป คล้อยไปในกุศลธรรม ตามระดับขั้นของความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมที่เป็นประดุจจักรหรือวงล้อที่หมุนไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรม ๔ ประการ คือ

ข้อที่ ๑. การอยู่ในประเทศอันสมควร คือ อยู่ในประเทศที่มีพุทธบริษัท และมีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว การที่ใครจะมีกุศลเจริญขึ้นๆ ย่อมเป็นสิ่งซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ แต่เพราะมีคำสอนของพระองค์ กุศลจึงเจริญขึ้นได้

ข้อที่ ๒. การพึ่งพิงสัปบุรุษ หมายถึง การฟังธรรมของสัปบุรุษ ซึ่งเป็นคนดีมีปัญญา ได้รับคำแนะนำที่ดีจากสัปบุรุษ ย่อมจะเป็นเหตุให้กุศลประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน

ข้อที่ ๓. การตั้งตนไว้ชอบ คือ ถ้าเคยเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อนแล้ว ก็ค่อยๆ เป็นผู้มีศรัทธาเพิ่มขึ้นๆ จากที่ไม่เข้าใจเลย ก็ค่อยๆ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น ขณะนั้นก็แสดงว่าเป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ

ข้อที่ ๔. ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แต่ปางก่อน คือ เป็นผู้เคยสะสมความดีไว้แล้วตั้งแต่ในอดีต เป็นความจริงที่ว่า วันหนึ่งวันใด บุญที่ได้กระทำไว้แต่ก่อน ย่อมเป็นเสมือนจักร ที่จะผันหรือหมุนให้ไปสู่การที่จะเจริญกุศลได้ เพราะเหตุว่าพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่สาธารณะกับทุกคน แล้วแต่ว่าใครเป็นผู้ที่ได้เคยฟังมาบ้างในครั้งก่อนๆ และได้เป็นผู้ที่มีศรัทธามาแล้วในครั้งก่อนๆ ย่อมเป็นจักรที่จะหมุนหรือผันให้มีโอกาสที่จะได้อยู่ในประเทศที่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้พิจารณาและได้ตั้งตนไว้ชอบ ก็เพราะเป็นผู้ที่ได้กระทำบุญไว้ก่อนแล้ว นั่นเอง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้กระทำบุญไว้ก่อน ชาตินี้ อาจจะผ่านไป โดยที่ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมเลยก็ได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
tanakase
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2555

เรียน สนทนาในความเห็นที่ 7 ครับ

จากข้อความที่ว่า

ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะให้ผลในภายหน้า ก็ควรสะสมแต่กรรมที่ดีงาม (กัลยาณ-กรรม) เพราะกรรมดี เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ ส่วนกรรมชั่ว พึ่งไม่ได้เลยทีเดียว ครับ.


และผู้ถาม ถามว่า

การสะสมของแต่ละบุคคล เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งดีและชั่ว เราสามารถเลือกสะสมเฉพาะกรรมที่ดีงามเท่านั้น เป็นได้หรือคะ

คิดว่าการสะสมกรรมดีหรือทำบุญมาดีจะมีโอกาสพบกัลยาณมิตรอยู่กับคนดี มีโอกาสฟังธรรม สะสมความดีที่ละเล็กน้อย มีโอกาสสะสมกรรมดีมากขึ้น


หากเราเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ก็จะเข้าใจว่ามีแต่เพียง จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีเราที่จะพยายามที่จะทำความดี แต่เป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละจิต ที่หากสะสมความเห็นถูก จิต ใจ ก็ย่อมน้อมไปตามความเห็นถูก หากสะสมความเห็นผิดมามาก จิต ใจ กาย และ วาจาก็น้อมเป็นไปตามความเห็นผิด เพราะฉะนั้น สำคัญคือ การสะสมมาของแต่ละจิตที่แตกต่างกัน โดยไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะสามารถบังคับบัญชาให้ทำความดี ให้ละเว้นวามชั่ว แต่เป็นไปตามการสะสมของจิตที่สะสมมา ดังนั้น อาศัยปัญญาที่เจริญขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นนั่นเองที่ทำหน้าที่ ละความชั่ว สะสมทำความดี นั่นคือ ขณะที่ปัญญาเกิดขณะใด ปัญญาละความชั่วในขณะนั้น มีความไม่รู้ เป็นต้น และทำความดี ไม่มีเราทำความดี แต่เป็นจิตที่ดี ประกอบด้วเจตสิกที่ดี ประกอบด้วยปัญญานั่นเอง ในขณะนั้นที่เป็นความดี โดยอาศัยเหตุ คือ การฟังพระธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดปัญญาครับ เพราะฉะนั้น ไม่เราที่จะทำ ที่จะเลือก แม้รู้ว่าควรหรือไม่ควร แต่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่จะทำหน้าที่ปรุงแต่งให้เกิดสภาพธรรมนั้น โดยไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แต่ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ซึ่งขณะที่เข้าใจ เป็นปัญญาที่เกิดขึ้น ก็กำลังสะสมความดี สะสมบุญเก่า อันเป็นปัจจัยที่จะได้ฟังธรรมที่ถูกต้อง เกิดปัญญาต่อไปในอนาคต และธรรมก็จะทำหน้าที่ละกิเลสเอง และธรรมจะทำหน้าที่สะสมความดี ไม่มีเรา เพราะมีแต่ธรรมครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
kusalwong
วันที่ 22 ม.ค. 2555

กราบขอบพระคุณท่านทั้งสอง : อ.คำปั่น -- ความเห็นที่ 9 และ อ. ผเดิม --ความเห็นที่ 11 กรุณาตอบความเห็นที่ 7 จนหมดสงสัย

อนุโมทนาธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ