เมื่อเหตุสมบูรณ์แล้ว จะนั่ง จะนอน ก็ย่อมบรรลุถึงผลได้อย่างน่าอัศจรรย์....

 
dets25226
วันที่  20 ม.ค. 2555
หมายเลข  20409
อ่าน  5,688

ในกาลที่พระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพาน พระอานนท์เถระมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนยังเป็นปุถุชนอยู่ อีกทั้งพระบรมศาสดาบรมครูก็จะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในอีกไม่ช้า จึงหลีกออกไปยืนร้องไห้แต่เพียงผู้เดียวข้างนอก พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกเธอมาแล้วตรัสเตือนให้เธอคลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์ว่า ...

“อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา”

เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้นัดประชุมพระอรหันต์ขีณาสพจำนวน ๕๐๐ องค์ เพื่อทำปฐมสังคายนา โดยมอบให้พระอานนท์รับหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม แต่เนื่องจากพระอานนท์ยังเป็นปุถุชนอยู่ ท่านจึงเร่งทำความเพียรอย่างหนักแต่ก็ยังไม่สำเร็จจนเกิดความอ่อนเพลีย ท่านจึงปรารภที่จะพักผ่อนอิริยาบถสักครู่ จึงเอนกายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้นจากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน ท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง ๔ อย่าง คือ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอน นับว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แปลกกว่าพระเถระรูปอื่นๆ ฯ

เมื่อเหตุไม่สมบูรณ์ ฝืนทำอะไรไป ก็ไร้ผล ...

สาธุๆ ๆ ๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นเรื่องของปัญญา แต่ต้องเป็นปัญญาที่ถึงพร้อมแก่กล้า ถึง เวลา จึงจะบรรลุธรรมได้ ดังนั้นต้องอาศัย การอบรมรมปัญญาทีละเล็กละน้อย จนปัญญา แก่กล้า ที่เรียกว่า อินทรีย์แก่กล้า เมื่อถึงเวลานั้น ก็ทำให้บรรลุธรรมในขณะนั้น แต่เมื่อยัง ไม่ใช่กาลเวลา แม้พยายาม ตั้งใจ อยากจะทำให้บรรลุ ย่อมไม่ใช่โอกาส ถึงกาลเวลาที่จะ บรรลุได้เลยครับ

เปรียบเหมือน การที่ปลูกต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ให้ผล มีต้นมะม่วง เป็นต้น ผลจะออกเมื่อ ๓ ปี แต่ ผู้ที่อยากให้ผลออกเร็วๆ ก็เลยรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตามจำนวน ของขนาดที่จะต้องให้ ๓ ปี ภายใน ๑ เดือน คือ เพียงอายุ ๑ เดือน แต่ก็รดน้ำ ใส่ปุ๋ยเท่าจำนวน ๓ ปี เพื่อให้ผลมะม่วงออกมา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะ ต้นมะม่วงยังไม่ถึงเวลาที่จะออกผล ตามระยะเวลาที่กำหนด ฉันใด การอบรมปัญญา เป็นการอบรมยาวนาน ไม่ใช่เพียงชาตินี้ หรือ เพียงล้านๆ ชาติ แต่เป็นกัปๆ เพราะ สะสมความไม่รู้มามาก และสะสม อินทรีย์ คือ กุศลธรรมและปัญญามาน้อย จึงต้องอบบรมยาวนาน ไม่สามารถเร่งด้วยความอยากได้เลย เพราะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าเพียงพอครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 664

เมื่อประเภทแห่งกาลเหล่านั้นๆ ยังไม่บริบูรณ์ พระมหาสัตว์เหล่านั้นๆ แม้ให้มหาทานเช่นกับทานของพระเวสสันดรทุกๆ วัน แม้สะสมบารมีธรรมทั้งปวง มีศีลเป็นต้นตามสมควร แม้สละมหาบริจาค ๕ แม้ยังญาตัตถจริยา โลกัตถจริยา พุทธธัตถจริยา ให้ถึงที่สุดอย่างยิ่ง ก็จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในระหว่าง. ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้. เพราะเหตุไร. เพราะญาณ ยังไม่แก่กล้า เพราะพุทธการกธรรมยังไม่สำเร็จ. จริงอยู่ แม้พยายามด้วยอุตสาหะทั้งหมดในระหว่างนั้น ก็ไม่สามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันสำเร็จ ด้วยกำหนดกาลตามที่กล่าวแล้วได้ ดุจข้าวกล้าสำเร็จตามที่กำหนดไว้เท่านั้น เพราะเหตุนั้นพึงทราบว่า ความบริบูรณ์แห่งบารมีย่อมสำเร็จด้วยกาลวิเศษ ตามที่กล่าวแล้ว.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
dets25226
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านพระอานนท์เถระ รวมไปถึงพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น นั้น ล้วนเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งนั้น และที่สำคัญ สติปัฏฐาน ไม่ได้เพียงอย่างเดียว เท่านั้น มีถึง ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด เพราะธรรมที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะ นั้น ก็คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ไม่พ้นไปจากนามธรรม และ รูปธรรม การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะถ้ายังไม่มีการศึกษาให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่นอกเหนือไปจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ยังมีความไม่รู้และมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ อยู่

ด้วยเหตุนี้ การที่จะขจัดความสงสัย ความไม่รู้ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้เพียงลักษณะของสภาพธรรมเพียงหมวดเดียวในสติปัฏฐาน ๔ เพราะถ้ารู้เพียงหมวดเดียว ก็แสดงว่า ยังไม่รู้สภาพธรรม ในหมวดอื่นๆ ต้องเป็นผู้รู้ทั่วทั้งหมด ทั้งกาย เวทนา จิต และ ธรรม เมื่อเหตุย่อมสมควรแก่ผล ปัญญาเจริญสมบูรณ์พร้อม ก็ทำให้ผู้นั้นถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะบรรลุด้วยอะไร อย่างเช่น ท่านพระอานนท์ ก็บรรลุด้วยการเจริญกายคตาสติ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ตามความเป็นจริง เพราะ ขณะที่ระลึกรู้ ก็ต้องเป็นเพียงอย่างเดียวที่เป็นอารมณ์ในขณะนั้น ไม่สามารถรู้พร้อมๆ ได้หลายอารมณ์ แต่ก่อนที่จะบรรลุได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันมาแล้ว ทั้งนั้น เพราะท่านเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นที่ตั้งของสติ (สติปัฏฐาน) ทั้งสิ้น แล้วแต่ว่า สติจะระลึกและปัญญารู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kusalwong
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขออนุโมทนาสะสมเหตุปัจจัยที่ดี เจริญปัญญาด้วยดี

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ