ขันติธรรม เครื่องเผากิเลส....

 
dets25226
วันที่  21 ม.ค. 2555
หมายเลข  20411
อ่าน  7,784

อาจารย์โปรดกรุณาอธิบายด้วยครับ

๑. ขันติธรรม เกิดขึ้นได้อย่างไร

๒. เผากิเลส หมายความว่าอย่างไร และเผากิเลสได้อย่างไร

๓. ขันติโดยนัยนี้เท่านั้น จึงเผากิเลสได้ ใช่หรือไม่

ด้วยความเคารพอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขันติธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร

ขันติธรรม คือ สภาพธรรมที่อดทน อดกลั้น ด้วยกุศล ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ไม่ใช่ความอดทน ด้วยอกุศลจิตครับ

ขันติธรรม เป็นสภาพธรรม คือ อโทสเจตสิก ขันติธรรม มีหลายระดับ ทั้งความอดทนอดกลั้นด้วยกุศลจิต อดทนต่อ ความหนาว ความร้อน อดทนต่อความประทุษร้ายของผู้อื่น หรือ อดทนต่อสิ่งต่างๆ ด้วยกุศลจิต และขันติโดยนัยสูงสุด ยังหมายถึง ปัญญา ที่เป็น วิปัสสนาญาณ ที่เป็น ขันติญาณ อันเป็นการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม ที่เป็นแต่ละกลุ่มกลาปของสภาพธรรม ดังนั้น ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต รวมทั้งปัญญาย่อมเป็นขันติธรรมทั้งสิ้น ขันติธรรมจึงมีหลายระดับตามที่กล่ามาครับ

ขันติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ขันติ ความอดทนด้วยกุศลจิต ก็เพิ่มขึ้น และเมื่อปัญญาเจริญถึงระดับวิปัสสนาญาณก็ทำให้ถึงขันติธรรมที่เป็นปัญาระดับสูงที่เป็น ขันติญาณได้ครับ ดังนั้นเพราะปัญญาความเห็นถูกเจริญ เกิดขึ้น ก็ทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ มีขันติ เป็นต้น เจริญ เกิดขึ้นตามไปด้วยครับ เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ขันติก็เจริญ เกิดขึ้นครับ เพราะปัญญา วิชชา เป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลายครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2555

เผากิเลส หมายความว่าอย่างไร และเผากิเลสได้อย่างไร

เผากิเลส หมายความว่าอย่างไร

ตบะ เป็นสภาพธรรมที่เผาบาปธรรม หรือ กิเลสทั้งหลาย

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 189

ขนฺตี จ เป็นต้น

คาถาที่ ๙ (มี ๔ มงคล)

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคาถา มีบทว่า ตโป จ เป็นต้น ดังต่อไปนี้ ธรรมที่ชื่อว่า ตบะ เพราะอรรถว่า แผดเผาบาปธรรมทั้งหลาย.

การเผากิเลส คือ ไม่ใช่มีลักษณะการเผา แต่เพราะอาศัยสภาพธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ตรงกันข้ามกับกิเลส ย่อมทำให้สามารถละกิเลส ดับกิเลสไม่เกิดในขณะนั้น หรือ ละกิเลสได้หมดสิ้น ดังนั้น ขณะที่ละกิเลสได้ ชื่อว่า ขณะนั้นเผากิเลส เพราะ การเผา คือทำให้สิ่งนั้นหมดสิ้นไป เช่น เผาใบไม้ สิ่งต่างๆ สิ่งนั้นก็หาย อันตรธานไปเพราะการเผาการเผากิเลส ก็คือ การทำให้กิเลสทั้งหลายไม่เกิด หรือ หมดสิ้นไป ชื่อว่า การเผากิเลส

เผากิเลสได้อย่างไร

ไม่มีตัวเราที่จะเผา จะทำให้กิเลสหมดสิ้นไป แต่การเผากิเลส หรือ ทำให้กิเลสหมดสิ้น ไม่เกิด ด้วยสภาพธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสและเป็นสภาพธรรมที่ทำให้กิเลสหมดสิ้นไป คือ สภาพธรรมที่เป็นปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้น เผากิเลสไม่ให้เกิดชั่วขณะนั้น และรู้ตามความเป็นจริง และเมื่อปัญญาสูงสุด ย่อมละกิเลสหมดสิ้น หรือ เผากิเลสจนหมดสิ้นเพราะเกิดปัญญาสูงสุด มี มรรคปัญญาครับ

ดังนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ย่อมทำให้สามารถละกิเลส เผากิเลสได้ และเป็นวิธีเผากิเลสที่ถูกต้องในพระธรรมวินัยนี้ครับ เพราะเมื่อฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาและกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ละกิเลส เผากิเลสได้หมดสิ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขันติโดยนัยนี้เท่านั้น จึงเผากิเลสได้ ใช่หรือไม่

ตามที่กล่าวแล้ว ขันติมีหลายระดับ ทั้งที่เป็นขันติเบื้องต้น ที่เป็นอโทสเจตสิก เช่น ความไม่โกรธ ความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งทั้งหลายด้วยกุศลธรรม ขณะที่อดทนไม่โกรธ ก็เผากิเลส คือ โทสะไม่ให้เกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เกิดอีกต่อไปในขณะจิตนั้นครับ นี่ก็เป็นการเผากิเลส ด้วยขันติระดับหนึ่ง และขันติ ที่เป็นปัญญา มี ขันติญาณ เป็นต้น ที่เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ขณะนั้นก็เผากิเลส มีความไม่รู้ และความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ เป็นต้นในขณะนั้นครับ เพราะฉะนั้น ขันติ การเผากิเลส จึงมีหลายระดับ ตามระดับของกุศลจิตและปัญญาที่เกิดขึ้นครับ ที่สำคัญ เพราะมีขันติ ความอดทน อดทนที่จะศึกษาพระธรรม เพราะเห็นประโยชน์ และ เข้าใจว่าเป็นหนทางเดียวในการอบรมปัญญา จึงอดทนที่จะฟัง ขณะที่เข้าใจ และ มั่นคง ในหนทางนี้ที่จะอบรมปัญญาต่อไป ก็อดทน เป็นขันติและเผากิเลสแล้วในขณะนั้นที่เข้าใจและอดทนที่จะศึกษาพระธรรม โดยไม่ต้องไปทำที่จะอดทน ที่จะทำขันติที่จะเผา กิเลสเลยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dets25226
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ชัดเจนครับ

เมื่อได้ศึกษา และพิจารณาตามแล้ว ก็เห็นว่า สิ่งทั้งหลาย ที่รวมเรียกว่า ธาตุ นี้ที่มีอยู่ ที่ตั้งอยู่นี้ หามีสภาพเป็นเรา มิได้เลย เหตุว่า ธรรมทั้งหลาย เมื่อแยก แจกกันไปต่างๆ เป็นชนิดๆ แล้ว ก็จะไม่มีตัวตน หรือความสำคัญว่าตัวตนเหลืออยู่เลย การศึกษาก็เพื่อศึกษาเรื่องนี้ การเข้าใจ ก็เพื่อเข้าใจเรื่องนี้ หาได้ต้องมีเจตนาไปทำโน้นทำนี้ ให้ยุ่งยากวุ่นวาย ไม่รู้จักจบสิ้น ...

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง กับการที่จะมีความอดทน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นเรื่องของความอดทน ความอดกลั้น ต่อทุกอย่างและทุกสถานการณ์ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอริยสาวกทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะมีความอดทน อดกลั้นได้ ท่านก็เป็นผู้ที่ มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีอกุศลมากมายเหมือนกับคนทั่วๆ ไป แต่ว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีปัญญา และเห็นคุณของความอดทน เห็นคุณของกุศลธรรมทั้งหลาย จึงมีความอดทนที่จะอบรมเจริญกุศล สะสมความดีประการต่างๆ

ในขณะที่อดทนที่จะเป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ขณะนั้นก็เผาอกุศลแล้ว เพราะในขณะนั้น จิตเป็นกุศล อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อมีความอดทนที่จะสะสมกุศลไปเรื่อยๆ จนในที่สุด บารมีทั้งหลาย (ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน) ก็ถึงที่สุด ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องของบารมีเป็นเรื่องที่จบ เมื่อสมบรูณ์ แต่ว่าก่อนที่จะถึงความสมบรูณ์ ก่อนที่จะจบลงได้ ก็จะต้องอบรมไป มีความอดทนไปแต่ละชาติๆ และต้องอาศัยกาลเวลาในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก ก็จะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานอย่างมากทีเดียวกว่าที่จะขัดเกลากิเลสนั้นๆ ได้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรม และ ไม่ขาดการที่จะพิจารณาตนเอง พราะเหตุว่า พระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมด เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 22 ม.ค. 2555
ขอบคุณและชออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pat_jesty
วันที่ 23 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ